Skip to main content

"ค่าย" ระหว่างคนสองวัย

คอลัมน์/ชุมชน

                           


 


เรื่องของ "ความไม่เข้าใจ" กันและกันระหว่างคนสองวัย ซึ่งหมายถึงเด็กกับผู้ใหญ่ มีให้เห็นอยู่เสมอ และมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมาตั้งแต่รุ่นนั้นจนถึงรุ่นนี้ มีตั้งแต่สมัยกรีก โซเคติสจนถึงสมัยโลกาภิวัฒน์ปัจจุบัน


 


เมื่อเรารู้ว่าปัญหาต่างๆ  ระหว่างวัยยังมี "ช่องว่าง" อยู่มากมาย ทั้งในเรื่องของ "ความเข้าใจ" ระหว่างกันและกันอยู่แล้ว แต่ทำไมบ่อยครั้งเด็กจึงบอกว่า ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ หรือบ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่มักบอกว่า เด็กเองก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่


 


บ่อยครั้งที่เราจะพบว่า ทุกครั้งที่มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ก็มักจะโทษเด็ก บอกว่าเด็กเป็นปัญหา ปัญหาเด็กอยู่ในขั้นวิกฤต ฯลฯ ขณะที่เด็กเองก็บอกว่าเพราะผู้ใหญ่นั้นแหละที่ไม่เข้าใจเด็ก ผู้ใหญ่เป็นต้นตอทำให้เด็กมีปัญหา


 


หรือบ่อยครั้งที่คนทำงานภาครัฐเองที่เริ่ม จะสนใจการทำงานของเด็กมากขึ้น มีการจัดตั้งสภาเด็กในระดับจังหวัด มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของเด็ก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำเอาความคิดเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ขณะที่เด็กที่ทำงานกับภาครัฐก็มองว่าภาครัฐทำงานเอาหน้า เอาผลประโยชน์จากเด็ก ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ตัวเองได้ผลงานดีๆ และขยับไปสู่ตำแหน่งการงานที่ใหญ่กว่าเดิม


 


ไอ้ที่เห็นหรือรับรู้ว่าปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่นั้นมีบ่อยๆ และมีปรากฎอยู่ร่ำไป นั้นไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในระดับสังคมใหญ่เท่านั้น เพราะแม้กระทั่งในครอบครัว ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในชุมชน แต่ละระดับ ก็ยังคงมีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันของคนสองวัยอยู่ด้วยเช่นกัน


 


ครั้นพอมีคนตั้งคำถามว่า แล้วช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ มันจะลดช่องว่างได้ไม่ได้เลยเหรอ?


 


ก็พลันต้องเจอกับคำถามที่ลึกเข้าไปอีกว่า "แล้วใครจะเป็นคนเริ่ม" "จะให้ผู้ใหญ่เริ่มเหรอ เริ่มยังไงหละ ทำไม่ถูกนิ" "เด็กต้องเริ่มก่อนสิ เพราะมันคือความต้องการของเด็ก" "ผู้ใหญ่จะเปลี่ยนได้จริงเหรอ เป็นไปไม่ได้หร้อก" "อยากจะทำนะ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง" เป็นต้น


 


เพียงแค่การตั้งคำถามว่าควรจะลดช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กไหม เท่านั้น ก็มีคนเอาไปตั้งคำถามต่อ และบางที่บางแห่ง นอกจากจะตั้งคำถามแล้วก็ยังแสวงหาคำตอบนั้นว่า "วิธีการใด" "รูปแบบไหน" "กิจกรรมอะไร" ที่จะช่วยให้ผู้ใหญ่กับเด็ก ได้มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน – เรียนรู้ทั้งเรื่องความคิด มุมมอง ทัศนคติ ของแต่ละวัยที่มีต่อกัน


 


กิจกรรมที่ว่า ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เด็กๆ จัดค่าย ก็มีการชวนผู้ใหญ่เข้าร่วมสังเกตการทำกิจกรรม หรือ บางกลุ่มก็จัดระบบสวัสดิการชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่ในเรื่องเอดส์ เพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์ หรือ บางที่เด็กๆ ก็ชวนผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุในชุมชนไปจัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญหา หรือบางโรงเรียนก็จัด "ห้องเรียนพ่อแม่"


 


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ผมได้รับอีเมลจากคุณแม่ท่านหนึ่ง  โดยท่านได้แนะนำเรื่องการทำงานระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ว่าน่าจะมีการจัดค่ายในรูปแบบที่เอาคนทั้งสองวัยมาทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบค่าย ซึ่งผมก็คิดว่าน่าสนใจอย่างมากเลยนะครับ


 


เพราะที่ผ่านมาเวลาที่พวกผมจัดค่ายก็จะเน้นเฉพาะเด็กอย่างเดียว หรือ เน้นเฉพาะผู้ใหญ่อย่างเดียว แต่ไม่ค่อยได้คิดว่า จะเอาคนทั้งสองวัยมาทำกิจกรรมร่วมกัน


 


จะว่าไปแล้ว การจัดค่ายระหว่างคนสองวัย หรือที่บางคนอาจเรียกว่า Inter- Generation ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจะนำไปจัดกิจกรรมในชุมชน ซึ่งอาจจะเริ่มได้จากลุ่มเด็ก หรือกลุ่มผู้ใหญ่ และในค่ายอาจจะมีกิจกรรมที่เด็กและผู้ใหญ่ได้ทำร่วมกัน อาจจะเป็นค่ายคุณลูกกับคุณพ่อคุณแม่ หรือ ค่ายคุณนักเรียนกับคุณครู หรือ ค่ายคุณเด็กที่ถูกวิจัยอยู่บ่อย ๆ กับคุณที่ชอบวิจัยเด็กเสมอๆ หรือ ค่ายคุณเด็กที่ประสบปัญหาต่างๆ กับคุณผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบายด้านเด็ก หรือค่ายคุณเด็กที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควรกับคุณผู้ใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์หลังวัยอันควร (ฮา)


 


ค่ายระหว่างคนสองวัยนี้ควรมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใหญ่กับเด็ก ได้ร่วมเรียนรู้ รู้จักตัวตนของกันและกัน เรื่องอะไรที่ไม่เข้าใจกันก็มาปรับความเข้าใจ อะไรที่เคยตั้งแง่ร้ายต่อกันก็มาคุยกันดีๆ หรือหากจะทำอะไรร่วมกันและจะทำอะไรต่อหลังจากจบค่ายดี หรืออาจจะมีกิจกรรมอะไรต่างๆ ตามขอบเขตข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ไป


 


หัวใจอีกอย่างคือ ควรเป็นค่ายที่ไม่มีใครเป็น "กลุ่มเป้าหมาย" ของใคร แต่เป็นค่ายที่แต่ละคน แต่ละวัย จะมาเรียนรู้ร่วมกัน ทว่าอย่างไรก็แล้วหากจะเริ่มจัดค่ายระหว่างคนสองวัยนี้ก็ควรจะชวนกันมาพูดคุย วางแผนกิจกรรมร่วมกัน ผมหมายถึงผู้ใหญ่กับเด็กนะครับ เพราะการวางแผนร่วมกันก่อนการจัดกิจกรรม คนนั้นๆ จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม และงานที่ออกมาจะเกิดความรับผิดชอบที่ดีร่วมกันครับ


 


ยังไงก็ดี ค่ายระหว่างคนสองวัย ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่จะนำไปสู่การปรับความเข้าใจ ความคิด และทัศนคติของผู้ใหญ่กับเด็กที่มีต่อกัน ความท้าทายที่สำคัญมากกว่านั้น คือในการทำอะไรร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่นั้น ต้องคำนึงถึงความเป็น "หุ้นส่วนที่เท่าเทียม" ซึ่งตัดเอากำแพงกั้นที่เป็นความสัมพันธ์ด้วย "ตัวเลข" ของ "อายุ" ออกไปเสียเพราะมันอาจเป็นอุปสรรคอันหนึ่งที่ทำให้คนสองวัยไม่ค่อยเข้าใจกันสักที


 


สุดท้ายแล้ว แม้ว่าการจัดค่ายระหว่างคนสองวัย อาจจะทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากที่จะเริ่มต้น ผมเชื่อเช่นนั้นครับ