Skip to main content

เสียงสะท้อนจากคนข้างล่าง

คอลัมน์/ชุมชน


ท่ามกลางกระแสเสียงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภาว่าโน้มเอียงและไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เปิดสภาอภิปรายนโยบายรัฐบาล ขณะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดเหตุการณ์ลอบยิง ลอบทำร้าย ระเบิดตามที่ต่าง ๆ อยู่ไม่เว้นแต่ละวัน และนับวันความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆจนเข้ามาถึงปีที่สองก็ไม่มีทีท่าว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้


ทั้งสองเรื่องนี้อาจเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง แต่กลับมีความคล้ายกันอยู่บางประการใน การปฏิบัติของนายโภคิน ในฐานะประธานรัฐสภาต่อสมาชิก กับการปฏิบัติของรัฐบาลต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดภาคใต้


ทั้งนี้ วิธีการของนายโภคิน ในฐานะประธานสภาที่คอยไล่ต้อนพูดกันคนที่ยกมือประท้วง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ยินยอมให้นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นได้แสดงให้เห็นชัดเจนถึง ความพยายามแสดงอำนาจในฐานะคนข้างบนที่ปฏิบัติต่อคนข้างล่าง โดยถือตนว่าอยู่ข้างบนมีอำนาจเต็มที่ จึงไม่จำเป็นต้องฟังคนข้างล่างก็ได้และไม่ได้พยายามทำความเข้าใจแม้จะมีการเจรจาและมีข้อเสนอ โดยใช้ข้ออ้างความเคร่งครัดในกฎระเบียบเป็นที่ตั้ง ในขณะที่ในส่วนของรัฐบาลนั้นก็เช่นกันที่ในการแก้ปัญหาหรือคิดโครงการต่าง ๆ ก็ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังปัญหาและไม่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งการใช้อำนาจอย่างเต็มที่โดยอ้างสิทธิ์ในการมีอำนาจปกครองในฐานะที่ได้รับเลือกมาแล้ว


ผลที่เกิดมาที่เหมือนกันทั้งสองกรณีคือ กรณีแรกคือความวุ่นวายอันเกิดขึ้นในสภาจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ชั่วขณะ และสุดท้ายเกิดการประชุมเฉพาะฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายเดียวและเป็นไปอย่างไม่สง่างามนักในสายตาของผู้ชม ส่วนกรณีหลังนั้นก็กลายเป็นว่าสถานการณ์ความวุ่นวายในภาคใต้นั้นก็วุ่นวายและรุนแรงมากขึ้นไปและบานปลายออกไปเรื่อย ๆ จนแทบจะหมดทางเยียวยา



บทสนทนาต่อไปนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสหลังการเลือกตั้งผ่านไม่ได้ไม่นาน


" นี่ เห็นไหมว่าขนาดคนที่นี่ไม่ได้เลือกผม แต่ผมก็ยังมาเลย" (หมายถึงมาเยี่ยมพี่น้องประชาชนถึงพื้นที่) ชาวบ้านตาดำ ๆ ที่มารอรับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างนั่งมองหน้ากันตาปริบ ๆ (คงสงสัยอยู่ว่าตกลงจะมาดูแลสุขทุกข์ประชาชน มาทวงบุญคุณ หรือมาแก้แค้นกันแน่)


" แล้วตอนนี้ไปทำมาหากินกันได้มั้ยนี่" ชาวบ้านบอกว่า " ยาก ลองกองก็ไม่มีคนกล้ามาซื้อเลย พวกมียางก็ไม่กล้าไปตัดยาง"


" แล้วรวมกลุ่มกันไปไม่ได้หรือ ทำเป็นแบบลงแขกแบบทำนาได้มั้ย" ชาวสวนยางตอบว่า " ไม่ได้หรอกค่ะแต่คนสวนอยู่ไกลกัน และแต่ละสวนก็กว้างมากเป็น 20- 30 ไร่ก็มี กว่าจะเดินไปถึงแต่ละที่ก็ใช้เวลานาน"


