Skip to main content

คืนอำนาจการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนชาวเวลส์: ตัวอย่างที่คนไทยควรมอง

คอลัมน์/ชุมชน

ในช่วง 2 ปีมานี้ บทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้า ผมมักจะนำเสนอเรื่องการให้สิทธิกับเจ้าของบ้านหรือชุมชนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลม  แผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรืออื่นๆ สามารถส่งกระแสไฟฟ้าที่ตนเองผลิตได้เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้ารวมของประเทศได้ เพื่อขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าคนอื่นๆ


 


สายส่งไฟฟ้ารวมทำหน้าที่คล้ายๆ ตลาดนัดที่ชาวบ้านสามารถนำผักปลาเล็กๆ น้อยๆ ที่ตนเองผลิตได้แล้วกินไม่หมดออกไปขายให้ชุมชนได้ 


 


มาวันนี้ เว็บไซต์ของกองทุนสัตว์ป่าโลก สาขาเวลส์  (WWF Wales-โดยที่ Walesเป็นแคว้นหนึ่งของสหราชอาณาจักร หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่าอังกฤษ) ได้เผยแพร่ข้อมูลที่จ่าหัวแล้วแปลเป็นไทยได้ว่า "คืนอำนาจการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนชาวเวลส์" (Putting power back to the people of Wales)   พบว่าข่าวสารชิ้นนี้มีความน่าสนใจหลายประการที่คนไทยเราควรดูเป็นตัวอย่าง   และเพื่อให้บทความนี้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นแก่ผู้อ่านทั่วไป ผมจึงขออนุญาตเติมแต่ง (แต่ไม่ใส่ไข่) และเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆอีกเล็กน้อย


 


ข่าวบอกว่า ทางกองทุนสัตว์ป่าโลก สาขาเวลส์ รู้สึกยินดีมากที่คณะผู้บริหารแห่งแคว้นเวลส์ได้เสนอแผนปฏิบัติการ (action plan) ที่กระตุ้นให้เจ้าของบ้านทั่วไปและชุมชนในแคว้นเวลส์ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าและเครื่องทำความร้อนด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยลดการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนโดยตรง


 


แผนปฏิบัติการที่ว่านี้ คือการส่งเสริมให้ทุกๆ บ้านผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง โดยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กหรือขนาดจิ๋วที่เรียกว่า "เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดจิ๋ว" (microgeneration)   ซึ่งได้แก่ กังหันลมขนาดเล็ก  แผงเซลล์แสงอาทิตย์


 


หัวหน้าสำนักงานกองทุนสัตว์ป่าโลก สาขาเวลส์ (คุณ Morgan Parry) กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือประเด็นสำคัญที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ เราต้องลดการพึ่งพิงแหล่งพลังงานฟอสซิลและใช้พลังงานทางเลือกชนิดที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์"


 


เว็บไซต์นี้ยังได้อ้างเอกสารของสำนักงานรัฐสภาแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเวลส์ว่า "ในแต่ละหนึ่งหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อนถึง 890 กรัม ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 10 กรัม และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ 3 กรัม"


 


รวมกันแล้วได้ก๊าซพิษเกือบหนึ่งกิโลกรัม  สำหรับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เมื่อถูกน้ำฝนก็จะกลายเป็นฝนกรดซึ่งก่อปัญหาโดยตรงต่อสุขภาพและทรัพย์สินชุมชนใกล้โรงไฟฟ้า


 


แผนปฏิบัติการที่ว่านี้ได้แก่ การตั้งเป้าจำนวนบ้านที่จะใช้กังหันลมและแผงเซลล์แสงอาทิตย์  ส่งเสริมให้หมู่บ้านจัดสรรใหม่ติดตั้ง "เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดจิ๋ว" ไว้เลยตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง เป็นต้น


 


งานวิจัยของ WWF ได้ให้คำแนะนำต่อโครงการนี้ว่า ภายในปี 2568  "เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดจิ๋ว" จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 5% ของไฟฟ้าที่ใช้ในสหราชอาณาจักร ทั้งหมดและอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ในปี พ.ศ. 2593 หรืออีก 40 กว่าปีนับจากนี้ไป


 


