Skip to main content

คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู เชิดชูวัฒนธรรมไทย ด้วยสีสันทันสมัยแบบสากล

คอลัมน์/ชุมชน

                        


 


เป็นบุญตา  บุญหู อย่างยิ่งที่ดิฉันได้ไปชมการแสดงขับร้องประสานเสียง "สำเนียงแห่งรัก" ของคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู (สวนพลู คอรัส) โดยคุณรสนา   โตสิตระกูล กรุณาชวนว่า "ไปฟังพี่ดุษฎี  ร้องเพลงพุทธทาสจักไม่ตาย ก็คุ้มแล้ว"


 


เย็นวันศุกร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ เป็นวันเงินเดือนออก และฝนตกทั่วกรุงเทพ ฯ จึงเข้าสูตร ๓ เหตุแห่งรถติดอย่างหนัก คุณรสนากับดิฉันจึงปรึกษาคุณสันติสุข โสภณสิริ โชเฟอร์ชั้นดีว่า เราสองสาว (ผู้สูงวัย)จะสละรถแล้ววิ่งไปขึ้นรถไฟฟ้า เพื่ออาจจะได้ไปถึงห้องประชุมของสถาบันปรีดี  พนมยงค์ ได้ทันเวลา ๑๙.๓๐ น. ซึ่งพี่ดุษฎี  พนมยงค์ จะร้องเพลง "พุทธทาสจักไม่ตาย" เป็นเพลงแรก


 


แต่กว่าเราจะไปถึงห้องประชุมเกือบ ๒ ทุ่ม เหลือบมองเห็นเก้าอี้ว่างอยู่ข้างใน ๒ ที่ ก็รีบแหวกเข้าไปนั่ง ทราบจากผู้นั่งข้างๆ ว่าการแสดงผ่านไปแล้ว ๓ – ๔ เพลง


 


                        


 


การขับร้องเดี่ยว ๒ เพลง โดยคุณอิสริยา  คูประเสริฐ นักร้องโซปราโนและคุณบัณจินดา เหล่าไทย เล่นเปียโน มีความไพเราะ งดงาม แสดงกิริยาท่าทางประกอบอย่างเป็นธรรมชาติ น่าประทับใจ


 


                                    


 


นักแสดงชุดใหญ่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดไทยที่ออกแบบประยุกต์ มีสีสันแวววับน่าดู โฆษกประกาศว่า นักร้องจะร้องเพลง ๔ เพลง ที่จะไปประกวดระดับโลกที่ประเทศจีน ในวันที่  ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙


 


ดิฉันเพลิดเพลินกับการฟัง  การดู การร้องเพลง ดังถูกมนต์สะกด นึกไม่ถึงว่าเพลงเขมรไทรโยค ที่แต่งเนื้อร้อง ทำนองโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นเพลงไทยเดิมที่มีทำนองและการเอื้อนอย่างอ่อนหวาน  จะร้องประสานเสียงได้ไพเราะจับใจ          เมื่อเปลี่ยนมาเป็นเพลงเพื่อชีวิตทำนองเรียบง่ายสไตล์ปักษ์ใต้ คือ เพลงบินหลา ของวงแฮมเมอร์ ซึ่งมีนัยทางสังคมและการเมืองที่แหลมคม ก็ทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์คล้อยตามได้


 


เพลงเห่เรือ จากกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ที่นักเรียนได้เรียนกันตั้งแต่มัธยมต้น มีคำกลอนที่รู้จักกันดีว่า "สุวรรณหงส์ ทรงภู่ห้อย งามชดช้อย  ลอยหลังสินธุ์" เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ชาวโลกรู้จักประเทศไทยว่ามีวัฒนธรรมประณีตงดงาม  การร้องเพลงเห่เรือแบบประสานเสียงทำให้มีมนต์ขลังยิ่งนัก


 


