Skip to main content

บนเส้นทางแห่งการภาวนา (๒)

คอลัมน์/ชุมชน

Reginald A. Ray เขียน


วิจักขณ์ พานิช แปล


 


ธรรมะข้อที่สี่: เสียงหัวเราะ และ คราบน้ำตา           


 


ธรรมะคือความเงียบด้านในของชีวิต แต่กระนั้น ธรรมะก็ยังพบได้ในเสียงหัวเราะและน้ำตาเช่นเดียวกัน ภายในพื้นที่แห่งการเรียนรู้อันไร้ขอบเขตของห้องปฏิบัติ มักจะมีเสียงหัวเราะหลุดออกมาเป็นช่วงๆ บางคนอาจไม่สามารถที่จะทนกับความเงียบที่ไม่มีที่สิ้นสุดได้อีกต่อไป ความประหม่า หรือการสังเกตเห็นความธรรมดาที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน นำมาซึ่งเสียงหัวเราะคิกคัก บ่อยครั้งที่มีเรื่องน่าขำเกิดขึ้นจริงๆ เพราะมณฑลแห่งความตื่นรู้ของทุกคนดูจะขยายกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เราต่างก็สังเกตเห็นเหตุการณ์เล็กๆ ในทุกรายละเอียดร่วมกัน นกน้อยอาจบินมาเกาะที่หน้าต่าง พร้อมเอาจะงอยปากเคาะก๊อกๆ ราวกับมันจะพูดกับทุกคนว่า "ฮัลโหล มีใครอยู่ข้างในบ้าง" แล้วมันก็บินหนีไป ทันใดนั้นเสียงหัวเราะก็ถูกปลดปล่อยออกมาพร้อมๆ กันโดยมิได้นัดหมาย ทุกคนดูจะอยู่ในชั่วขณะแห่งความไม่คาดฝัน ร่วมสังเกตความหรรษาแห่งวินาทีอันศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมๆ กัน


 


พุทธธรรมยังรวมถึงน้ำตาอีกด้วย อาจมีใครในอีกมุมหนึ่งของห้องปฏิบัติกำลังเผชิญหน้ากับแง่มุมแสนเจ็บปวดของชีวิต เขาเริ่มส่งเสียงสะอื้นที่ไม่สามารถกดไว้ได้อีกต่อไป ในตอนแรกเราอาจจะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญด้วยเหตุที่ว่า การฝึกของเราถูกขัดจังหวะ แต่เมื่อมณฑลแห่งการตื่นรู้ที่เปิดกว้างจากการฝึกฝนค่อยๆ เข้าไปโอบอุ้ม รับฟังเสียงแห่งทุกข์นั้น เราเริ่มรู้สึกเห็นใจเพื่อนร่วมปฏิบัติผู้นั้นราวกับว่า เราได้ร่วมรู้สึกไปกับเขา เราอาจรู้สึกเจ็บแปลบที่หัวใจอย่างไม่มีสาเหตุ ดูเหมือนว่าน้ำตาและความโศกเศร้าของผู้ปฏิบัติจะไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลอีกต่อไป เราเข้าใจความหมายของคำว่า "เพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย" น้ำตาที่รินไหลในห้องปฏิบัติแสดงถึงความทุกข์โศกที่เรามีร่วมกับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั่วทุกแห่งหน


 


ณ ชั่วขณะที่เราได้เข้าไปสัมผัสแง่มุมของชีวิตที่ลึกซึ้ง ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์จากการบ่มเพาะมณฑลแห่งความตระหนักรู้ภายใน เรารู้สึกราวกับได้ก้าวข้ามข้อจำกัดแห่งกาลเวลา รู้ตัวอีกที น้ำตาก็ไหลอาบสองแก้ม ขนอาจจะลุกซู่ไปทั่วตัว หัวใจพองโตราวกับจะทะลุออกมาข้างนอก  


 


