Skip to main content

หลักฐาน (ไม่) รับรองการศึกษา

คอลัมน์/ชุมชน

มีการแฉกันไปมาเรื่องวุฒิทางการศึกษาของสภาชิกสภาผู้แทนอันทรงเกียรติว่า มีอยู่หลายท่านได้ใช้วุฒิการศึกษาปลอมมาสมัครแล้วให้เกิดความรู้สึกหลาย ๆ อย่างปน ๆ กันอยู่ คือไม่แน่ใจว่าควรจะรู้สึกอเนจอนาถใจ รำคาญใจ หรือจะขำดี เพราะดูตลกดีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน สุดท้ายก็ยังแยกไม่ค่อยถูกอีกว่า จะให้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่มีสาระหรือคิดอีกทีไร้สาระอย่างสิ้นเชิงดี


แต่ในที่สุดแล้วก็จะขอสรุปโดยการ อยากจะชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสักหน่อยว่า ช่วยแก้กฎหมายข้อที่บอกว่าให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องจบปริญญาตรีเสียทีจะดีไหม เพราะในที่สุดมันก็พิสูจน์ออกมาแล้วว่า วุฒิการศึกษาขอ งส.ส. และ ส.ว.นั้นไม่ได้เป็นคำตอบว่า จะทำให้ได้คนที่ดีและมีความรู้เข้ามาสู่สภา กลับยิ่งทำให้เราได้เห็นถึงความโกหก หลอกลวงกันมากขึ้น หนำซ้ำยังกลับกลายเป็นกีดกันให้คนดีห่างสภาออกไปทุกที ที่สำคัญกฎหมายนี้ก็ดันไปขัดกันเองกับรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ไม่ให้เลือกปฏิบัติทางเพศ สีผิวเผ่าพันธุ์ ศาสนา การศึกษา ฯลฯ อีกทั้งขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และสิทธิทางการเมืองเบื้องต้น เพราะจะไปใช้ข้ออ้างไม่ให้มีคนไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยใช้วุฒิทางการศึกษามากำหนดนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก


เข้าใจว่าเจตนาเดิมสมัยที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นคงต้องการพัฒนาระบบการเมืองทั้งหมด ประการแรกคือ ความต้องการ " คนดีมีความรู้" เข้ามาสู่สภา เลยกำหนดเอาว่าความรู้ของคนที่จะเข้ามาในตำแหน่งนี้ได้นั้น ความรู้ขั้นต่ำควรจะเป็นระดับปริญญาตรีโดยยังอนุโลมให้คนที่เป็นอยู่ก่อนแล้วหากได้เลือกตั้งต่อก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่หากเว้นช่วงไปแล้วก็อาจจะกลับมาไม่ได้อีกเว้นแต่จะมีวุฒิปริญญาตรี


ประการต่อมา ก็เข้าใจเอาเองอีกเช่นกันว่า ในตอนร่างรัฐธรรมนูญนั้นอาจมีอคติบางอย่างหรือวาระซ่อนเร้นอยู่ก็ได้ เพราะว่าภาพการเมืองในยุคนั้นก็เรียกได้ว่า " น้ำเน่า" มาก ๆ ประกอบกับสภาอาจมีนักการเมืองประเภทบุคลิกเชย ๆ และมีความรู้ต่ำในสายตาของคนในเมืองที่จะเป็นพวกที่พูดจาไม่ค่อยเข้าหูและติดตามการอภิปรายไม่ทันเนื่องจากความรู้น้อย หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ปัญหาของขณะนั้น และบางคนก็เป็นพวกมีอิทธิพลมาจากหัวเมืองแต่ชาวบ้านให้การสนับสนุน ก็มักจะได้เข้ามาในสภา แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการศึกษาสูงมากนักก็เลยเห็นว่าน่าต้องมีการยกระดับสภาโดยการเฟ้นเอาผู้มีคุณสมบัติ อย่างน้อยต้องเป็นระดับ " บัณฑิต" ขึ้นไปที่อาจจะทำให้การเมือง " น้ำเน่า" น้อยลง หรือทำให้ได้ " ผู้ที่มีความรู้ " มาช่วยคิดช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้มากขึ้น และวิธีนี้ก็อาจทำให้บรรดานักการเมืองจำนวนหนึ่งต้องออกนอกระบบการเมืองไปด้วย


