Skip to main content

"บุญคุณ" เครื่องมือที่ไม่เคยล้าสมัย

คอลัมน์/ชุมชน

มีเรื่อง 2-3 เรื่องจะเล่าให้ฟังครับ


 


เรื่องแรก  ชายคนหนึ่ง ทำงานในสถาบันการศึกษาของรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงาน เขาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานราบรื่นดี เขาเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานทุกคน และไม่เคยบกพร่องในเรื่องงาน อันที่จริง เขาน่าจะมีชีวิตที่เรียบง่าย และไม่มีปัญหาอะไรให้หนักอก


 


ถ้าหากไม่มีเรื่องของ "บุญคุณ" เข้ามาเกี่ยวข้อง


 


อาจารย์ท่านหนึ่ง เคยดูแลช่วยเหลือขณะที่เขายังเป็นลูกจ้าง ยังไม่ได้รับการบรรจุ ต่อเมื่อได้รับการบรรจุแล้ว เขาก็รู้สึกว่า อาจารย์ท่านนี้มีพระคุณกับเขา และเขาต้องพยายามตอบแทน


 


อาจารย์เอง ก็รอ "การตอบแทน" ดังว่าอยู่แล้ว


 


อาจารย์มักจะใช้งานเขาเป็นประจำ และงานที่ว่านี้เป็นงาน "นอก"ของอาจารย์   แรกๆ ก็ดูเหมือนว่า ไม่มีปัญหาอะไร แต่ยิ่งนานวันเข้า งานก็ยิ่งมากขึ้น มากเสียจนเบียดบังเวลาส่วนตัวของเขา บางครั้งในวันหยุดเขาก็ต้องมาทำ  งานเหล่านี้แม้เขาจะไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ  แต่เขาก็ทำเพราะคิดว่า เป็นการตอบแทน "บุญคุณ" ของอาจารย์


 


ทว่า หลายครั้งที่เขารู้สึกไม่ไหว และขอผัดผ่อน เขาก็จะถูกทวงถามถึง "บุญคุณ" แต่หนหลังที่อาจารย์ได้เคยให้  ทำให้เขากลายเป็น "เบี้ยล่าง" ที่ต้องยอมจำนน 


 


ผ่านไปนานนับปี เขาเครียดจนอยากจะลาออกหลายครั้ง แต่แล้วอะไรบางอย่างก็ทำให้เขาคิดได้  ต่อมาเขาปฏิเสธการช่วยงาน "นอก" ของอาจารย์ เพราะเขาคิดว่า ได้ "ชดใช้" มันไปมากพอแล้ว


 


เขารู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูก แต่มันทำให้เขาสบายใจ  อีกทั้งในสถานภาพข้าราชการเช่นเดียวกัน (และไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง) อาจารย์ท่านนั้นย่อมไม่อาจยุ่งเกี่ยวกับเขาได้อีก


           


เรื่องที่สอง ชายคนหนึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากการทำงานด้านสื่อ ข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ของเขา มักจะมีเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักที่เดือดร้อนอยู่เสมอ


 


 "บุญคุณ" ที่เขาได้ทำไว้แก่คนมากมายนั้นทำให้เขาดูเสมือนนักบุญคนยาก ผู้ยอมเสียสละตนเองเพื่อคนอื่น และมันก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าหากเขาไม่ใช่คนที่ชอบพูดความจริงแค่ "ครึ่งเดียว"


 


เขามักจะทำให้คนอื่นเข้าใจ (และเขาเองก็คงเข้าใจอย่างนั้นด้วย) ว่า การที่เขาจ่ายเงินเพื่อจ้างคนไปทำอะไรสักอย่างนั้น เป็นบุญคุณล้นเหลือ และคนที่เขาจ้างนั้นก็ควรสำนึกตนเสียด้วยว่า  "ผมมีบุญคุณกับคุณ ฉะนั้น คุณไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธผม" อีกทั้งคนที่เขาจ้างทำงานนั้น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด "บุญคุณ"ของเขาก็จะต้องติดแน่นประหนึ่งหยอดกาวตราช้างอยู่เสมอ


 


ใครบางคน ติดกับดักแห่งบุญคุณอันล้นเหลือของเขา ต้องกลายเป็นตัวอะไรสักอย่าง ให้เขาดูหมิ่นเหยียดหยามผ่านหน้ากระดาษ ราวกับว่า ไม่มีความดีเหลืออยู่ในตัวอีกเลย


 


เมื่อมีใครทักท้วงเพราะไม่เห็นด้วยกับการอ้างบุญคุณแต่ชาติปางก่อน (และพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว) ของเขา การปกป้องตัวเอง พร้อมๆ กับฟาดงวงฟาดงาใส่คนอื่น ก็เกิดขึ้นทันที  เห็นได้ชัดว่าโรค "ผูกขาดความถูกต้อง" ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของคนแถวทำเนียบรัฐบาล ได้เข้าครอบงำเขาเสียแล้ว


 


เขายังไม่รู้ตัวว่าทำอะไรหรือพูดอะไรที่ทิ่มแทงหรือทำร้ายใครไปบ้าง (หรืออาจจะรู้ และจงใจที่จะทำ?) และเขาก็ยังคงใช้ "บุญคุณ" เป็นเครื่องมือสร้างภาพให้ตัวเองต่อไป


 


เรื่องที่สาม  สถานการณ์บ้านเมืองยังลูกผีลูกคน ใครอยู่ข้างใคร แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดึงคนนั้นมายุ่งกับเรื่องนี้ ดึงคนนี้มาเกี่ยวกับเรื่องนั้น อลหม่านวุ่นวายกันไปหมด บางคนหวาดวิตกว่าบ้านเมืองกำลังแตกแยก


 


ถ้าใจเย็นๆ ลองคิดดูให้ดีๆ จะพบว่า เหตุการณ์ทำนองนี้มันเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เวลาที่ "ชายหน้าเหลี่ยม" พูดอะไรที่เป็นภัยกับตนเอง จะต้องมีคนออกมาคอยแก้ต่างให้อยู่เสมอ นอกจากนั้นก็จะมีคนอีกพวกที่คอยปั่นกระแสข่าวให้วุ่นวาย ดึงคนนู้น โยงคนนั้นมาพันตูให้กลายเป็นมวยหมู่ ไม่ให้ลูกพี่โดน "รุมอัด" อยู่คนเดียว


 


และในช่วงสถานการณ์กำลังปั่นป่วน พวกที่รอ "เสียบ" อยู่แล้ว ก็ถือโอกาส นัดรวมพลมันซะเลย


 


ในบรรดาคนที่ใช้ "บุญคุณ" เป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคนหนึ่ง ก็เห็นจะได้แก่ชายหน้าเหลี่ยมคนนี้ละ ที่ "หว่านซื้อมวลชน" (ศัพท์ซ้ายเก่า) ชนิดที่เอวิต้า เปรอง เห็นแล้วยังอาย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือ บรรดาลูกขุนพลอยพยักที่เดินตามกันต้อยๆ วันดีคืนร้าย ท่านก็เอ่ยอ้างทวงบุญคุณเอากับประชาชนคนเดินถนนเอาดื้อๆ บางทีไม่ทวงเอง ก็มีลูกสมุนคอยทวงให้ โดยไม่อายฟ้าอายดินเลยว่า บรรดาโครงการประชานิยมและเงินเดือนของท่านทั้งหลายก็มาจากภาษีประชาชนนั่นเอง


 


อันที่จริง เวลาที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากและคนรอบกายของชายหน้าเหลี่ยม จำนวนหนึ่ง ก็เริ่มถอยห่าง มามากแล้ว แต่ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่ง ที่คอยเป็นองครักษ์พิทักษ์นายอย่างแน่นเหนียว ประเภทที่ว่า ต่อให้ต้องใช้สีข้างเข้าถู ข้างๆ คูๆ เอาตัวรอดอย่างไร ก็ต้องแก้ตัวให้นายอย่างถึงที่สุด


 


แน่นอนว่า "บุญคุณ" ที่องครักษ์พิทักษ์นายเหล่านี้ได้รับ มันต้องมีราคาไม่น้อยเลย ไม่อย่างนั้นคงไม่ออกรับแทนกันชนิดสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างนี้


 


"รายการทรัพย์สินของรัฐมนตรีและคู่สมรส"ครั้งล่าสุดน่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจน


 


