Skip to main content

สตาร์ วอร์ส วิถีพุทธ

คอลัมน์/ชุมชน

"May the force be with you." หรือ อพลังจงอยู่กับท่าน เป็นวลีฮิตไปแล้วสำหรับหมู่นานุแฟน หรือสาวกสตาร์ วอร์ส ที่ได้ชม Episode III มาแล้ว เพราะที่เป็นคำที่เหล่าเจไดได้ใช้อวยพรตอนลากัน ฟังแล้วคุ้น ๆ นะ คล้ายกับ May the god be with you หรือ ขอพระเจ้าจงอยู่กับท่าน อะไรทำนองนั้น


นาทีนี้ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่เข้ามาบ้านเรานั้นดูเหมือนไม่มีเรื่องใดจะมาแรงเท่าสตาร์ วอร์ส อีกแล้ว ค่าที่เป็นหนังที่เรียกว่า เป็น (อภิ) มหากาพย์ มีความเป็นมายาวนาน และมีมาอย่างต่อเนื่องถึง 27 ปี และเป็นภาพยนตร์ที่มีการพัฒนาเทคนิค หรือฉากที่สร้างอย่างยิ่งใหญ่มโหฬารตระการตา รวมทั้งเป็นการนำเสนอภาคต่าง ๆ ต่อเนื่องมา แต่เป็นแบบคล้ายย้อนหลัง (flashback) แต่ย้อนหลังแบบเป็นตอน ๆ คือออกมาให้ชมเนื้อเรื่องภาค 4 ภาค 5 ภาค 6 ก่อนแล้วจึงมาเป็น 1/2/3 ว่ากันอย่างนั้น จึงเป็นที่มาว่าทำไมบรรดาเหล่าคอไซไฟ (Sci-fi) ตั้งหน้าตั้งตารอ Episode III กันอย่างใจจดใจจ่อ


ก็ต้องขอยอมรับว่า แม้จะพยายามทำตัวว่าเท่าทันสื่อแค่ไหนก็ตาม แต่ในที่สุดด้วยกระแสโปรโมตที่โหมกระหน่ำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณนานา ตั้งแต่บอกว่า Episode III เป็นภาคที่สมบูรณ์แบบที่สุดของสตาร์ วอร์ส เท่าที่เคยทำมาทั้งหมด นี่คือตอนสรุปของทุกภาค ภาคนี้ จอร์จ ลูคัสได้นำตะวันออกบวกตะวันตกอย่างแท้จริง มีปรัชญาตะวันออกอยู่ในนั้น และที่สำคัญตอนนี้แม้คนที่ไม่เคยดู หรือผู้หญิงที่ไม่เคยชอบหนังแนวนี้มาก่อนก็ดูได้ และอาจจะชอบด้วยเพราะมีแนวดราม่ามากขึ้น ก็ท้าทายกันขนาดนี้ สุดท้ายจึงต้องยอมแพ้กระแส เกิดความอยากรู้เหลือเกินว่า เรื่องนี้มันเหนือกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ อย่างไร จำต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายให้เครือเมเจอร์ไปเพื่อไปหาสัจธรรมแห่งสตาร์ วอร์ส จากพระเจ้าจอร์จ ( ลูคัส)


ก่อนอื่น ก็ต้องขอออกตัวก่อนว่า เป็นการดูโดยผู้ที่ไม่เคยมีดวงจิตพิศวาส ฝักใฝ่ หรือมอบใจให้หนังประเภทแฟนตาซีหรือไซไฟมาก่อนเลย ด้วยว่ารำคาญเสียงโครมคราม หนังแนวนี้มักชอบใช้ความรุนแรงสู้รบกันด้วยอาวุธทันสมัยชนิดต่าง ๆ รวมทั้งไม่ชอบตัวละครที่มักจะหน้าตาแปลก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีหน้าตาน่าเกลียดไม่จำเริญตา ไม่เหมาะกับคนอ่อนไหวที่สนใจละครแนวดราม่า หรือ Romantic comedy ที่มักมีใช้ภาษาสวย ๆ หรือไดอะล็อกเป็นเลิศ โดยมิพักต้องลงทุนลงแรงสร้างฉากมากมาย แต่ที่ต้องดูเป็นเพราะไม่อาจต้านต่อมอยากรู้อยากเป็นที่ถูกกระตุ้นอย่างหนักได้


