Skip to main content

รีเฟล็คชั่น

คอลัมน์/ชุมชน

ก่อนพิมพ์บทความนี้ โทรไปหาคุณซังแต่ไม่อยู่ ฝากข้อความว่าจะไม่ว่างเขียนราวๆ สองอาทิตย์ ไม่ต้องคอยต้นฉบับ พอดีคุณชูวัส รับสายก็เลยฝากข้อความเสียเลย จากนั้นก็รีบทำงานประจำ จนพอมีเวลามีนั่งทำต้นฉบับ รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ ทั้งที่มีขาประจำอ่านกันไม่กี่คน ดังนั้น ยิ่งต้องเกรงใจ ไม่อยากเสีย "ขาประจำ"


 


ที่ทำท่าว่าจะไม่ว่างในไม่กี่วันข้างหน้าเพราะจะไปทำงานภาคสนาม ตามที่หน่วยงานหนึ่งขอยืมตัวไปทำงาน จึงจำเป็นต้องเดินทางไปพิษณุโลก ไปเก็บข้อมูลกับเพื่อนร่วมงานที่ทำงานในโครงการนี้ด้วยกัน กว่าจะเสร็จก็วันพฤหัสฯ กลับมาก็ต้องสอนวันศุกร์ต่อทันที ตอนนี้ป่วยไม่ได้ แต่อาจตายได้ คือถ้าป่วยหาคนแทนยาก ส่วนถ้าตายก็รู้แล้วรู้รอดกันไป อันนี้มีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวขำๆ แซวกันเองเรื่องภาระงานที่ต่างคนต่างมีกันอย่างล้นมือ


 


บทความวันนี้เป็นเรื่องเก็บตกจากการที่ได้พูดคุยกับ อาจารย์ฝรั่งท่านหนึ่งที่มาประชุมเมืองไทย และอาจารย์ฝรั่งนี้เป็นอาจารย์ของเพื่อนผู้ร่วมงานท่านหนึ่งของผู้เขียน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองที่ได้พบกัน คุยกันถูกคอตามเคยเพราะอาจารย์เป็นคนน่ารักและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของไทยมาก ดังนั้นจึงขออนุญาตใช้หัวเรื่องเป็นภาษาอังกฤษเต็มๆ ในคราวนี้


 


เป็นธรรมดาของผู้สอนตัวจริง (ขอย้ำว่า ไม่ใช่ระดับ "ผู้ช่วยสอน" หรือ "ทีเอ") ในระดับอุดมศึกษาในสหรัฐฯ ที่เข้าใจกันและกัน ดังนั้น ผู้เขียนก็ได้ยินความเห็นของอาจารย์ท่านนี้ต่อนักศึกษาที่สอน โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี ทั้งผู้เขียนและอาจารย์ท่านนี้ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณภาพของนักศึกษาในสหรัฐฯ โดยทั่วไปด้อยคุณค่ากว่าเดิม แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะที่เมืองไทยเราแซงล้ำหน้าเมืองมะกันไปเรียบร้อยแล้ว ว่าคุณภาพของนักเรียน นักศึกษาเราโดยรวมอยู่ท้ายๆ ชาวบ้าน  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมไทย


 


เราทั้งสองมีประสบการณ์เดียวกันคือ เมื่อนักศึกษาเรียนไม่ได้ หรือไม่สามารถทำเกรดได้อย่างที่ต้องการ คนที่เป็นแพะคนแรกคือ "ผู้สอน" นักศึกษานี่จะไม่เคยผิดเลยในสายตาของพวกเขาเอง เขาจะบอกเพียงว่าอาจารย์สอนไม่ดี แล้วก็จะอ้างว่า "ฉันจ่ายเงินเดือนคุณ" ผู้เขียนได้ยินแบบนี้บ่อยมากทั้งจากอาจารย์ท่านนี้ และท่านอื่นๆ ที่ทำงานด้วยกันที่สหรัฐฯ อนิจจาเมื่อการศึกษาถูกแปรรูปเป็นเรื่องของสินค้า และผู้สอนไม่ใช่ "อาจารย์" แต่เป็น "พนักงานสอน" ตามกระแสในสังคมสมัยใหม่ที่เรียกว่าทุนนิยมหลังสมัยใหม่ ที่ทุกอย่างแปรสภาพเป็น "คอมโมดิตี้" ไม่ว่าจะเป็นจิตวิญญาณหรือสิ่งที่จับต้องได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การศึกษาจึงไม่ได้เป็นข้อยกเว้น นี่คือ สังคมอเมริกัน มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องแย่งกันหาลูกค้า ซึ่งก็คือนักศึกษา นับวันคุณภาพยิ่งแย่ลงๆ และเดี๋ยวนี้นั้น มหาวิทยาลัยเล็กๆ นี่แทบจะต้อนลูกค้ากันเลยทีเดียว ค้นหากลยุทธ์ ทุกวิถีทางมาหลอกล่อ  ขออย่างเดียวให้มาเรียนเถอะ


