Skip to main content

เกิดแต่สังคมชายเป็นใหญ่

คอลัมน์/ชุมชน

1


  มีรายงานข่าวในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ว่า มีการลวนลามกันมากขึ้น และได้มีรายการสนทนาข่าวรายการหนึ่งถึงกับเอามาตั้งเป็นคำถามให้ผู้คนส่ง SMS ไปตอบคำถามว่า เรื่องการลวนลามที่เกิดมากขึ้นนั้นเป็นเพราะผู้ชายหรือผู้หญิง

เห็นคำถามนี้แล้วเศร้าใจเหลือเกินว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้ ก็ในเมื่อผู้หญิงถูกลวนลาม ผู้หญิงเป็นเหยื่อเห็น ๆ อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ทำไมต้องมีคำถามนี้ และที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นก็คือมีคนตอบจำนวนไม่น้อยตอบว่าเป็นเพราะผู้หญิง ซึ่งอาจหมายความไปถึงว่า ผู้หญิงอยากออกไปเอง หรือบ้างก็ว่าเพราะผู้หญิงแต่งตัวไม่มิดชิดจึงต้องถูกลวนลาม

รู้สึกเหมือนดูหนังซ้ำ เวลาสงกรานต์ทีไร ก็มีประเด็นที่ต้องเป็นข่าวหรือการรณรงค์ทางสื่อมีอยู่ 2-3 เรื่องเดิม ๆ ข่าวเรื่องผู้คนคราคร่ำอยู่ตามสถานีขนส่งต่าง ๆ อุบัติเหตุอันเนื่องจากการเมาแล้วขับ การเล่นน้ำอย่างไม่ปลอดภัย และเรื่องการเตือนให้ผู้หญิงระวังการถูกลวนลาม แต่มักจะย้ำลงไปที่การรณรงค์ให้แต่งตัวให้มิดชิดเพื่อป้องกันการถูกลวนลาม และไม่ขัดกับวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย

ในปีก่อนหน้านี้รู้สึกว่าผู้หลักผู้ใหญ่และสื่อต่าง ๆ ของไทยจะเป็นโรคชนิดหนึ่งเรียกว่า สายเดี่ยวโฟเบี่ย ก็ว่าได้ เพราะกังวลกันเหลือเกินว่าวัยรุ่นจะใส่สายเดี่ยวไปเล่นน้ำ ซึ่งดูไม่เหมาะสมกับ "วัฒนธรรมไทย" และอาจเป็นสาเหตุให้ถูกลวนลามได้ และได้รณรงค์กันอย่างหนักจนแทบจะถึงขั้นห้ามใส่สายเดี่ยวกันไปเลยทีเดียว

ในปีนี้นั้นไม่ได้รณรงค์เรื่องสายเดี่ยวหนักเหมือนปีที่ผ่านมา และตามรายงานข่าวเองก็พบว่า เห็นคนใส่สายเดี่ยวไปเล่นน้ำกันน้อยมาก แต่สิ่งที่พบอีกก็คือ การถูกลวนลามหรือการฉวยโอกาสละเมิดในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นนั้นกลับไม่ได้ลดลง หนำซ้ำยังมากขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การออกมาเตือนภัยผู้หญิงและบอกให้ผู้หญิงแต่งตัวให้มิดชิดที่กระทำอยู่ทุกปีนั้นดูเสมือนว่า เป็นการพูดไปตามธรรมเนียมที่จะต้องพูดถึงเท่านั้น แต่ไม่พบว่าจะเป็นหนทางในการช่วยให้ผู้หญิงปลอดภัยหรือจะช่วยแก้ปัญหาการเล่นเกินเลยในช่วงประเพณีสงกรานต์ได้แต่ประการใด นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่จัดได้ว่าเป็นการผลักภาระรับผิดชอบให้ต้องตกอยู่ที่ผู้หญิงอีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงเองนั้นเป็นเหยื่อ แต่การรณรงค์ที่ใช้วิธีบอกเฉพาะผู้หญิงว่า ต้องรู้จักระมัดระวังตัวเองและการมองว่าผู้หญิงที่แต่งตัวไม่มิดชิดว่าจะเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดการลวนลามหรือไปจนถึงกระทั่งข่มขืนนั้น นับเป็นการตั้งข้อกล่าวหาให้กับผู้หญิงเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบให้กับเพศชายในสังคมชายเป็นใหญ่โดยแท้ รวมทั้งเป็นข้ออ้างที่ผู้ชายจะใช้ในการหาความชอบธรรมในการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรเหล่านี้ได้ด้วยซ้ำ