" งั้นก็เหมารถกันไป จะได้เร็ว ๆ เสร็จจากสวนหนึ่งแล้วมาอีกสวนหนึ่งได้เร็ว ๆ" ชาวสวนยางบอกว่า " ถ้าเป็นแบบนั้นก็เกรงว่าจะเสร็จพวกมันเสียก่อนซีคะ คราวนี้ก็ง่ายเลย กราดปืนเข้ามาทีเดียวได้หมดคันรถเลยไม่ต้องเสียเวลาดักทีละคน"


" เฮ้อ! ถ้าอย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนะ ก็คงช่วย ๆ กันดูแลตัวเองด้วยก็แล้วกัน" ชาวสวนยางบอกว่า " นั่น ก็ทำกันมาตลอดแล้วล่ะค่ะ" ( พร้อมแอบถอนหายใจไปพลาง)


เชื่อหรือไม่ว่า นี่เป็นคำแนะนำที่ผู้บริหารสูงสุดของประเทศบอกกับประชาชนที่ตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว และมีความเสี่ยงภัยเป็นอย่างยิ่ง " ช่วย ๆ กันดูแลตัวเองกันไปก็แล้วกัน " บทสนทนานั้นมีแค่ข้อเสนอจากท่านผู้นำแต่ไม่ได้สอบถามหรือรับฟังเลยว่า ที่สุดแล้วชาวบ้านต้องการให้การแก้ปัญหาเป็นไปในแนวทางใด หรือความคิดเห็นใดจะสนองบ้าง


หลังจากที่ท่านผู้นำกลับไปแล้ว ชาวบ้านบ่น ๆ กันไป แล้วอย่างนี้เรายังจะต้องมีรัฐบาลรัฐบาลอยู่หรือ ให้ดูแลตัวเองนั้นก็ได้ แต่ยอมให้เราจัดระเบียบกันเองไหมล่ะ เพราะในที่สุดแล้วก็เอารัฐเข้ามาแทรกแซงอยู่ดี และ แทรกแซงแบบไม่เข้าใจด้วย ก็ขนาดแยกแยะไม่ได้ว่า การทำสวนยางนั้นย่อมมีธรรมชาติที่แตกต่างจากการทำนา


การทำนานั้นไปลงแขกช่วยกันได้ เสร็จจากนาแปลงนี้ก็ไปอีกแปลงได้ แต่การกรีดยาง หรือภาษาใต้เรียกว่าไปตัดยางนั้น มันมีเงื่อนเวลาบังคับ ต้องตัดแต่ดึก ช่วงสายแล้วน้ำยางไม่ออกก็ข้อหนึ่งล่ะ แล้วข้อสอง การเก็บน้ำยางต้องทำเสียตั้งแต่ยามเช้า และต้องรีบทำก่อนที่น้ำยางจะแห้งติดกะลาไปเสียก่อน และนอกจากนั้นคนที่ขายยางแผ่นนั้นเขายังต้องมาใช้เวลาวางยางให้เป็นก้อนก่อนมารีดให้เป็นแผ่น แล้วต้องนำมาผึ่งแดด


ดังนั้นกระบวนการใช่ว่าแค่กรีด ๆ แล้วก็เสร็จแล้ว คนบางคนตื่นไปตัดยางตั้งแต่ตีสอง ตีสาม กว่ากระบวนการจะสิ้นสุดก็ถึงเที่ยงถึงบ่าย หลังจากนั้นก็ต้องเตรียมล้างเครื่องมือ ล้างถัง เพื่อใช้ในวันต่อไป ช่วงบ่าย (ในยามสถานการณ์ปกติ) ก็ต้องไปดูแล ถากหญ้า ไม่ให้รกร้าง ให้เป็นระเบียบ ในการเดินไปตัดยางที่ต้องทำตั้งแต่มืด รวมทั้งปลูกพืชต่าง ๆ เสริมในสวนยางที่สามารถจะสร้างรายได้เสริมให้เกิดขึ้น จะเห็นว่าชาวสวนยางนั้นแต่ละวันก็ต้องสาละวนอยู่กับสวนยางของตนเอง การบอกให้ไปลงแขกแบบเกี่ยวข้าวนั้นจึงเป็นเรื่องมันไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือสำหรับคนที่ชอบพูดไทยคำฝรั่ง 3 คำเรียกว่า ไม่ practical