 


มหาวิทยาลัยเดิมที่ผู้เขียนเคยสอนนั้น ถือเป็นมหาวิทยาลัย (ขอใช้ย่อ ว่า ม.) ที่มีชื่อเสียงในคุณภาพในประเภท  "ม.ของรัฐที่เน้นการศึกษาศิลปศาสตร์ ระดับ ป.ตรี" ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเภทนี้ที่มีทั้งหมดเกือบ 50 แห่งทั่วสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยประเภทเดียวกันนี้มักเป็นของเอกชนหรืออิงแอบศาสนาคริสต์ เพราะจะมีเงินสนับสนุนจากศิษย์เก่าหรือกองทุนทางศาสนามากมาย


 


ดังนั้น เรารู้กันว่าคนรวยๆ อเมริกันจะไปเรียนสถาบันพวกนี้  เพราะว่ามีแต่คนรวยๆ ด้วยกันเท่านั้น  โง่หรือไม่ นั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะถ้ารวย อะไรก็น่ารัก ไม่ค่อยน่าแปลกนักที่คนรวยมักจะฉลาดกว่าคนไม่รวย เพราะต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ หนากว่าคนไม่รวยแยะหลายเท่า (อย่างผู้เขียนเองก็เรียน ม.ของรัฐในสหรัฐฯ เพราะสู้ราคาของ ม.เอกชนไม่ได้  นอกจากนี้ สาขาที่ผู้เขียนเรียน ม.เอกชนไม่ค่อยมี  มักมีใน ม.ของรัฐ และที่ดังๆ ก็มักเป็น ม.ของรัฐ)  ดังนั้น ใน ม.พวกนี้คนรวยคือคนว่าจ้างคนสอน  เด็กๆ ใน ม.พวกนี้ที่รวยด้วยเก่งด้วยมีไม่น้อย  ส่วนเก่งน้อยก็ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะอาจารย์นั้นพะเน้าพะนอเด็กมาก โชคดีที่ว่าในสังคมอเมริกันนั้น การแข่งขันมีสูง ดังนั้นถ้ารวยแต่โง่ โอกาสที่จะรวยน้อยลงก็มีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม รวยแต่เดิมย่อมสบายกว่าจนแล้วจะมารวยอย่างแน่นอน


 


ใน ม.ที่ผู้เขียนเคยสอนนั้น  ในอดีต เด็กที่มาเรียนนั้นเก่งมากกว่าไม่เก่ง  สมัยก่อนในห้องเรียนที่ผู้เขียนสอนนั้น ร้อยละ 70 ไม่น่าห่วงแต่อย่างใด,  ร้อยละ 20 น่าเป็นห่วง, ร้อยละ 10 ไม่ควรมาเรียน เมื่อสองปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่า ร้อยละ 40 ไม่น่าห่วงแต่อย่างใด,  ร้อยละ 30 น่าเป็นห่วง, ร้อยละ 30 ไม่ควรมาเรียน ดังนั้น เมื่อผู้บริหารรู้เพราะมีอัตราการเข้าเรียนน้อยลง และอัตราการลาออกกลางคันสูงขึ้นตามมาตรฐานที่ต่ำลงของนักเรียนที่จบมัธยมปลาย  ดังนั้น จึงมีกระบวนการที่จะทำอย่างไรที่จะ "ฉุดรั้ง" ให้กลุ่ม "น่าเป็นห่วง" นั้น ไม่หลุดไปกับสายลมและแสงแดด เรียกว่า "โปรแกรมตักเตือนแต่เนิ่น" คือถ้าผู้สอนคนใดเห็นว่า นักศึกษาคนใดมีอาการไม่ดีนี่ ให้รีบส่งข่าวไปยังนักศึกษาผู้นั้นทันที และอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย เพื่อที่จะได้จับตามองกัน ปรากฏว่าได้ผลบ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิด "คุณภาพการศึกษา" ที่ดีขึ้น  เพียงแค่ให้โอกาสเด็กที่จะหลุดบางคนเด้งกลับเข้ามาได้ในระบบการแข่งขัน แต่เหตุที่แท้จริงคือ คุณภาพเด็กสหรัฐฯ ลดต่ำลง  แต่มาตรฐานของ   ม.นั้นลดไม่ได้ ดังนั้นงานหนักมาตกอยู่ที่อาจารย์ผู้สอน ที่ต้องช่วยกันแบบสุดใจขาดดิ้น  และคนที่ทำหน้าที่นี้คนหนึ่งคือ ผู้เขียนนี่แหละ


 


ประเด็นที่ต้องตอบให้ได้คือ จำเป็นมั้ยต้องมีปริญญา/ดีกรี?  ในสหรัฐฯ นั้น ขอบอกว่าจำเป็น หมดยุคแล้วที่จะมองคนว่ามีฝีมือเพียงอย่างเดียว เพราะนายจ้างพอใจที่จะจ้างคนที่มีดีกรี และมีฝีมือด้วย เป็นดัชนีบ่งชี้ความเป็นเลิศขององค์กรด้วย  ดังนั้น ฝรั่งรุ่นใหม่ต้องมีดีกรีด้วยเช่นกัน ส่วนจะเฮงซวยแค่ไหนในคุณภาพ ค่อยว่ากันอีกที อันนี้ฝรั่งเดินตามไทย เพราะไทยเป็นแบบนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านแถวนี้ เช่น อินเดีย และ ฟิลิปปินส์ ที่ ดร. เดินชนกันตาย หรือขับรถแท็กซี่


 


ในสหรัฐฯ นั้น เค้าคงจะไม่เลวร้ายมากนัก เพราะกระบวนการตรวจสอบของเค้ายังไม่หละหลวม และยังทำงานค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะถ้าหากมีการลดหย่อนเรื่องคุณภาพแล้ว อันดับแรกคือ การจัดอันดับก็จะเปลี่ยนแปลง คือ ม.นั้นๆ ก็ถูกวางอันดับต่ำลง เกิดเป็นอาการที่เรียกว่า "ขายขี้หน้า" ได้  นอกจากนี้แล้ว ถ้าเลวร้ายมากๆ ก็จะถูกยกเลิก "การรับรองคุณภาพ" หรือที่เราเรียกว่า "accreditation" ซึ่งหมายความว่า คนจบจาก ม.นี้ อาจมีคุณภาพไม่ถึง ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าควรจะว่าจ้างดีมั้ย อันนี้เมืองไทยก็นำเข้ามาใช้แล้ว ซึ่งก็ดูกันต่อไป โดยมาในรูปที่เรียกว่าการควบคุมคุณภาพนั่นเอง


 


เรื่องนี้ จึงทำให้เห็นว่า "การศึกษา" ในกระแสโลกปัจจุบันต่างออกไปจากเดิม นับเป็นเรื่องของธุรกิจ เพียงแต่ว่า สังคมไหนจะมีการจัดการอย่างไรต่อไปเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย หลายคนที่เป็นคนในก็อยากออกเพราะทนความฟอนเฟะไม่ได้ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็คิดว่าอาจมีวันที่ดีขึ้น หรือวันนี้ไม่รู้จะทำอะไรดี หรือวันนี้ยังอยู่ในอำนาจ


 


ผู้เขียนมามองตนเองที่ออกมาจากตรงนั้นในสหรัฐฯ เพื่อมาทำงานเดียวกันในสังคมไทย หลายครั้งนึกถอนใจที่สังคมไทยยังต้องก้าวไปอีกมากในหลายๆ ด้าน หลายครั้งนึกแปลกใจว่าทำไมหลายคนถึงพยายามต่อต้านความเป็นฝรั่ง ทั้งที่ไอ้ลักษณะต่อต้านนั้นก็มาจากแนวคิดฝรั่งนั่นแหละ  ผู้เขียนมองว่าโลกใบนี้เล็กลง และเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่เป็นอย่างฝรั่ง เพียงแต่ว่าจะเป็นฝรั่งอย่างมีคุณภาพหรือด้อยคุณภาพต่างหาก


 


เป็นไปไม่ได้ที่จะต้านกระแสโลกาภิวัตน์  ไม่มีวัน  ในทางกลับกันเราจะต้องเท่าทันในความคิดและวิทยาการนั่นต่างหาก  และจะทำอย่างไรให้เราพร้อมที่จะต่อสู้กับฝรั่งที่จ้องเอาเปรียบเราได้  ไม่ใช่มาตะพึดตะพือต่อต้าน แบบไม่ลืมหูลืมตา


 

ว่าแล้วก็นึกดีใจลึกๆ ไม่ได้ว่า การไปทำงานที่สหรัฐฯ ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า และอยากจะแบ่งปันมุมมองหลายอย่าง ด้วยหวังว่าสังคมไทยอาจได้ประโยชน์บ้าง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไป