Skip to main content

ร้านหนังสือในดวงใจ

คอลัมน์/ชุมชน

เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปีที่แล้วบอกว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแค่ประมาณวันละ 4 บรรทัดเท่านั้น ดูแล้วก็รู้สึกตกใจอยู่ไม่น้อยเพราะเป็นห่วงว่าถ้าคนอ่านหนังสือกันน้อยขนาดนี้ ประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรหนอ เพราะหนังสือนั้นไม่เพียงแต่เป็นแหล่งความรู้ การอ่านหนังสือเยอะก็เป็นโอกาสที่จะทำให้คนได้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ แม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าถึงตอนนี้จะมีการดำเนินอย่างใดให้เป็นรูปธรรมบ้างหรือยัง


เคยคิดอยู่เสมอว่า อะไรหนอที่ทำให้คนไทยถึงไม่ชอบอ่านหนังสือ คนสมัยใหม่อาจจะบอกว่าเรามีแหล่งความรู้มากมายโดยไม่ต้องอ่านหนังสือก็ได้ เช่น ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์เอาก็ได้ แต่นั่นก็คือสิ่งที่ถูกย่อยมาแล้วจากคนที่อ่านหนังสือ ถามว่าหากไม่อ่านหนังสือแล้วจะสามารถผลิตรายการโทรทัศน์ดี ๆ ออกมาได้หรือไม่


หลายคนก็บอกว่า ปัจจุบันนี้สิ่งยั่วยุมันเยอะ สิ่งแวดล้อม หรือบรรยากาศ มันไม่เอื้อให้เกิดการอ่านหนังสือ ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ จนถึงตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการที่คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่สำหรับตัวเองแล้วก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือ จะไปประเทศไหนก็ตามในโลกนี้ก็จะต้องขอมี 1 วันที่จะไปเดินร้านหนังสือ ถ้าไม่ได้เดินร้านหนังสือมันเหมือนยังไปไม่ถึงประเทศนั้น


ก็ตามประสาคนชอบอ่านหนังสือ ก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้คนมีโอกาสอ่านหนังสือกันเยอะๆ เคยนำเสนอเรื่อง 1 ตำบล 1 ห้องสมุดไปแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อให้คนที่อยู่ที่ไหนก็ตามสามารถเข้าถึงการอ่าน และข้อมูลซึ่งก็หวังว่าน่าจะได้มีคนสนใจความคิดนี้บ้าง


แล้วก็ตามประสาคนชอบอ่านหนังสืออีกนั่นแหละ ก็คิดอยู่เสมอว่าอยากมีร้านหนังสือดี ๆ ที่เปิดให้คนได้มีโอกาสเข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอ่านบ้าง คิดว่าคนชอบอ่านหนังสือหลายคนก็คิดแบบนี้ ทว่า ก็ตามธรรมดา นักฝันมักจะมีรายได้ต่ำ การลงทุนจึงเป็นไปได้แค่ทำฝันให้เป็นจริงได้ระยะหนึ่งและเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้น แต่ไม่สามารถสร้างผลกระทบกับสังคมได้มากนัก ซึ่งก็สร้างรายได้เพียงแค่น้อยนิดจนที่สุดต้องเลิกไป


แต่แล้วก็เจอจนได้ " ร้านหนังสือในดวงใจ" แต่น่าเสียดายว่าไม่ได้พบในประเทศไทย แต่ก็คิดหวังเอาไว้ว่าประเทศไทยน่าจะมีใครยอมทำแบบนี้บ้างนะ ร้านหนังสือที่ว่านี้อยู่ที่ ไต้หวัน ที่ว่าเป็นร้านหนังสือในดวงใจก็เพราะว่า เป็นร้านหนังสือที่หาหนังสือทุกประเภทในโลกนี้ได้ ตั้งแต่ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ตะวันตก ตะวันออก ตำราอาหาร สถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ หนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ สังคมวิทยา สื่อสารมวลชน เทคโนโลยี หรือแม้แต่นิยายประโลมโลก และอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วว่าอยากรู้เรื่องอะไรที่นี่มีหมดเลย ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ และที่สำคัญร้านหนังสือที่นี่เปิดแบบเดียวกับเซเว่น อีเลฟเว่น คือ " เปิดบริการ 24 ชั่วโมง"


ใช่แล้ว ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย หรือแม้กระทั่งยุโรป (ไม่แน่ใจนักสำหรับอเมริกา) แต่ก็น่าตื่นเต้นทีเดียวที่เขามีการให้ความสำคัญกับการอ่านขนาดนั้น


ความน่าสนใจของร้านหนังสือร้านนี้ไม่ได้อยู่แค่ว่า มีหนังสือทุกประเภทในโลก และ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังเป็น ร้านที่ยินยอมที่จะให้ลูกค้าเข้ามาเลือกหาและหยิบไปอ่านอย่าง " ไม่หวง" เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะเป็นเวลา 5 ทุ่มเที่ยงคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์และเสาร์ เราก็พบว่าคนนอนดึกอีกเป็นร้อยยังเดินอยู่ในร้านหนังสือ หยิบ ๆ จับ ๆ หนังสือ จนได้เล่มที่น่าสนใจ และหามุมเฉพาะตัวเพื่อนั่งลงกับพื้นในร้านหนังสือนั่นเอง แล้วก็อ่านกันไปเงียบ ๆ ประดุจว่าที่นี่เป็นห้องสมุดก็ไม่ปาน หากอ่านแล้วติดใจจึงซื้อกลับบ้านไป


เห็นภาพครอบครัวที่พากันมาดูหนังสือ แต่ไม่ได้ส่งเสียงดังด้วยคิดว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของห้างสรรพสินค้า ทั่วทั้งชั้นในอาคารขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นร้านหนังสืออย่างเดียว โดยมีการแบ่งที่ข้างไว้นิดหน่อยเป็นร้านกาแฟสำหรับคนนอนดึก ซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่ชัดเจนไม่รบกวนกัน


สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ที่นี่เป็นร้านหนังสืออย่างเดียวไม่ได้พ่วงเอาพวกสเตชันนารี่ หรือร้านอุปกรณ์เครื่องเขียนเข้ามาด้วย อีกทั้งไม่มี วีซีดี ดีวีดี เพลง เกม และภาพยนตร์เข้ามาขาย หากจะมีวีซีดี ก็เป็นอันที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือเล่นนั้น ๆ เท่านั้น เช่น มีคนเขียนหนังสือปรัชญาจางจื๊อ และมีวีซีดีประกอบ ดังนั้นก็เท่ากับว่าคนที่เข้าไปที่นี่มีเป้าหมายของการอย่างน้อยก็คือเข้าไปดูหนังสือเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาซื้อเกม หรือ ฟังเพลง และด้วยความหลากหลายของหนังสือ เราจึงได้พบคนทุกเพศทุกวัยอยู่ที่นั่น


ข้อดีของการมีร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงก็คือ ลองมาคิดถึงเด็กวัยรุ่นอย่างเด็กไทยปัจจุบัน เวลาที่จะต้องหาที่ hang around หรือ เดินเล่นกัน ดึกแล้วก็ยังไม่อยากกลับบ้าน หากมาหยุดอยู่ตามร้านหนังสือก็น่าจะดีกว่าตามผับตามบาร์เป็นไหน ๆ บรรยากาศในร้านหนังสือจะช่วยทำให้เด็ก ๆ ต้องอ่านหนังสือกัน คิดดูสิว่าเด็กจะฉลาดกันมากขึ้นขนาดไหนหากได้อ่านหนังสือกันมากขนาดนั้น


จากที่ได้ว่าไว้แล้วในตอนต้นว่า หลายคนบอกว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้เด็กอ่านหนังสือ หากบ้านเราจะมีนายทุนคนไหนยอมลองลงทุนแบบนี้กันบ้างก็จะดีไม่ใช่น้อย มีร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง และยอมให้คนเปิดอ่านได้ ชอบแล้วค่อยซื้อ นี่ก็ถือเป็นการช่วยกันช่วยสร้างบรรยากาศและสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กรักการอ่านหนังสือ


น่าเสียดายว่า ร้านหนังสือใหญ่ ๆ ในบ้านเรานั้น บรรดาพวกนักลงทุนมักไม่ได้คำนึงถึงการสนับสนุนการอ่านในเชิงของประโยชน์ต่อผู้อ่าน จะคิดกันแต่เรื่องหากำไร เพราะหนังสือในร้านเหล่านี้ แม้หลายครั้งที่เราเห็นชื่อเรื่องและปกแล้วเราอยากจะซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือจะถูกหุ้มพลาสติกไว้แน่นเปรี๊ยะ ไม่ยอมให้เปิดอ่านแม้แต่คำนำ ก็เลยไม่รู้ว่าจะซื้อหนังสือเล่มนั้นได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ดีไม่ดีอย่างไร หนังสือก็ยิ่งขายไม่ออกกันไปใหญ่ หรือหนังสือภาษาไทยเองก็เหมือนกัน เราก็อาจจะถูกพนักงานเดินไปด้อม ๆ มอง ๆ หากอ่านนาน


หากลงทุนทำแบบร้านในไต้หวันนี้ได้ก็เท่ากับได้ช่วยสร้างบรรยากาศการอ่านหนังสือ ช่วยชาติได้อีกแบบหนึ่ง หนำซ้ำยังเป็นธุรกิจที่เป็นกุศลโดยแท้ เพราะสังคมของเรานั้น หากต้องการเห็นอะไรดี ๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องถามรัฐบาลว่าทำอะไรหรือยัง แต่ต้องถามตัวเองดีกว่าว่าเราทำอะไรได้บ้างไหม หรือเราได้ทำอะไรไปบ้างหรือยัง เหมือนดังเช่นนายดาบวิชัยฯ ปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกหรือมารณรงค์ แกก็ปลูกของแกไป บ้านแกที่เคยแห้งแล้งก็เขียวเอง


ทุกวันนี้เห็นผู้ใหญ่ชอบลงเอยด้วยการโทษวัยรุ่นว่าทำตัวเหลวไหลไร้สาระอย่างนั้นอย่างนี้ ทว่า ธุรกิจหลายอย่างก็เป็นธุรกิจที่ผู้ใหญ่ลงทุนแล้วล่อหลอกให้เด็กไปใช้บริการไม่ใช่หรือ ไม่ว่าจะผับ บาร์ หรือ คาราโอเกะ หรือสิ่งยั่วยุทั้งหลายที่พูด ๆ กัน ดังนั้น หากมีใครที่หันมาลงทุนทำร้านหนังสือแบบนี้บ้างในเมืองไทย และหากจะต้องทำให้เด็กไทยกลับบ้านดึกเพราะติดอยู่ที่ร้านหนังสือ ก็จะไม่ว่าสักคำ