Skip to main content

สุนทรียศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้

คอลัมน์/ชุมชน

ผมเจอวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตเล่มหนึ่งของนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชื่อเรื่องน่าสนใจจนต้องหยิบขึ้นมาเปิดดูว่า "สุนทรียศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้ : การศึกษาเปรียบเทียบนวนิยายของกึนเทอร์  กราสส์ กับ ชาติ  กอบจิตติ" ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เล่มนี้คือนางสาวอรพินท์  คำสอน


 


คำว่า "สุนทรียศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้" นี้ได้มาจากอาจารย์เจตนา นาควัชระ  ที่คิดขึ้นเพื่อใช้กับงานเขียนของเกออร์ด บืชเนอร์ นักเขียนชาวเยอรมัน


 


นับเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงวรรณกรรมและวรรณกรรมวิจารณ์ได้พยายามคิดค้น "คำ" และ "แนวคิด" ใหม่ ๆ มาใช้ในการอ่านวรรณกรรมหรือวิจารณ์ "ตัวบท" (บางทีก็อาจจะพบว่าไม่ค่อยใหม่นัก)


 


ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ให้คำอธิบายความหมายของ "สุนทรียศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้" ว่าหมายถึง "ความจริงและความถูกต้องของสังคมที่ถูกนำเสนอโดยไม่มีการเสกสรรปั้นแต่ง ให้มีลักษณะงดงามเพื่อปกปิดความเลวร้าย หรือความล้มเหลวของสังคมอีกต่อไป แต่เป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความโหดร้ายและความพ่ายแพ้ต่างๆ ที่คนในสังคมได้รับซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเมือง เศรษฐกิจและสังคม หรืออาจเป็นผลจากการเอารัดเอาเปรียบของคนร่วมสังคม"


 


จากนิยามความหมายก็พอจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นสุนทรียศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของความสวยงามหรือความดีเท่านั้น หากยังรวมไปถึงน่าเกลียดน่าชัง ความทุกข์ทรมานของตัวละครและรวมทั้งความพ่ายแพ้ด้วย เพราะมันจะไปกระตุ้นให้ผู้อ่านมีปฏิกิริยาตอบโต้ไปในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร


 


การนำหายนะ และความพ่ายแพ้ของตัวละครมานำเสนอมีพัฒนาการที่สามารถสืบย้อนไปได้ถึงเทพนิยายกรีกของโฮเมอร์  เรื่อยมาจนถึงบทละครโศกนาฎกรรม ของเชคสเปียร์ จนกระทั่งถึงงานเขียนแนวสัจจนิยม ทั้งนี้เพราะความสะเทือนใจในความพ่ายแพ้ และความเจ็บปวดของตัวละครจะประทับตรึงอยู่ในใจของผู้อ่านและผู้ชมอย่างยากจะลืมเลือน


 


สิ่งที่ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในภาวะพ่ายแพ้ ยอมจำนน หรือประสบกับหายนะกรรมนั้นนอกจากจะเกิด "ศัตรู" ที่เป็นมนุษย์ด้วยกันเองแล้วก็ยังอาจเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้วย เรื่องของยาเสพติด กระทั่งเรื่องของสงคราม ซึ่งชัดเจนมากในสังคมเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกถ่ายทอดออกมาในงานเขียนของกึนเทอร์ กราสส์ นักเขียนรางวัลโนเบล (ซึ่งงานที่ได้รางวัลโนเบลของเขาถูกแปลเป็นไทยเล่มมหึมาแล้ว)


 


และนอกจากมนุษย์ที่เป็นศัตรูแล้ว คนใกล้ชิดรอบข้าง คนรัก ก็อาจมีส่วนผลักดันให้ชีวิตต้องประสบกับความล้มเหลวพ่ายแพ้ได้ด้วยเหมือนกัน


 


ลักษณะความพ่ายแพ้ของตัวละคร ตามที่วิทยานิพนธ์เล่มนี้จำแนกออกมานั้นมีสาเหตุหลายประการด้วยกันคือเกิดจากการมาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทรยศ เช่น ตัวละครที่ชื่อ "บุญมา" ในเรื่อง "จนตรอก" ของชาติ กอบจิตติ


 


การถูกเอาเปรียบของบุญมาซึ่งทำงานในเรือประมงคือ การถูกริบเงินเปอร์เซ็นต์ในการหาปลาได้โดยที่เถ้าแก่ของเขาจะไม่ให้ขณะอยู่บนฝั่งแต่จะให้ตอนที่เรือออกเดินทางจากฝั่งไปแล้ว บุญมาได้รำพึงขึ้นด้วยความไม่เข้าใจในตอนนี้ว่า


 