พร้อมความรู้สึกซาบซ่านปีติทั่วสรรพางค์ เสมือนเราได้พบกับความหมายของการมีชีวิตอยู่เป็นครั้งแรกประสบการณ์นั้นทำให้เรานึกถึงพระพุทธองค์ เมื่อทรงได้ยินเสียงสะอื้นแห่งความทุกข์ หัวใจของท่านก็คงจะหลอมละลาย กลายเป็นสายธารแห่งความเมตตากรุณาให้ผู้คนได้มาดื่มกิน เรารู้ได้ก็เพราะเมื่อเราได้ยินเพื่อนร่วมปฏิบัติร้องไห้ หัวใจเราก็หลอมละลายเช่นเดียวกัน ด้วยความกล้าของเพื่อนที่เต็มใจแสดงออกถึงความเจ็บปวดของเส้นทางการฝึกตนออกมาแม้เพียงเล็กน้อย สิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทางความคิดใดๆ จากนั้นจึงปล่อยใจให้ได้ผ่อนพักสู่ความนิ่งสงบอันแสนอ่อนโยนของการร่วมเรียนรู้ความหมายของชีวิต


 



"เร้จจี้ เรย์ กับบรรยากาศภายในห้องปฏิบัติ ในการฝึกภาวนาเข้มหนึ่งเดือน (dathun)"


ธรรมะข้อที่ห้า: "รอ"


 


ในความเงียบและพื้นที่แห่งการเรียนรู้อันกว้างใหญ่ในรีทรีท เราได้ค้นพบการดำรงชีวิตในอีกลักษณะหนึ่งอันเป็นหัวใจแห่งประสบการณ์การฝึกฝนที่นี่ นั่นคือชีวิตที่รู้จักรอ รอที่จะเข้าห้องน้ำ รอทานอาหารเที่ยง รอเสียงระฆังให้สัญญาณสิ้นสุดการนั่ง รอสัญญาณสิ้นสุดการเดิน รอสัญญาณบอกการเริ่มนั่งอีกครั้ง แม้กระทั่งเวลานอน เรายังต้องรอเสียงระฆังปลุกให้ตื่น จนบางทีพาลนอนไม่หลับทั้งคืนเอาเสียเลย


 


หัวใจของการฝึกภาวนาดูจะเป็นเรื่องของการรอนี่เอง เราตามลมหายใจรอไปเรื่อยๆ คำถามก็คือ รออะไร? รอในฐานะกระบวนการ ไม่ใช่รอในฐานะจุดเริ่มต้น เราเรียนรู้ด้วยการรอ ปล่อยวางความคิด หลักการ ความคาดหวังทั้งหมด แล้วฝึกรออย่างไม่มีเงื่อนไข รออย่างไม่คาดหวังผล รอด้วยความห้าวหาญ พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความไม่รู้ ...เรียนรู้ที่จะรอโดยการบ่มเพาะความตื่นรู้ภายในไปเรื่อยๆ 


 


ชีวิตที่แท้ผุดบังเกิดจากความเงียบอันเป็นพื้นฐานของการรับฟังเสียงด้านใน ส่วนชีวิตในแบบทั่วไปที่เราเข้าใจกัน กลับเป็นเพียงแค่ภาพมายา สะท้อนแผนการที่ปรุงแต่งขึ้นจากส่วนเสี้ยวของเหตุปัจจัยภายนอก เสียงบอกจากคนรอบกาย หรือสิ่งที่เราเลียนเอาอย่างจากชีวิตคนอื่น อันภาพมายานั้นหาใช่ความเป็นตัวเราที่แท้จริงไม่ ชีวิตที่เต็มไปด้วยแผนล่วงหน้าเหล่านั้นเป็นชีวิตปลอมๆ อันแข็งทื่อ ไร้การเรียนรู้ที่จะรอ...รอที่จะเผชิญหน้ากับความไม่รู้


 