แต่เมื่อได้ดูแล้ว ก็ตอบไม่ได้ว่าเหนือกว่าเรื่องอื่น ๆ หรือตอนอื่น ๆ หรือไมรู้แต่ว่าเรื่องนี้ 'มีดี' 'มีประเด็น' ให้พูดถึงอยู่หลายแง่มุม


สิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาก่อนอื่นเลยคือ production เจ๋ง ทำฉากได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ เทคนิคก็แพรวพราวเหลือเกิน บรรดาเหล่าสาวกไซไฟอาจอุทานว่า โอ พระเจ้า จอร์จ (ลูคัส) มันเยี่ยมจริงๆ ก็แน่นอนว่า ยุคดิจิตอลเช่นนี้จะเนรมิตอะไรก็ได้ ถึงแม้จะเห็นว่าดีแต่ก็ยังไม่ได้ใจคอหนังโรแมนติกอย่างเราหรอก ด้วยเพราะเสียงโครมคราม หนวกหู เสียงยานบินว่อน ยิงกระหน่ำอันเป็นความรู้สึกสุดยอดสำหรับคอไซไฟนั้นก็ยังมีเหมือนเดิม และนานด้วย


แต่สิ่งที่ประจักษ์ในเชิงรูปธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ลูคัสพยายามใส่ความเป็นตะวันออกลงไปในหนังอยู่หลายส่วน ตามที่ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายว่าไว้จริง ๆ เริ่มที่การตั้งชื่อตัวละคร โยดา ที่เป็นผู้หยั่งรู้ฝ่ายเจได ผู้รู้บอกว่า มาจากคำภาษาสันสกฤต แปลว่า นักรบ หรือ ชื่อของ แพดเม ที่เป็นคนรักของอนาคิน ก็เอามาจากคำว่า ปัทมา ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า ดอกบัว หรือตัวสัตว์ที่เป็นพาหนะตอนที่โอบีวันไปต่อสู้กับกรีฟวัส ที่คล้าย ๆ กับไดโนเสาร์ผสมกับกิ้งก่ายักษ์ก็น่าจะเป็นการจินตนาการไปถึงตัวมังกรของจีน หรือแม้การแต่งตัวของตัวละครในบางตัวก็คล้ายกับชุดกำลังภายในของจีน หรือชุดซามูไรของญี่ปุ่นอยู่บ้าง ถ้าจะสังเกตดี ๆ


แต่ที่สำคัญกว่านั้น หากเปลี่ยนการดูหนังเรื่องนี้มาเป็น 'ดูเอาเรื่อง' (เหมือนอ่านหนังสือ-อ่านเอาเรื่อง) แทนการดูเทคนิคและจินตนาการ (ว่ากันว่า ตามธรรมดาการดูหนังไซไฟ คอหนังมักจะให้ความสำคัญกับเทคนิคหรือจินตนาการมากกว่าเนื้อเรื่อง) เราก็จะพบเนื้อหาของเรื่องที่มีปรัชญาซ่อนอยู่ในนั้นมากมาย


ยกตัวอย่าง ตอนที่ อนาคิน ฝันหรือเห็นภาพนิมิตว่า แพดเม คนรักจะต้องตายตอนคลอดลูก เขารู้สึกกังวลมาก เพราะมีเรื่องการสูญเสียแม่ไปครั้งหนึ่งแล้ว เขาจึงไม่ต้องการสูญเสียคนรักอีก แล้วเข้าไปคุยกับโยดา ปรมาจารย์ผู้หยั่งรู้ฝ่ายเจได ว่าเขาเห็นความทุกข์ ทรมานความเจ็บปวด และความตาย