เราควรที่จะยอมรับความจริงกันเสียทีว่า การรณรงค์ต่าง ๆ ที่ผลักภาระให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบอยู่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ผู้หญิงรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว ย่อมไม่ได้ผลเพราะปัญหาที่แท้จริงนั้นผู้หญิงเองไม่ได้เป็นผู้กระทำแต่เป็นผู้ถูกกระทำ ดังนั้น การรณรงค์ในรูปแบบเช่นนั้นกลับยิ่งซ้ำเติมผู้หญิงให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำสอง ตัวอย่างก็กรณีเรื่องการแต่งกายของผู้หญิงก็ส่งผลให้เกิดวิธีคิดแบบตรรกะขึ้นว่า เพราะผู้หญิงแต่งตัวไม่มิดชิดจึงถูกลวนลาม เท่ากับว่าคนที่ลวนลามคนที่แต่งตัวไม่มิดชิดนั้นไม่ผิด

ทั้ง ๆ ที่วิธีคิดดังกล่าวนี้สวนทางกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างยิ่ง แต่กลับไม่มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการรณรงค์ กล่าวคือมีการศึกษาและแม้ตามสถิติแล้วพบว่า กรณีข่มขืนหรือกรณีลวนลามทางเพศในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยแท้ เรื่องการข่มขืนนั้นส่วนใหญ่แต่เกิดขึ้นโดยคนใกล้ชิดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อเลี้ยง ครู ญาติผู้ใหญ่ เจ้านายหรือผู้ที่มีอิทธิพลเหนือกว่า หรือแม้แต่การข่มขืนโดยผู้อื่นก็พบน้อยมากที่ผู้ถูกข่มขืนนั้นแต่งตัวล่อแหลม เพราะบ้างก็อยู่ในชุดทำงาน ชุดนักเรียน หรืออื่น ๆ ส่วนในกรณีการลวนลามการฉวยโอกาสในช่วงสงกรานต์นั้นก็พบว่า ต่อให้แต่งตัวมิดชิดแค่ไหนก็ถูกลวนลาม ดังนั้น การรณรงค์เรื่องการแต่งตัวของผู้หญิง จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดอย่างสิ้นเชิง

ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีรากเหง้าที่เราเป็นสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งผู้ที่นำเสนอความคิดความเห็นได้มากกว่าและกลายเป็นผู้กุมวิธีคิดของสังคมนั้นล้วนเป็นผู้ชาย ที่เป็นผู้ออกกฎต่างที่ส่วนใหญ่แล้วควบคุมผู้หญิงและเอื้อประโยชน์ให้ผู้ชายมากกว่า ครั้นนาน ๆ เข้าก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หรือเป็นประเพณี และวัฒนธรรมกลายอันแตะต้องไม่ได้ กลายเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ตัดสินผิดชอบชั่วดีของผู้หญิง ที่แม้แต่ผู้หญิงเองก็ยอมจำนน และไม่รู้สึกว่าเป็นความไม่ถูกต้อง หลาย ๆ เรื่องแม้ว่าจะเห็นว่าเป็นความไม่เท่าเทียม แต่ผู้หญิงก็ต้องจำนนเพราะเชื่อว่านี่คือประเพณี "อันดีงาม" และหากใครคิดจะแหกกฎเหล่านั้นก็จะกลายเป็นผิดประเพณีผิดวัฒนธรรมไปและต้องตกเป็นจำเลยของสังคมไป


2



หากจะเคยจำกันได้มีอยู่ครั้งหนึ่งมีข่าวฮือฮา เมื่อคุณระเบียบรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดขอนแก่น ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกป้าย "ห้ามผู้หญิงขึ้น" ออกไปจากพระธาตุแห่งหนึ่ง ผู้คนถึงกับเผาพริกเผาเกลือคุณระเบียบรัตน์ ในฐานที่ทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของชาวล้านนา ในกรณีนี้แม้แต่ผู้หญิงทั้งหลายเองก็เห็นว่ามันมีความไม่เท่าเทียมอยู่ แต่ก็พร้อมใจกันออกมาบอกว่า คุณระเบียบรัตน์ไปเรียกร้องสิทธิสตรีในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร เพราะไปฝืนประเพณีปฏิบัติที่มีมายาวนาน และอีกครั้งเมื่อมี ส.ว.ชายผู้หนึ่งอภิปรายในวุฒิสภาถึงกรณีการระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ว่าคนที่ทำเรื่องนี้ขึ้นนั้นเป็นหมาลอบกัด และเป็น "หน้าตัวเมีย" คุณระเบียบรัตน์ก็ได้ออกมาทักท้วงให้ถอนคำพูดเพราะรู้สึกว่าเป็นการเอาเพศหญิงมาใช้เป็นคำด่าทั้ง ๆ ที่คนทำชั่วเป็นผู้ชาย อีกครั้งเช่นกัน อาจเป็นไปได้ว่าคุณระเบียบรัตน์นั้นมีต้นทุนทางสังคมต่ำ สิ่งที่คุณระเบียบรัตน์ออกมาเรียกร้องนั้นก็พบว่า