เพลงที่สี่มีจังหวะสนุกสนาน เร้าใจ คือ เพลงพม่าทุงเล ซึ่งทำให้ผู้ฟังไม่ยอมให้จบ เสียงปรบมือจึงยาวนาน จนโฆษกต้องถามว่าอยากฟังเพลงอีกไหม ผู้ฟังตบมือกราวยืนยันเจตนารมณ์ จึงได้ของแถมเป็นเพลง "ลอยกระทง" อันร่าเริง แจ่มใส พร้อมกับลีลารำวงอ่อนช้อยของนักร้องหนุ่มสาวที่จับคู่ได้อย่างลงตัว เป็นการแสดงเอกลักษณ์ไทยทั้งการแต่งกาย การร้อง การร่ายรำ การตีฉิ่งและกลองรับกับจังหวะเพลง ผู้ฟังจึงปรบมือแสดงความชื่นชมกราวใหญ่อีกครั้ง


 


                        


 


จบการแสดงแล้วเป็นการมอบช่อดอกไม้ให้แก่ผู้อำนวยการวง  ผู้อำนวยเพลง และนักแสดง ดิฉันไปที่หน้าเวทีเห็น ท่านผู้หญิงพูนศุข  พนมยงค์ ในวัย ๙๕ ที่ยังคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง คุณหญิงจันทนีย์  สันตะบุตร  อาจารย์สุลักษณ์  ศิวรักษ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคุณจาตุรนต์  ฉายแสง กับผองเพื่อนผู้ทำงานเพื่อสังคม จึงได้โอกาสทักทายกันถ้วนหน้า


 


หน้าห้องประชุมมีน้องถือกล่องรับบริจาค  สนับสนุนเดินทางไปแข่งขัน CHOIR  OLYMPICS  ๒๐๐๖  ที่เมือง XIAMENประเทศจีน ซึ่งครั้งนี้ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู เดินทางไปแข่งขันในนามสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มิได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ทั้ง ๆ ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยมาแล้ว  โดยเข้าแข่งขันขับร้องประสานเสียงโอลิมปิกครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๔ ที่เมือง BREMEN ประเทศเยอรมัน ได้รับรางวัลเหรียญเงินประเภทเพลงพื้นเมือง(FOLRLORE A CAPPELLA)


 


                              


 


ข้อมูลจากคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูเล่าเรื่อง ดังนี้


 


คณะประสานเสียงสวนพลู เป็นคณะนักร้องประสานเสียงประเภทขับร้องโดยไม่มีดนตรีบรรเลงเพลงประกอบ (A Capella) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีดุษฎี พนมยงค์ เป็นผู้อำนวยการคณะ และ นพ.กิตติพร ตันตระรุ่งโรจน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยเพลง สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาและจบการศึกษาวิชาเอกขับร้องจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ


 


คณะฯ มีผลงานแสดงในวาระต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการแสดงในต่างประเทศ ผลงานในต่างประเทศ คือ ได้รับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรมของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปแสดง ณ นครเวียงจันทร์ กระทรวงวัฒนธรรมเวียดนามเชิญไปแสดงที่กรุงฮานอย แสดงในเมืองต่างๆของประเทศเยอรมันนีและกรุงเวียนนา ออสเตรีย


 


รางวัลระดับสากลที่ได้รับมาแล้ว คือ เหรียญทองแดงประเภทเพลงพื้นเมือง (FOLKLORE A CAPPELLA) กับรางวัลดีเด่นประเภทเพลงบังคับ จากมหกรรมการขับร้องประสานเสียงนานาชาติ ครั้งที่ ๖ ที่กรุงปักกิ่ง และเหรียญเงินจากการแข่งขันขับร้องประสานเสียงโอลิมปิกครั้งที่ ๓ (CHOIR OLYMPICS 2004) ที่เมืองเบรเมน เยอรมัน ซึ่งเป็นการนำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นแรงบันดาลใจจากที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น จากคณะนักร้องประสานเสียงชั้นนำจากทั่วโลก ทำให้คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ต้องฝึกฝนหนักยิ่งขึ้น


 


ประเทศไทยกับการแข่งขันร้องเพลงประสานเสียงระดับโลก


 


CHOIR OLYMPICS หรือ การแข่งขันขับร้องประสานเสียงระดับโลก จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2000 ที่เมือง LINZประเทศเยอรมนี   ครั้งที่ 2 ปี 2002  ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี  ครั้งที่ 3 ปี 2004 ที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี  สำหรับปีนี้ จัดการแข่งขันที่เมือง XIAMENสาธารณรัฐประชาชนจีน


 


ประเทศไทยได้ส่งคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2004 ที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี  และสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน  ในประเภท Folklore A Cappella   สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้แก่ประเทศชาติ


 


ครั้งนี้  นับเป็นครั้งที่สอง ที่คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู เป็นตัวแทนประเทศไทยโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว


 


วัตถุประสงค์ของการแข่งขันคือ  สันติภาพ และ มิตรภาพ


 


CHOIR OLYMPICS   ไม่ใช่เป็นการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้   แต่เป็นเสมือนสนามสอบไล่ใหญ่   กรรมการให้คะแนนตามความสามารถที่กำหนดไว้แต่ละหัวข้อดังนี้  คือ  คุณภาพเสียง  ความแม่นยำของเสียง  ความกลมกลืนในการประสานเสียง  การสื่อความหมายของเพลง


 


การแข่งขัน CHOIR OLYMPICS นี้  จึงมีบรรยากาศแห่งมิตรภาพและความสามัคคี  ไม่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเอาชนะกัน  ทุกคณะแสดงความสามารถของตนให้ดีที่สุด    คณะใดมีผลงานอยู่ในระดับใดก็จะได้รับรางวัลตามมาตรฐานนั้นๆ ไป


 


คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู   เป็นคณะนักร้องเล็กๆ  ที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย  ตั้งแต่ชื่อของคณะ   เพลงที่ขับร้อง  สมาชิกของคณะ  ผู้ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสาน  และการแต่งกาย คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น ๓๐ คน


 


ไกวัล  กุลวัฒโนทัย  ผู้อำนวยเพลงพร่ำสอนสมาชิกอยู่เสมอว่า 


    


คนตัดไม้ใช้เวลาลับขวานหลายวัน กว่าจะตัดไม้ได้ในวันเดียว 


ชาวนาทำนาทั้งปี  แต่เก็บเกี่ยวได้เพียงปีละสองครั้งเท่านั้น


ฉันใด


การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ จึงจะทำให้สามารถสร้างผลงานที่ดีในการแสดงได้


ฉันนั้น


และเมื่อทุกคนมีเป้าหมายในชีวิต คือร้องเพลงประสานเสียง จงทำให้ดีที่สุดและไปให้ถึงจุดหมายของตน


 


เพลงทั้ง 4 เพลงที่เลือกมานี้มุ่งหวังเพียงเพื่อความงดงามทางศิลปะการร้องประสานเสียง ที่เหมาะสมกับคณะนักร้องคณะนี้  ผมมุ่งหวังให้การขับร้องประสานเสียงไทยได้มีมาตรฐานระดับโลก     โดยไม่หลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเราเอง และผมมุ่งหวังให้ผู้ฟังทุกท่านที่ได้ยินการขับร้องของเรา ได้มีความเพลิดเพลินกับความไพเราะ อิ่มเอมกับเสียงเพลง และสนุกสนานร่วมไปกับพวกเรา เพียงเท่านี้ก็นับว่า ผลของความเหนื่อยยากในการทำงานของพวกเราชาวคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู  ได้บรรลุผลอย่างสมบูรณ์แล้ว.


 


ไกวัล ยังอธิบายคำว่า CHORUS หรือ คณะนักร้องประสานเสียง  ในทัศนะของเขาว่า


                        C          =          Collective                       การทำงานเป็นกลุ่ม


                        H          =          Harmony                       ความกลมกลืนของเสียง


                        O          =          Order                            ความมีระเบียบวินัย


                        R          =          Responsibility                 ความรับผิดชอบ


                        U          =          Unity                             ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


                        S          =          Spirit                             จิตวิญญาณ


 


ถ้าทุกคนทำได้ตามนี้  เราก็คงจะเป็นคณะนักร้องประสานเสียงที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง"


 


ขอเป็นกำลังใจให้คณะสวนพลู  คอรัส ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙  โดยเป็นทูตวัฒนธรรมที่นำความงามของเพลงไทยไปฝากชาวโลก ขอให้เสียงเพลงได้นำสันติภาพและความสุขมาสู่ชาวโลกตลอดไป


 

*ภาพประกอบจากคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู