Skip to main content

ข่าวร้าย

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อหลายปีก่อน ผมยังประจำอยู่สำนักข่าวเก่าแก่ละแวกราชดำเนิน 


 


สนามหลวง ท่าพระจันทร์  คือสถานที่ย่ำตระเวนทำข่าวตามปกติของผม บางคราวก็นั่งรถยาวไปถึงสามย่าน ตึกช้างถนนพหลโยธิน หรือซอยทองหล่อ งานที่ต้องรับผิดชอบคือการทำรายงานข่าวจากเวทีเสวนาทางวิชาการ และการสัมภาษณ์นักวิชาการ ตาม เรื่องหลักประจำสัปดาห์ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม หรือมีความสำคัญต่อสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ว่าจะด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม


           


ไม่ธรรมศาสตร์ ก็จุฬาฯ ไม่สถาบันวิถีทรรศน์ก็ สถาบันปรีดีฯ วนเวียนอยู่อย่างนี้ จนในช่วงนั้น ผมรู้สึกว่า รายงานเสวนาทางวิชาการและการสัมภาษณ์นักวิชาการกลายเป็นเรื่อง "เข้ามือ" ไปเลย (ทว่า เมื่อผ่านไปหลายปี เรื่องพวกนี้กลับเป็นเรื่อง "เข้าหม้อ" ไปเสียฉิบ)


           


ภายใต้การนำของ "พี่เล็ก" บรรณาธิการบริหาร ทีมของเราสามารถใช้คำว่า "กองโจร" ได้อย่างไม่ต้องอายใคร บรรณาธิการบริหารหนึ่งคน, นักข่าวสองคน, พิสูจน์อักษรสามคน, จัดหน้าสองคน, พีซีหนึ่งคน กับเลขาฯ กองฯ อีกหนึ่งคน คือทั้งหมดที่เรามีสำหรับนิตยสารวิเคราะห์ข่าวการเมืองรายสัปดาห์ที่เก่าแก่และมียอดพิมพ์ประมาณสามหมื่นฉบับต่อสัปดาห์ 


           


และภายใต้ข้อจำกัดสารพัดอย่าง ทั้งกำลังคน กำลังเงิน ไปจนถึงแรงกดดันจาก "อำนาจรัฐ" (รวมทั้งการเมืองภายในจากบรรดาเขี้ยวลากดินทั้งหลาย) เราก็ยังเดินทางร่วมกันมาได้หลายปี


           


ทุกวันพุธ เราจะทำงานกันถึงเช้าเพื่อปิดต้นฉบับให้เสร็จสิ้น เราดื่มกาแฟแทนน้ำ กินพาราเซตตามอลเป็นกับแกล้ม และทำงานกันราวกับว่าพรุ่งนี้โลกจะแตก เมื่อถึงตอนเช้าเราจะสลบไปหนึ่งวันเพื่อจะมาดูข้อผิดพลาดของหนังสือที่เสร็จสมบูรณ์ในวันศุกร์


           


พี่เล็กจะ "เฉ่ง" ทันทีหากมีข้อผิดพลาดใดๆ  ความแรงของการเฉ่งในแต่ละครั้ง ก็มากพอจะทำให้บางคนคิดลาออกได้ แต่เรารู้ว่านั่นคือสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ และแม้ว่าจะทุกข์ใจจนน้ำตาร่วง ทุกวันศุกร์เราจะไปสังสรรค์กันเพื่อลืมมันที่ "ร้านเดิม ๆ" กับสมาชิก "เดิม ๆ"


           


วิถีชีวิตของพวกเราวนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอด แม้รายได้ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่เราก็มีความสุขและภูมิใจใน "hardnews" ที่เราได้บากบั่นนำเสนอต่อผู้อ่านทุกๆ ฉบับ


           


แต่แล้วในวันหนึ่ง "ข่าวร้าย" ก็เดินทางมาเยือนเรา


ข่าวที่เรานำเสนอ ไม่ใช่สิ่งที่ อำนาจรัฐต้องการให้ประชาชนรู้ หนังสือถูกเก็บกลับคืนเพื่อเปลี่ยน "เรื่องปก" ที่ตรงไปตรงมาเกินกว่าผู้มีอำนาจจะรับได้


 