มีคนจำนวนมากที่เข้ามาในเว็บบอร์ดของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกมากล่าวหาว่าเป็นการประท้วงที่ไร้สาระ จุ้นไม่เข้าเรื่อง และคิดว่านี่เป็นเพียงคำเปรียบเทียบธรรมดา ๆ เท่านั้น จะมาเรียกร้องเอาอะไร ทั้ง ๆ ที่การทักท้วงดังกล่าวนี้คือ การกระทำเพื่อให้สังคมได้ระมัดระวังกันให้มากขึ้นในประเด็นของการให้เกียรติกันระหว่างเพศทว่า สังคมไทยนั้นชินชากับการนำผู้หญิงมาเปรียบเทียบกับความต่ำต้อย ความเป็นเบี้ยล่าง ความขลาดเขลาเบาปัญญา กับการถูกนำมาเป็นมุขตลกจนไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหาย โดยหารู้ไม่ว่า นี่แหละคือการสั่งสมค่านิยมที่มีต่อผู้หญิงในสังคมนี้ จนทุกวันนี้แม้กระทั่งผู้หญิงเองก็บอกว่าการด่าผู้ชายที่ไม่สู้ซึ่ง ๆ หน้า หรือขี้ขลาดว่าหน้าตัวเมีย หรือบอกว่าให้ไปเอาผ้าถุงแม่ หรือเมียมาใส่ซะนั้น คิดว่ามันเป็นแค่คำเปรียบเทียบไม่เห็นเป็นอะไรเลย โดยที่ไม่รู้เลยว่านี่คือการตอกย้ำสถานะที่ต่ำกว่าของเพศตัวเอง

ในวงสนทนาของผู้ชายนั้น ภรรยามักกลายเป็นตัวตลก หรือแม้แต่มุขตลกที่ออกตามสื่อสาธารณะก็มักจะหยิบเอาผู้หญิงมาเล่น และสิ่งที่แย่พอกันก็คือในบางครั้งผู้หญิงเองก็ขำมุขเหล่านี้เสียด้วย หรือแม้กระทั่งบรรดาพิธีกรชายและผู้ดำเนินรายการต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ที่ทำท่าหื่นกระหาย จ้องหาเศษหาเลยกับแขกรับเชิญที่เป็นสาว ๆ ด้วยคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องตลก ผู้ชมจะขำ แล้วในที่สุดผู้คนก็เสพพฤติกรรมนี้ไปเรื่อย ๆ และชินชากับการเห็นผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศที่ผู้ชายจะจัดการหรือกระทำเช่นไรก็ได้

จะว่าไปทำไมมี ก็ในเมื่อคนที่ดูเหมือนพยายามจะมีสำนึกแห่งความเท่าเทียมอย่างคุณระเบียบรัตน์เองนั้น เนื่องจากได้อยู่กับสังคมชายเป็นใหญ่มานาน ก็หลงประเด็นอยู่มากระหว่างเรื่องการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิง ความเท่าเทียมและประเด็นวัฒนธรรม อย่างน้อย ๆ การออกมาเรียกร้องให้เด็กผู้หญิงรักนวลสงวนตัว การตั้งชมรมสงวนไข่แดงหรืออะไรสักอย่างขึ้นมา หรือการตามล่าเมียน้อยนั้นก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่จัดว่าไม่ได้ส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงหรือยกระดับของผู้หญิงให้ดูดีขึ้นได้เลย เพราะผลกระทบคือผู้หญิงจะถูกตีตรามากขึ้นต่าง หาก กล่าวคือผู้หญิงที่ไม่มีพรหมจารีก็คือหญิงที่ไม่มีค่า เหมือนกับที่คนใส่เสื้อสายเดี่ยวไปเล่นน้ำแล้วถูกลวนลาม 3 มีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า ในวิธีคิดที่ว่าแต่งตัวไม่มิดชิดจะทำให้ถูกลวนลาม แล้วทำไมงานคาร์นิวาลที่บราซิลที่การแต่งตัวแทบจะเรียกได้ว่าออกจะล่อนจ้อนออกปานนั้นจึงไม่มีปัญหาแบบในเมืองไทยเกิดขึ้น หลายคนอาจจะตอบว่าเพราะนั่นไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ดังนั้นก็เลยสงสัยต่อไปว่า ประเทศไทยที่ภูมิใจนักหนาว่าเรามีวัฒนธรรมอันดีงามนั้นอนุญาตให้ผู้ชายทำอะไรกับผู้หญิงที่แต่งตัวไม่มิดชิดก็ได้กระนั้นหรือ ในวัฒนธรรมไทยเราอนุญาตให้มีการละเมิดในเนื้อตัวร่างกายบุคคลอื่นได้กระนั้นหรือ

