Skip to main content

ฤดูกาลแห่งชีวิต และคำนึงคิดเรื่อง "การเดินทาง"

คอลัมน์/ชุมชน


ผมพบภาพใบนี้เมื่อ 6 ปี ก่อน ในห้องชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


มันเป็นวันกลางฤดูฝน ซึ่งพระพิรุณทำงานอย่างขยันขันแข็ง


ไม่ต่างกับบรรยากาศชายแดนตะวันตกของอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี สถานที่ที่ผมอยู่เวลานี้


ฝนที่ตกพรำๆ เบื้องหน้า ชวนให้นึกถึงบทสนทนาสั้นๆ ของเด็กปี 1 กับเด็กปี 3 เมื่อหลายปีก่อน


 


1


 


"ภาพนี้ถ่ายที่ไหนเหรอพี่"


"แถบอีสาน ถ้าจำไม่ผิดคนถ่ายน่าจะชื่อหลุน ทำไม…ชอบเหรอ"


"ตอนนี้คนถ่ายอยู่ที่ไหน"


"คงอยู่ที่ไหนสักแห่งในภาคเหนือ บางทีพบแกได้แถวท่าพระจันทร์ นั่งขายโปสการ์ดอยู่ตรงลานก่อนถึงท่าเรือนั่นละ"


"พี่เขาเดินทางไม่เหนื่อยเหรอ เปลืองเงินด้วย"


"ลองไปต่างจังหวัดด้วยกันสักครั้ง แล้วนายจะเข้าใจ"


ผมตกปากรับคำ…


 


* * * *


 


…สามปีต่อมา ผมพบว่า ตัวเองชอบโบกรถและเดินทางไปทั่ว


บางครั้ง เพื่อหาสถานที่ทำค่าย


บางครั้ง เพื่อตอบสนองเจตนารมย์ของตัวเองโดยไม่มีจุดหมายแน่นอน


และทุกครั้งผมพบ "ชีวิต" ผู้คนที่เป็น "ของจริง"


พบ "น้ำใจ" ที่ได้รับโดยไม่คาดฝันระหว่างการเดินทาง


 


ผมดีใจ ที่ครั้งหนึ่งของชีวิตมีโอกาสเป็นพยานเห็นหลายสิ่งจากการเดินทาง เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของป่าดงพญาเย็นที่ถูกปกคลุมด้วยเมฆหนาทึบในฤดูฝน เห็นเปลวแดดร้อนแรง ปลักควาย น้ำใจคนอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญในฤดูร้อน  ค้นพบสายหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งเหนือทะเลสาบสุดขอบชายแดนตะวันตกของประเทศ เห็นวิถีชีวิตคนมอญที่พยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดอย่างทรหดอดทน


 


ผมพบความจริงว่า คนในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณปู่คุณย่า  มักปรับตัวเพื่อจะมีชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน และไม่แข็งขืนก้าวร้าวกับธรรมชาติ


 


พวกเขาเป็นดั่งต้นไม้ ที่รู้ว่าฤดูกาลไหนควรผลัดใบ ฤดูกาลไหนควรจะผลิใบ มองโลกและเข้าใจโลก


วัตรปฏิบัติของท่าน ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "วิถีชีวิต" นำไปสู่ "วัฒนธรรม" งดงามและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติรายรอบตัว


 


ปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านบอกว่า "เรา" หรืออีกนัยหนึ่ง "มนุษย์" เป็นเพียง "ส่วนหนึ่ง" ของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เช่นนั้นแล้ว การปฏิบัติตนในแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาตินั้น ย่อมผิดอย่างยิ่ง


 


เป็นความจริงที่บุคคลบางจำพวก โดยเฉพาะคนจากในเมืองนั้น บางครั้งก็ดูเหมือนจะนำสิ่งที่เรียกว่า "ค่านิยมมะเร็งร้าย" เข้าไปให้กับพวกเขา


 


ผ่านการ "เดินทางท่องเที่ยว" ซึ่งมีพรมแดนระหว่างของคำว่า "ยาวิเศษ" กับ "มะเร็งร้าย" นั้น


ใกล้กันนิดเดียว…


 


2


 


มิถุนายน 2549…


 


ผมนั่งรถตู้ติดสอยห้อยตามผู้สื่อข่าวคณะหนึ่งไปชายแดนตะวันตก พลางขำโชคชะตาตนเองที่จู่ๆ ก็มีโอกาสไปเยือนสถานที่ที่คุ้นเคยมากที่สุดแห่งหนึ่งหลังจากว่างเว้นมาหลายเดือนแบบไม่คาดคิด


 


บรรยากาศขณะเดินทางไม่ต่างอะไรกับทริปที่ราชการจัดให้ผู้สื่อข่าวเข้าสู่พื้นที่ท่องเที่ยวและอวดกิจกรรมที่ทางจังหวัดต้องการโปรโมต