การฝึกฝนการรออย่างไม่มีเงื่อนไขตลอดทั้งเดือนเช่นนี้จะเป็นประตูพาเราเข้าไปสู่ชีวิตที่แท้ อย่างที่ซูซูกิ โรชิ กล่าวไว้ว่า "การดำรงอยู่ที่แท้ผุดบังเกิดขึ้นจากความว่างภายในในทุกขณะ เมื่อเกิดขึ้น ก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่จนเหตุปัจจัยเลื่อนไหล ก็จักค่อยๆ คืนกลับดับไปสู่สภาวะธรรมแห่งความว่างภายในอีกครั้ง"  


 


หากเราเลือกดำรงชีวิตที่ถูกกำหนดขึ้นจากแบบแผนทางความคิด และหลักการ มันก็ไม่มีที่ว่างให้เส้นทางการเรียนรู้เกิดขึ้นได้มากนัก แต่เมื่อเราตระหนักถึงข้อจำกัดของความคิดในหัวที่เรามีเกี่ยวกับตัวเรา แล้วเข้าใจความหมายของอนัตตา ที่แสดงถึงความเป็นไปได้ของการมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ในปัจจุบันขณะ เมื่อนั้นเราก็จะได้สัมผัสถึงชีวิตที่แท้ บนมณฑลแห่งความตื่นรู้ที่กว้างใหญ่เหนือคำอธิบายใดๆ


 


 


ธรรมะข้อที่หก: สังฆะ หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้


 


แม้ในรีทรีทจะมีผู้เข้าร่วมถึง ๑๕๐ คน และการเดินทางของแต่ละคนถือเป็นประสบการณ์ที่โดดเดี่ยวบนเส้นทางของการเรียนรู้ตนเอง ปลดปล่อยข้อจำกัดจากความยึดมั่นภายในสู่ความกว้างใหญ่ไร้ขีดจำกัดของชีวิตที่แท้ แต่ขณะเดียวกันสังฆะหรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ก็ถือเป็นส่วนสำคัญของการฝึกฝน


 


น่าแปลกที่ว่า แม้จะไม่มีใครรู้ว่าคนอื่นผ่านประสบการณ์ด้านในอะไรบ้าง แต่เรากลับรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างไม่น่าเชื่อ ในช่วงเวลาที่มณฑลแห่งความตื่นรู้ดูจะครอบคลุมทุกความเคลื่อนไหวและทุกรายละเอียดรอบตัว เรารู้สึกราวกับได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันตลอดหนึ่งเดือน เสียงหัวเราะ รอยคิ้วขมวดบนหน้า การขยับตัวไปมาอย่างงุ่นง่าน ความพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ความเหนื่อยเมื่อยล้า ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความเงียบสงบนิ่งไร้การเคลื่อนไหว น้ำตา เสียงสะอื้นไห้...ดูเหมือนทุกรายละเอียดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ฝึกทุกคนไปโดยปริยาย ถึงจุดหนึ่งเรากลับรู้สึกชื่นชมกับทุกอารมณ์ความรู้สึกอย่างไม่ตัดสินดี-ชั่ว ถูก-ผิด และไม่ได้ใส่ใจติดป้ายของเขา ของเราเหมือนอย่างที่เคย   ความรัก ความปรารถนาดีต่อกันดูจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ จากการที่ต่างคนต่างเฝ้าฝึกฝนเรียนรู้จักตัวเอง ชุมชนแห่งการเรียนรู้ดูจะปรากฏขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการกะเกณฑ์ใดๆ จากภายนอก นั่นคือความหมายที่แท้ของสังฆะแห่งพุทธะ หรือชุมชนแห่งความตื่นรู้ภายในของปัจเจก


 



"หัวใจแห่งการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ คือ การบ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้ในกาย"


 


ทิ้งท้ายจากผู้แปล


 


การฝึกภาวนาสามารถนำพาเราให้เข้าไปสัมผัสถึงศักยภาพการเรียนรู้ของชีวิตที่ลุ่มลึก ด้วยการผลักเราให้เข้าไปเผชิญกับชีวิตที่เปลือยเปล่า เป็นประสบการณ์ตรงอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเหนือคำอธิบายใดๆ 


 


ในทางกลับกันหากเราเอาแต่พยายามที่จะสร้างความรู้สึกปลอดภัย คิดค้นหาหลักการใหม่ๆให้แก่รูปแบบชีวิตที่เราเลือก ความประนีประนอมที่จะค้นหา "อัตตาที่พอดี" เพื่อรักษาจุดยืนที่ปลอดภัยของตัวเราเอาไว้ มันก็อาจจะนำมาซึ่งความสำเร็จผิวเผินในแบบที่เราคาดหวัง แต่นั่นหาใช่การปฏิบัติภาวนา เรียนรู้ค้นหาศักยภาพภายในตัวเองที่แท้


 


เราต้องยอมรับว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอัตตาที่พอดีแต่อย่างใด เพราะอัตตาที่พอดี ก็ยังเป็นลักษณะหนึ่งของอัตตา อัตตาไม่ใช่ปีศาจร้าย ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่จะพาเราลงสู่นรก แต่อัตตาคือข้อจำกัดของการเรียนรู้ เป็นแบบแผนความคิดล่วงหน้าตายตัวที่ขวางกั้นพลังแห่งการตื่นรู้ในปัจจุบันขณะ นั่นคือคำอธิบายที่ว่า ทำไมหัวใจของการฝึกตนในวิถีแห่งพุทธะจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในหลักอนัตตาเสมอมา


 


เมื่อเราเข้าใจว่าการภาวนาคือ "กระบวนการ" ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนในทุกขณะของชีวิต คำยิ่งใหญ่ในภาษาพุทธอย่าง จิตว่าง นิพพาน การตรัสรู้ ฯลฯ ก็เช่นเดียวกัน  ที่ต้องถูกมองและทำความเข้าใจในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการ อันตั้งอยู่บนความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยอย่างไม่แยกส่วน เหตุปัจจัยที่ว่าก็มาจากทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึก จากการดำรงชีวิตประจำวันในทุกขณะ นั่นคือคำอธิบายที่ว่าทำไมธรรมะจึงไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันได้


 


ผู้แปลพยายามที่จะลองประดิษฐ์คำใหม่ๆ ที่ใช้อธิบายการภาวนาในแง่ของการศึกษาด้านใน (contemplative education) อันเป็นการฝึกตนเพื่อเข้าใจความหมายของชีวิตที่แท้ เช่น การผ่อนพักตระหนักรู้ มณฑลแห่งการเรียนรู้ ความตื่นรู้ตระหนักรู้ พื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้  ศักยภาพเหนือข้อจำกัดแห่งตัวตน ฯลฯ ภาษาเหล่านี้อาจดูลิเกไปบ้าง แต่ก็ขอวอนให้ผู้อ่านใช้ความอดทนใคร่ครวญนัยสำคัญที่ผู้แปลพยายามสื่อสิ่งที่ผู้เขียนพยายามถ่ายทอดในภาษาต่างประเทศ แต่กระนั้นการที่จะพยายามทำความเข้าใจงานแปลและบทความเกี่ยวกับการภาวนาโดยปราศจากการทดลองปฏิบัตินั้นคงเป็นไปไม่ได้ หรือหากเป็นไปได้ก็คงจะหนีไม่พ้นความเข้าใจผิดๆเสียเป็นแน่


 


ผู้แปลจึงใคร่ขอเชิญชวนให้ผู้อ่านได้หันมานั่งตามลมตามรู้ ผ่อนพักตระหนักรู้ เรียนรู้กับความไม่รู้ กันดูบ้าง


 


(แปลจาก "Waiting. Waiting. For what?" by Reginald A. Ray ตีพิมพ์ในนิตยสาร Shambhala Sun ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๐๐๒)