เห็นดังนี้คนเขาก็คิดว่า อย่าว่าแต่จะให้เข้าใจสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย แค่วิถีชีวิตคนตัดยาง หรืออาชีพการทำสวนยางก็ยังไม่เข้าใจเลย ทั้งที่รายได้จากการส่งออกยางพาราของไทยนั้นก็อยู่ในลำดับต้น ๆ เช่นนี้แล้วจะให้มั่นใจได้อย่างไรว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบให้เกิดขึ้นได้ ความเห็นของชาวบ้านก็ไม่ได้ฟังด้วยซ้ำ


ได้ฟังคำบทสนทนานี้แล้วก็น่าจะได้คำตอบกันเสียทีว่า ทำไมไทยรักไทยจึงไม่ได้ที่นั่งในสภาจากสามจังหวัดภาคใต้ เห็นมีคนหลาย ๆ คนพยายามอธิบายว่าทำไมคนใต้ไม่เลือกไทยรักไทย หลาย ๆ ครั้งก็มักอธิบายแบบภาพรวม ๆ ว่า เพราะคนใต้นั้นผูกพันอยู่กับประชาธิปัตย์มานาน หรือพรรคนี้เป็นพรรคของคนใต้ แต่นั่นต้องแยกแยะกันสักเล็กน้อยว่า สำหรับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น น้อยครั้งที่ประชาธิปัตย์จะได้คะแนนท่วมท้น เพราะคะแนนจะตกเป็นของกลุ่มวาดะห์เสียมากกว่า เนื่องจากอย่างที่รู้ ๆ กันว่า ทั้งสามจังหวัดนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นพี่น้องมุสลิมถึงกว่า 80 % และเชื่อมั่นว่ากลุ่มวาดะห์นั้นจะเป็นตัวแทนของเขา ดังนั้น ที่ผ่านมาพรรคที่ได้คะแนนนำในสามจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ก็คือพรรคที่มีตัวแทนจากกลุ่มวาดะห์


ทว่า น่าเสียดายสำหรับกลุ่มวาดะห์ในคราวนี้ที่ยกทีมไปอยู่กับไทยรักไทย ซึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรนั้นไม่ได้สร้างผลงานที่ทำให้คนที่นั่นรู้สึกเชื่อมั่นได้เลยว่าเขาจะอยู่รอดปลอดภัย จะมีชีวิตที่สงบสุขได้อย่างไร ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือ พุทธเพราะแต่ละคำพูดที่ท่านเปล่งออกมาถึงปัญหาภาคใต้ ล้วนแต่ทำให้คนในพื้นที่ต้องเสียวสันหลังวาบทุกครั้งว่า วันนี้ใครต้องตกเป็นเหยื่ออีกหนอโดยเฉพาะคำพูดในลักษณะท้าทายกลุ่มโจร


กล่าวโดยสรุปก็คือ การที่คนในสามจังหวัดภาคใต้ไม่เลือกไทยรักไทยในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีกลุ่มวาดะห์อยู่ที่นั่นแต่กลับไปเลือกประชาธิปัตย์แทนนั้น ก็เพียงเพราะต้องการส่งสัญญาณว่าไม่ชอบวิธีการบริหารบ้านเมืองแบบนี้ รวมทั้งไม่เชื่อว่า ส.ส.ไทยรักไทยเป็นตัวแทนให้พวกเขาได้ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะจงรักภักดีกับประชาธิปัตย์กันทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะมี 1 ที่นั่งให้กับชาติไทยหรือ



เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ได้เดินทางลงไปในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เพื่อไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องที่นั่น ก็เห็นว่าผู้คนที่นั่นก็ยังคงอยู่อย่างหวาดกลัว กลัวทั้งทหาร กลัวทั้งโจร หลายคนไม่กล้าเข้าใกล้ทหาร มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นเพราะกลัวทหารรังแก แต่เป็นเพราะกลัวโดนลูกหลงเพราะทหาร หรือตำรวจเองก็เป็นเป้าที่ไม่เคยรู้ว่าถูกโจมตีตอนไหน อย่างไร


ในส่วนบุคลากรของภาคราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งครู ที่ต้องเข้าไปในชุมชนทุกวัน ส่วนใหญ่ก็รู้ตัวว่าเสี่ยง ต้องระวังตัว แต่ก็ทำได้ยากมากเพราะการเข้าออกโรงเรียนนั้นมีเวลาที่ชัดเจน และเส้นทางที่ใช้ก็มีเพียงเส้นทางเดียว ไม่ได้เหมือนถนนในกรุงที่จะมีซอกเล็กซอยน้อยให้ลัดเลาะ


ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสเคยเป็นคนพุทธที่ไปแต่งงานกับสาวมุสลิม ตอนนี้นับถืออิสลามแล้วบอกว่า เขารู้ว่าเริ่มมีคนติดตามแล้ว เพราะชอบมีโทรศัพท์มาถามซ้ำ ๆ ในเวลาเดียวกันสามวันติดต่อกันว่าถึงโรงเรียนหรือยัง แล้วต่อมาก็มีมอเตอร์ไซค์ขับตาม แล้วถามว่าเป็นพุทธหรือมุสลิม ทำให้เขาเริ่มไหวตัว ทุกครั้งที่มีมอเตอร์ไซค์ตามเขาก็จะเลี้ยวเข้าไปบ้านชาวบ้านเสียก่อนแล้วค่อยขับรถกลับบ้าน ถามว่าทำไมถึงไม่เอาทหารไปคุ้มกัน คำตอบก็คือ จะเอาไปให้ตายเร็วยิ่งขึ้นหรือ ครูส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนั้น กลายเป็นว่าหากต้องอยู่ใกล้กับทหารจะยิ่งเสี่ยงกว่าเดิมเสียอีก ดังนั้นถึงตอนนี้ใคร ๆ ที่นั่นก็ต้อง " ดูแลตัวเอง " โดยมิพักให้ใครต้องมาย้ำ


มีเสียงสะท้อนจากฝ่ายตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งเป็นสายปฏิบัติการที่มักตกเป็นเหยื่อของคนร้าย ที่มักจะถูกตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจถึงไม่เคยจับผู้ร้ายได้เลย คำตอบก็คือ เวลาที่ผู้ร้ายเข้ามายิงคนนั้น ตำรวจก็รู้อยู่ว่าหนีไปทางไหน และประสานงานเพื่อให้กำลังตำรวจคอยสกัดจับ ทว่า เมื่อตำรวจใช้วิทยุสื่อสาร คลื่นที่ใช้นั้นใคร ๆ ก็จูนเข้าไปฟังได้ นักวิทยุสมัครเล่นก็ฟังได้ ผู้ร้ายก็ฟังได้เช่นกัน ผู้ร้ายก็รู้ความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาก็เลยหนีไปได้ หรือแม้กระทั่งเวลาที่ตำรวจเรียกเตรียมพร้อมผ่านวิทยุสื่อสารนั้น ฝ่ายโจรก็รู้ ตำรวจผู้ปฎิบัติหน้าที่ได้พยายามเสนอและขอที่จะใช้โทรศัพท์มือถือในการสื่อสารหรือประสานงานกันแทนการ " ว." อย่างน้อยการดักฟังก็ทำได้ยากขึ้น คำตอบคือ " ไม่มีงบฯ " หรือแม้บางคนได้ใช้โทรศัพท์ส่วนตัวไปจะไปขอเบิกเงินก็เป็นไปอย่างยากเย็นมาก ๆ


" สุดท้ายเวลามีโจรมายิงชาวบ้านหรือแม้กระทั่งตำรวจทีไร แม้ตำรวจจะรู้ว่าโจรไปทางไหนในตอนแรกแต่ก็ไม่สามารถจะจับโจรได้ เพราะการ ว. บอกให้ตามสกัดจับนั้นโจรก็รู้เหมือนกันว่าตำรวจกำลังจะตามไปทางไหนก็เลยมักจะหนีไปได้ เว้นแต่กรณีดวลแลกชีวิตกัน " เสียงจากตำรวจ


ส่วนผู้บริหารที่นั่งอยู่ส่วนกลางก็ได้แต่ก่นด่าไปว่า พวกนี้ไม่มีน้ำยาปล่อยให้โจรยิงอยู่ได้ ทว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานที่มีอยู่นั้นมันไม่เอื้อให้มีน้ำยาขึ้นมาได้ อันที่จริงหากงบประมาณไม่มี น่าจะมีบริษัทที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือที่จะร่วมช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศโดยบริจาคมือถือให้ตำรวจที่ปฏิบัติอยู่ในพื้นสามารถโทรฟรีจะดีไหม หากไม่แน่ใจว่าจะเอาไปใช้ในงานก็ระบุหมายเลขไปเลยว่ามีหมายเลขใดที่จะโทรถึงกันได้บ้าง เช่นระหว่างหน่วยปฏิบัติการด้วยกันและการรายงานผู้บังคับบัญชา เป็นต้น อย่างนี้ก็น่าจะช่วยให้ตำรวจมีน้ำยามากขึ้นก็ได้ หรือไม่เช่นนั้นก็คงต้องหาทางออกใหม่ ๆ ให้ตำรวจด้วย


เห็นสภาพบ้านเมืองที่เคยสวยงามสดใสต้องตกมาอยู่ในสภาวะอึมครึมเช่นนี้ก็น่าเศร้าใจ และเสียดาย ได้แต่หวังว่า การมีคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติแล้วจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่พอไปถามคนในพื้นที่ก็บอกว่า ดูไม่ออกว่าคณะการชุดนี้จะไปทำอะไรได้ หากเป็นทำงานเพื่อการหาแนวทางแก้ปัญหาเมื่อได้แล้วนำมาเสนอต่อรัฐบาลคำถามของเขาก็คือว่า " จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกหักหลัง" เหมือนกับตอนที่ส่งรองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์เข้ามาผู้คนล้วนให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลที่แท้จริงก็ได้ไปแล้ว และคนที่นั่นก็เห็นแล้วว่าวิธีการนั้นน่าจะได้ผล แต่ท่านผู้นำกลับไม่เอามาพูดถึงด้วยซ้ำ


คนทั่วไปในพื้นที่เองนั้นไม่ว่าจะพุทธ หรือมุสลิม ล้วนต้องการความสงบสุข แต่ไม่เคยมั่นใจเลยว่ารัฐบาลจะจริงใจในการแก้ปัญหาให้พวกเขาจริง ๆ เพราะบทเรียนที่เห็นเป็นเช่นนั้น หากรัฐบาลจริงใจก็ขอให้เริ่มจากการรับฟังเสียงจากคนข้างล่างบ้าง ก็คงจะช่วยให้สถานการณ์หลายอย่างดีขึ้นบ้างไม่ใช่น้อยและทั้งหมดนี้ก็เป็นเสียงสะท้อนจากคนข้างล่างผู้กำลังรอความหวังอยู่