Skip to main content

นักเรียนหญิงพันธุ์โหด!

คอลัมน์/ชุมชน

"เตือนนักเรียนตบกันเป็นแฟชั่น"


"นักเรียนหญิงพันธุ์ดุคลิปตบโผล่อีก"


 


อืมมมมม.....ช่วงนี้ผมได้อ่าน หรือฟังข่าวเกี่ยวกับนักเรียนตบกันแล้ว ดูมันโหดร้ายจังเลย ยิ่งเวลาผู้ประกาศข่าวใช้ทัศนคติของตัวเองใส่เข้าไปในเนื้อข่าวด้วยแล้วนี่ยิ่งไปกันใหญ่  จริงๆ แล้วก็ว่าไม่ได้นะครับ ที่เราจะรู้สึกต่อเหตุการณ์ไหนก็แล้วแต่ แต่ผมอยากจะบอกว่าปรากฏการณ์นี้มันมีมาตั้งนมนานแล้วล่ะ  สิ่งที่ใหม่ก็คือเดี่ยวนี้เราสามารถถ่ายคลิปจากมือถือของเราได้นั่นเอง


 


ทีนี้พอคลิปแพร่กระจาย ก็กลายเป็นเรื่องฮือฮา จริงๆ แล้วเหตุการณ์ความรุนแรงประเภทนี้มีมานาน และไม่ใช่เฉพาะนักเรียนหญิงด้วยนะครับ เรียกว่าทุกเพศเลยครับ แต่ที่ดูมันร้ายกาจมากขึ้นก็คงจะเป็นเพราะ เป็นนักเรียนหญิงนั่นแหละครับ เพราะนักเรียนหญิงหรือความเป็นหญิงในสังคมบ้านเราก็คือต้องเรียบร้อย ต้องรักนวลสงวนตัว ยังไงล่ะครับ


 


ทีนี้เรื่องการตบตีที่เกิดขึ้น ก็มาจากหลายต้นตอแหละครับ ก็ตั้งแต่ตบตีแย่งแฟน ต้องการการยอมรับในกลุ่ม เรื่องศักดิ์ศรีค้ำคอ เรื่องการหยามหน้า หรือขาใหญ่อะไรก็แล้วแต่ แต่อยากจะบอกว่านี่เป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่ไม่ว่าสมัยไหนสมัยไหนก็เป็นแบบนี้


 


ทีนี้การแสดงออกมาเป็นความรุนแรงดังกล่าว ก็ต้องบอกว่ามันก็มีฐานคิดอะไรบางอย่างทำให้เกิดการแสดงออกเป็นความรุนแรงในลักษณะนั้นๆ ฐานคิดที่ว่าอาจจะมาจากหลายแบบ  เช่น เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมดาคือเห็นจนชินตา เรื่องทักษะการจัดการอารมณ์ของตัวเอง หรือการเลี้ยงดูของครอบครัวอาจเป็นส่วนประกอบด้วย


 


ที่อยากจะพูดถึงมากในบทความนี้ คือเรื่องทักษะการจัดการอารมณ์นี่ล่ะครับ เพราะเด็กนักเรียนไทยมีทางเลือกน้อยเหลือเกินครับ คือไม่ค่อยเห็นหลักสูตรที่เป็นที่น่าสนใจ ตรงกับความต้องการของวัยนั้นๆจริงๆ อันที่มีอยู่  มันก็ยังไม่โดน ทีนี้เอาล่ะสิ! หลักสูตรอะไรที่ว่ามันถึงจะโดน  พอถึงตรงนี้คนที่ต้องรับศึกหนักก็คงจะหนีไม่พ้น เจ้าของกระทรวง แต่ก็อย่างว่านะ วิธีการที่กระทรวงจะคิดได้ตอนนี้ก็ใช้ฐานคิดไม่ต่างจากการแก้ปัญหาของกระทรวงอื่นๆ คือ แบบว่าขอไปที เอาเหตุการณ์นี้ผ่านไปก่อน และเดี๋ยวมันเกิดปัญหาอะไรอีกก็ค่อยแก้กันใหม่


 


ดังนั้น วิธีการที่ออกมาก็จะเป็นการอบรมครั้งเดียวจบ การหาจิตแพทย์ลงไปบำบัด  การคาดโทษ  การตั้งศูนย์เยาวชนในโรงพยาบาล ฯลฯ แต่ละวิธีที่กล่าวมานั้น จะแก้ปัญหาได้จริงเหรอ?  หรือการที่จะให้จิตแพทย์ลงไปดู นั่นก็หมายความว่าต้องลงไปทุกโรงเรียนใช่หรือไม่ หรือจะไปแค่โรงแรมที่มีภาพคลิปวีดีโออยู่  หรือการจะไปตั้งศูนย์เยาวชนในโรงพยาบาล


 


อันนี้เป็นแนวคิดที่ดีที่จะสร้างพื้นที่แก่เด็กและเยาวชน แต่พอได้ยินคำว่าโรงพยาบาล ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าอยากจะไปใช้บริการหรือไม่ เพราะรู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ได้ป่วย ทีนี้แนวคิดเรื่องการจัดตั้งก็เป็นแนวคิดที่เชยมาก กลัวว่าเด็กๆ หรือเยาวชนเองจะไม่มีส่วนร่วม และ ไม่ตรงกับความต้องการของเราจริงๆ


 


กลับมาเรื่อง ทักษะการจัดการอารมณ์  คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใหม่  คือหมายความว่ามีมานานแล้ว และโดนเรียกขานแตกต่างกันไป บางคนเรียกวิชาการรู้จักตัวเองก็มี แล้วแต่ใครจะเลือกอะไร แต่ปัญหาก็คือระบบการศึกษากระแสหลักของบ้านเรายังให้ความสำคัญกับทักษะชีวิตมากไม่เท่าวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ถ้าจะช่วยให้ปรากฏการณ์นี้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นคงจะต้องทำงานกับทัศนคติกันอย่างหนักหน่วง ทั้งกับคนทำงานที่กระทรวงเอง และผู้ที่จะเอาหลักสูตรนี้ไปใช้ แต่ท้ายที่สุด ต้องทำให้มันต่อเนื่อง เป็นจริง และต้องเอาจริงเอาจังกันหน่อย


 


สุดท้ายนี้ อยากถามว่า คุณรู้สึกกับคำสองคำนี้ต่างกัน หรือไม่ อย่างไร 1." นักเรียนหญิงพันธุ์โหด" 2. "ผู้ใหญ่พันธุ์โหด"


 


อืมมม...สมมตินะครับว่า ถ้าความรู้สึกระหว่างสองคำนี้ไม่ต่างกันมาก และเราจะแก้ปัญหา กับปัญหาผู้ใหญ่พันธุ์โหด อย่างไรดี ?