Skip to main content

ของเก๊ ของกำมะลอ

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงที่บทความนี้ได้ลงบนเว็บ ผู้เขียนก็ได้มาอยู่ที่เมืองไทยครบ 2 เดือน (14 ก.ค.) เกือบ 60 วันที่ผ่านมานั้น มีอะไรที่น่าสนใจในชีวิตพอสมควร เขียนมาถึง "ประชาไท" ก็ 8 บทความแล้ว (ไม่รวมบทความนี้) นับว่าได้สังเกตการณ์แล้วกลายมาเป็นผลงานได้ไม่น้อย เสียแต่ว่าคนอ่านจะได้เรียนรู้ไปด้วยหรือไม่เท่านั้น


 


ในบทความนี้ ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจและข้อมูลจากเพื่อนอาจารย์รุ่นพี่ ที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการเป็นคนเปลือกๆ ของผู้ร่วมงานของท่าน ที่ท่านบังเอิญได้รู้ ทั้งที่ท่านเองก็สงสัยความเปลือกๆ กำมะลอๆ ของผู้ร่วมงานสองรายของท่านมานานพอควร เรื่องมีอยู่ดังต่อไปนี้


 


เพื่อนที่ผู้เขียนเคารพนับถือท่านนี้ เพิ่งได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของสถาบันแห่งนั้น ก่อนหน้านี้มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ (ขอใช้ชื่อว่าอาจารย์ "เอฟ") ความเก๋ไก๋ ทันสมัย และ "มีรสนิยมวิไล" นั่นหมายถึงว่า อาจารย์เอฟมีรสนิยมใช้ของมียี่ห้อ ของต่างประเทศ ถือกระเป๋าดังๆ อะไรแบบนี้ ดังนั้นเพื่อนผู้เขียนจึงเข้ามาใช้ห้องทำงานต่อเมื่อได้รับตำแหน่งนั้น


 


เพื่อนผู้เขียนเล่าว่า บ่ายวันหนึ่ง มีผู้หญิงอายุราวกลางคนได้เคาะประตูและเข้ามาในห้องทำงานนั้น (ขอบอกก่อนว่าตำแหน่งผู้บริหารในสถานศึกษาหลายแห่ง ไม่มีเลขาฯ หน้าห้องที่จะสกัดกั้นผู้เข้าพบแบบนี้ นอกจากว่าห้องทำงานของผู้บริหารจะใหญ่กว่าของคนอื่นเท่านั้น) ผู้หญิงที่เข้ามาพบแบบไม่บอกล่วงหน้าทึกทักว่าได้เคยคุยกับเพื่อนผู้เขียนแล้ว เพราะเคยเสนอขายกระเป๋ายี่ห้อดังจากยุโรป บอกว่า "อาจารย์คะ ดิชั้นเคยเอากระเป๋ามาให้อาจารย์ดู ตอนนั้นอาจารย์บี (นามสมมติ) บอกว่าอาจารย์สนใจ อาจารย์ยังเอาไปใบนึงเลย อาจารย์บีก็ซื้อกับดิฉันบ่อยๆ รุ่นใหม่นี้ สวยเหมือนของแท้เลยนะคะ อาจารย์ไม่สนใจเหรอคะ"


 


เพื่อนผู้เขียนตอบไปว่า "ดิชั้นคิดว่าคุณเข้าใจผิดนะคะ เราไม่เคยคุยกัน และดิชั้นไม่ได้สนใจในผลิตภัณฑ์ของคุณเลยค่ะ" แต่หญิงผู้เสนอขายบอกว่า "เราเคยคุยกันค่ะ อาจารย์ยังเคยซื้อกระเป๋าของดิชั้นไปแล้วนี่คะ" เพื่อนผู้เขียนบอกว่า "ดิชั้นคิดว่าคุณคงเข้าใจผิดจริงๆ เพราะดิชั้นเพิ่งมาดำรงตำแหน่ง และเพิ่งย้ายเข้ามาที่ห้องทำงานนี้" ในที่สุดหญิงคนนั้นก็ออกจากห้องทำงานของเพื่อนผู้เขียนด้วยดี


 


เพื่อนผู้เขียนสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่า "อาจารย์บี" ที่ถูกเอ่ยถึงคงเป็นผู้ดำเนินการซื้อหาของเหล่านี้ ให้อาจารย์เอฟ แต่ก็คงได้บอกรายละเอียดกับคนขายนี้ว่าอาจารย์เอฟเป็นใคร ดำรงตำแหน่งอะไร อาจเคยให้หมายเลขโทรศัพท์กันกับผู้ขาย แต่ไม่เคยเจอตัว อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็ทำให้สันนิษฐานในระดับหนึ่งว่า มีการเสนอขาย และซื้อขายสินค้าของปลอมแบบนี้จริงๆ ระหว่างอาจารย์สองคนนี้ และหญิงคนนี้


 


เมื่อเพื่อนผู้เขียนมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ผู้เขียนก็หัวเราะขำๆ บอกว่าไม่แปลกใจที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เสมอ ในสังคมที่มีแต่ภาพลักษณ์ ทำมาหากินที่การขาย "ภาพ" โดยเฉพาะในสังคมประเทศโลกที่สามที่ชอบทำงานหรือแสดงตนแบบ "ผักชีโรยหน้า" ได้ง่าย เพราะไม่มีระบบตรวจสอบที่ชัดเจน ความเป็นกำมะลอ หรือเก๊ๆ ก็ไหลถ่ายเทไปมาระหว่างชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน หรือสังคมสาธารณะ อีกทั้งชาวบ้านทั่วไปก็ตื้นและติดอยู่กับภาพข้างนอก ดังนั้น เราก็เลยเห็นแต่ภาพที่เค้าอยากให้เราเห็น และเราก็ดันโง่ต่อที่จะอยากเห็นภาพที่เก๊ๆตื้นๆ กำมะลอๆ ไปกันเรื่อย จนในที่สุดไปยอมรับความเก๊ ความกำมะลอว่าเป็นความจริง และของจริงกลายเป็นของเก๊ไปในที่สุด หรือไม่งั้นก็บอกว่า ของเก๊ไม่ต่างจากของดี ของจริง ใช้แทนกันได้  ทั้งที่ความจริงนั้น ของเก๊ก็คือของเก๊วันยังค่า เช่นเดียวกับของจริงที่จริงวันยังค่ำเช่นกัน