หนึ่งในกิจกรรมที่ผมได้ร่วมวันนั้นคือ "ลีไคจุ๊" * ของคนกะเหรี่ยงในหมู่บ้านเล็กๆ หมู่บ้านหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านมอญของอำเภอสังขละบุรีไปประมาณ 30 กิโลเมตร


 


ผู้รู้ในหมู่บ้านบอกว่า "ลีไคจุ๊" คือพิธีผูกข้อเท้าช้างของคนกะเหรี่ยง* แถบนี้ ซึ่งมักจัดในช่วงเดือนเมษายนที่บรรดาพ่อพลายและแม่พังว่างจากการทำงานหนักตลอดทั้งปี คนกะเหรี่ยงซึ่งแต่ละครอบครัวต่างก็เลี้ยงช้างดุจดั่งลูกชายลูกสาวจะจัดพิธีรับขวัญเป็นการภายในบ้านใครบ้านมัน


 


จนเมื่อ 4 ปีก่อน บริษัททัวร์ซึ่งเป็นคนนำคณะที่ผมติดสอยห้อยตามไปด้วยครั้งนี้เข้าไปออกความเห็นให้คนในหมู่บ้านนำช้างมารวมกันแล้วจัดเป็นพิธีใหญ่ไปครั้งเดียว


 


จากประสบการณ์ ผมพบว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวเช่นนี้ต้องดูกันเป็นกรณีไป


 


บางกรณี ต้องยอมรับว่าการเข้าไปของส่วนราชการมีส่วนทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากมีการจัดการอย่างเหมาะสม แต่ในบางกรณี การเข้าไปของส่วนราชการนกลับเป็นการทำลายความสงบและวิถีชีวิตอันงดงามของคนท้องถิ่นให้หมดไปภายในเวลาไม่นาน


 


ผ่านการนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาย่อมนำวัฒนธรรมแบบคนเมืองติดไม้ติดมือเข้าไปเป็นของฝากโดยไม่ตั้งใจ


และเป็นไปได้ ว่าทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นโดยความ "ยินยอม" จากคนในพื้นที่ 


ซึ่ง "ตั้งรับ" ไม่ทัน และมองรายได้ที่กำลังจะไหลมาเทมาในอนาคตเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด


 


กิจกรรมที่ทางจังหวัดกาญจนบุรีกับบริษัททัวร์แห่งนี้จัด แล้วบังเอิญผมได้ไปสังเกตการณ์ในฐานะสื่อนั้น ผมเองไม่กล้าจัดเข้าในกรณีหลัง แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่กล้าที่จัดเข้าไปอยู่ในกรณีแรก


 


ผมทราบข้อมูลเบื้องต้นว่างานลีไคจุ๊ ได้ว่างเว้นไปหลายปี จนปี 2549 จึงมีการจัดงานนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้มาร่วมในพิธีด้วย ด้วยการขี่ช้างอย่างยิ่งใหญ่เข้างาน มีการตัดริบบิ้นเปิดพิธีแบบคนเมือง ก่อนจะเข้าสู่พิธีการซึ่งนอกจากจะจัดคลาดเคลื่อนกับเวลาแท้จริงแล้ว ยังมีการกำกับรายการบางส่วนโดยเจ้าของบริษัททัวร์ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของพิธีอย่างการรำ คิวพระสวดมนต์ คิวเดินของช้าง ซึ่งผู้รู้ชาวกะเหรี่ยงในพิธีก็ทำหน้าที่ของตนไปตามคำสั่งโดยมิได้ตั้งข้อสงสัยแต่อย่างใด


 


สื่อบางคนแอบตั้งข้อสังเกตว่า ไม่แน่ นี่อาจสื่อถึงอนาคตของพิธีกรรมนี้ว่า ในอนาคต จะกลายเป็นหน้าตาด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรี


 


จึงจำเป็นเหลือเกิน ที่ต้องมีเจ้าของบริษัททัวร์มากำกับดูแลรูปแบบอย่างใกล้ชิด!


 


3


 


"ชาวกะเหรี่ยงผมไม่ทราบ แต่สำหรับหมู่บ้านมอญ ตั้งรับกระแสโลกภายนอกไม่ทันแล้ว"


เพื่อนชาวมอญของผมเอ่ยขึ้น เมื่อถูกถามเรื่องการท่องเที่ยวที่สยายปีกโอบคลุมหมู่บ้านมาเกือบ 10 ปีแล้ว (นับตั้งแต่ที่ ททท.จัดโครงการ "อันซีน" ไทยแลนด์ แล้วบอกว่าหมู่บ้านเก่าของชาวมอญที่จมอยู่ใต้น้ำนั้น เป็นเมืองบาดาลมหัศจรรย์พันลึก ทั้งที่จริงๆ เป็นความหลังซึ่งเต็มไปด้วยคราบน้ำตา)


 


ปัจจุบัน เกสต์เฮ้าส์และรีสอร์ทผุดขึ้นทั่วพื้นที่ โดยนายทุนทั้งจากในท้องถิ่นและต่างถิ่น ขณะที่ชาวมอญส่วนใหญ่ได้รับผลจากการท่องเที่ยวเพียงน้อยนิด แต่ที่ได้มากกว่าคือรับค่านิยมแบบ "ไม่พอเพียง" ของนักท่องเที่ยวเข้าไป โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น…


 


โทรศัพท์มือถือ รถมอเตอร์ไซค์ ผับ เธค อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านวีดิโอ ฯลฯ เห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้าน


 


ขณะที่อาชีพหลักของผู้ปกครองพวกเขาบางคนนั้น สร้างรายได้ไม่พอกับรายจ่ายที่จะตามมากับสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ


 


คำถามที่ผมป้อนใส่เพื่อนชาวมอญ เกิดขึ้นเพราะเช้าวันที่สอง มีการทำบุญตักบาตรของคนมอญทั้งหมู่บ้านบนสะพานอุตมานุสรณ์--สะพานไม้แห่งศรัทธาซึ่งเกิดจากแรงกายแรงใจของคนมอญในหมู่บ้านที่นับถือหลวงพ่ออุตตมะ และห่วงลูกหลานชาวมอญที่ต้องข้ามแม่น้ำซองกาเรียแล้วจมน้ำตายปีละหลายคน


 


วันนั้น ขณะที่ผมกำลังซึมซับบรรยากาศคนมอญแต่งกายในชุดดั้งเดิม เทินของไว้บนหัว แล้วออกมาตักบาตรแต่เช้า จู่ๆ ก็เกิดสะดุดกับเสียงนกหวีดของเจ้าหน้าที่หมู่บ้านนายหนึ่งที่เป่าเร่งให้คนเฒ่าคนแก่ให้เข้าแถวเพื่อจะ "มีภาพสวยๆ" ให้กับสื่อมวลชนเก็บไปเผยแพร่


 


คุณย่าคุณยายเดินงกๆ เงิ่นๆ แบบเร่งร้อน…ทำให้ผมอึ้งว่าสังขละบุรีเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้เชียวหรือ


 


ชาวมอญหลายคนบอกว่า ทางการบอกให้แต่งชุดมอญแล้วมาตักบาตรทำบุญในวันนี้ เนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลของชาวไทย (งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี)


 


เหตุผลนั้นสมควรยิ่ง แต่สำหรับผม มันสะดุดความรู้สึกว่าในสะพานแห่ง "ศรัทธา" ทำไมต้องเกณฑ์คนมอญให้มาตักบาตรตอนเช้าวันนี้เพื่อให้สื่อมวลชนเก็บภาพด้วยเล่า และทำไมจึงไม่ให้ชาวบ้านตักบาตรตามปรกติในอิริยาบถที่พวกเขาเคยเป็นมา


 


"ศรัทธา" ได้มาด้วยการ "เกณฑ์" หรืออย่างไร


 


ผมรู้สึกผิด ที่ครั้งนี้ตนเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้คนมอญที่นี่ได้รับผลกระทบ


 


4


 


"ในฤดูแล้งถ้าต้นไม้พวกนี้ไม่ผลัดใบ มันจะสูญเสียน้ำจนหมด ไม่สามารถมีชีวิตรอด ไม่ต่างอะไรกับคน ถ้าไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้องเหมาะสม ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์ยุคปัจจุบันกำลังโดนลงโทษ เพราะทำร้ายธรรมชาติและใช้ชีวิตแบบไม่บันยะบันยังจนเกิดวิกฤติไปหมด"


ปราชญ์ผู้เฒ่าท่านหนึ่งเคยบอกผมไว้อย่างนั้น


 


วันนี้ หมู่บ้านมอญ และหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่สังขละบุรี กำลังถูกวัฒนธรรมคนเมืองไหลบ่า และมีค่านิยมบูชาเงินมากขึ้นกว่าแต่เก่าก่อน….


 


* * * *


 


ผมพบภาพใบนี้เมื่อ 6 ปี ก่อน ในห้องชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


มันเป็นวันกลางฤดูฝน ซึ่งพระพิรุณทำงานอย่างขยันขันแข็ง


ไม่ต่างกับบรรยากาศชายแดนตะวันตกของอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี สถานที่ที่ผมอยู่เวลานี้


ฝนที่ตกพรำๆ เบื้องหน้า ชวนให้นึกถึงบทสนทนาสั้นๆ ของเด็กปี 1 กับเด็กปี 3 เมื่อหลายปีก่อน


ชวนให้นึกถึงปราชญ์เฒ่าคนนั้นที่เคยสอนคนเมืองอย่างผมถึงการปรับตัว


ชวนให้นึกถึงอนาคตของคนมอญ และคนกะเหรี่ยงที่นี่ยิ่งนัก…


 


- - - - -


 


* ถอดจากภาษาพูดของคนกะเหรี่ยงมาเขียน หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้


** คนกะเหรี่ยงแถบอำเภอสังขละบุรี เรียกตนเองว่า "กะเหรี่ยง" มิได้เรียกตนเองว่า "ปกาเกอญอ" เหมือนทางภาคเหนือ