ทว่า ในที่สุดถึงปัจจุบันก็น่าจะพอมองเห็นแล้วว่า การกำหนดวุฒิการศึกษาก็ไม่ใช่คำตอบว่า " จะได้คนดีมีความรู้ มีความสามารถ" เพราะบรรดาผู้ที่หลงใหลในการเมืองนั้นก็ยังคงวนเวียนอยู่ในระบบการเมือง และหากอยากได้วุฒิทางศึกษาก็จะไปหามาให้ แล้วก็เกิดการเรื่องวุฒิการศึกษาปลอมกันขึ้นอยากได้วุฒิอะไรก็ซื้อเอา อย่าว่าแต่ปริญญาตรีเลย ต่อให้โท เอก ก็ได้ถ้าต้องการ หรืออาจจะมีการบอกว่าไปเรียนเพิ่มเติมมาแล้ว แต่ถามว่าเป็นการเรียนอย่างดีมีคุณภาพหรือไม่ หลายคนอาศัยความเป็นรู้จักมักคุ้นกันลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ มีลายเซ็นการเข้าชั้นเรียนให้เห็นบ้างประปราย หรือจ้างเรียนแทนบ้างแล้วก็ได้วุฒิมาแล้วอย่างถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ วุฒิทางการศึกษาแบบนี้ตอบคำถามอะไรให้กับสังคมไทยหรือ ???


เห็นจะต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่า ระบบการศึกษาของไทยสมัยนี้การมีใบรับรองวุฒิการศึกษาไม่ได้เป็นคำตอบอะไรเลย ว่าใครมีความรู้หรือใครไม่มีเพราะว่าหากคน ๆ หนึ่งไม่มีความรู้อะไรเลย แต่จู่ ๆ ต้องการจะสมัครเป็นตัวแทนของประชาชนแต่ว่าคนนี้ไม่ได้มีใบรับรองวุฒิใด ๆ แต่เมื่อถูกกำหนดว่าคุณสมบัติของผู้สมัครต้องเป็นคนที่มีวุฒิทางการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป คนเหล่านี้ก็ไปสรรหากระดาษใบนั้นมาจนได้แล้วเขาจะกลายเป็นผู้มีความรู้ขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลยหรือ


ขณะที่คนอย่าง ลุงประยงค์ รณรงค์ ชาวสวนยาง จาก จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาพัฒนาชุมชน เป็นผู้นำด้านภูมิปัญญา ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้และหาทางออกหรือแก้ปัญหาให้กับชุมชน ถือเป็น ครูภูมิปัญญาไทย แต่ด้วยการศึกษาในกระดาษมาตรฐานการศึกษาไทยนั้น วุฒิของคุณลุงเพียงแค่ป. 4 แล้วคนแบบนี้ไม่มีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนเข้ามานั่งอยู่ในสภาหรอกหรือ


หรือเช่น ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม แห่งสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ทำเรื่องวนเกษตรตั้งแต่ก่อนใคร ๆ จะรู้จักกัน ครั้งหนึ่งความรู้ของผู้ใหญ่วิบูลย์เคยได้รับการยอมรับสมัยที่มีการแต่งตั้ง ส.ว. ผู้ใหญ่วิบูลย์ก็เคยได้เป็น ส.ว. แต่มาถึงวันนี้ด้วยการกำหนดคุณสมบัติว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องจบปริญญาตรีแล้วผู้ใหญ่วิบูลย์ก็กลายเป็นไม่มีคุณสมบัติเพียงพอเสียแล้ว เนื่องจากผู้ใหญ่วิบูลย์ก็จบแค่ป. 4 และกลายเป็นว่าเมื่อไม่ได้มีกระดาษมารับผู้ใหญ่วิบูลย์กลายเป็นคนไม่มีความรู้เสียแล้วกระนั้นหรือ


อยากขอย้ำอีกครั้งว่า การมีกระดาษรับรองวุฒิภายใต้ระบบการศึกษาไทยปัจจุบันนั้นไม่ได้การันตีว่าเขาเหล่านั้นจะเป็น " คนดีมีความรู้" อย่างที่สังคมต้องการเสมอไป เห็นพวกจบปริญญาโท ปริญญาเอกเดินกันให้เกลื่อนแต่พูดจาไม่รู้เรื่อง หรือ วุฒิภาวะยังไม่เติบโตมีถมไป วุฒิการศึกษาที่เป็นกระดาษนั้นจึงไม่ได้เป็นตัวประกันอะไรเลยเลยว่าเราจะได้คนดี มีการศึกษามาอยู่ในสภา ตรงข้ามกลับต้องกันคนดีๆ มีความรู้อีกมากมายที่ไม่มีกระดาษรับรองวุฒิให้ไม่สามารถที่ส่วนร่วมในการเข้านั่งอยู่ในสภาได้ ทั้งๆที่คนเหล่านี้มีความรู้ซึ่งเป็นความรู้จริงๆ ใช้งานได้ พิสูจน์ได้ ยังปราชญ์ชาวบ้านคนอย่างผู้ใหญ่วิบูลย์และคุณลุงประยงค์อีกมากมายที่อาจเป็นตัวแทนพี่น้องในสภาได้ แต่ก็ไม่มีกระดาษมารับรองความรู้ แล้วที่สำคัญ คนที่ออกกระดาษรับรองความรู้ให้นั้นถามว่า ในความเป็นจริงคือมีความรู้พอและมีความเหมาะสมที่จะออกใบรับรองความรู้ในคนเหล่านั้นหรือไม่


การกำหนดวุฒิการศึกษาเพื่อเป็น ส.ส. และ ส.ว. กลายเป็นการสิ้นเปลืองเวลาในการตรวจสอบ ทำให้เกมการเมืองน่าเบื่อยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้คนหลอกลวงมากยิ่งขึ้น และถ้าไม่กำหนดวุฒิ ทุกคนย่อมต้องแสดงวุฒิการศึกษาที่แท้จริงของตนเอง และอาจจะบอกคุณสมบัติที่จริง ๆ ทั้งหมดก็ได้


เรื่องนี้ควรจะให้ประชาชนเขาตัดสินเองดีกว่ามั้ยว่า คนมีวุฒิการศึกษาขนาดนี้ คุณสมบัติแบบนี้ เขาจะเลือกหรือไม่ ที่สำคัญการกำหนดวุฒิการศึกษากลับทำให้เราไม่ได้ผู้แทนที่เป็นตัวแทนอย่างทั่วถึง กลับได้ตัวแทนที่เป็นของ " คนในเมือง" เท่านั้น เราอาจไม่ได้คนที่เป็นตัวแทนของคนในชุมชน ตัวแทนพี่น้องชนเผ่า หรือ ตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ที่ทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาชุมชนและประเทศ ทั้ง ๆ ที่เขามีความรู้ดี แต่ไม่มีการศึกษาแบบที่รัฐบาลต้องการเท่านั้นเอง


อย่าให้ประชาชนต้องถูกหลอกลวงอีกเลย หากเขารักคน ๆ หนึ่ง อยากจะเลือกถึงแม้ว่าการศึกษาต่ำก็น่าจะเลือกได้ เพราะเขาอาจมองเห็นคุณสมบัติดี ๆ ที่มีอยู่ในตัวคน ๆ นั้น


ถ้าอยากจะกำหนด ก็น่าจะกำหนดว่า คน ๆ นั้นจะมีการศึกษาในระดับใดก็ได้ แต่ต้องพูด อ่านและเขียนไทยได้ดี ก็น่าจะเพียงพอ เพราะจะได้สื่อสารกับคนไทยรู้เรื่อง และฟังชาวบ้านเข้าใจ และจะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วชาวบ้านหวังอะไรจากรัฐบาล หรืออยากเห็นประเทศชาติไปทางไหนกันแน่