 


ผู้เขียนได้มองถึงอีกประเด็นหนึ่งว่า ขนาดผู้คนที่ทำงานด้านการศึกษายังลวงๆ กลวงๆ ขนาดนี้  ไฉนเลยผลผลิตที่ออกมาหรือบัณฑิตต่างๆ ในเมืองไทยจะไม่กลวงได้อย่างไร   ทั้งนี้ก็ขอบอกก่อนว่า อาจารย์ดีๆ มีอีกไม่น้อย แต่อาจารย์กลวงๆ ลวงๆมีไม่น้อยเช่นกัน พวกนี้ก็มักเป็นที่ชื่นชอบต่อผู้เรียนที่กลวงๆเหมือนกัน ตามประสา "ผีเห็นผีด้วยกัน"  เรียนกันไปสอนกันไปเหมือนปาหี่ เปรียบได้เหมือน "โง่สอนงั่ง" ไม่ได้เรียนรู้อะไร  แต่อนิจจาเมืองไทยนั้นมีระบบเอื้อให้พวกนี้ดำรงอยู่ได้ หนำซ้ำยังมีการสนับสนุนการศึกษาปลอมๆ ออกมาอีก ผลิตกันออกมาปีหนึ่งๆ เป็นหมื่นๆแสนๆ แต่ไม่มีคุณภาพ


 


เมื่อสังคมไทยเองก็ชอบอะไรปลอมๆ ชีวิตมันก็ปลอมไปเรื่อยๆ ความจริงที่ในสังคมไทยได้รับทราบ นั่นก็ไม่ใช่ความจริง คงเป็นของปลอม เสียดายแต่ว่าไม่ค่อยมีใครออกมาพูดความจริงเท่าไรนัก เพราะคนพูดจริงทำจริง มักอยู่ในเมืองไทยไม่ได้ กลายเป็นเป้าโจมตีได้ง่าย  เพราะคนไม่จริงจะฉลาดในการหลอกได้ตลอดชีวิตของตนเอง หลอกได้ทั้งคนอื่น และหลอกได้ทั้งตนเอง จนตายไปข้างใดข้างหนึ่ง หลายๆ ครั้งที่ความจริงไม่มีเลย ไอ้สิ่งที่คิดว่าเป็นความจริงนั่นแหละคือไม่จริง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทย และเรื่องเล่าที่มาจากหน่วยทางการเมืองต่างๆ และสื่อมวลชนเอง


 


วกกลับมาที่เรื่อง "สร้างภาพ" ที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาดังกล่าว ทำให้สะท้อนใจเป็นที่สุด และทำให้ตั้งคำถามต่อไปว่า อาจารย์ที่ใช้ของปลอมทั้งสองรายนั้น จะสร้างภาพกันอีกนานเท่าไร น่าเสียดายที่การศึกษาระดับสูงไม่ได้ช่วยยกระดับจิตใจกันจริงๆ  อันนี้เป็นเรื่องยืนยันกันอย่างชัดเจนว่าสังคมไทยนั้นยังคงมองว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์จริงๆ  แต่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สุขของสังคม ดังนั้น ลมปากของนักวิชาการ ครูอาจารย์บางคนที่ไร้ความจริงในชีวิต ก็ไม่ต่างลมปากเน่าๆ ของนักการเมืองชั้นต่ำเท่าไรนักหรอก เพราะพื้นฐานมาจากความเก๊ ความกำมะลอนั่นเอง


 


ปรัชญาทางสังคมที่พึงปรารถนาคือ การที่คนยิ่งมีความรู้สูง มีความได้เปรียบในสังคมสูง ยิ่งต้องช่วยสังคมมากขึ้นเท่านั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ตนต้องทำเพราะสังคมได้ให้โอกาสแก่คนที่มีโอกาสเหล่านี้มากกว่าคนอื่น ไม่ใช่ได้มาเพื่อประโยชน์ส่วนตน


 


ผู้เขียนเคยได้ยินคนใกล้ตัวหลายคนที่ดั้นด้นไปเรียนต่อจะเอา ดร. มานำหน้าชื่อ บอกแค่ว่าอายเด็กรุ่นใหม่ที่มีดร. กันมาก  ผู้เขียนขอแย้งว่าคิดผิด เพราะจริงๆ แล้วการได้ ดร.นำหน้าชื่อนั้นเป็นเรื่องมายา และอย่าไปติดกับมันมาก หากเรียนเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาที่แท้จริงจะเป็นความถูกต้อง


 


ดังนั้น ไม่แปลกใจว่า วันนี้และในอนาคตเราก็คงเห็น ดร. เดินชนกันตายในเมืองไทย เป็น "ดร.กำมะลอ" กันเสียกว่าครึ่ง ซึ่งไม่ต่างกับปริญญาตรีวันนี้ที่คุณภาพตื้นๆ เสียกว่าร้อยละ 80 เพราะคุณภาพถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง