Skip to main content

ตัวชี้วัดความสุข

คอลัมน์/ชุมชน

เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่ถูกกำหนดไว้ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ให้ความเห็นต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) โดยจนขณะนี้สมาชิก สป. ยังไม่ได้รับร่างแผนฉบับล่าสุดให้อ่านกัน  เนื่องจากรักษาการนายกรัฐมนตรีขอปรับปรุงร่าง ก็กำลังรอๆ กันอยู่ อย่างไรก็ตามก็ได้มีโอกาสอ่านฉบับที่เริ่มดำเนินการร่างมาตั้งแต่ปีที่แล้วมาเรื่อยๆ


 


ทำไมสมาชิก สป. ต้องอ่านและให้ความเห็นแผนพัฒนาฯ นี้ ก็เพราะว่าสภาที่ปรึกษาฯ นั้นตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 89 เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่เริ่มจากมาตรา 71 ถึงมาตรา 89  และการให้ความเห็นต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


 


การจัดทำแผนพัฒนาฯ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นแผน 5 ปี ปัจจุบันเราอยู่ภายใต้แผนฉบับที่ 9 ที่จะจบลงในปี 2549 นี้แล้วเริ่มฉบับที่ 10 กันในปีหน้า พ.ศ.2550 ถึง 2554 อีก 5 ปีต่อจากนี้ ในท่ามกลางการให้ความสนใจด้านสังคมเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจโดยใช้รายได้ประชาชาติ (National Income) และผลิตภัณฑ์ในประเทศ (Gross Domestic Product:GDP) เป็นตัวชี้วัดโดยมุ่งว่าหากเศรษฐกิจดี ชีวิตของประชาชนก็ย่อมดีไปด้วย แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเศรษฐกิจดีอาจจะเป็นเฉพาะกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่มีรายได้เพิ่มอย่างมากมายมหาศาล ขณะที่กรรมกร แรงงานรับจ้าง ยังมีค่าจ้างนิดหน่อย วันละ 100 กว่าบาทนิดหน่อย วันที่ไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้รับค่าจ้าง


 


เช่นนี้แล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกเติบโตมีรายได้หลายพันหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่คนงานในโรงงานยังมีรายได้ต่ำ ไม่มีสวัสดิการมากเพียงพอ นอกจากนั้น ยังมีการเลี่ยงการจ้างงานในระบบ เปลี่ยนเป็นส่งงานออกไปให้แรงงานนอกระบบทำ เพื่อไม่ต้องจัดสวัสดิการใดใดให้ คนเหล่านี้รับเหมาทำงานเป็นชิ้น ทำให้ทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ มีผลต่อสุขภาพ แม้จะมีรายได้แต่สุขภาพย่ำแย่ สุขภาพใจยิ่งแย่ ดูตัวเลขคนมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวยังไม่รับประกันว่าประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น


 


ดังนั้น จึงเริ่มมีการพัฒนาตัวชี้วัดทางด้านสังคมมาตั้งแต่แผนฉบับที่ 8 โดยใช้เป็นการประเมินผลความอยู่ดีมีสุข  จนพัฒนาออกมาเป็นดัชนีรวมความอยู่ดีมีสุข  5 ดัชนี แยกเป็นตัวชี้วัดได้ 17 ตัวชี้วัด คือ


 


1. สุขภาพอนามัย ตัวชี้วัด คือ 1)อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 2) สัดส่วนประชากรที่ไม่เจ็บป่วยในแต่ละปี 3) สัดส่วนประชากรที่มีหลักประกันสุขภาพ


2. ความรู้ ตัวชี้วัด คือ 1) จำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษาของประชาชน 2) อัตราการเข้าเรียนหนังสือของเด็กชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย 3) ผลคะแนนการทดสอบวิชาการภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์


3. ชีวิตการทำงาน ตัวชี้วัด คือ 1)สัดส่วนผู้ว่างงาน  2) สัดส่วนแรงงานที่มีบริการสวัสดิการและอยู่ในข่ายครอบคลุมของกองทุนประกันสังคม


4. รายได้และการกระจายรายได้ ตัวชี้วัด คือ 1) สัดส่วนคนยากจนด้านรายได้  2) สัมประสิทธิ์การกระจายรายได้


5.  สภาพแวดล้อม ตัวชี้วัด คือ 1) สัดส่วนครัวเรือนที่มีบ้านและที่อยู่เป็นของตนเอง 2) สัดส่วนครัวเรือนที่มีน้ำประปาใช้  3) สัดส่วนคดีอาชญากรรมต่อประชากร  4) สัดส่วนคดียาเสพติดต่อประชากร  5) ดัชนีคุณภาพแหล่งน้ำ  6)  สัดส่วนขยะต่อประชากรแต่ละปี  7) สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมด 


 


หากดูตัวชี้วัดเหล่านี้แล้วพอจะบอกว่าสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม มีบรรยากาศที่ดีขึ้นสำหรับการดำรงชีวิตของคนในสังคม แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่ามีความสุข มีเศรษฐกิจพอเพียง มีความสามารถดำรงชีวิตในกระแสโลกาภิวัตน์อย่างมีความสุขได้เพียงใด  ดังที่ ประเทศภูฏาน ได้พยายามสร้างปรัชญาและหลักการเกี่ยวกับความสุขมวลรวมประชาชาติ มาร่วม 20 ปีแล้วก็ยังไม่มีตัวชี้วัดชัดเจนว่าความสุขวัดจากอะไร แต่นั่นไม่สำคัญเท่าการมีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าจะนำพาประเทศและประชากรไปสู่ความสุข และจัดวางแผนสร้างความสุขด้วยการเก็บความสุขเดิมที่มีอยู่แล้วไว้ ประกอบกับการสร้างความสุขภายใต้กระแสสังคมโลกที่ภูฏานต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย และเริ่มดำเนินการมาตลอดกว่า 20 ปีมาแล้ว


 


สำหรับประเทศไทย จะมีตัวชี้วัดความสุขได้ไหม คงจะยากเพราะเรายังไม่มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าความสุข กับการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสอดคล้องหรือไปด้วยกันได้เพียงใด แม้จะมีความพยายามนำเสนอในแผนฯ ฉบับล่าสุดนี้บ้างแต่ก็คงต้องมาคิดมาทบทวน และเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องร่วมช่วยเสนอกันออกมาด้วย  คราวหน้าจะพยายามสรุปว่าแผนฯ 10 ว่าเรื่องนี้อย่างไร และสภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นไปอย่างไรนะคะ