โยดาบอกกับอนาคินว่า ความกลัวที่จะสูญเสียคือหนทางเข้าสู่ด้านมืด ( The fear of loss is a path to the dark side.) และบอกให้ทำใจกับเรื่องความตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต(Death is a natural part of life.) การยึดมั่นถือมั่นก่อให้เกิดความ อิจฉาอันเป็นตัวกิเลส (Attachment leads to jealousy. The shadow of greed, that is.)


และเมื่อ อนาคิน ถามว่าจะต้องทำอย่างไร คำตอบก็คือ ให้ปล่อยวาง


"ฝึกตนเองให้รู้จักปล่อยวางความกลัวที่จะสูญเสีย" (Train yourself to let go of everything you fear to lose) คือคำตอบจากโยดา


ดูมาถึงตอนนี้แหละที่ 'คนดูเอาเรื่อง' อาจจะต้องอุทานออกมาว่า "โอ! พระเจ้า จอร์จ (ลูคัส) นี่คือ แนวพุทธชัด ๆ เราได้พบแก่นธรรมใน Star Wars Episode III แล้ว" คือการบอกให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น แก่นธรรมนี้ได้ถูกนำมาใส่ไว้ที่นี่แล้ว และถ้าเราดูแบบ 'ดูเอาเรื่อง แล้วเราก็เห็นแก่นของเรื่อง (theme)คือการสอนให้รู้จักปล่อยวางนั่นเอง มีบางไดอะล็อกของหนังที่บอกว่า คนที่กลัวนั้นย่อมแสวงหาอำนาจ และเมื่อได้อำนาจมาแล้วสิ่งที่กลัวที่สุดคือการสูญเสียอำนาจ และต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ แต่แล้วเขาก็ต้องสูญเสียสักวันหนึ่ง นี่ก็การชี้ให้เห็นเรื่องกิเลส เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ ได้ด้วย ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ


ปมของอนาคินนั้นคือ กลัวว่าจะสูญเสียคนรักไป จากที่เคยสูญเสียแม่ไปแล้ว เขาไม่ต้องการเห็นภาพนั้นอีก เขาก็เลยถูกพวกซิธซึ่งก็คือสมุหนายก ที่เป็นพวกใช้พลังอำนาจด้านมืด รู้จุดอ่อนเขาตรงนี้ เลยหลอกว่าพลังด้านมืดนั้นสามารถชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนชีพได้แล้วจะสอนให้ ขอเพียงแต่อนาคินยอมเป็นศิษย์เขาเท่านั้น และที่สำคัญเขาก็โน้มน้าวจิตใจโดยใช้ยศตำแหน่งและการสรรเสริญ โดยบอกว่า อนาคินนี่แหละจะเป็นผู้นำสันติภาพมาสู่จักรวาล ให้อนาคินออกไปสู้รบ เพื่อผดุงความเป็นธรรมและเป็นการทำสงครามเพื่อสันติภาพจะเกิดขึ้นในเวลาต่อ พร้อมให้ฆ่าเจไดทุกคน อนาคินนั้นยอมทำได้แม้ฆ่าเหล่าเจไดน้อย ๆ และหลงไปกับอำนาจ เชื่อว่านี่คือจักรวรรดิของเขา