เบื้องบนพยักหน้าส่งสัญญาณ พี่เล็กตัดสินใจลาออก ทีมงานจำนวนหนึ่งออกด้วย และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น


ผมได้เรียนรู้การทำงานข่าว และได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากที่แห่งนี้อย่างมากมาย  แม้ไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องทำงานที่นี่ตลอดไป  แต่ก็ไม่คิดว่าต้องออกจากที่นี่ไปด้วยสถานการณ์อย่างนี้


           


แต่ – ก็ดีเหมือนกัน  การจงใจตกงาน อาจเป็นเรื่องสิ้นคิดสำหรับหลายๆ คน แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นการ ให้โอกาสตัวเราได้มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นเดียวกัน


 


ผมปลอบใจตัวเองเช่นนั้น


           


แต่แล้วก็เหมือนดวงชะตาจะยังไม่ยอมให้ผมตกงานนานเกินไป เชื่อหรือไม่ ผมลาออกตอนเย็น แล้วก็ได้งานใหม่ในค่ำวันนั้นเอง 


 


ด้วยจากการชักชวนของนักข่าวรุ่นพี่ ผมได้เข้าทำงานที่สำนักข่าวแห่งใหม่ ไม่ไกลจากที่เดิมนัก ในหน้าที่ใหม่ คือตระเวนหาประเด็นหรือเรื่องราวที่น่าสนใจในสังคม เพื่อนำมาทำทำเป็นบทความประเภทไลฟ์สไตล์ ด้วยขอบเขตที่กว้างขวาง และปริมาณงานที่น่าจะทำให้ดีได้ระดับหนึ่งในเวลาที่เขากำหนด ผมคิดว่าผมน่าจะเริ่มต้นในที่ทำงานใหม่ได้สวย


           


แต่เพียงแค่หนึ่งเดือนของการทำงาน ขณะที่ผมกำลังปรับตัวให้เข้ากับที่ใหม่


 


"ข่าวร้าย" ก็มาเยือนอีกครั้ง


           


ใครบางคนที่มีตำแหน่งสูงในบริษัทบอกว่า งานของผมมัน "สบายเกินไป"  สบายกว่าเขาซึ่งต้องเขียนคอลัมน์ประจำทุกวัน ซึ่งผมก็สงสัยเหลือเกินว่า คอลัมนิสต์นั่งโต๊ะอย่างเขาเหตุใดต้องมาอิจฉานักข่าวกระจอกๆ อย่างผม  ถ้าการหาประเด็น,หาข้อมูล และเขียนบทความขนาด 8,000 คำจำนวน 2 ชิ้นต่อสัปดาห์ (พร้อมรูป) เป็นเรื่องที่สบายอย่างที่เขาว่าจริงๆ เขาก็น่าจะมาแลกหน้าที่กับผมเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป


           


ยิ่งไปกว่านั้น ใครบางคนที่มีหน้าที่ดูแลการทำงานของผมก็เชื่อเขา (หรือจงใจจะเล่นผมอยู่แล้วก็ไม่ทราบได้) เขาจึงมาบอกให้ผมทำเพิ่มเป็น 3 ชิ้นต่อสัปดาห์ โดยไม่สนใจแม้แต่จะถามว่า "ไหวมั้ย?" หรือ "มีปัญหาอะไรมั้ย?"


           


ผมประเมินตนเองในบัดนั้นว่า ผมคงจะไม่มีความสามารถพอเพียงจะสนองความต้องการของเขาได้ในระยะเวลาอันสั้นขนาดนั้น ผมจึงขอโบกมือลาด้วยความเต็มใจยิ่ง ทั้งเขาเองก็ไม่สนใจจะปรับความเข้าใจใดๆ ด้วย


             


ภายหลัง ผมจึงได้ทราบว่า มีใครบางคนในบริษัท (อีกนั่นแหละ) ไม่ชอบขี้หน้าผม เพราะสายงานที่ผมเคยทำ มันเป็นปรปักษ์กับแนวทางของบริษัทซึ่งไม่ต้องการขัดแย้งกับอำนาจรัฐ ผมจึงไม่เหมาะที่จะร่วมงานกับพวกเขา 


 


ผมเป็น "แกะดำ" แตกแถว ในฝูงแกะขาวที่เดินตาม "เด็กเลี้ยงแกะ" ต้อยๆ


 


ในเวลาต่อมา เมื่อพวกเขาเหล่านั้น (ซึ่งแสนจะจงรักภักดีกับเจ้านายผู้ยืนเคียงข้างรัฐบาล) ต้องหันไปกัดกับอำนาจรัฐแทบจะฆ่ากันตาย จึงทำให้ผมรู้สึกทั้งสมเพชทั้งสะใจยิ่งนัก (ฮ่า-ฮ่า!)


