Skip to main content

บนเส้นทางพิทักษ์สิทธิเด็ก : "ศูนย์เพื่อน้องหญิง" (๓)

คอลัมน์/ชุมชน

 "อาสาสมัคร" ต้นกล้าน้อยผู้ร่วมเดินทาง


 


นอกจากกระบวนการทำงานผ่านเจ้าหน้าที่ประจำแล้ว ที่ศูนย์เพื่อน้องหญิงยังได้มีกระบวนการในการทำงานผ่านอาสาสมัคร ซึ่งอาสาสมัครแต่ละคนจะเป็นเด็กและเยาวชนที่สนใจและอยากเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อชุมชนซึ่งปัจจุบันมีอาสาสมัครศูนย์เพื่อน้องหญิงมากกว่า ๔ รุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นมีความเหมือนและความต่างกันกล่าวคือ


 


หากจะกล่าวสำหรับรุ่นแรกเริ่มคือรุ่นที่ ๑ และรุ่นที่ ๒ แล้ว ถือว่าเป็นรุ่นบุกเบิกการสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำเด็กและเยาวชนในชุมชนเพื่อเป็นอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็กของศูนย์เพื่อน้องหญิง โดยมุ่งหวังให้เด็กๆ ในชุมชนได้ทำกิจกรรมเพื่อชุมชน


 


ก่อนเข้ามาเป็นอาสาสมัคร


 


สำหรับอาสาสมัครแล้วก่อนที่จะเข้ามาทำกิจกรรมนั้น ความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก เอดส์เพศศึกษา คนรักเพศเดียวกัน พบว่าอาสาสมัครไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ หรือบางคนก็มีความรู้แค่พื้นฐาน เช่น การดูแลสุขภาพ การเจริญเติบโตเท่านั้น และยังมองว่าเอดส์เรื่องไกลตัว ไม่ค่อยสนใจ ไม่รู้จักเอดส์ ซ้ำยังรังเกียจผู้ติดเชื้อ คิดว่าเอดส์ติดต่อกันง่าย ส่วนเรื่องคนรักเพศเดียวกันนั้นมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ บางคนก็รู้และเข้าใจเพราะมีเพื่อนเป็นรักเพศเดียวกัน


 


 "ตอนนั้นเป็นเด็กนักเรียนมัธยมต้นโรงเรียนแม่อ้อวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมในตำบลแม่อ้อ  ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ก็จะมาเรียนหนังสือตามปกติ โดยการปั่นจักรยานมากับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านเป็นระยะทาง ๒-๓ กิโลเมตร ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็จะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ดูทีวี เที่ยวบ้านเพื่อน ๆ ในตำบลแม่อ้อ ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรเท่าไหร่" อาสาสมัครคนหนึ่งกล่าว


 


แต่แม้ว่าอาสาสมัครบางคนไม่คิดว่าตัวเองจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์เพื่อน้องหญิง แต่การได้เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วยการชวนเชิญจากเพื่อนนั้น อาสาสมัครหลายคนให้ความเห็นคล้ายกันว่า การมาทำกิจกรรมที่ศูนย์นั้นสนุก และได้ออกไปเรียนรู้ที่อื่นๆ ทำให้เกิดความสนใจอยากทำกิจกรรม เพราะยังได้เห็นว่าปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิเด็กในชุมชนยังมีมาก จึงอยากช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่เป็นตัวช่วยให้เด็กๆ สนใจอยากเข้ามาทำกิจกรรมกันมากขึ้น


 


ระหว่างเป็นอาสาสมัคร


 


ก่อนที่จะได้มาเป็นอาสาสมัครศูนย์เพื่อน้องหญิง อาสาสมัครแต่ละคนจะได้รับการอบรมเรื่องสิทธิเด็กจากพี่ๆ ศูนย์เพื่อน้องหญิง ซึ่งก่อนหน้านี้เด็กๆ จะไม่มีความรู้เรื่องสิทธิเด็กเลย ไม่รู้ว่าเด็กมีสิทธิอะไรบ้าง บทบาทชายหญิงนั้นเท่าเทียมกันอย่างไร และมีทักษะในการป้องกันตัวเองอย่างไรบ้าง


 


กิจกรรมที่พี่ๆ อบรมให้นั้น เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมนันทนาการ, การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้, การนำเสนองานเพื่อฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก และสนใจที่จะทำกิจกรรมจึงสมัครเป็นอาสาสมัครของศูนย์เพื่อน้องหญิง


 


ระหว่างเข้ามาทำกิจกรรมที่ศูนย์นั้น ทำให้อาสาสมัครได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรมในเวทีต่างๆ ทำให้เข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก เอดส์เพศ คนรักเพศเดียวกันมากขึ้น และรู้บทบาทหน้าที่และสิทธิของตัวเอง และมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี รู้ว่าเอดส์ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ  และรับรู้ว่าภัยการละเมิดทางเพศเป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถเกิดขึ้นกับตัวเองได้


 


นอกจากนี้ทุกวันเสาร์–อาทิตย์  อาสาสมัครรุ่นที่ ๑ และ ๒ จะมาทำกิจกรรมที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง เช่น เล่นกีตาร์ เรียนพิมพ์ดีด, จัดบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็กตามโรงเรียน, เข้าร่วมเวที ค่ายเยาวชนตามต่างจังหวัด, เข้าร่วมอบรมทักษะการแสดงละครชุมชน รณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิเด็กผ่านสื่อละครที่ได้รับทักษะเทคนิคจากกลุ่มละครกั๊บไฟและกลุ่มละครมะขามป้อมตามโรงเรียนและตลาดในชุมชนตำบลแม่อ้อ


 


 "อาสาสมัครรุ่นที่ ๑ กับ ๒ ได้เข้าร่วมการอบรมละครจากกลุ่มละครกั๊บไฟตอนปี ๒๕๔๒ ก็ได้รวมกันก่อตั้งเป็นกลุ่มละครขึ้น ชื่อว่า "ข้าวจี่" หมายถึงพวกเราที่ต่างคนต่างมาและได้มาอยู่รวมกันที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง และแม้เราจะฝ่าฟันอุปสรรคเท่าใดแต่เราก็ยังเกาะกันเหมือนข้าวที่ถูกปิ้ง ย่างด้วยไฟ แต่ก็ยังเกาะกันอยู่เหมือนเดิม"


 


 "กลุ่มละครข้าวจี่จะแสดงละครตามตลาดสดและงานสำคัญๆ ที่มีการจัดเช่น วันแม่ วันเยาวชนเป็นต้น และนอกจากนี้พวกเราก็ร่วมจัดกิจกรรมกับพี่ๆ ศูนย์เพื่อน้องหญิงด้วย คือประมาณว่า พี่ๆ ไปไหน จัดงานอะไร พวกเราก็จะไปด้วย ไปแสดงละครกัน"


 


 "ตอนแรกๆ ก็จะเป็นละครคน แต่มาเป็นพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เป็นละครหุ่น มีพี่ๆจากมะขามป้อมมาอบรมเพิ่มเติมทักษะให้อีก ทำให้เราพัฒนาฝีมือของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น"


 


 "การทำงานของเรา จะแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายแสดง ฝ่ายเขียนบท ระดมทุน ประสานงาน ก็จะแบ่งกันทำงานแล้วก็จะมาซ้อมละครทุกๆเย็น หลังเลิกเรียน พอถึงเวลาแสดงก็มารวมตัวที่ศูนย์แล้วก็ออกไปแสดงตามจุดหมายหรืองานที่จัด"


 


ปัญหาของอาสาสมัครส่วนมากจะเป็นเรื่องของเวลาในการทำกิจกรรม เพราะต้องเรียนหนังสือ และปัญหาในเรื่องของการเอาใจใส่ และความรับผิดชอบต่องานของอาสาสมัครบางคน เช่น ไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ทำงานตามที่มอบหมายไว้


 


อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่อาสาสมัครรุ่นแรกๆ ทำด้วยกันนั้น เป็นกิจกรรมที่เข้าใจง่าย สนุก และรูปแบบกิจกรรม เป็นรูปแบบที่เด็กมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจและลงมือปฏิบัติ การทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดความผูกพันธุ์กับเพื่อนๆ พี่ๆ มากขึ้น


 


ปลายทางของอาสาสมัคร


 


ห้วงเวลาหนึ่งของชีวิต เยาวชนที่เข้ามาของอาสาสมัครในศูนย์เพื่อน้องหญิง เมื่อเรียนจบก็ต้องออกไปเรียนต่อต่างพื้นที่ บางคนเรียนในตัวจังหวัด บางคนเรียนต่างจังหวัด ทำให้ต้องลดบทบาทของตนในการเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์ลง


 


แน่นอนว่าเหตุผลที่ต้องออกจากการเป็นอาสาสมัครศูนย์เพื่อน้องหญิงนั้น เพราะต้องไปเรียนหนังสือต่อที่อื่น จึงไม่มีเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับทางศูนย์ฯ แต่การไปเรียนต่อที่อื่นนั้นไม่ได้หมายความว่าเยาวชนคนนั้นไม่ได้เป็นอาสาสมัครของศูนย์เพื่อน้องหญิงเลย


 


 "เรายังมีความรู้เรื่องสิทธิเด็ก ทักษะการป้องกันตัวและสามารถส่งความรู้ต่อให้กับเพื่อน ๆที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ได้ ในช่วงปิดภาคเรียนอาสาสมัครก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางศูนย์ เช่น อบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็กให้กับน้องๆ ในโรงเรียนประถม, รณรงค์ให้ความรู้โดยการแสดงละครในชุมชน ซึ่งทางศูนย์เองก็ได้ต้อนรับอาสาสมัครเป็นอย่างดี"


 


อาสาสมัครรุ่น ๑ และ ๒ หลายคนสะท้อนว่า หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการทำงานกับศูนย์แล้วทำให้มีมุมมอง ทัศนคติที่กว้างขึ้น มองโลกในแง่ดีและเข้าใจประเด็นต่างๆ มากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปช่วยในการทำกิจกรรมหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้อีก


 


สิ่งที่อาสาสมัครได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมที่ศูนย์เพื่อน้องหญิงคือ ทักษะในการเป็นผู้นำ มีความกล้าแสดงออกและได้ฝึกการทำงานเป็นทีมผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ และสำคัญที่สุดคือ ทำให้กล้าเผชิญกับปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปด้วยดี


 


และสิ่งที่ยังคงอยู่ในใจของอาสาสมัครคือหัวใจของความเป็นอาสาสมัคร หัวใจของผู้ที่อุทิศตัวเองช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ซึ่งเป็นการทำงานด้วยใจรักและเสียสละ ..... สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาโดยเน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


 


สำหรับผม "บรรยากาศ" การได้เป็นอาสาสมัครทำงานในชุมชนร่วมกับศูนย์เพื่อน้องหญิงนี่แหละครับ ที่เป็นเหตุที่มาของวิธีคิดต่างๆ ของผมในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน


 


ขอบคุณศูนย์เพื่อน้องหญิงที่ทำให้มีผมทุกวันนี้ได้