Skip to main content

ประพันธศิลป์ของอริสโตเติล (The poetics of Aristotle)

คอลัมน์/ชุมชน

"ประพันธศิลป์ของอริสโตเติล" เป็นหนังสือเล่มสำคัญซึ่งเขียนขึ้นก่อนคริสตกาล 4 ศตวรรษ (2 พันกว่าปีมาแล้ว!) แต่ก็ยังคงเป็นที่กล่าวถึงและอ้างอิงกันอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตลอดจนใช้แบบเรียนเบื้องต้นสำหรับนักศึกษาทางวรรณคดี -แต่ก็เป็นแบบเรียนเบื้องต้นที่อาจจะลำบากใจอยู่บ้างเพราะด้วยความที่เป็นงานที่อ่านเข้าใจยาก ต้องตีความอยู่ตลอดเวลา


 


"ประพันธศิลป์ของอริสโตเติล" ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประพันธ์ประเภทต่าง ๆ ไว้ โดยเฉพาะในเรื่องแทรเจดีและบทประพันธ์เอพิคซึ่งเป็นที่นิยมเขียนกันในสมัยก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศิลปะการละครของกรีกได้รับความนิยมมากในตอนนี้ก่อนจะเสื่อมคลายลงในเวลาต่อมา  


 


หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเหมาะสำหรับนักประพันธ์ยึดเป็นแนวทางในการประพันธ์แล้ว ยังส่งผลอย่างมหาศาลต่อแวดวงการวิจารณ์อีกด้วย เพราะได้วางรากฐาน กฎเกณฑ์ทางแนวคิดทฤษฎีไว้อย่างที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มใดจะเทียบเท่าได้


 


อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางสำนัก อย่างหลังโครงสร้าง หลังสมัยใหม่ เห็นว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ล้าสมัยไปแล้วและไม่อาจนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน นักวรรณคดีวิจารณ์บางท่านบอกว่า"ประพันธ์ศิลป์ของอริสโตเติล"ได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว


 


กระนั้นก็ตาม  "ประพันธศิลป์ของอริสโตเติล" ก็มีคุณค่าที่ไม่อาจหลงลืมหรือมองข้ามไปได้ อย่างน้อยที่สุดมันก็เคยเป็นสิ่ง "นำทาง" ในการวิจารณ์งานประพันธ์ ทั้งยังช่วยส่องให้เข้าใจถึงความรุ่งเรืองของศิลปะทางด้านการประพันธ์ของกรีกตลอดจนจุดหมายของศิลปะกรีกโดยทั่วไปในยุคนั้นได้


 


หนังสือเล่มนี้ในพากย์ภาษาอังกฤษที่ถอดความมาจากภาษากรีกมีมากมายหลายสำนวนด้วยกัน บางตอน บางประโยค ตีความแตกต่างกันไปเพราะความคลุมเครือของสำนวนโวหาร และการขาดหายไปในบางส่วนของต้นฉบับเดิม  


 


(ที่ว่ากันว่าส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของ comedy ถูกทำลายไปโดยศาสนจักรในยุคกลาง ทั้งนี้ก็เพราะ "เสียงหัวเราะ" เป็นอันตรายต่อความศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนานั่นเอง –ในหนังสือเรื่อง "สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ" ก็ได้กล่าวถึงเรื่องการทำลายหนังสือเล่มนี้ไว้)


 


สำหรับในพากย์ไทยนั้น เรียบเรียงขึ้นนานมากแล้วคือตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 โดยอาจารย์ "นพมาส  สิริกายะ" แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการรวบรวมเรียบเรียงเทียบเคียงเปรียบเทียบจากฉบับภาษาอังกฤษหลายฉบับด้วยกัน


 


อย่างไรก็ตาม เนื้อหาความหมายในพากย์ไทยในบางบท บางตอน บางคำก็ยังคงกำกวมคลุมเครืออยู่บ้างเหมือนกัน ดังนั้น ผู้ที่สนใจ-ที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงนัก จึงอาจจะอ่านประกอบกันไปทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย


 


หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือส่วนที่เกี่ยวกับแทรเจดีและส่วนที่ว่าด้วยเรื่องบทประพันธ์เอพิค ซึ่งมีการเปรียบเทียบส่วนที่คล้ายคลึงกันและส่วนที่แตกต่างของงานประพันธ์ทั้ง 2 แบบ เช่น เรื่องของขนาดความยาว ฉันทลักษณ์ ศิลปะการเล่าเรื่องเท็จให้ดูน่าเชื่อถือ ฯลฯ


 


น่าสนใจที่อริสโตเติลจัดให้การประพันธ์แบบแทรดเจดีเป็นศิลปะที่สูงส่งกว่างานประพันธ์แบบอื่น ๆ เพราะมันมีเอกภาพและเข้มข้นสมบูรณ์มากกว่า  ในขณะที่บทประพันธ์เอพิคเยิ่นเย้อยืดยาวเกินไป ไม่จำกัดเวลา มีอนุภาค (motif) มากมายหลายส่วนอันทำให้ความเข้มข้นลดลง


 


อีกทั้งจัดให้กวีนิพนธ์อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่ากวีนิพนธ์กล่าวถึงสิ่งที่เป็นสากลในขณะประวัติศาสตร์กล่าวถึงสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะ  กวีนิพนธ์กล่าวถึงสิ่งที่อาจเป็นไปได้-ที่อาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่ประวัติศาสตร์กล่าวถึงสิ่งที่เป็นไปแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ


 


อริสโตเติลบอกเพิ่มเติมว่านักประวิตศาสตร์กับกวีมิได้ต่างกันตรงที่เขียนเป็นร้อยแก้ว หรือร้อยกรองเพราะงานเขียนของเฮโรโดตุส (นักประวัติศาสตร์) ก็อาจนำมาเรียบเรียงเป็นร้อยกรองได้เหมือนกัน แต่ก็ยังคงเป็นงานทางประวัติศาสตร์อยู่นั่นเอง ข้อแตกต่างอยู่ตรงที่ว่ากวีนิพนธ์โน้มเอียงไปในทางที่จะแสดงออกถึงสิ่งอันเป็นสากล ส่วนประวัติศาสตร์โน้มเอียงไปทางที่แสดงถึงสิ่งเฉพาะ


 


กวีนิพนธ์ตามทัศนะของอริสโตเติลเกิดจากการเลียนแบบ (mimesis) เขาบอกว่ากวีนิพนธ์เกิดจากสัญชาติญาณในการเลียนแบบของมนุษย์ซึ่งสัญชาติญาณในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาแต่เยาว์วัย และมนุษย์ก็มีความเพลิดเพลินหนักหนาในการลอกเลียนแบบ (ส่วนสิ่งที่ถูกเลียนแบบจะเป็นสิ่งที่แยกความแตกต่างระหว่างแทรเจดีและคอเมดี แทรเจดีจะเลียนแบบบุคคลสำคัญแต่คอเมดีนั้นตรงกันข้าม)


 


อริสโตเติลยกตัวอย่างว่ามนุษย์ไม่ใคร่สนใจ "วัตถุจริงๆ" เช่น รูปลักษณะของสัตว์สกปรกและซากศพ  แต่กลับไปสนใจยินดีและหฤหรรษ์ในการเลียนแบบ "วัตถุจริงๆ" ออกมาอย่างประณีตมากกว่า เพราะในการเลียนแบบนั้นมนุษย์จะได้พินิจพิเคราะห์และได้เรียนรู้ไปด้วยพร้อมกัน ข้อสรุปนี้ไม่เฉพาะแต่กับนักปราชญ์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงสามัญชนทั่วไปด้วย


 


ในบทประพันธ์แบบแทรเจดี (ซึ่งสมัยนั้นมีไว้ใช้สำหรับการแสดง) อริสโตเติลให้ความสำคัญกับโครงเรื่องเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นวิญญาณเลยทีเดียว  ส่วนบุคลิกนิสัยใจคอของตัวละครเป็นเรื่องรองลงมา อริสโตเติลเปรียบเทียบในเรื่องนี้ไว้กับภาพจิตรกรรม โดยกล่าวว่าสีสันอันสวยสดงดงามไม่อาจจะสร้างความอภิรมย์ได้เท่ากับโครงร่างที่ร่างเป็นภาพต่าง ๆ ขึ้นมา


 


โครงเรื่องซึ่งหมายถึงชุดของเหตุการณ์และการกระทำ ต้องมีความยาวพอประมาณ  (แทรเจดีประพันธ์ขึ้นเพื่อการแสดง ดังนั้นหากยาวเกินไปก็อาจทำให้การแสดงน่าเบื่อได้) มีความบริบูรณ์ในตัวเองซึ่งรวมไปถึงฉากการพลิกพันของเหตุการณ์ การค้นพบความจริง และฉากทุกขเวทนา มีความเป็นเอกภาพ-เอกภาพของการกระทำซึ่งเชื่อมโยงกันในทุกบททุกตอน


 


หากมีโครงเรื่องที่ดีแล้ว ความสงสาร ความกลัวและความเห็นใจในทุกข์เวทนาที่จะเกิดแก่ตัวละครก็จะติดตามมาเอง เช่น การค้นพบความจริงของอิดิปุสว่าตนได้ฆ่าบิดาของตนเองและได้สมสู่กับมารดาของตนเองด้วยความไม่รู้ ฯลฯ


 


มีอีกมากมายหลายเรื่องที่น่าสนใจใน "ประพันธ์ศิลป์ของอริสโตเติล" เช่นเรื่องของการผูกปม การแก้ปม หรือการใส่รายละเอียดลงไปในบทประพันธ์ ผู้สนใจติดตามอ่านได้โดยสะดวก.