ที่ว่าแผนปฏิบัติการนี้มีความน่าสนใจก็เพราะว่ามีเป้าหมายที่สามารถวัดได้อย่างชัดเจน  นอกจากนี้คุณ Parry ยังเสริมว่า "คณะผู้บริหารแห่งแคว้นเวลส์จำเป็นต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งเสริมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดจิ๋วนี้ให้ทั่วทั้งแคว้นรวมทั้งการยกระดับจิตสำนึกของสาธารณะโดยการเพิ่มทรัพยากรและเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย"


 


มีการตั้งคำถามกันมากว่า การติดตั้งกังหันลมจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือไม่


 


ทาง WWF ได้อรรถาธิบายว่า "เทคโนโลยีกังหันลมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ราคาก็ถูกลงมาก แต่ประสิทธิภาพกลับเพิ่มสูงขึ้น  ดังนั้นในปัจจุบันนี้  ราคาค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมจะพอๆ กับราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นโดยรวม  นับจากปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ค่าไฟฟ้าจากกังหันลมได้ลดลงจาก หน่วยละ 11 เพ็นนี (ประมาณ 8 บาท) ลงมาอยู่ที่ 2  เพ็นนี (ประมาณ 1.50 บาท) ในปัจจุบัน" (ราคาในอังกฤษนะครับ)


 


พูดถึงเรื่องนี้ เพื่อนผมคนหนึ่งเพิ่งไปเสียค่าไฟฟ้ามาเมื่อเร็วๆ นี้เอง (5 ก.ค.49) เขาใช้ไฟฟ้าไปจำนวน 668 หน่วย แต่ต้องจ่ายเงินไปถึง 2541 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และรวมค่าเอฟทีหน่วยละ 0.8544 บาท) เฉลี่ยแล้วราคาหน่วยละ 3.80 บาท เพื่อนคนนี้บ่นว่า "เขาแอบขึ้นค่าเอฟทีเมื่อไหร่กันนี่"  ถ้าหักค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป (7%) ราคาค่าไฟฟ้าล้วนๆ ก็ตกหน่วยละ 3.54 บาท แพงกว่าราคาต้นทุนจากกังหันลมในอังกฤษตั้งเยอะ


 


ลองคิดดูซิครับ อะไรกำลังเกิดขึ้นกับบ้านเรา  นี่ยังไม่นับในอนาคตที่เชื้อเพลิงฟอสซิลจะยิ่งสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนกังหันลมยิ่งต่ำลงกว่านี้อีก


 


เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (18 พ.ค. 49) ได้ลงข่าวว่า  บริษัท เอสซีไอ เเมนูแฟคเตอร์เรอร์ จำกัด (ซึ่งอยู่ในประเทศไทย) มีแผนจะผลิตกังหันลมบนหลังคาตึกสูงมาจำหน่ายในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเซียภายในปีนี้ ข่าวบอกว่า ต้นทุนตกประมาณตัวละ 9 แสนบาท แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดมากกว่านี้


 


ผมค้นเพิ่ม พบว่า กังหันลมยี่ห้อหนึ่งขนาด 6 กิโลวัตต์  ราคาประมาณ 5.1 แสนบาท โดยสามารถคุ้มทุนได้ภายในประมาณ 7.7 ปี ถ้าความเร็วลมเฉลี่ยที่ 5.5 เมตรต่อวินาที แต่ทั้งหมดนี้เป็นราคาในประเทศอังกฤษนะครับ เรื่องภาษียังไม่ได้คิด


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับบ้านเรา และเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันรณรงค์ก็คือ การออกกฎหมายเพื่อให้ชาวบ้านสามารถส่งไฟฟ้าไปขายได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมานั่งทำโครงการขออนุมัติเป็นรายๆ ไม่ร้องรอยื่นคำร้องแล้วคำร้องอีกให้เสียเวลาและกำลังใจไปเอง


 


เรื่องราวที่ผมเล่ามาทั้งหมด อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้อ่านทั่วไป แต่คงจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกลุ่มคนที่เป็นผู้คุมนโยบายพลังงานและคลุกคลีอยู่ในวงการค้าพลังงานมานาน


 


ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยผู้บริโภคพลังงานทุกคนที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของประเทศให้จงได้  นั่นคือการคืนอำนาจในการผลิตพลังงานไฟฟ้ากลับคืนมาสู่ประชาชนชาวไทย  แทนที่จะอยู่ในรูปของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ผูกขาดและถูกชักนำโน้มน้าวทางความคิดโดยพ่อค้าพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้าก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ในอนาคตก็ตาม