Skip to main content

เยาวชนเชียงราย น้อมใจไหว้พระธาตุ ๙ จอม

คอลัมน์/ชุมชน

[1] "บรรพบุรุษท่านรักษาสิ่งล้ำค่า


ให้ลูกหลานได้ศึกษาพุทธสถาน


ทรงคุณธรรม  จริยธรรม  มาช้านาน


สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน "พระธาตุ ๙ จอม" คู่เมืองเจียงฮาย"


 


[2]"เด็กเยาวชนที่เติบโตท่ามกลางสภาพสังคมวัตถุนิยมและการแข่งขัน ทำให้เยาวชน  ละเลยไม่ใส่ใจขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทย  ผลงานวิจัยของหลายๆ สถาบันต่างระบุตรงกันว่า วัยรุ่นไทยซึมซับรับวัฒนธรรมของตะวันตกง่ายมาก โดยขาดการกลั่นกรองว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี เหมาะสมกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยหรือไม่ ผนวกกับระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการแข่งขันเพื่อป้อนคนเข้าสู่ระบบทุนนิยม  ในการดำเนินชีวิตแต่ละวันของเด็กและเยาวชนจึงต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อให้ได้เกรดเฉลี่ยสูงๆ  ดังตัวอย่างที่เห็นทั่วไปตามโรงเรียนกวดวิชา  ที่แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต  อยากรู้อยากเห็นโลกกว้างต้องแบกกระเป๋าเป้ใบใหญ่เพื่อเข้าเรียนพิเศษในแต่ละวัน


 


ผลจากการสำรวจ "สวนดุสิตโพล" สถาบันราชภัฎสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นไทย (อายุ 15 – 20 ปี)  ที่นับถือศาสนาพุทธ และพักอาศัยใน อ.เมืองของ 14 จังหวัดที่เป็นตัวแทนภูมิภาคทั่วประเทศ  จำนวน  2,177 คน เกี่ยวกับการ "ไปวัด" เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ  โดยเฉพาะกิจกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนาพบว่า  วัยรุ่นไทยที่เป็นชาวพุทธ ไม่เคยสวดมนต์ก่อนนอนเลยถึง 76 % ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเยาวชนไทยเริ่มห่างไกลจากพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที


 


 "โครงการชุมชนรอบวัด" ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากงบบูรณาการจังหวัดของจังหวัดเชียงราย  รับผิดชอบโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงรายและดำเนินงานโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กเยาวชนซึ่งอยู่ในชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย  ได้เรียนรู้หลักธรรมและใกล้ชิดกับพระศาสนา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  ซึ่งในวันเสาร์ที่ ๒๔  มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ได้จัดกิจกรรมดี ๆ ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้และร่วมทำกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้เด็กได้เข้าถึงและเข้าใจความสำคัญของพุทธสถานคู่บ้านคู่เมืองเชียงราย  โดยการนำคณะเด็กและแกนนำจากชุมชนรอบวัด คือ  ชุมชนดอยทอง , ชุมชนเกาะลอย , ชุมชนฮ่องลี่ , ชุมชนบ้านตากน้ำลัดและชุมชนบ้านป่างิ้ว จำนวน ๙๐ คน ไปนมัสการพระธาตุ ๙ จอม พุทธสถานคู่บ้านคู่เมืองเชียงราย 


 


เช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ ๒๔ เวลาหกโมงเช้า คณะได้เริ่มต้นนัดหมายนมัสการพระธาตุจอมแรกที่พระธาตุจอมทอง  ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเชียงราย  อยู่ใกล้กับศาลากลางจังหวัดเชียงราย มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งนอกจากเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุแล้วยังมีเสาสะดือเมืองเชียงรายตั้งอยู่ในพุทธสถานแห่งนี้ด้วย  ก่อนออกเดินทางไปนมัสการพระธาตุองค์ต่อไป ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมทองได้ให้คณะสวดมนต์ สมาทานศีล  ถวายจตุปัจจัย  และรับพร ซึ่งท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่าให้เริ่มทำที่พระธาตุแห่งนี้ที่เดียว เพราะเป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นจึงเดินทางไปนมัสการพระธาตุองค์อื่นโดยไม่ต้องสวดมนต์อีก  คนเชียงรายสามารถเดินทางไปนมัสการพระธาตุ ๙ จอมได้ภายในเวลา ๑ วัน แต่ถ้าหากมาจากจังหวัดอื่น เช่น กรุงเทพฯ อาจต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๓ วัน ถือเป็นการแสดงความเพียรของพุทธศาสนิกชน


