Skip to main content

เด็กๆ ของเรา ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโฆษณา

คอลัมน์/ชุมชน

ได้มีโอกาสร่วมเสวนาเรื่องขนมเด็กกับสุขภาพของเด็กไทย จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับโครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ทำให้รับรู้ว่า เด็กไทยและเด็กทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงในการเจ็บป่วยเรื้อรัง เนื่องจากในขนมขบเคี้ยวต่างๆ มีปริมาณไขมันสูง เกลือสูง และน้ำตาลสูง  


 


จากงานวิจัยสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อคนไทยโดยภาพรวมในปี 2548 ลำดับที่ 5 คือการบริโภคน้ำตาลในนมและขนมเด็ก ส่งผลให้เด็กจำนวนมากเป็นโรคอ้วน โรคฟันผุ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และความผิดปกติของกระดูกและข้อ เห็นข้อมูลเหล่านี้ยิ่งตกใจและคลางแคลงใจว่าใช่หรือไม่ เพราะสิ่งที่รับรู้กันมาตลอดเรื่องโรคไขมันในเลือด เบาหวาน หัวใจ เหล่านี้ล้วนเป็นโรคของผู้สูงอายุทั้งนั้น แต่มาเกิดกับเด็กที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ 


 


ประกอบกับเมื่อดูข้อมูลงานวิจัยของนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี[1] พบว่าปี 2545 มีจำนวนผู้ป่วยเด็ก 105 รายที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัวคือ อ้วน 65 ราย ผอม 40 ราย ในกลุ่มเด็กอ้วนร้อยละ 25 เริ่มมีไขมันสูง ร้อยละ 10 มีความดันโลหิตสูง และมีผู้ป่วยเด็กคนหนึ่งเริ่มเป็นเบาหวาน ส่วนในกลุ่มเด็กผอมมีภาวะขาดสารอาหาร นี่เป็นการเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยเด็กที่มาที่โรงพยาบาลแล้ว ทั้งเด็กอ้วนและเด็กผอมต่างก็ได้รับสารอาหารที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย คือ ไขมัน เกลือ และน้ำตาล ในเด็กอ้วนยังกินอาหารอื่นๆ ได้อีก ในกรณีเด็กผอมคือไม่กินอาหารหรือข้าว นอกจากขนม ทำให้ต้องเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงที่เด็กๆ เริ่มป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เป็นกับผู้สูงอายุมาก่อนแล้วได้


 


สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากสภาพสังคมได้เปลี่ยนไป เด็กเกือบทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงการดูทีวีได้อย่างเสรี รวมถึงการที่พ่อแม่ใช้ทีวีเป็นเครื่องล่อให้ลูกอยู่กับที่ ไม่วิ่งซนไปมา งอแงอยากให้พ่อแม่เล่นด้วย จึงใช้การเปิดทีวีแช่ให้ดู เพื่อพ่อแม่จะได้มีเวลาทำอย่างอื่นๆ ได้บ้าง โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ช่วงเช้า รายการทีวีเอาใจเด็กๆ ด้วยภาพยนตร์การ์ตูน ทำให้เด็กนั่งๆ นอนๆ อยู่กับที่ได้สองสามชั่วโมง สิ่งที่ปรากฏตามมาคือภาพที่เราเห็นจนชินในร้านขายขนม  ที่เด็กๆ ร้องจะกินขนมที่เขาเห็นในโฆษณา  พ่อแม่เองก็ลำบากใจที่จะปฏิเสธลูก ประกอบกับการติดฉลากคุณค่าทางโภชนาการบนซอง กล่อง ก็ไม่ชัดเจน ตัวอักษรเล็ก บางครั้งเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ยากในการเลือกซื้อ สำหรับขนมเด็กควรมีการติดฉลากเป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่สามารถรู้ได้ว่าขนมนั้น มีคุณค่าทางโภชนาการมากน้อยเพียงใด หรือแม้แต่การใช้สัญลักษณ์บอกว่าชนิดใดมีโภชนาการสูง ชนิดใดมีเกลือสูง น้ำตาลสูง ไขมันสูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้และได้รับการให้ข้อมูลมาแล้วว่าผลดีผลเสียของสารอาหารที่เกินจำเป็นมีผลเช่นไรต่อสุขภาพ


 