 "เป็นเรื่องแปลกเหมือนกันสำหรับเงินเปอร์เซ็นต์ บุญมาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเถ้าแก่จึงไม่ยอมจ่ายให้ในตอนที่เรือจอดอยู่กับฝั่ง หลังจากขึ้นปลาเสร็จ ทั้งที่เงินส่วนนั้นเป็นเงินส่วนได้ของลูกเรือ ทำไมต้องจ่ายผ่านไต๋มาให้ในขณะเรือเดินทางออกจากฝั่งเพื่อเริ่มเที่ยวใหม่ และถ้าใครไม่ออกเรือในเที่ยวนี้ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งนั้นเลย เมื่อทุกคนกำลังมีเงิน เรือกำลังเดินทางจะมีอะไรดีที่สนุกเท่ากับตั้งวงพนัน บุญมาสังเกตดูว่าเงินสด ส่วนใหญ่จะไหลย้อนกลับมายังไต๋อีกอย่างเดิม"


 


นอกจากจะมาจากการกดขี่ เอารัด เอาเปรียบแล้ว ความพ่ายแพ้และเคราะห์กรรมของตัวละครยังมาจากการเข้ากันไม่ได้กับคนในครอบครัวและการแปลกแยกกันกับคนในสังคม การสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิต การขาดการยอมรับในสังคม


 


จากวรรณกรรมทั้งของชาติและของกึนเทอร์ กราสส์ ตัวละครจะแสวงหาหนทางออกจากสภาวะพ่ายแพ้ด้วยวิธีการต่าง ๆ บางตัวละครพยายามยกระดับชีวิตตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ บ้างก็เลือกที่จะแยกตัวออกมาจากครอบครัวหรือสังคม


 


หรือบางตัวละครก็จะแสวงหาสิ่งอื่นมาทดแทนสิ่งที่เสียไป เช่น "ทัย" จากเรื่อง "พันธุ์หมาบ้า" เขาหันหน้าไปพึ่งกัญชาในขณะที่เขาและภรรยาไม่เข้าใจกันเพราะเขาไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นขณะที่ภรรยาไปคลอดลูก นั้นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาติดกัญชา และเขาติดกัญชามากขึ้นเมื่อภรรยาของเขาพาลูกหนีไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพราะว่าเขาใช้เวลาส่วนใหญ่สูบกัญชาเพื่อให้คลายความคิดถึงภรรยาและลูกของเขา


 


แต่บางตัวละครก็พยายามเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและยอมรับสภาพ ดังเช่น "ลุงไข่" ในเรื่อง "คำพิพากษา" ที่พยายามทำความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมที่ไม่เป็นมิตรกับเขาและมุ่งรังเกียจเขาเพียงเพราะว่าเขามีอาชีพเป็นสัปเหร่อที่ต้องทำงานกับศพและน้ำเหลืองเท่านั้น


 


จุบจบของตัวละครในนิยายแห่งความพ่ายแพ้มีอยู่หลายแบบด้วยกัน บางตัวละครก็ตายไปอย่างเป็นทุกข์ และที่ตายไปอย่างเป็นสุขก็มี เช่น "ยายอยู่" ตัวละครจากเรื่อง "เวลา"  เพราะการมีชีวิตต่อไปของยายอยู่นั้นเป็นความยากลำบาก เนื่องจากยายอยู่ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การกิน หรือแม้กระทั่งการพูด ต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา


 


ชีวิตของยายอยู่ผ่านไปวันๆ มีแค่การนอนอยู่เฉยๆ บนเตียงเท่านั้น ดังนั้น การตายของยายอยู่จึงเป็นการตายที่นำความสุขสงบมาให้ และในขณะที่ตาย ยายอยู่ก็ตายไปอย่างสงบโดยไม่มีอาการทุกข์ทรมานใดๆ อันเนื่องมาจากการเข้าใจแก่นความหมายของชีวิต ดังนั้น ศพของยายอยู่จึงเป็นภาพของยายแก่ที่นอนยิ้มราวกับพบของที่พึงใจ


 


และนอกจากจะตัวละครจะจบลงด้วยความตายแล้ว ในนิยายแห่งความพ่ายแพ้ตัวละครบางตัวก็อาจดำเนินชีวิตต่อไปกับความสิ้นหวังและความมืดมน แต่ก็มีตัวละครบางตัวที่สามารถเอาชนะอุปสรรคและในที่สุดก็พบกับความสุขได้ เช่น "ทัย"  ในเรื่อง "พันธุ์หมาบ้า"


 


ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงการเก็บความอย่างย่อมากเท่านั้น สำหรับคนที่สนใจก็สามารถหาวิทยานิพนธ์เล่มนี้มาอ่านเองได้