 


การได้สักการะพระธาตุ ๙ จอม จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิตและยังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในดินแดนถิ่นล้านนา  ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่าแนวความคิดเกี่ยวกับการทำเส้นทางแสวงบุญหรือเส้นทางอิ่มบุญด้วยการนมัสการพระธาตุ ๙ จอมนั้น  มาจากความคิดของท่านเจ้าคณะจังหวัดซึ่งต้องการให้ประชาชนได้มีโอกาสในการทำความเพียรด้วยการเดินทางสักการะพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  เพราะแต่เดิมตามคติความเชื่อของชาวยวนหรือโยนก (ชื่อดั้งเดิมของชาวเมืองเชียงแสน และเชียงราย) กล่าวไว้ว่า หากผู้ใดได้ไปนมัสการ "พระธาตุ ๙ จอม" ครบถ้วน จะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และประสบความสำเร็จทั้งการงาน การเงิน และการดำเนินชีวิต 


 


การเตรียมตัวไปนมัสการพระธาตุของเด็ก ๆ ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อสีขาวสุภาพเรียบร้อย  พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่แต่ละคนจะต้องนำมาเอง  ผู้ใหญ่บางคนก็เตรียมน้ำส้มป่อยลอยด้วยดอกไม้กลิ่นหอมเช่น ดอกมะลิ นำมาสรงน้ำพระธาตุ เด็กเยาวชนที่ร่วมเดินทางแต่ละชุมชนจะต้องจดบันทึกเรื่องราวและสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเล่าให้กับเพื่อนๆ ฟัง


 


พระธาตุองค์ที่ ๒ ที่เดินทางไปนมัสการ คือ พระธาตุจอมหมอกแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ลาว ระหว่างเดินทางสายหมอกยามเช้าก็ยังคงโปรยปรายอยู่ทั่วไปสลับกับภาพวิถีชีวิตสองข้างทางของท้องถิ่นชนบทในภาคเหนือ  เป็นภาพที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ประวัติของพระธาตุแต่ละองค์สามารถค้นหาข้อมูลได้ตามหนังสือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ  หรือค้นหาทางอินเตอร์เน็ต สามารถหาประวัติ, แผนที่ และที่ตั้งของพระธาตุแต่ละองค์ได้ พระธาตุแต่ละแห่งมีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับเมืองเชียงราย  หรือแม้แต่ความเชื่อในการได้สักการบูชาพระธาตุแต่ละองค์ก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป  เช่น การได้นมัสการพระธาตุจอมหมอกแก้ว เชื่อกันว่าอุปสรรคที่เปรียบเสมือนหมอกควันสีดำถ้ากราบไหว้และตั้งจิตอธิษฐานอุปสรรคทั้งหลายก็จะจางใสเหมือนหมอกแก้วและประสบความสำเร็จผ่านพ้นไปได้ด้วยดี 


 


พระธาตุองค์ที่ ๓  คือ พระธาตุจอมแจ้ง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สรวย  พอเดินทางมาถึงพระธาตุองค์ที่ ๓ ก็ถึงเวลารับประทานอาหารเช้าพอดี หลังจากนมัสการพระธาตุเสร็จก็นำอาหารที่เตรียมมาหาที่รับประทานภายในวัด ซึ่งสงบร่มเย็น  และชื่นชมธรรมชาติภายในวัดไปด้วย  ถ้าเตรียมอาหารมาเองจะสะดวกในการเดินทางเพราะไม่ต้องเสียเวลาในการหาร้านอาหาร  และการเตรียมอาหารมาเองก็จะทำให้ได้ลิ้มรสอาหารที่ถูกปากถูกใจคนรับประทานอาหารอีกด้วย