นี่เองที่ลูคัสได้พิสูจน์สัจธรรมอีกอย่างหนึ่งว่า หนึ่งในกิเลสที่สามารถทำให้คนเรากล้าที่จะทำในสิ่งที่ผิดมากที่สุดก็คือความกลัวนั่นเอง นั่นจึงนำไปสู่การที่หัวใจของเขาเปิดรับด้านมืดอื่น ๆ ที่เคยถูกปิดครอบไว้ด้วยมโนธรรม โดยให้คำสอนของเจไดนั้นเปรียบเป็นมโนธรรม ส่วนด้านมืดที่ถูกปิดไว้คือกิเลส ความทะเยอทะยานซึ่งเป็นแรงขับที่เขามีมาตั้งแต่เด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่มีปมความรู้สึกด้อยค่าเมื่อมาถูกตอกย้ำด้วยการมองผ่านและไม่เห็นคุณค่าจากสภาเจได มันยิ่งย้ำความรู้สึกด้อยค่าลึก ๆ ภายในตัว ก่อนที่กิเลสสุดท้ายที่ครอบงำเขาคือความโกรธ ความอิจฉาโอบีวัน ที่เขาไม่ไปถึงในจุดเดียวกัน ทำให้เขารู้สึกด้อย และมาทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองกำลังจะถูกแย่งคนรักไปอีกในตอนที่โอบีวันมาปรากฎตัวในยานของแพดเมที่กำลังพยายามมาเกลี้ยกล่อมเขาให้ออกมาจากด้านมืด


อำนาจฝ่ายต่ำครอบงำเขาจนลืมนึกไปว่า เขากำลังทำอะไรอยู่ เขาบอกว่าเขาทำทุกอย่างเพื่อปกป้องแพดเม โดยที่ไม่ยอมรับฟังที่แพดเมได้กล่าวเตือนเลย แพดเมได้แต่บอกว่า "ฉันไม่รู้จักเธออีกเลย เธอก้าวไปไกลเกินกว่าที่ฉันจะตามไปได้แล้ว" และนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้แพดเมขาดกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ หลังจากคลอดลูก นี่เป็นภาพที่ อนาคินมองไม่เห็นว่าสาเหตุการตายของแพดเมนั้นแท้จริงแล้วมาจากกิเลสของเขานั่นเอง


ในฉากการสู้รบระหว่างอนาคินกับโอบีวันที่เป็นอาจารย์นั้น หากคนมองฉากและเอฟเฟ็คต่าง ๆ ที่นำมาใช้ย่อมรู้ดีว่าดูยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่หากดูเอาจากเนื้อหาก็เห็นชัดว่า เมื่อต่อสู้กันแล้วอนาคินแพ้ล้มลงไปนอนโดยที่ข้างล่างนั้นเป็นทะเลเพลิง อนาคิน ส่งสายตาที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้น ชิงชัง แล้วร้องบอกไปว่า I hate you (ข้าเกลียดเจ้า) แล้วไฟก็ลุกไหม้ท่วมตัว ทำให้อนาคินต้องร้องอย่างปวดแสบปวดร้อน ทุรนทุราย นี่ก็เปรียบเป็นสัญลักษณ์ได้อีกว่า ความเคียดแค้นชิงชัง หรือความโกรธนั่นเองที่เป็นไฟนรกเผาผลาญใจเรา ทำให้เราต้องทุรนทุราย หรือที่เรียกว่า นรกอยู่ในใจนั่นเอง


สุดท้าย หนังก็ยังให้เห็นอีกสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต เรื่องการมีอยู่ดับไป แพดเมต้องตายไป แต่มี 2 ทารกน้อยเกิดใหม่มาแทนรวมทั้งอาจเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อว่า ความดีอาจกลับมาได้โดยการให้กำเนิดทารกแฝด 2 คนของแพดเม คือ ลุค กับ เลอา ที่เป็นตัวแทนความดีของอนาคิน (ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นในภาคอื่น)


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ ในหนังเรื่องนี้ นอกจากจะนำแนวคิดและพุทธปรัชญาต่าง ๆ มานำเสนอแล้ว ยังมีจุดเล็กจุดน้อยให้คิดได้เล่น ๆ อีก เช่น ภาษาพูดของโยดา ซึ่งเป็นผู้หยั่งรู้ ที่มักจะไม่เรียกลำดับประโยคแบบคนอื่น ๆ เช่น Careful you must be when sensing the future แทนที่จะเป็น you must be careful… หรือ Mourn them, do not. Miss them, do not มาจาก do not mourn them (อย่าทำให้เขาเป็นทุกข์) Do not miss them หรือ find them, you will. มาจาก You will find them หรือ escape, I must. คือ I must escape.


ผู้สันทัดกรณีสตาร์ วอร์สหลาย ๆ คนวิเคราะห์ว่า นี่อาจเป็นเพราะลูคัสตั้งใจจะเลียนประโยคให้เป็นกลิ่นอายแบบญี่ปุ่น แต่ถ้าจะให้ตีความอีกแบบก็อาจเป็นไปได้ว่า นี่เป็นการพูดของผู้หยั่งรู้ที่จะต้องมีบุคลิกที่แตกต่างจากคนอื่น โดยคำพูดนั้นแต่ละคำต้องมีความหมาย ดังนั้น ประโยคจึงเน้นใจความสำคัญก่อน หลายประโยคจึงขึ้นต้นด้วยกริยา (verb) แทนประธาน ( subject)


แน่นอนว่า สตาร์ วอร์สนั้นเป็นเรื่องของสงครามโดยแท้ แม้ในเรื่องนี้พยายามจะทำเรื่องทั้งหมดโดยอิงโทนปรัชญาตะวันออกแต่ลูคัสก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะยังคงเก็บประโยคเด็ดจากตะวันตกมาด้วย เช่น ตอนที่อนาคินพูดกับโอบีวันว่า "if you are not with me, you are my enemy" (ถ้าไม่ร่วมกับเราก็เท่ากับเป็นศัตรูของเรา) อันนี้คุ้นมากเลยใช่ไหม


ในเรื่องนี้แม้ว่าจะมีผู้หญิงที่มีบทพูดอยู่เพียงคนเดียว แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ อีกด้วยนะ นั่นคือเมื่อรู้ว่าท้องแล้ว แพดเมก็บอกกับอนาคินว่า เรากลับไปอยู่ที่ทะเลสาบนาบูกันเถอะ ใช้ชีวิตที่สงบสุขกันที่นั่น ที่ไม่ต้องมีใครมายุ่งกับเรา หมายถึงว่า ผู้หญิงนั้นต้องการเพียงครอบครัว ชีวิตที่อบอุ่นและเป็นสุข ในขณะที่ผู้ชายกลับคิดถึงเรื่องอำนาจมาก่อน ขณะที่อนาคินกลับคิดว่าเขาจะต้องแสวงหาอำนาจ เขาจะต้องมีพลังอย่างที่เจได แม้จะไม่เคยทำได้แต่ก็ลุ่มหลงอยู่กับสิ่งนั้น และฮึกเหิมกับการทำสงคราม โดยอ้างว่าทำเพื่อแพดเม ทั้งที่เธอไม่ได้ต้องการเลย


กล่าวโดยสรุป แม้ว่าฉากหนังจะต้องการโชว์เทคนิค หรือ อลังการงานสร้างแค่ไหนก็ตาม แต่เข้าใจว่า ผู้สร้างเองก็คงตั้งใจจะให้ผู้ชมได้ซึมซับข้อคิดหรือปรัชญาต่าง ๆ ที่ใส่ไว้ในหนังบ้างไม่มากก็น้อย แต่ถ้าคอหนังไซไฟเข้าไปดูหนังเรื่องนี้แล้วมัวตะลึงอยู่ความทันสมัยของอุปกรณ์ของเทคนิค หรือฉากอันตระการตาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจเนื้อหาหรือคิดตามในแต่ละไดอะล็อก เลยก็น่าเสียดายยิ่ง ซึ่งก็ต้องขอพูดแบบโยดาว่า missed it, you have. (คุณพลาดไปแล้ว)