Skip to main content

เก่อตอเก (1)

คอลัมน์/ชุมชน

เปอ แว ดะ ปวาเก่อญอ โพ              โอะ เลอ เก่อ เจ่อ โข่


เปอพี เป่อ พือ เลอ เปลอ                ปะ ลอ แต เหน่ เป่อ เคอ


ดอ ทู เส่อ นู เก เก่อ เต่อ


 


เป่อ บะ เก่อ ตอ เก ออ                   เป่อ บะ อิ กว่า เก ออ


เป่อ เหม่ เต่อ กว่า เก ออ                เก่อ ญอ อะ ลา เก่อ ปอ


เก่อ ลอ หม่า กุย แว เหน่ ลอ


 


เราเกิดเป็นลูกหลานปวาเก่อญอ        กำเนิดบนภูไพร


บรรพชนของเราในอดีต                  ได้สรรสร้างมรดกวัฒนธรรม


และมรดกทางภูมิปัญญาที่ล้ำค่า


 


เราต้องสืบสร้างสานต่อ                   เราต้องร่วมรักษ์ร่วมใช้


หากเราหมางเมินคุณค่า                  ศักดิ์ศรีของบรรพชน


และศักดิ์ศรีคนปวาเก่อญอจะหมดสิ้นไป


 


(ท่อนที่ 1 เพลงเก่อตอเก : คำร้อง/ทำนอง : พนา  พัฒนาไพรวัลย์  ขับร้อง : ชิ  สุวิชาน     อัลบั้ม : เพลงนกเขาป่า )


           


สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยคืบคลานเข้ามา  เมื่อมีมิชชันนารีชาวอเมริกันเข้ามาเผยแพร่   คริสต์ศาสนาในชุมชน


 


หลังจากนั้นไม่นานเด็กหนุ่มสองคนแรกในชุมชนถูกส่งออก  เพื่อไปปะทะสังสรรค์กับโลกภายนอก


 


แต่ใช่ว่าชุมชนจะไม่มีการปะทะแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอกเลย  แต่การปะทะแลกเปลี่ยนของชุมชนที่ผ่านมานั้นเป็นการปะทะที่ไม่ครอบงำซึ่งกันและกัน เช่น คนปวาเก่อญอลงไปในเมืองเพื่อแลกเขากวางกับเกลือ  คนในเมืองแบกเกลือขึ้นมาแลกกับของป่าบ้าง อย่างนี้เป็นต้น


 


การถูกส่งออกของเด็กหนุ่มสองคนนี้ ปลายทางอยู่ที่เมืองผาปูน รัฐกะเหรี่ยงแห่งสหภาพพม่า  เป้าหมายเพื่อให้ไปศึกษาพระคริสต์ธรรมคัมภีร์  เมื่อศึกษาจบแล้วจะได้มาเผยแพร่หลักคริสต์ธรรมสู่พี่น้องในชุมชนและชนเผ่า


 


เขาทั้งสองคนรักเสียงอื่อธา ของชนเผ่าตนเองเป็นชีวิตจิตใจ  งานไหนงานนั้นจะเห็นเขาทั้งสองคนไปร่วมวงอื่อธา จนเขาเริ่มเป็นที่ยอมรับในภูมิรู้เกี่ยวกับเรื่องธา  เขาทั้งสองเป็นความหวังที่จะสืบทอดตำแหน่งโมะโชะ ครูเพลงอื่อธาของหมู่บ้าน


 


สาวๆ ในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงใฝ่ฝันที่จะได้มีโอกาส เกี้ยวต่อเพลงอือธากับเขาทั้งสอง


 


อาจจะด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการมองหาคนในหมู่บ้านที่จะไปร่ำเรียนวิชาคริสต์ธรรม  เขาทั้งสองจึงถูกคัดเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ของคนในชุมชน


 


แม้เขาทั้งสองจะอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนทางฝั่งตะวันตกของสาละวิน ด้วยความสัมพันธ์แห่งสายเลือดคนปวาเก่อญอ เขาแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก


 


เขาต้องร่ำเรียนวิชาคริสต์ศาสนา  แต่ใช้ภาษาปวาเก่อญอในการเรียนการสอน เขาต้องอดทนถึงสี่ปีกว่าจะสำเร็จหลักสูตร


 


ถึงแม้ว่าเขาต้องเรียนการอ่านโน็ต ดนตรีสากล  การเล่นกีตาร์ ไวโอลีน คีย์บอร์ดควบคู่ไปกับการร้องเพลงนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ตามเมโลดี้ฝรี่ง  แต่เขาไม่เคยลืมเพลงอื่อธาปวาเก่อญอเลย


 


ถ้ามีโอกาสเขาทั้งสองจะวาดลวดลายบรรเลงเพลงอื่อธาปวาเก่อญอให้เพื่อนและครูได้ลิ้มรสเสมอ


 


                       


 


 


จนกระทั่งเขาถูกแนะนำให้ไปพบกับ ขุนพลมือเตหน่ากูชราแห่งผาปูน  เขาทั้งสองจึงหลงเสน่ห์ของ


เตหน่ากูอย่างจัง  เขาจึงขอมาเรียนวิชาดีดเตหน่ากูจากครูเฒ่าผาปูน


 


ด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์การเรียน เพราะเตหน่ากูที่ใช้เรียนนั้นมีตัวเดียว จึงต้องเรียนเพียงทีละคน


 


"ไม่เป็นไร  นายเรียนไปก่อน ฉันจะศึกษาวิธีการผลิตเตหน่ากู  แล้วเราค่อยมาแลกความรู้กัน" เขาคนหนึ่งบอกกับเพื่อน


 


เมื่อหาข้อตกลงกันได้ การร่ำเรียนฝึกปรือจึงเริ่มขึ้น   คนหนึ่งฝึกเรื่องวิธีการเล่น  อีกคนฝึกวิธีการผลิต


 


ครบสี่ปีเขากลับมาฝั่งไทย  พร้อมกับความคาดหวังและการรอคอยจากชุมชน


 


"อุตส่าห์ไปร่ำไปเรียนตั้งสี่ปี ได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง"  มิชชั่นนารีฝรั่งคนนั้นถาม


 


"ผมได้เรียนรู้วิธีการเล่นเตหน่ากูครับ" คนแรกตอบ


 


"ผมได้เรียนรู้วิธีการผลิตเตหน่ากูครับ" อีกคนตอบเช่นกัน


 


ฝรั่งคนนั้นได้แต่ส่ายหัว  ชาวบ้านหัวเราะตลกขบขันกันใหญ่  แต่ถึงอย่างไรก็ส่งไปเรียนตั้งสี่ปีแล้วก็ต้องใช้งาน


 


คนแรกใช้วิธีเผยแพร่คริสต์ศาสนาโดยการเล่นเตหน่ากูใส่ทำนองอื่อธา และคำร้องที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพระเจ้า  ผลที่ได้คือชาวบ้านชอบฟัง เด็กๆ ชอบดู  สาวๆ ชอบมอง หนุ่มๆ สนใจ  แต่เป้าหมายที่จะให้มาเป็นคริสเตียนนั้นได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง


 


อีกคนเช่นกันใช้วิธีเผยแพร่คริสต์ศาสนาโดยการไปช่วยเหลือชาวบ้านทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานช่าง เช่น การสร้างบ้าน  ทำคันไถ  จักสาน เป็นต้น ผลที่ได้คือชาวบ้านชอบใจ  สาวๆ พอใจ หนุ่มๆ รักเขา  แต่เป้าหมายที่จะให้มาเป็นคริสต์เตียนนั้นได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง


 


เขายังทำหน้าที่รับใช้งานของคริสต์ศาสนจักรเรื่อยมา   โดยที่ไม่ลืมทำหน้าที่ในการเล่นเตหน่ากู  แม้คนจะฟังเขาหรือไม่ก็ตามและไม่ลืมทำหน้าที่ในการผลิตเตหน่ากู แม้ไม่มีคนเล่นของเขาก็ตาม


 


เขา เส่อหร่า โพทู แห่งบ้านแม่ชา ตำบลแม่นาจร  อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  สุดยอดฝีมือในการผลิตเตหน่ากู เขาวาดลาดลายทิ้งฝากฝีมือมากมาย  บัดนี้เขาทิ้งร่างกายและสังขารสู่สุขติเมื่อมิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา ขอแสดงความอาลัยไปยังครอบครัวของพือ ณ โอกาสนี้


 


เพื่อนของเขา เส่อหร่า โซโลโม แห่งบ้านห้วยบง ตำบลแม่นาจร  อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  สุดยอดฝีมือครูเตน่า  ผู้ซึ่งมีลูกศิษย์เป็นศิลปินนักเพลงปวาเก่อญอมาหลายคน  ปัจจุบัน (กรกฎา 2549) ยังอยู่และยังคงบรรเลงเตหน่ากู อยู่ด้วยวัยสนธยาของชีวิต 


 


ขอคารวะในเผ่าพันธุ์ของทั้งสองท่าน