           


ข่าวร้ายครั้งแรก เกิดจากการไปขัดอำนาจรัฐ ข่าวร้ายครั้งที่สอง ก็เป็นผลสืบเนื่องจากข่าวร้ายแรก  ผมไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่ต้องรับรู้ข่าวร้ายทำนองนี้ ในอดีตมีตัวอย่างมากมาย และในอนาคตก็คงจะต้องมากกว่าในอดีตอีกหลายเท่าตัว


           


ในบรรดาข่าวร้ายทั้งหลายสำหรับวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว การถูกกดันให้ลาออก และ การถูกฟ้องร้อง น่าจะเป็นข่าวร้ายลำดับต้นๆ ของวงการนี้และผมก็ช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้รับข่าวร้ายดังว่าตั้ง 2 ครั้ง


           


คิดดูทีไร ผมยังแปลกใจไม่หายว่า การที่สื่อมวลชนต้องการตรวจสอบหรือขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลของผู้ใช้อำนาจรัฐ เหตุใดจึงต้องได้รับผลลัพธ์เช่นนี้?  และในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างนี้ เรายังจะสามารถเรียกร้องอะไรได้ นอกจากเอาตัวรอดกันไปตามมีตามเกิด? องค์กรของสื่อมวลชนเป็นที่พึ่งให้เราได้หรือไม่? นี่คือบททดสอบว่าด้วยการต่อสู้ประจำวิชาชีพนี้อย่างนั้นหรือ? ? ? ? ?


 


ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นคำถามที่ไร้คำตอบเช่นเดียวกัน


           


ยิ่งนานวัน ผมยิ่งรู้สึกว่า "สถานการณ์ไม่ปกติ" ในบ้านเรา มันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่อง    ของสื่อที่ถูก "ทุน" ครอบงำจนส่งผลต่อชีวิตคนทำงานและทิศทางของสื่อเอง แต่ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ ช่างไม่มีสิ่งไหนเลยที่บอกว่า "เป็นปกติ" หรือ "กำลังกลับสู่ภาวะปกติ"


             


ตั้งชื่อคอลัมน์อย่างนี้ บางคนอาจคิดว่า ผมเป็นพวก "ขี้กังวล"เกินเหตุ แต่ผมเห็นว่า สิ่งนี้ควรจะเป็นคุณลักษณะของคนที่ทำงานข่าวซึ่งต้องมีสัญชาติญาณระวังภัย รวมทั้งมองอะไรให้ "ลึก"กว่าผิวหน้าที่มองเห็น


           


ใช่ว่าผมเป็นพวกชอบเห็นความวุ่นวายหรือแตกแยกในบ้านเมืองเหมือนบางคนแถวๆ ทำเนียบรัฐบาลเสียเมื่อไร ผมเองก็เป็นพวก "ไทยนี้รักสงบ" เหมือนกับทุกท่านนั่นละครับ แต่อันตรายในบ้านเมืองเรามันรุนแรงขึ้นทุกวันๆ บางทีเราเองก็ชินชากับมัน อยู่กับมันมานานจนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงแล้ว มันไม่ปกติเอามากๆ เลย


 


ผมเพียงแต่อยากจะหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาพูดคุย และชี้ให้เห็นถึงบางแง่มุมที่เราอาจจะมองข้ามไป บางทีมันอาจจะทำให้เราได้เห็นปัญหาชัดเจนขึ้น หรือ หาวิธีการใหม่ๆ ที่จะแก้ไขมันให้ดียิ่งขึ้น


 


เพราะผมเอง ก็ไม่ประสงค์จะได้ยิน "ข่าวร้าย" ใดๆ และยังต้องการเห็นบ้านเมืองของเราเป็นปกติสุขเช่นเดียวกับทุกท่านนั่นละครับ