Skip to main content

‘คุณทักษิณ’ กับโฆษณาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

คอลัมน์/ชุมชน

คุณทักษิณเป็นข่าวร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง หลังสังคมไทยคลี่คลายจาก "วิกฤติการเมือง" ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๘ ในวาระมหามงคลสมัย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา


 


การระบุถึง "คนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" และการกลับมาจัดรายการวิทยุ "นายกฯ พบประชาชน" เป็นประจำทุกวันเสาร์ ของท่านนายกฯ ทำให้บางคนกล่าวว่า "คุณทักษิณคนเดิมกลับมาแล้ว" ขณะที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "นี่ล่ะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ไม่เคยยอมรับความเพลี่ยงพล้ำ, ไม่เคยยอมรับว่าตนเองพลาด และไม่เคยเชื่อว่าตนเองมีจุดอ่อนด้อยอันต้องปรับปรุงใดๆ" กล่าวคือ แม้ก่อนหน้านั้นจะถูกขับไล่ ถูกต่อต้าน ถูกวิพากษ์และวิจารณ์มาหนักหนาสาหัสขนาดไหน ดูคุณทักษิณก็ยังไม่ปลงใจสักนิด ว่าตนผิดหรือพลาดด้วยเหตุใดบ้าง


 


นอกเหนือจากท่าทีที่มักสรุปเสมอ ว่า.."คนผิด-ความผิด" เป็นเรื่องของ "ผู้อื่น-สิ่งอื่น" แทบทั้งสิ้น...


 


ว่ากันโดยสรุปก็คือ ท่าทีของคุณทักษิณนั้น หากมองอย่างผิวเผิน ด้านหนึ่งก็ดูราวกับว่า มีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างองอาจ พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอุปสรรคและปัญหานานัปการจนผ่านพ้นไปได้ แต่หากพินิจให้ต่อเนื่อง ให้ถ่องแท้ และรอบด้าน โดยปราศจากอคติ ก็จะพิสูจน์ได้ไม่ยากนัก ว่าหลายต่อหลายเรื่อง และหลายต่อหลายคราว ท่วงทำนองที่ชัดเจน มั่นใจ ว่องไว และพร้อมที่จะตอบโต้กับใครก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามนั้น มักเป็นเรื่องของการข่มขู่ คุกคาม ยกตนข่มท่าน หรือเขียนเสือให้วัวกลัว อย่างแทบปราศจากข้อมูลรองรับ หรือมีข้อเท็จจริงใดๆ ให้อ้างอิงได้ทั้งสิ้น


 


มิหนำซ้ำ บางคราว กลับเป็นเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ เอาดีเข้าตัว หรือพูดจาจ้วงจาบเกินจริงถึงใครต่อใคร ด้วยกโลบายต่างๆ ตามประโยชน์ที่มุ่งหวัง ซึ่งแอบแฝงไว้อีกด้านหนึ่ง เสียด้วยซ้ำ


 


ลับหลังไปจากที่ปรากฏต่อสาธารณะจะเป็นอย่างไร หรือเพียงไหนก็ไม่มีใครทราบ นอกเสียจากตัวคุณทักษิณเอง และบรรดาคนใกล้ชิด แต่ที่ผ่านๆ มาซึ่งปรากฏต่อสายตา หรืออายตนะอื่นๆ ของผู้คนในสังคมแล้ว เพียงสังเกตอย่างครอบคลุมและแยบคาย ก็จะพบ "ข้อพิรุธ" ให้จับผิดหรือชี้โทษได้ง่ายดาย มากมายเต็มไปหมด ชนิดที่เรียกว่าเป็นโทษซึ่ง "ตบตาไม่ได้-เถียงไม่ออก" แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด หรือนโยบายในเรื่องสงครามยาเสพติด สงครามเอาชนะความยากจน สงครามต่อต้านการทุจริต การแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือความพยายามยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปด


 


...นี่ยังไม่นับโครงการฝันเฟื่องอย่างบัตรสมาชิกประเทศไทย หรืออภิมหาโครงการระดับชวนต่างชาติมาลงทุนถือหุ้นพัฒนาประเทศ และความกระหายใคร่ทำใคร่ซื้อใคร่ชี้แนะ อะไรต่างๆ อีกจิปาถะ ที่ดูจะมีทั้งรสชาติและสีสัน เป็นทั้งผลงานการเมืองการตลาด และการสร้างข่าวใหม่กลบข่าวเก่า หรือสร้างข่าวลวงกลบข่าวจริง อีกมากต่อมาก


 


ท่าทีและท่วงทำนอง "โฆษณาหลอกลวง-เกินจริง" เช่นนี้ของคุณทักษิณ หากจะเปรียบกับวิถีการประชาสัมพันธ์ชนิดสามัญก็ดูจะหาตัวอย่างมาเทียบชั้นได้ยาก นอกจากโฆษณาของหน่วยงานหรือโครงการบิดเบือนครอบงำโดยภาครัฐที่หลับหูหลับตาจัดทำขึ้นแล้ว ที่พอจะใกล้เคียงอยู่บ้างก็อาจจะเป็นโฆษณาสร้างภาพหรือย้อมแมวขายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ บริษัท ปตท.จำกัด มหาชน.ดอกกระมัง ที่ถนัดเปลี่ยนดำเป็นขาว หรือเปลี่ยน "โทษ" ให้เป็น "คุณ" ประเภท "ตอหลด-ตอแหล-แก้ตัวหน้าด้านๆ" ให้เห็นอยู่บ่อยๆ ชนิดที่ว่า แม้คนทำงานประจำหรือผู้บริหารในองค์การค้าเหล่านี้เอง ก็ยังยากจะเชื่อได้ ว่าบริษัทตนถือหุ้น หรือที่จ่ายเงินปันผลเงินเดือนให้ตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมัน "ดีเด่น" ถึงขนาดนั้นจริง ๆ ล่ะหรือ?


 


แต่ที่คล้ายคลึงเมื่อเทียบเคียงกับท่วงทำนอง "ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด" หรือ "ปฏิเสธความชั่วช้าของตนได้อย่างน่าชื่นตาบาน" แล้ว ที่เห็นกันชัดๆ ในสื่อโทรทัศน์ปัจจุบัน ก็คงเป็นโฆษณาน่าชิงชังรังเกียจชนิด "สุดๆ" ของ "สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" หรือ "หน่วยงานขายหวยรัฐ" นั่นเอง ค่าที่พยายามเสียเหลือเกิน ในการยกเอาแง่มุม "ความช่วยเหลือจอมปลอม" ที่ตนหยิบยื่น "เศษเสี้ยวเงินบาป" ออกไปเจือจานคนสิ้นไร้ไม้ตอก หรือคนด้อยโอกาสบางคนในบางกลุ่มมาอวดโอ่ โชว์ "ความดี" ที่มุ่งรับใช้ "ความเลว" อย่างไม่รู้จักหิริ-โอตตัปปะ ว่าที่แท้ ตนได้ลงมือขูดรีด "ส่วนเกิน" มาจากผู้ร่วมชนชั้นของคนเหล่านั้นอย่างไรบ้าง


 


การนำคนตาพิการ และนักเรียนยากจน หรือคนขาดที่พึ่ง มาสร้างความชอบธรรมให้กับกิจการสลากแห่งความชั่วชนิด "พนันถูกกฎหมาย" หรือ "อบายมุขของรัฐ" ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น คงไม่มีอะไรตอบแทนได้ ดีไปเสียกว่ายกให้เป็น "โฆษณาเลียนแบบนายกดีเด่น" ในแง่ที่ถอดแบบออกมาจากท่าทีและท่วงทำนองการโฆษณาชวนเชื่อของผู้นำรัฐยุคปัจจุบันได้อย่างไม่บกพร่อง ชนิดที่เรียกได้ว่า เป็นโฆษณา "คู่บุญ-คู่บารมี" นายกรัฐมนตรีเอาเลยก็ว่าได้


 


อย่างไรก็ตาม ด้วยความเหมือนในความต่าง หรือเส้นทางซ้อนทับของความชั่วร้ายชนิดใกล้เคียงกัน ระหว่าง "ขายหวย" กับ "หาเสียง" ที่ยกขึ้นมานี้ หากบังเอิญด้วยเหตุใดๆ ที่บทความนี้จะมีโอกาสทำให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หรือฝ่ายจริยธรรมในวงการโฆษณาได้ตาสว่าง หันมาควบคุมการโฆษณาของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ "กองสลาก" ให้เปลี่ยนเนื้อหาหรือวิธีการนำเสนอ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ให้มีคำเตือน "เหมือน" หรือ "คล้าย" กับที่ใช้ในการโฆษณาเหล้าและบุหรี่ขึ้นมาบ้าง ก็โปรดอย่าได้ลืมนำวิธีการเดียวกันนั้นไปใช้กับรายการนายกฯ พบประชาชน หรือในการประชุมมอบนโยบายรูปแบบต่างๆ เสียด้วย ว่าต้องมีข้อควรระวังในการรับฟังคำพูดนายกรัฐมนตรีเช่นไร อาทิ "สิ่งที่นายกฯ จะพูดต่อไปนี้อาจทำให้ผู้ชมผู้ฟังประมาทเลินเล่อ หรือเผลอสติ จนเป็นเหตุให้สังคมแตกแยก หรืออันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้โดยง่าย" หรือ "นโยบายเหล่านี้เป็นการหาเสียง ควรรับชมรับฟังด้วยความรอบคอบ" เป็นต้น


 


หาไม่ ก็จะพากันไปเข้ารกเข้าพง ผิดฝาผิดตัว มั่วศีลผิดธรรม ออกนอกจารีตประเพณีที่ดีงามตาม "ท่านผู้นำ" อย่างโง่ๆ และง่ายๆ ไปเสียหมด ทั้งบ้านทั้งเมือง...