Skip to main content

พระราชสิทธินายก ครูผู้สร้างตักศิลาแห่งลุ่มน้ำกก

คอลัมน์/ชุมชน

ท่ามกลางข่าวผู้ที่ใช้ผ้าเหลืองของพระสงฆ์สร้างเรื่องอื้อฉาว ผิดพระธรรมวินัย ทำให้พุทธศาสนิกชนบางส่วนเสื่อมศรัทธาต่อศาสนา แต่เรื่องของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ กลับไม่ค่อยได้เผยแพร่ต่อสังคม บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ด้วยความบริสุทธิ์ผ่องใส และมั่นคงต่อเนื่องถึง ๕๕ ปี


 


                                        


 


ท่านเป็นครูของชาวบ้าน เป็นครูของชาววัด เป็นครูที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วทุกหัวระแหงของประเทศไทย ท่านเป็นครูที่เปี่ยมด้วยวิญญาณครู สอนศิษย์ด้วยปัญญา กิจวัตร และความรักอย่างเสมอต้นเสมอปลายทุกวี่วัน ท่านสอนอย่างที่ทำและทำอย่างที่สอน ความเป็นครูของท่านจึงเป็นภาพพิมพ์ที่ดีงามอยู่ในใจของศิษยานุศิษย์อย่างลึกซึ้ง ยาวนานไม่เปลี่ยนแปลง


 


"สิ่งที่ข้าพเจ้าภูมิใจที่สุดในชีวิตคือ การได้เรียน ได้เป็นศิษย์และได้รับใช้ใกล้ชิด ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระราชสิทธินายก พระดีที่ไม่ (จำเป็นต้อง) โด่งดัง"


 


ข้อความข้างต้น พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ผู้ที่ชาวพุทธรู้จักท่านในนาม ว.วชิรเมธี พระนักเขียน นักพูด ที่เผยแผ่ธรรมะได้อย่างจับใจคนสมัยใหม่) ได้เขียนบูชาคุณท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ด้วยความศรัทธา โดยกล่าวว่า "ครูเป็นดั่งแก้วมณีรุ้งที่สูงศักดิ์" ซึ่งสาธุชนกราบได้อย่างสนิทใจไม่เสียมือ


 


พระราชสิทธินายก ท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เดิมชื่อ ชื่น แก้วประภา เกิดวันจันทร์ที่ ๓  เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ ณ บ้านปี้ ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย จนอายุครบอุปสมบทจึงได้บวชที่วัดบุญนาค ตำบลเวียง อำเภอเทิง แล้วตั้งใจศึกษาจนสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม ๖ ประโยค ในฝ่ายปริยัติศึกษา และจบบาลีศึกษาปีที่ ๒ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฝ่ายสามัญศึกษา


 


๔๗ พรรษาของการบวชเป็นพระภิกษุกับ ๘ ปีของการบรรพชาเป็นสามเณร ผลงานสำคัญของพระราชสิทธินายก คือ ได้ตั้งสำนักศาสนศึกษาวัดพระสิงห์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ตั้งแต่ยังเป็นพระมหาชื่น ปญฺญาธโร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ โดยเริ่มสอนเฉพาะแผนกธรรม นักธรรมชั้นตรี โท เอก ครั้น พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้จัดการสอนแผนกบาลี โดยท่านดำเนินการสอนด้วยตนเอง


 


ช่วงแรกสำนักศาสนศึกษาวัดพระสิงห์ ยังไม่มีอาคารสถานที่จัดการเรียนเป็นสัดส่วน ต้องอาศัยศาลามุงหญ้าคา หรือเรียนใต้ต้นไม้ จากนั้นจึงได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคาร ๓ ชั้น ทำพิธีเปิดป้ายโรงเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพุทธชินวงศมุนี


 


พระมหาชื่นได้เริ่มพัฒนาระบบการเรียนการสอน เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ โดยอาราธนาพระมหาบุญสืบ นิรุตฺติเมธี จากสำนักเรียนวัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร นักธรรมเอก เปรียญธรรม ๙ ประโยค มาเป็นอาจารย์ใหญ่ จนสำนักศาสนศึกษาวัดพระสิงห์ได้รับยกย่องเป็นสำนักศาสนศึกษาดีเด่นระดับจังหวัดใน พ.ศ.๒๕๓๐ และได้รับแต่งตั้งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี ประจำจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นต้นมา


 


                       


 


๒ ทศวรรษที่ได้ก่อตั้งมา กล่าวได้ว่า สำนักศาสนศึกษาวัดพระสิงห์ เป็นเสมือนหนึ่ง "ตักศิลาแห่งลุ่มน้ำกก" ได้ผลิตศาสนทายาท และบุคลากรที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ กระจายไปสู่สังคมในทุกสาขาอาชีพ เป็นคุณูปการด้านจิตวิญญาณ จริยธรรม สังคม วัฒนธรรม และได้อบรมบ่มนิสัยแก่กัลยาณชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่องตลอดมา ตัวอย่างเช่น พระปลัดวุฒิชัย กิตฺติเมธี เลขานุการของท่านพระราชสิทธินายก ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จัดตั้งวิทยาเขตสำหรับพระสงฆ์ที่วัดมุงเมือง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ ขณะนี้มีพระนักศึกษาเรียนจบรุ่นแรกแล้ว ๓๕ รูป เป็นการสร้างโอกาสให้พระสงฆ์ได้รู้เท่าทันสังคม ผ่านการศึกษาระดับ อุดมศึกษาได้สะดวกขึ้น และพระสงฆ์กลุ่มนี้ได้ร่วมกิจกรรมด้านสังคมกับเครือข่ายประชาคมด้านต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงรายตลอดมา


 


ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและภารกิจที่มุ่งปลูกฝังการศึกษาให้พระเณร นักเรียน นักศึกษา และสาธุชนทั่วไป พระราชสิทธินายกจึงได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาส่งเสริมการศึกษาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ นอกจากนี้วัดพระสิงห์ ยังได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่น ระดับประเทศ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ และได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖


 


งานด้านปกครองในฐานะเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระราชสิทธินายกรับผิดชอบปกครองวัดใน ๑๖ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ จำนวน ๑,๐๗๖ วัด แยกเป็นวัดที่มีพัทธสีมา ๕๕๙ วัด วัดที่เป็นสำนักสงฆ์ ๕๑๗ วัด มีพระภิกษุ ๗๖๙ รูป สามเณร ๑,๖๓๑ รูป ในขณะที่ประชากรในจังหวัดเชียงรายมีจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน เฉลี่ยพระสงฆ์ ๑ รูป ต่อประชากร ๑,๕๖๐ คน วัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่มีมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นวัดในถิ่นทุรกันดาร


 


พระราชสิทธินายกออกตรวจเยี่ยมวัดในเขตปกครองเป็นประจำ ท่านมักจะไปด้วยตัวเองอย่างเงียบ ๆ โดยถวายคำแนะนำให้พัฒนาวัดให้เป็นศาสนสถานควรค่าแก่การมาปฏิบัติธรรม ร่มรื่น สะอาด สัปปายะ วัดพระสิงห์ถือเป็นวัดตัวอย่างที่ร่มรื่นด้วยต้นพิกุล จำปี จำปา ยามลมโชยจะได้กลิ่นหอมกรุ่น ชวนให้ใจปิติ ด้านหลังมีต้นสาละร่มครึ้ม ด้านหน้ามีต้นโพธิ์จากอินเดีย ต้นไทรใหญ่ มีนกกามาอาศัย พระอุโบสถมีประตูที่ออกแบบโดยสล่าใหญ่ ถวัลย์ ดัชนี แกะสลักโดยสล่าอำนวย บัวงาม ดูงามตา


 


                        


 


ภายในโบสถ์มีพุทธสิหิงค์เป็นประธาน พระอุโบสถเปิดตั้งแต่เช้าตรู่ถึงหนึ่งทุ่ม เพื่อให้สาธุชนได้เข้ามาไหว้พระสวดมนต์ สงบใจ  เกิดศีล สมาธิ ปัญญาในชีวิตประจำวัน


 


โดยการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ต้องเป็นไปตามแนวทางของมหาเถรสมาคมและอาณัติสงฆ์ หนเหนือ


 


พระราชสิทธินายก มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน ได้แก่ การสอนเจริญสมาธิภาวนา  การเทศน์ บรรยายธรรม ด้านพิธีกรรมล้านนา ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ล้านนา ด้านการอ่าน เขียนและปริวรรตภาษาล้านนาไทย  ท่านจัดให้มีการสอนภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) แก่พระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป และยังได้จัดทำโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จัดพิธีสืบชาตาเมืองเชียงราย จัดพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จัดงานเทศน์มหาชาติในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จัดงานสลากภัตร (ตานก๋วยสลาก) อนุรักษ์การสวดมนต์เย็นแบบล้านนาโบราณ  และการทำบุญตักบาตรแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะ  วัดพระสิงห์จึงมีศาสนพิธีที่ดึงดูดสาธุชนให้เข้าวัดได้ทุกวัน รวมทั้งการมาสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นกับคณะสงฆ์ซึ่งพระราชสิทธินายกนำสวดเองเป็นประจำ


 


                      


 


วัตรปฏิบัติของพระราชสิทธินายกเป็นที่ประทับใจของชาวเชียงราย ได้แก่ การนำพระเณรออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ทุกเช้า  นำสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น ทำกิจวัตรในวัด คือ กวาดลานวัด  รดน้ำต้นไม้ เหมือนพระลูกวัดทั่วไป แม้กระทั่งการท่องหนังสือเสียงดัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้พระเณรในวัดได้เร่งขยันกัน ศิษย์วัดพระสิงห์จึงได้เปรียญธรรมขั้นสูงกันทุกปี


 


ท่านใช้แต่พระคุณในการบริหารปกครอง ไม่เคยใช้พระเดชเลย พระลูกวัดจึงให้ความเคารพยำเกรง เคารพท่านอย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะหัวใจแห่งการสอนของท่าน คือ สอนด้วยการกระทำในชีวิตจริง ดังคำของปราชญ์ที่ว่า "การกระทำดังกว่าคำพูด  ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน"  "คำพูดเหมือนละอองน้ำ การกระทำเหมือนละอองทอง" คืออีกข้อความหนึ่งที่ท่าน ว.วชิรเมธี เขียนยกย่องพระราชสิทธินายกผู้เป็นอาจารย์ของท่าน


 


อาจารย์นคร พงศ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเคารพศรัทธาท่านพระราชสิทธินายกอย่างยิ่ง ได้กล่าวไว้ว่า "ท่านเป็นพระผู้ดีอย่างล้านนา  มีเมตตาเป็นเรือนใจ  ใครนิมนต์ท่านไปที่ไหนก็มีแต่ความสบายใจ  เพราะท่านรู้จักอะลุ้มอล่วยกับผู้คน  ไม่ถือกฎระเบียบมากเกินไป ไม่ทำให้คนอยู่ใกล้วิตกกังวล" เมื่อญาติโยมมาคารวะท่านที่วัดก็จะได้รับธรรมะและพรจากท่านด้วยความเมตตา กุฏิของท่านจึงต้อนรับ ผู้มีจิตศรัทธาที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย


 


                     


 


งานสืบชาตาเพื่อทำบุญอายุ ๖๗ ปี แด่พระราชสิทธินายกที่วัดพระสิงห์ เชียงราย เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ นี้  แสดงถึงความศรัทธา และเมตตาที่คณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายมีต่อท่าน และศรัทธาของญาติโยมที่พากันมาเต็มวัดตั้งแต่เช้า


 


หลวงปู่พระธรรมวิมลโมลี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ วัดศรีโคมคำ เมืองพะเยา เมตตามาเป็นประธานในงาน และยังมี พระธรรมราชานุวัตร รองเจ้าคณะภาค ๖ วัดพระแก้ว เชียงรายได้เมตตานำพระมหาเถระพระเถรานุเถระมาร่วมกันสวดพุทธมนต์สืบชาตา เพื่อแผ่ผลบุญให้พระราชสิทธินายกมีพลานามัยสมบูรณ์ และแผ่บุญกุศลแก่ญาติโยมและสรรพสัตว์ทั้งหลาย  โดยพระเณรในวัดได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน ด้วยการทำบายศรีหลวงถวายท่านด้วยความเพียร เป็นบายศรีที่งดงามด้วยศรัทธาและศิลปะอันประณีต


 


ปูชาจะปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การบูชาบุคคลควรบูชา เป็นมงคลชีวิต ๑ ใน ๓๘ ประการ ขอให้พุทธศาสนิกชนได้บูชาพระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เช่น พระราชสิทธินายก เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต และเพื่อความเชื่อมั่นว่าพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้รับการสืบทอด  ด้วยพุทธบริษัทที่มีปัญญาและศรัทธาอย่างแท้จริงตลอดไป


 


 


*หมายเหตุ กราบนมัสการขอบพระคุณพระปลัดวุฒิชัย กิตฺติเมธี ที่ได้กรุณาให้ข้อมูลท่านพระราชสิทธินายก ตรวจทานบทความและเอื้อเฟื้อภาพประกอบ