Skip to main content

ลุงป๊ง กับความรักบนหลังเวสป้า

คอลัมน์/ชุมชน

๒๔ ๑/๖


 


เชื่อว่าคุณๆ ผู้อ่านประชาไทเกือบทุกท่าน คงจะเคยใช้บริการร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาเก็ตกันอยู่บ้าง และเมื่อคุณต้องใช้บริการของสองสถานที่แล้ว ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับพนักงานเก็บเงิน หรือเจ้า "แคชเชียร์" นั่นเอง


 


และสิ่งที่เราได้พบจากบรรดาคุณแคชเชียร์ทั้งหลายนั้น ก็ชวนให้เกิดความรู้สึกตะหงิดๆ อยู่พอสมควร


 


ไอ้เจ้าความรู้สึกตะหงิดที่ว่านั้น มันเกิดเพราะว่า "บทสนทนาที่ไม่ต้องการคำตอบ" ที่เราได้ยินจากพวกเธอเหล่านั้น


 


ยกตัวอย่างที่เราได้เจอเป็นประจำจากร้านสะดวกซื้อ "เจ็ด-สิบเอ็ด" ในเวลาที่เราต้องเข้าไปจ่ายเงินค่าสินค้า ไม่ว่าสินค้าของเราจะเป็นอะไรก็ตาม คุณแคชเชียร์จะเริ่มบนสนทนาว่า "สวัสดีค่ะ...รับขนมจีบ/ซาลาเปา/ไส้กรอก/โค้ก/ฯลฯ ทานเพิ่มมั้ยคะ...ทั้งหมดหนึ่งร้อยบาทค่ะ รับมาห้าร้อยบาท ทอนสี่ร้อยบาท...ขอบคุณค่ะ โอกาสหน้าเชิญใหม่ค่ะ"


 


ยิ่งเมื่อคุณไปพบกับแคชเชียร์ของ "ห้างตราดอกบัว" ที่เมื่อคุณจ่ายเงินไปแล้ว เธอจะมีของขวัญส่งท้ายให้คุณๆ ด้วยการไหว้...ที่ไม่แน่ใจว่ามันคือการ "ไหว้" หรือการ "พนมมือแล้วก้มหัว" เฉยๆ กันแน่ เพราะมันดูเหมือนกับทำแบบแกนๆ มากกว่าที่จะเป็นการไหว้จริงๆ


 


ในขณะที่ผมเกิดอาการตะหงิดๆ อยู่นั้น ก็พอดีกับเป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยเก่าที่ผมเคยอยู่ (มหาวิทยาลัยแถวๆ สามย่านนั่นแหละครับ...จริงๆ ถ้าจะใบ้แบบก็บอกไปเถอะว่าอยู่จุฬาฯ ก็สิ้นเรื่อง) กำลังอยู่ในช่วงเทศกาลรับปริญญาอยู่พอดี จึงเป็นโอกาสที่ผมจะได้กลับไปยังที่นั่นอีกครั้ง...


 


จุฬาฯ ก็ยังคงเหมือนเดิมอย่างสมัยที่ผมเคยเรียนอยู่ อาจจะมีเปลี่ยนไปบ้าง ก็คงเหมือนกับใบไม้ที่ร่วงและงอกใหม่ขึ้นมาสลับกันอยู่ตลอดเวลา


 


ในขณะที่ผมนั่งรำลึกความหลังสมัยเรียน (พูดเหมือนแก่นะครับ แต่ผมเพิ่งจบเมื่อ ๒-๓ ปีเท่านั้นเอง) สลับกับการแอ็คท่าถ่ายรูปกับน้องๆ ที่จะรับปริญญาในปีนี้ เสียงรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับแบบไม่คิดจะเร่งเครื่องก็ดังมาให้เราได้ยิน ตามมาด้วยภาพของชายหนุ่มวัยกลางคน ท่าทางใจดีกำลังควบเวสป้าสีเขียววิ่งปุเลงๆ ไปเรื่อย ที่ท้ายรถมีถังสแตนเลสแบบที่เอาไว้แช่น้ำแข็งขนาดย่อมๆ อยู่ตรงนั้น (ซึ่งถังที่ว่านั้นก็มักจะมีโปสเตอร์กิจกรรมของทั้งจุฬาฯ และมหา’ลัยอื่นๆแปะให้เห็นอยู่เสมอ)


 


เราเรียกผู้ชายบนรถเวสป้าสีเขียวคนนั้นว่า "ลุงป๊ง" หรือ "ลุงฟรุต" ครับ (ที่เราเรียกแกว่า "ลุงป๊ง" นั้นมีที่มาจากคำว่า "โป๊งเหน่ง" ซึ่งเราเรียกตามลักษณะความเป็น "ป่าโปร่ง" ของหัวแก ส่วนที่มาของคำว่า "ลุงฟรุต" นั้น...ดูที่ย่อหน้าถัดไปครับ)


 




 


ลุงป๊งเป็นพ่อค้าขายผลไม้แช่เย็นที่เป็นที่รักและ "ดัง" มากในรั้วจามจุรี (ระดับเดียวกับเบอร์นาร์ด – คนขายถั่วในตำนานของธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์นั่นแหละครับ) แกสืบทอดวิชาขายผลไม้จากคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อของลุงก็ขายผลไม้ในมหา’ลัยแห่งนี้เหมือนกัน


 


ลุงป๊งจะตระเวนขี่รถเวสป้าบรรทุกผลไม้แช่เย็นไปรอบๆ มหา’ลัยในทุกเวลาที่มีนิสิตอยู่ (ไม่เว้นแม้กระทั่งวันเสาร์-อาทิตย์ หรือในช่วงเวลาสี่ซ้าห้าทุ่มที่บรรดาเชียร์ลีดเดอร์กำลังซ้อมเต้นกันอยู่) เมื่อพบกับโรงอาหารหรือใต้ถุนคณะที่มีนิสิตอยู่ ลุงป๊งจะเดินเข้าไปหาพร้อมๆ กับกล่าววลีอมตะที่มาพร้อมกับใบหน้าเปื้อนยิ้มขึ้นมาในทันที


 


"แหะๆ ผลไม้มั้ยครับ"


 


หรือถ้าลุงพบลูกค้าขาประจำ ฝ่ายที่จะทักทายก่อนจะไม่ใช่ลุง แต่จะเป็นเสียงของคุณลูกค้าที่จะทักก่อนว่า...