ขณะเดียวกันก็คงมีองครักษ์อีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่อาจสนองตอบ "บุญคุณ" ของเจ้านายต่อไปได้ อาจจะด้วยสามัญสำนึก ถูก-ผิด ชั่ว-ดี ยังไม่ตายด้าน หรือกระแสสังคมกดดัน ก็เลยต้องขอโบกมืออำลากันไป


 


แต่อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ผมคิดขึ้นเอง คือ เขาอาจจะถูก "เรียกร้อง" ให้ทำอะไรมากเกินกว่าขอบเขตที่เขาจะยอมรับได้ โดยใช้ "บุญคุณ"เป็นเครื่องมือกดดันให้เขาต้องทำตาม


 


ถ้าเข้ารูปการณ์นี้  ร้อยทั้งร้อยผมว่าไม่มีใครอยากจะทน


 


โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อในทฤษฎี "เห็บกับหมา" นะครับ คือเห็บมันเกาะหมาเพื่อดูดเลือด ถ้าหมาตายมันก็กระโดดหนี (แต่ถ้าหมามัน "อ้วนพี" คงไม่หนีง่ายๆ ต่อให้หมาถูกเนรเทศไปอยู่เกาะ หรือไปอยู่ดาวอังคาร เห็บมันก็ยังตามไปดูดเลือดอยู่ดี)


 


และขอเพิ่มความเห็นส่วนตัวให้แก่ทฤษฎีนี้อีกสักนิด คือถ้าหากหมามันเรียกร้องบุญคุณเอากับเห็บมากๆ เกินกว่าที่เห็บจะมีปัญญาทำให้ได้ เห็บก็คงจะต้องเผ่นเหมือนกัน


 


คนไทยเราถูกสอนมาว่า ให้กตัญญูรู้คุณคน ใครทำดีกับเรา เราก็ต้องตอบแทน สุภาษิตจีนก็ว่า สุดยอดแห่งคุณธรรมคือความกตัญญู  จึงมีคนบางจำพวก ที่ใช้ "บุญคุณ"เป็นเครื่องมือ สร้างบุญคุณให้คนเคารพนับถือ ไม่กล้าปฏิเสธต่อคำขอร้อง (แกมบังคับ) บางพวกถึงขนาดใช้ "บุญคุณ" เป็นตัวประกัน สร้าง "ทาส" ในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ต่างจากยากูซ่าญี่ปุ่น ที่หลอกคนมากู้เงิน แล้วคิดดอกร้อยเท่า พอไม่มีเงินใช้ ก็บังคับให้ขายตัวใช้หนี้


 


ผมอ่าน "สามก๊ก" ไม่จบ แต่คลับคล้ายคลับคลาว่ามีตัวละครในเรื่องนี้บางตัวที่ใช้วิธีการดังว่านี้ นั่นแสดงว่า การใช้ "บุญคุณ" เป็นเครื่องมือ เป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว มาถึงปัจจุบันมันก็ยังใช้ได้อยู่ และจุดจบของคนพวกนี้ เท่าที่ผมทราบมักจะไม่ต่างกันนัก คือเมื่อผู้คนรู้ว่า อ้ายหมอนี่เป็นคนแบบนี้แล้ว เขาก็ "คว่ำบาตร" ไม่ยอมคบหา เท่านั้นเองละครับ


 


ไม่ใช่ว่า คนที่มีน้ำใจชอบช่วยเหลือคนอื่น จะเป็นคนประเภทนี้ไปเสียหมดนะครับ สังเกตดูดีๆ ว่าผู้คนที่คุณรู้จัก (หรือคุณ) มีน้ำใจหรือช่วยเหลือใคร แบบไหนกันแน่


 


เขาอาจจะเป็นคนมากน้ำใจจริงๆ ก็ได้ หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้


 


แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาขอร้องให้คุณทำอะไร โดยยกบุญคุณมาเอ่ยอ้าง ไม่ว่าคุณจะทำให้เขาได้หรือไม่ก็ตาม ขอให้คุณจำสุภาษิตจีนบทหนึ่งไว้ว่า"บุญคุณต้องตอบแทน แต่บุญคุณจะหมดเมื่อถูกทวงถาม"


 


ช่วงชีวิตหนึ่งผมได้เรียนรู้ว่า คนประเภทใช้ "บุญคุณ" เป็นเครื่องมือ อันตรายเสียยิ่งกว่า "ศัตรูที่มองเห็นตัว" เสียอีกนะครับ