Skip to main content

แอบ? ไม่แอบ?

คอลัมน์/ชุมชน


เกือบสัปดาห์ที่ผ่านมา บทความปัญหาอยู่ที่มองไม่เห็นปัญหา (ตอนหนึ่ง) ดูเหมือนไม่ท้าทายคนอ่านเท่าไรนัก เรตติ้งน้อยกว่าที่น่าจะเป็น แต่เอาเหอะจะเขียนเรื่องทำนองนี้ต่อไป เพราะว่ามันเป็นเรื่องปลีกย่อยที่มองข้ามไม่ได้เลย ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพคนและสังคม แต่บทความชิ้นนี้ขอเป็นขำๆ สักหน่อยก็แล้วกัน


 


ผู้เขียนได้ไปร่วมงานปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโทใหม่ของคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่ผู้เขียนทำงานประจำอยู่หลังจากลาออกจาก University of Minnesota, Morris (2001-2006) และกลับมาเมืองไทยด้วยสาเหตุที่เคยเล่าไปแล้ว ผู้เขียนได้ชมละคอนและการแสดงต่างๆ ถือว่าเป็นภาคบันเทิงของงาน ต้องขอขอบคุณนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่หรือรุ่นใหม่ ทุ่มใจทุ่มกำลังในเรื่องจัดงานนี้อย่างเต็มที่ (อดคิดต่อไม่ได้ว่าขอให้ขยันๆ เรียนแบบนี้ด้วย) อย่างไรก็ตามมีภาควิชาการด้วย คือให้นักศึกษาใหม่เหล่านี้ได้มีโอกาสพบปะกับอาจารย์ในโปรแกรมอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้สึกไม่แปลกแยกเกินไป


 


ก่อนที่จะเข้าถึงเรื่องหลักของงานเขียนนี้ ขอแวะเล่าเรื่องเกร็ดเล็กน้อย คือลักษณะการปฐมนิเทศแบบนี้ ผู้เขียนว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยในระยะหลังๆ  ตอนแรกๆ เมื่อช่วงปี 2541 ผู้เขียนนั้นยังยอมรับไม่ได้ ค่อนข้างอึดอัดกับงานแบบนี้ จวบจนปี 2543 หลังจากที่ไปอยู่สหรัฐฯ แล้วบินไปบินมาระหว่างอเมริกา-กทม.(ทำนองเดียวกับขับรถไปมาระหว่างบางนา-สำเพ็ง ที่นานเหลือเกินแม้จะมีทางด่วนก็เหอะ) บ่อยๆ เข้า จึงเริ่มมองอะไรเปลี่ยนไปนั่นคือ เปิดกว้างขึ้น ไม่ยินดียินร้าย แต่มองอย่างวิเคราะห์ พอกลับมาคราวนี้เลยไม่อึดอัด พลอยสนุกในการสังเกตการณ์ ยอมรับว่า นี่คือแบบไทยๆ อย่างหนึ่ง


 


ประเด็นหลักของงานเขียนนี้ มีอยู่ว่า มีการแสดงของนักศึกษาแบบตลกๆ หลายกลุ่ม แต่มีสองรายการที่ซ้ำกัน นั่นคือบอกถึงเรื่องกลุ่มรักเพศเดียวกัน เป็นเรื่องที่สรุปว่า ชายไทยปัจจุบันกลายเป็นรักเพศเดียวกันหรือเกย์มากขึ้น จุดประสงค์ของการแสดงคือต้องการให้ตลก ซึ่งก็ตลกในระดับหนึ่ง  แต่ที่มากกว่านั้นคือ มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าสังคมไทยเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น และรู้ว่ากลุ่มรักเพศเดียวกันมีมากแบบขึ้น การที่มองว่าเกย์ต้องตุ้งติ้งนั้นได้เปลี่ยนไปและมีการขยายผลออกมาว่า ใครๆ ก็เป็นเกย์ได้  ไม่เกี่ยวกับบุคลิกตุ้งติ้ง อันเป็นสัญญาณที่ดีว่าต่อไปนี้สังคมไทยจะมีมุมมองที่ไม่ยึดติดกับอคติเรื่องบุคลิก และไม่แปลกที่คนที่ดูเป็น "แมน" นั้นก็สามารถเป็น "ผู้ช้ายผู้ชาย" ที่พิศวาสผู้ชายได้เช่นกัน


 


แต่สิ่งที่ผู้เขียนไม่ชอบในสังคมไทยทั่วไป คือ การบอกว่าถ้าคุณเป็นเกย์  คุณต้องแอบ แอบสุดชีวิต ทำท่าว่า "บ้าหม้อ" ทำท่าว่า "เจ้าชู้" เพื่อกลบความเป็นเกย์ ซึ่งเรียกว่า Passing เหมือนกับตัวอย่างที่เรารู้กันเช่น กรณี ร็อค ฮัดสัน[1]  ที่ปกปิดความเป็นเกย์ของตนในฮอลลีวู้ด จนในที่สุดก็ต้องมาเปิดเผยตนว่าเป็นเกย์เพราะบังเอิญได้ไวรัสเอดส์และตายในที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วงการเกย์ในสหรัฐฯ ถือว่าเป็นกรณีคลาสสิคในเรื่องปกปิดการเป็นเกย์


 


เรื่องของ Passing นี้เป็นเรื่องที่บั่นทอนพลังการรวมตัวเพื่อการเมือง เพื่อความเท่าเทียมกันในสหรัฐฯ กลายเป็นหนึ่งในวาระหรือรายการที่บรรดากลุ่มความหลากหลายทางเพศของสหรัฐฯเก็บไว้ในการทำงานต่อมาจนปัจจุบันเพราะว่า หากคนที่เป็นรักเพศเดียวกันหรือรักมากกว่าหนึ่งเพศกล้าแสดงตนและรวมพลังกันจริงๆ แล้ว จะทำให้คนรักต่างเพศต้อง "หนาว" ทีเดียว  เนื่องจากว่ากลุ่มรักต่างเพศอาจกลายเป็นคนกลุ่มน้อยไปเลยก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มาเยอะ


 


พูดถึงเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ เกี่ยวรสนิยมทางเพศนี้ ผู้เขียนได้ยินมามากขึ้น เช่น (1) ผู้หญิงที่บอกว่าเป็นทอม ประกาศตนว่าชอบผู้หญิงที่เคยเป็นผู้ชายมาก่อนเท่านั้น ผู้หญิงโดยกำเนิดไม่ชอบ (2) ผู้ชายที่เป็นหญิงมาก่อนแล้วผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ  กลับบอกว่าตนชอบผู้ชายเข้มๆ ล่ำๆ เท่านั้น (ซึ่งในใจเราจะคิดกันว่าพวกนี้ต้องการมีอะไรกับผู้หญิง)  (3) ผู้หญิงที่เป็นชายมาก่อนแล้วผ่านการผ่าตัดแปลงประกาศว่าขอเป็นเลสเบี้ยน จะนอนกับผู้หญิงเท่านั้น (ซึ่งในใจเราจะคิดกันว่าพวกนี้ต้องการมีอะไรกับผู้ชาย)  ดังนั้น การที่ตนเองจะประกาศตนว่ามีเพศอะไร ไม่เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ พูดง่ายๆ คือ การพอใจที่ตนเองจะมีจู๋หรือจิ๋ม ไม่ได้บอกว่าจะต้องการมีอะไรกับจิ๋มหรือจู๋ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างกับตนมี ตามที่กล่าวมาแล้ว  ดังนั้น ถ้าคนเคยมีจู๋ของตนเอง อยากเปลี่ยนเป็นมีจิ๋มของตนเอง แล้วก็ยังคงอยากเล่นกับจิ๋มของคนอื่น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ในโลกสมัยนี้


 


ว่าแล้วผู้เขียนก็พาลนึกไปถึงละคอนทีวีที่แพร่ภาพปัจจุบัน มีคนแสดงพระเอกที่มีลักษณะในจอนอกจอไม่เป็นแมนนัก กระเดียดเป็น "สาว" จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่ "ชาวเรา" ว่าเป็นหนึ่งเดียวคนนี้ด้วย (อันนี้ไม่ได้เป็นการตอกย้ำอคติเกี่ยวกับบุคลิก แต่มันตรงกับอคติจริงๆ)  แต่กระนั้นก็เถอะ ชาวบ้านทั่วไปก็ยังไม่รู้กันอีก ได้แต่ขำ เช่นเดียวกับที่มีศิลปินนักร้องนามกระเดื่องในค่ายยักษ์ที่รู้กันว่าเป็น "ป้า" ไม่ใช่ "ป๋า"  ทั้งที่ก่อนหน้านั้น บรรดาแม่ยกและสาวๆ ต่างปลื้มนักปลื้มหนา ตอนนี้ก็รวยเละไปแล้ว อันนี้คือเรื่องของบรรดาความตื้นของสังคมไทยในเรื่องเกี่ยวกับ "รสนิยมทางเพศ"


 


ตอนที่พิมพ์ต้นฉบับไป ก็ดูละคอนที่ว่าไปด้วย เห็นพระเอกมองนางเอกอย่างละห้อย แต่มองไปมองมากลับเหมือน เหมือน "ดี้ค้อนทอม" มากกว่า ดูไปขำไปเวลาเห็นพระเอกจีบปากจีบคอคุยกับนางเอก


 


ขอวกกลับมาเรื่อง Passing อีกหน่อยก่อนจบ การที่คนหลายคนต้องทำ Passing ก็เพราะว่าต่างกลัวว่าตนเองสูญเสียโอกาสในชีวิต เช่นการที่องค์กรบางแห่งยอมรับไม่ได้ถ้าจะให้เกย์หรือทอมที่ประกาศตัวเป็นผู้บริหารองค์กร หรือสถาบันการศึกษาบางแห่งที่ประกาศต่อต้านบุคคลที่ไม่ใช่รักต่างเพศและประกาศตัวว่าเป็น ได้เข้าเรียนหรือศึกษา หรือบางแห่งขนาดบอกว่าจะไม่ให้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างเอาเลย  อันนี้ขอบอกว่าถือเป็นเรื่องขัดกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ถ้าฟ้องร้องกัน องค์กรนั่นแหละที่จะประสบปัญหามาก


 


ผู้เขียนตอนนี้ได้แต่ขำกับสังคมไทย ที่โกหกกันเอง ไม่ว่าเรื่องเล็ก จนถึงเรื่องใหญ่ ในมุ้งนอกมุ้ง ในเรื่องนี้ อยากบอกว่าบรรดาคนใหญ่ๆ โตๆ ที่เราเห็นๆ กันนี่ ที่มีเมีย มีลูกกันก็หลายคน เป็น "แต๋วศรี มณีกระเด้ง" กันมากมาย เพียงแต่ว่าสังคมไทยเองนั่นแหละที่ naïve หรือไร้เดียงสาเสียเหลือเกินเท่านั้นเอง


 


เรื่องนี้ที่ว่าขำก็ตรงนี้แหละ ถ้าใครไม่ขำ ผู้เขียนขำเองก็แล้วกัน ฮิฮิ


 





[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Rock_Hudson