 


"ลุงๆ วันนี้มีอะไรกินมั่งอ่ะ"


 


หลังจากนั้นลุงก็จะเปิดถังสแตนเลส (และถังพลาสติกอีกถังนึง ที่อยู่ตรงใกล้ๆ ที่วางขาของรถ) พร้อมๆ กับบอกให้เราฟังว่าวันนี้มีอะไรบ้าง...(ขออนุญาตบอกว่าเงาะที่คว้านเมล็ดแล้วของลุงนั้น...โคตรอร่อยครับ J)


 


สิ่งที่ทำให้หลายๆ คนประทับใจลุงป๊งนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะผลไม้ของลุงอร่อยหรอก หากแต่เป็นเพราะว่าลุง "ใส่ใจ" ลงไปในสิ่งที่แกทำอยู่ด้วย โดยถ้ามองแบบผิวเผิน ก็คงเห็นได้จากผลไม้ที่ปอก หั่น คว้านเมล็ดเป็นอย่างดี ก่อนที่จะใส่ถุงพลาสติก และแช่น้ำแข็งไว้จนเย็นเจี๊ยบ


 


แต่ถ้ารู้จักลุงมากกว่านั้น ก็จะรู้ว่าลุงแกใส่ใจกับลูกค้าของแก โดยจดจำได้ว่าใคร อยู่คณะไหน ชอบกินอะไร แม้ขนาดเราเรียนจบไปแล้ว ลุงแกยังอุตส่าห์จำได้อีก อีกทั้งลุงยังเป็น "ผู้สนับสนุนหลักอย่างไม่เป็นทางการ" ให้กับกิจกรรมต่างๆ ของมหา’ลัย ไม่ว่าจะเป็นการให้พื้นที่ถังสแตนเลสเป็นที่โฆษณาแบบไม่คิดตังค์ ไปจนถึงการนำผลไม้และน้ำดื่มมาเลี้ยงนิสิตในกิจกรรมต่างๆ (รุ่นพี่ที่’ถาปัตย์ของผมคนหนึ่งเคยเล่าว่าลุงเคยเอาเฉาก๊วยมาเลี้ยงเด็ก’ถาปัตย์ในช่วงเตรียมงานละครเวทีของคณะด้วย)


 


การเจอลุงป๊งในครั้งนี้ ทำให้ผมกลับไปมองถึงบรรดาคุณแคชเชียร์ทั้งหลาย ก็ทำให้ผมพบว่าแม้พนักงานเหล่านั้นจะผ่านการถูกฝึกสอนอย่างเป็นระบบขนาดไหน ก็สู้ลุงป๊งของผมไม่ได้หรอก


 


เพราะลุงป๊งมี "หัวใจของการบริการ" อยู่เต็มเปี่ยมนั่นเอง


 


สิ่งที่ลุงป๊งทำนั้นไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องพูดแบบนั้น แบบนี้ ไม่ต้องขายพ่วงแบบจงใจ ไม่ต้องทำเป็นสุภาพ แต่ลุงทำเพราะอยากจะทำ และทำอย่างมีความสุข


 


ถ้าถามผมว่าผมรู้ได้ไงว่าลุงแกมีความสุขกับสิ่งที่แกทำอยู่ ผมคงตอบง่ายๆ ว่าลองคนเราสามารถทำอะไรสักสิ่งโดยมีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา (ถ้าไม่ใช่งานอาชีพนักแสดงนะครับ) ก็ต้องเชื่อแหละครับว่าเขาคนนั้นคงมีความสุขอยู่แน่ๆ


 


และคงไม่ใช่แค่เรื่องขายผลไม้หรอก แต่ทุกเรื่องบนโลก ถ้าเราทำโดยที่เรารักมัน ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะทำได้ดี


 


@#@#@#@#@


 


ผมเดินเข้าร้านสะดวกซื้อตรา "เจ็ด-สิบเอ็ด" อีกครั้ง และผมก็ซื้อของกิน-ของใช้เหมือนเดิม


 


แต่ตอนที่ผมกำลังจะจ่ายเงิน ก่อนที่คุณแคชเชียร์จะพูดอะไรออกมา ผมก็ชิงพูดเสียก่อนว่า "สวัสดีครับ ขอไม่รับไส้กรอก ซาลาเปาแล้วนะครับ...แค่นี้ก็อ้วนพอแล้ว ทั้งหมดสามสิบบาท รับมาห้าสิบบาท ทอนยี่สิบบาท ขอบคุณครับ...โอกาสหน้าจะมาใหม่ครับ"


 


แคชเชียร์คนนั้นอึ้งไปสักพัก ก่อนที่จะเผยรอยยิ้มนิดๆ ให้ได้เห็น


 


ไม่ต้องให้พนักงานท่องสูตรต้อนรับลูกค้า แต่ทำให้เธอยิ้มแบบนั้นให้ได้ น่าจะดีกว่ามั้งครับ J