อย่างไรก็ตาม การบริโภคโดยได้รับอิทธิพลจากโฆษณายังเป็นเรื่องทางจิตใจของเด็กที่ต้องการกินโดยไม่สนใจว่ามีคุณค่าเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการปกป้องเด็กๆ จากอิทธิพลของการโฆษณา เช่น ในประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ ห้ามโฆษณาจูงใจเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ในรัฐควีเบก แคนาดา สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สั่งห้ามโฆษณาจูงใจเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ประเทศบราซิลเห็นชอบออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาป้องกันเด็ก ประเทศออสเตรเลีย เครือข่ายนักวิชาการและผู้บริโภคเร่งรณรงค์จำกัดการโฆษณาในเด็ก  ประเทศสวีเดนออกสัญลักษณ์ คีย์โฮลหรือรูกุญแจ ที่บอกให้ผู้บริโภคทราบว่าอาหารใดเป็นอาหารโภชนาการสูง  หรือประเทศอังกฤษได้ขอความร่วมมือแบบสมัครใจจากบริษัทผลิตขนม อาหารเด็ก ให้ติดสัญญาณคล้ายสัญญาณไฟจราจร เขียว แดง เหลือง เพื่อแสดงให้เห็นว่าขนมนั้นมีโภชนาการไปทางใด โดยจะใช้วิธีบอกว่าเป็นของดี หรือเตือนแล้วนะ  ให้ผู้บริโภคเลือกกันเอาเอง


 


ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารอาหารที่เกินจำเป็นในขนมเด็กด้วย ซึ่งหากรัฐมุ่งมั่นเอาจริงก็สามารถบูรณาการเข้าไปในวิชาสุขอนามัยในโรงเรียนตั้งแต่เล็กๆ ได้เลย ไม่ใช่บอกเรื่องอาหาร 5 หมู่แล้วจบกัน  ไม่มีการวิเคราะห์ว่าบางสารอาหารหากได้รับเกินความจำเป็นของร่างกาย จะส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังได้


 


หลายคนจะบอกว่าเมื่อเด็กอยากดูการ์ตูน ก็ต้องรับผลจากการโฆษณาขนมเด็กที่กระหน่ำออกอากาศในช่วงเวลาดูการ์ตูนของเด็ก หรือรายการเด็กไปด้วย ทำนองหากไม่อยากให้เด็กติดขนมจากโฆษณา พ่อแม่ก็อย่าให้เด็กดูการ์ตูนสิ  การคิดอย่างนี้ดูจะเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กเกินไป เพราะเด็กอยากดูการ์ตูนไม่ได้อยากดูโฆษณา ยิ่งเป็นโฆษณาที่มีของแถมยอดฮิตตามสถานการณ์ เช่น ตัวตุ๊กตาตามหนังการ์ตูน หรือของเล่น เด็กยิ่งไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังถูกครอบงำ การคิดเรื่องอิทธิพลโฆษณาที่มีผลต่อเด็กจึงเป็นข้อเสนอสำคัญจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ และมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อย.ในการตรวจตราฉลากบนซองขนมเด็ก การตรวจคุณค่าทางโภชนาการ การให้การศึกษาต่อสังคม พ่อแม่ และเด็ก รวมถึงการจำกัดการโฆษณาต่อเด็ก การใช้ตัวเด็กเป็นพรีเซนเตอร์ หรือการใช้ดารามาโฆษณา เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องร่วมกันคุ้มครองคุณภาพชีวิตของเด็กไทยให้รอดพ้นจากการเจ็บป่วยเรื้อรังในวัยเด็กด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ ถ้ารู้และมีภูมิคุ้มกัน


 


การดำเนินการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็ก ไม่ให้ตกในอิทธิพลโฆษณาขนมเด็ก  ยังไม่ครอบคลุมไปถึงการผลิตขนมเด็กที่ไม่มีคุณภาพ ใส่สารกันบูด ใส่สี ที่ไม่ได้มาตรฐาน เจลลี่ ที่ผลิตในท้องถิ่น ขนมที่ไม่สะอาดทำให้เด็กท้องร่วง ไม่มีการตรวจสอบทั้งความสะอาด และสุขอนามัยในการผลิต ซึ่งมักจะเป็นขนมราคาถูกๆ ที่ขายให้กับเด็กๆ ในชนบท  แม้จะมีการติดฉลากที่ง่ายต่อการเข้าใจแล้ว การจำกัดการโฆษณาแล้ว ก็ยังไม่อาจเข้าไปควบคุมการผลิตขนมในชนบท  เด็กไทยจึงยังเสี่ยงต่อการบริโภคขนมที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสารอาหารเกินจำเป็น นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรังได้  จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกันในเบื้องต้น ในระดับท้องถิ่น การดูแลสุขภาวะ สุขอนามัย จำเป็นต้องให้ความใส่ใจต่อเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องการขุดท่อ วางท่อ ระบายน้ำ การจัดระบบกำจัดน้ำเสีย ขยะ  การกำจัดลูกน้ำยุงลาย การเฝ้าระวังไข้หวัดนกเท่านั้น แต่การคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กๆ ของเราก็จำเป็นด้วย






[1] รู้ทันโฆษณาขนมเด็ก  บรรณาธิการ วิทยา  กุลสมบูรณ์ และ วรรณา ศรีวิริยานุภาพ  พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤษภาคม 2549  www.thaihealthconsumer.org