ผู้หญิงกับสังคมในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่
คอลัมน์/ชุมชน
"ผู้หญิงกับสังคมในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่"
เขียนโดยเสนาะ เจริญพร จัดพิมพ์โดย สนพ.ศิลปวัฒนธรรม ราคา 210 บาท
คราวนี้ผู้หญิงสีรุ้งมามาดใหม่ เอาหนังสือที่เพิ่งอ่านจบมาเขียนเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันนะคะ เพราะผู้หญิงสีรุ้งก็อ่านหนังสือแบบที่ใครๆ เขาอ่านกันแหละค่ะ
เพิ่งอ่านหนังสือเล่มนี้จบไป หลังจากที่อ่านครึ่งแรกไปเมื่อหลายเดือนโน้น เว้นช่วงมาอีกหลายเดือน ก่อนจะอ่านจบสำเร็จเสร็จสิ้นลงไปเมื่อสักครู่
อ่านจบแล้ว ก็อยากเขียนต่อ เหมือนมาเล่าให้เพื่อนสักคนฟัง ก็น่าจะดี ดีกว่าจมหายไปเปล่าๆ ปลี้ๆ น่าเสียดายออกเนอะ
หนังสือเล่มนี้ เรียบเรียงมาจากวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ของคุณเสนาะ เจริญพร แห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เนื้อหาในเล่มโดยรวมแล้วคือการนำงานเขียนต่างๆ ของนักเขียนหญิงที่ปรากฏขึ้นในช่วงปี 2530 มาวิเคราะห์โดยผ่านแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ทั้งทางด้านสังคมและวรรณกรรม เช่น การวิเคราะห์ในแนวศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง, สัญศาสตร์, รื้อสร้าง, จิตวิเคราะห์ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือแนวสตรีนิยมนั่นเอง
บทกวี เรื่องสั้น นวนิยายที่คุณเสนาะ เจริญพร นำมาวิเคราะห์ แบ่งเป็นนวนิยาย 22 เรื่อง, เรื่องสั้น 32 เรื่อง และบทกวี 3 บท เช่น หนังสือบทกวีอหังการของดอกไม้ ของจิรนันท์ พิตรปรีชา ลายสือ ของอัญชัญ รวมเรื่องสั้นมัทรี ของศรีดาวเรือง อัญมณีของ อัญชัญ ใจดวงเปลี่ยวของสุจินดา ขันตยาลงกต ลมพัดดอกไม้ไหว ของไพโรจน์ บุญประกอบ เรื่องรักของนักเขียนหญิง ส่วนนวนิยายก็มีทั้งแม่เบี้ย ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ วิมานมะพร้าวของแก้วเก้า เจ้าจันทร์ผมหอม ของมาลำ คำจันทร์ ตะวันทอแสงและทรายสีเพลิง ของปิยะพร ศักดิ์เกษม นายกหญิงของทมยันตี เสราดารัล ของกิ่งฉัตร เป็นต้น
และแน่นอนว่ามีเรื่องสั้นหญิงรักหญิงด้วย คือ ม่านประเวณี ของไพโรจน์ บุญประกอบ และ เซเรเนดแห่งยุคสมัยและความเชื่อของหญิงสาว ของอโนชา ปัทมดิลก
คุณเสนาะ เจริญพรได้สำรวจตรวจสอบวิเคราะห์ "ผู้หญิง" ในงานเขียนเล่มต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งในบทบาทของเมียและแม่, หน้าที่การงาน, บทบาทในวงการนักเลง (พื้นที่ของผู้ชาย), บทบาทการเมือง, เรื่องชาติพันธุ์, เรื่องร่างกาย,เรื่องเพศวิถี เรียกว่าครอบคลุมแทบทุกเรื่องในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง
ซึ่งอ่านแล้วทำให้เห็นภาพของผู้หญิงในลักษณะที่ "ก้าวหน้า" พอๆ กับภาพของผู้หญิงที่ยังย่ำอยู่ที่เดิม
เช่นเรื่องเงาจันทร์ ของกฤษณา อโศกสิน ที่มี ศศินเป็นตัวละครเอกหญิง และแม้เธอจะเป็นคนพิการแต่ก็มีหน้าที่การงานที่ดีและมีความคิดที่ก้าวหน้า เพราะให้ความสนใจเรื่องสังคม การเมือง ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม
ส่วนพิมพ์พรรณ จากเรื่องตะวันทอแสง ของปิยะพร ศักดิ์เกษม คือผู้หญิงอีกแบบ ที่แม้ถูกผู้ชายข่มขืนแต่เธอก็ยังคิดว่า "ถึงอย่างไรเขาก็เป็นสามีของเราแล้ว การที่เขาชวนเราไปจดทะเบียนนั้นก็นับว่าดีแล้ว"
แต่ทว่าสุดท้ายแล้ว ผู้หญิงแทบทุกคนในงานเขียนที่คุณเสนาะ เจริญพร นำมาวิเคราะห์นี้ ไม่ว่าจะมีแนวคิดก้าวหน้าหรือล้าหลังอย่างไร ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากเพียงไร สุดท้ายก็ถูกคาดหวังให้อยู่ในบทบาทของเมียและแม่ และควรจะต้องเป็นหญิงดีเท่านั้น (อันได้แก่หญิงที่ไม่แสดงความต้องการหรือปรารถนาทางเพศ รู้สึกก็จงเก็บงำไว้ ถ้าไม่ก็จะถูกลงโทษเป็นต้น)
และความคาดหวังที่ว่านี้ก็มาทั้งจากสังคมรอบข้าง และจากตัวของเธอเอง (ที่ถูกอบรมสั่งสอนมาแต่เล็กจนโตว่าต้องเป็นเมียและแม่)
ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวละครหญิงที่มีวิถีทางเพศสุดแสนเสรีเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดอย่างตัวละครในเรื่องใจดวงเปลี่ยวของสุจินดา ขันตยาลงกต สุดท้ายเธอก็ยังโหยหาชีวิตคู่แบบอบอุ่น ต้องการมีสามีที่รักและเข้าใจ กลับไปสู่ความเป็นเมียและแม่ตามที่เธอเคย "วิพากษ์" แม่ของเธอมาก่อน
คือ ดูแล้วไม่มีใครหนีพ้น "คุณพ่อ" กันเลยสักคน
และก็ไม่ใช่แค่ในงานเขียน หรือในนิยายพาฝันรักๆ ใคร่ๆ เท่านั้นที่ภาพของผู้หญิงทั้งหลายยังถูกผูกติดอยู่กับบทบาทนั้น ในชีวิตของคนจริงๆ ผู้หญิงที่เป็นนักการเมืองระดับประเทศทั้งหลาย ก็ยังอยู่ภายใต้ระบอบ "ชายเป็นใหญ่" อยู่ดี
เช่นที่คุณเสนาะ เจริญพร ได้ยกเอาคำให้สัมภาษณ์คุณปวีณา หงสกุล มาว่า "ชีวิตของเราก็คือความเป็นแม่ เพราะสัญชาตญาณของผู้หญิงก็คือแม่ แต่หน้าที่ความเป็นนักการเมืองก็คือหน้าที่ของเราที่จะต้องซื่อสัตย์ ต้องรับผิดชอบ...เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่รับผิดชอบทั้งสองหน้าที่พร้อมๆ กัน กลายเป็นครอบครัวเราไปหมด..."
ดังนั้นแล้วสุดท้ายไม่ว่าในนิยายหรือชีวิตจริงๆ "ผู้หญิง" ล้วนว่ายวนอยู่ภายใต้โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างไม่มีทางหลุดรอดไปไหนได้ (แม้ไปได้แต่ก็คงไม่ค่อยมีใครอยากไป เช่นคำให้สัมภาษณ์นักการเมือง-นักธุรกิจหญิงในเล่มต่อเรื่องนามสกุล ปรากฏว่าทุกคนชื่นชมที่ผู้หญิงสามารถจะเลือกใช้นามสกุลของตัวเองได้ แต่ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนนั่นแหละที่ก็เลือกที่จะใช้นามสกุลของฝ่ายชายหรือสามีอยู่ดี)
ระบอบชายเป็นใหญ่ จึงคงเข้มแข็ง มีพละกำลังต่อไป ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ปรับลุคตัวเองเสียใหม่ ทำตัวกลมกลืนเพื่อดูดกลืนเอาสิ่งที่เคยโต้แย้งมัน (สตรีนิยม) บางส่วนให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวมันเอง (ปิตาธิปไตย) ให้ดูทันสมัยก้าวหน้ากว่าเดิม จนทำเอาใครต่อใครไม่ระวังพากันตกหลุมพรางนั้นไปเป็นแถวๆ
อ่านหนังสือเล่มนี้ของคุณเสนาะ เจริญพรจบแล้ว ให้รู้สึกสิ้นหวัง หดหู่แทนบรรดาเฟมินิสต์ทั้งหลายยังไงก็ไม่รู้ เพราะดูจะไม่เห็นลู่ทางสักเท่าไรในการก้าวไปให้พ้นระบอบชายเป็นใหญ่ที่ว่านี้
สุดท้ายเลยได้แต่ปลอบใจตัวเองไปพลางๆ...เอาน่า...ทำอะไรไม่ได้ ก็เขียนนั่นเขียนนี่ท้าทาย ล้อเลียน "มัน" เล่น (เช่นการเขียนเรื่องญรญ.) ไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน
โดยพยายามระมัดระวัง ไม่ตกหลุมของ "คุณพ่อ" ไปเสียก่อน เฮ้อ ..