เห็นผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก ๆ ถึงกับบอกให้กระทรวงวัฒนธรรมไปทำแผนรณรงค์ปีวัฒนธรรมไทย ก็สงสัยเหลือเกินว่าอะไรกันแน่คือวัฒนธรรมไทย เพราะว่าก็ว่าเถอะ ไม่รู้ว่าถึงวันนี้รัฐบาลนั้นจะวางประเทศไทยไว้ในจุดไหนกันแน่ เดี๋ยวก็จะขายประเทศไทยในฐานะเมืองแฟชั่น แต่ห้ามบรรดานางแบบทั้งหลายแต่งตัวที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เดี๋ยวก็จะขายเมืองไทยในฐานะเมืองวัฒนธรรม แต่ก็ชักชวนฝรั่งถนนข้าวสารเอาปืนฉีดน้ำมาเล่นกัน ปะแป้งกันไปมาโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ฝรั่งรู้อย่างเดียวว่า วันนั้นเป็นวัน "Soaking Day" (วันเปียกปอน) สนุกมาก! เดี๋ยวก็จะขายเมืองไทยในฐานะที่มีการแสดงของสาวประเภทสองที่ดีมาก ๆ แต่ไม่ยอมให้เขาแสดงตัวมากเกินไปเกรงจะเสียภาพพจน์ประเทศ หรืออีกหลายอย่างสารพัดแห่งความสับสน ที่สุดแล้วก็อยากเห็นว่าแผนวัฒนธรรมไทยจะเป็นอย่างไรแล้วจะมีการพูดถึงหญิงชายในทางที่เท่าเทียมกันหรือไม่

อันที่จริงหนทางที่จะแก้ปัญหานี้นั้นมีอยู่ทางหนึ่งและต้องใช้เวลานานพอสมควร นั่นคือการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม เรื่องที่ควรรณรงค์มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ บุคคลต้องเคารพในสิทธิของผู้อื่น และไม่มีสิทธิละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้อื่น

เขาจะแต่งตัวอย่างไรก็เป็นสิทธิส่วนตัว และคนอื่นก็ไม่มีสิทธิไปละเมิดในเนื้อตัวและร่างกายของเขา และที่สำคัญ เราไม่จำเป็นต้องอ้างหลักการสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนใด ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องรณรงค์ให้แสลงหูสำหรับคนที่ไม่ชอบฟังคำว่าการเรียกร้องสิทธิ และหมั่นไส้เวลาที่คนออกมาเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ชอบเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธ เพียงเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีปฏิบัติตามศีลห้าก็พอแล้ว รับรองว่าไม่มีการลวนลามเกิดขึ้นแน่นอน เพราะหัวใจศีลห้า นั้นก็คือการห้ามละเมิด การห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็หมายถึงไม่ละเมิดในชีวิตของผู้อื่น ห้ามลักทรัพย์ ก็ห้ามละเมิดทรัพย์สินผู้อื่น หรือข้อกาเมฯ ก็ห้ามละเมิดในเรื่องกาม ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น เป็นต้น ดังนั้น แค่บอกให้ทำตามหลักคำสอนเหล่านี้แก้ปัญหาได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากจะรณรงค์ในทางสากลก็ควรจะบอกว่า "ผู้ที่มีวัฒนธรรมย่อมไม่ละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้อื่น" หรืออาจจะบอกว่าการละเมิดเนื้อตัวและร่างกายของผู้อื่นเป็นการกระทำของคนที่ไร้วัฒนธรรม หรืออาจจะเติมคำว่า ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เพื่อให้รู้ว่าเรามีวัฒนธรรมที่ดี เป็นการบอกทั้งผู้หญิงและผู้ชายให้เคารพสิทธิส่วนตัวของผู้อื่น แทนการบอกผู้หญิงและผลักภาระให้ผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ หากสังคมสามารถยอมรับได้ว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดมาแต่รากเหง้าวิธีคิดและวิธีปฏิบัติต่อผู้หญิงของสังคมไทยอันมีมายาวนานที่สมควรที่จะถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเสียที เราก็คงจะได้เห็นการรณรงค์และวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่ ๆ ที่หลุดไปจากกรอบคิดเดิมที่ไม่เคยได้ผลกันเสียที รวมทั้งการเลิกนำเอาคำว่าวัฒนธรรมไทยมากล่าวอ้าง เพื่อให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ภายใต้กับดักทางความคิดแบบเก่า ๆ ควรจะถอนรากถอนโคนวิธีคิดที่จะผลักภาระให้ผู้หญิงต้องอยู่ในภาวะยอมจำนนกับการถูกเลือกปฏิบัติ แต่หันมาสร้างความเข้าใจร่วมและรับผิดชอบร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายจะดีกว่า