 


พระธาตุจอมผ่อ คือ พระธาตุองค์ที่ ๔ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า  ระหว่างทางก่อนที่จะขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุ มีสวนสมุนไพรที่ท่านเจ้าอาวาสได้ปลูกไว้  และมีน้ำสมุนไพรให้นักแสวงบุญได้ดื่มเพื่อผ่อนคลายระหว่างเดินทาง แก้ปวดเมื่อย  นอกจากนี้ทางวัดยังมียาสมุนไพรราคาถูกที่สามารถหาซื้อไปฝากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่กำลังไม่สบายหรือเจ็บป่วยให้หายจากโรคภัยได้  เรียกได้ว่าได้ทั้งบุญและยาดี


 



พระพุทธรูป ณ วัดพระธาตุจอมแว่


 


พระธาตุองค์ที่  ๕ คือ พระธาตุจอมแว่  ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอพาน ทางวัดพระธาตุจอมแว่ได้จัดเตรียมน้ำส้มป่อยไว้ สำหรับผู้มานมัสการพระธาตุสาม เพื่อจะได้สรงน้ำองค์พระธาตุได้ทุกคน  เพราะมีถังน้ำที่ร้อยเชือกไว้สามารถชักขึ้นไปจนถึงยอดพระธาตุและสรงน้ำร่วมกัน  พระธาตุแต่ละองค์จะมีลักษณะที่งดงามแตกต่างกันไป หากใครได้ชื่นชมก็จะเห็นความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ ซึ่งทุกวัดนอกจากจะได้นมัสการองค์พระธาตุแล้วยังจะได้สักการบูชาพระพุทธรูปคู่บุญบารมีขององค์พระธาตุแต่ละแห่งอีกด้วย


 


พระธาตุองค์ที่  ๖ คือ พระธาตุจอมสัก  ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง หากเดินทางตามกำหนดการเดิมแล้วจะต้องเดินทางไปนมัสการพระธาตุจอมจ้อที่อำเภอเทิงก่อน  แต่หลังจากสอบถามข้อมูลแล้ว ปรากฏว่าพระธาตุจอมจ้อกำลังอยู่ในช่วงของการบูรณะจึงได้เปลี่ยนกำหนด การมานมัสการพระธาตุจอมสวรรค์แทน  ทำให้น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ทางคณะได้พลาดโอกาสนี้ไป  องค์พระธาตุจอมสักมีลักษณะที่งดงามมากซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถชื่นชมทัศนียภาพท้องทุ่งนาและบ้านเรือนที่อยู่ล้อมรอบพระธาตุซึ่งช่วงนี้ชาวนาก็เริ่มที่จะหว่านไถ  และดำนากันแล้ว


 



พระธาตุจอมจันทร์


 


พระธาตุองค์ถัดมา คือ พระธาตุจอมจันทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่จัน  ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ ๓๐ กิโลเมตร การได้นมัสการพระธาตุจอมจันทร์เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้และตั้งจิตอธิษฐาน ผิวพรรณจะสวยงามเปล่งปลั่งรัศมีดุจแสงจันทร์งดงามอย่างหาที่เปรียบไม่ได้  ถัดจากการนมัสการพระธาตุจอมจันทร์ก็ออกเดินทางไปนมัสการพระธาตุจอมสวรรค์ต่อ  ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้กันขับรถต่อมาอีกประมาณ ๓ กิโลเมตรก็เดินทางมาถึง 


 


พระธาตุจอมสวรรค์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากแต่ก็เป็นองค์พระธาตุที่มีประวัติการก่อสร้างมายาวนาน ๗๐๐ กว่าปี จากคำบอกเล่าของแม่ชีที่ดูแลองค์พระธาตุอยู่  ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อกันว่าพระธาตุจอมสวรรค์เป็นพระธาตุองค์ฝาแฝดกับพระธาตุจอมจันทร์ หากมีโอกาสได้เดินทางมานมัสการพระธาตุ ๙ จอม  ก็ควรจะแวะนมัสการพระธาตุจอมสวรรค์ด้วยเพราะระยะทางอยู่ใกล้กันเดินทางได้สะดวก


 



พระพุทธรูปปูนปั้น ณ พระธาตุจอมกิตติ


 


พระธาตุองค์สุดท้ายองค์ที่    ที่เดินทางไปนมัสการ คือ พระธาตุจอมกิตติ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงแสนเมืองประวัติศาสตร์ของโลก  ที่เต็มไปด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัดวาอารามสถานที่สำคัญต่างๆมากมาย หากใครได้แวะมาเที่ยวที่จังหวัดเชียงรายก็ควรจะหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุ ๙ จอม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวสืบต่อไป"


 


บทความนี้ นายธีระพันธ์   กันทะวัง เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ผู้เป็นพี่เลี้ยงคณะเยาวชนในโครงการศึกษาดูงาน  นมัสการวัดพระธาตุ ๙ จอม ได้เขียนแสดงถึงความภูมิใจ ประทับใจ ที่ได้นำน้องๆเยาวชนในอำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายไปนมัสการ "พระธาตุ ๙ จอม" ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งนักเรียนได้เขียนความประทับใจของตนไว้ดังนี้


 



เยาวชนถ่ายรูปร่วมกัน ณ พระธาตุจอมทอง


 


นายอนุพงศ์    มาน้อย ประธานเยาวชนชุมชนฮ่องลี่  นักศึกษาโรงเรียนพาณิชยการเชียงราย ให้ความเห็นว่า "มีความรู้สึกดีที่เราในฐานะเยาวชนของชาติได้ไปเรียนรู้สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้น คือ สถาบันศาสนา เราได้เรียนรู้ถึงองค์ศาสดาของศาสนาพุทธ รู้ถึงความเป็นมาขององค์พระธาตุที่เป็นศูนย์รวมจิตใจมิใช่แค่คนในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั่วประเทศ  และในฐานะที่เราเป็นผู้สืบทอดศาสนาพุทธถึงแม้มิใช่ทางตรงก็ตามแต่เป็นทางอ้อมที่เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่องค์ศาสดาของศาสนาเราได้สร้างสิ่งที่ดีงามไว้คู่อาณาจักรล้านนาสืบต่อไป"


 


นางสาวเดือนเต็ม   หาญศึก เยาวชนชุมชนวัดพระแก้ว กล่าวว่า "ได้รับความรู้ ความสนุกสนาน มีความสามัคคีในหมู่คณะ และที่สำคัญเรายังได้รับบุญ อิ่มบุญกลับบ้านกันอีกด้วย"


 



จุดธูปเทียนนมัสการองค์พระธาตุ


 


ช่วงนี้สื่อพากันเสนอข่าวว่า เยาวชนหญิงชายใช้ความรุนแรงต่อกัน ถ้าผู้ใหญ่ คือ บ้าน วัด โรงเรียน องค์กรต่างๆ ได้นำเยาวชนสู่รสพระธรรมอย่างสร้างสรรค์ เด็กก็จะถูกหล่อหลอมให้จิตใจอ่อนโยน สงบ เย็น เป็นสุขด้วยรสพระธรรม


 



ประชุมสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ ณ พระธาตุจอมกิตติ


 


ขอให้รัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อสร้างโลกที่งดงามรอบตัวเด็กให้มากขึ้น  เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยปัญญาและความรักตลอดไป.


 


ภาพประกอบโดย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา






[1] เขียนโดย น.ส.สุภาพร บุญช่วย เยาวชนชุมชนบ้านป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย



[2] เขียนโดย นายธีระพันธ์  กันทะวัง เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา