Skip to main content

จากหญิงสู่ชาย : เอเรน ไอซูรา และการแปลงเพศในออสเตรเลีย

คอลัมน์/ชุมชน


 


ในช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกได้เห็นทีมฟุตบอลออสเตรเลียเข้ามาเล่นบอลโลกเป็นครั้งแรกในรอบ  32  ปี  ฉันได้มีโอกาสรู้จักกับ เอเรน ไอซูรา  หนุ่มชาวออสเตรเลียที่อยู่ในระหว่างการแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย 


 


ปกติในบ้านเราจะคุ้นเคยกันดีก็แต่การแปลงเพศจากชายเป็นหญิง หรือ MTF (Male to Female) ฉันเคยได้ยินมาบ้างว่า มีผู้หญิงที่แปลงเพศเป็นชาย  หรือ FTM (Female to Male)  แต่ไม่เคยได้เจอตัวจริง ๆ เสียที  ประสบการณ์นี้  จึงถือว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตฉันที่มีโอกาสได้พบกับคนที่เปลี่ยนเพศจากหญิงเป็นชาย 


 


เอเรนกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น  ในหัวข้อเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเดินทางมาแปลงเพศในประเทศไทย   เอเรนติดต่อฉันมาทางอีเมล์ก่อน  พร้อมกับบอกว่า เขาเป็น  "a queer FTM transperson"   ที่อยากจะพูดคุยเรื่องทรานสเจนเดอร์กับคนไทย  ฉันตอบตกลงโดยไม่ลังเลและนัดหมายเจอกับเขา  ฉันถามเขาว่าแล้วฉันจะหาคุณเจอได้ยังไง  เพราะที่ ๆ เรานัดเจอกัน  เป็นที่ ๆ มีฝรั่งมาแวะเวียนอยู่เป็นประจำ  เอเรนบอกว่า  เขาจะใส่เสื้อสีดำมา


 


แต่พอถึงวันนัด  เสื้อสีดำก็ไม่จำเป็น  ฉันเห็นเขามาแต่ไกล  ก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือเอเรน  เขาท่าทางเหมือนทอมบ้านเรานี่เอง  พอทักทายทำความรู้จักกันแล้ว  เอเรนก็เริ่มเล่าเรื่องการแปลงเพศในออสเตรเลียให้ฟัง 


 


เขาบอกว่า  การแปลงเพศในออสเตรเลียทำได้ยากมาก  การตัดสินใจเกือบจะทั้งหมดขึ้นอยู่ในมือของแพทย์  จะไปซื้อฮอร์โมนกินเองแบบบ้านเราก็ไม่ได้  เพราะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น  ในรัฐวิคตอเรียที่เอเรนอยู่  คนที่ต้องการจะแปลงเพศทุกคนต้องไปที่คลินิก ๆ หนึ่ง เพื่อให้แพทย์อนุมัติ คลินิกนี้เป็นของรัฐ  ซึ่งแพทย์ที่ทำงานในนี้  เอเรนบอกว่าค่อนข้างจะหัวเก่า  คือมีความคิดยึดมั่นอยู่กับกรอบความเป็นหญิง-ชายแบบเดิม ๆ  


 


คนที่ต้องการจะแปลงเพศ  ต้องพบกับจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสองปี  เพื่อให้จิตแพทย์รับรองว่าคน ๆ นี้  มีความเป็นอีกเพศหนึ่งจริง  ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่จะผ่านได้ง่าย ๆ เลย  รวมทั้งต้องมีฐานะที่มั่นคง  มีงานประจำทำ   การพบจิตแพทย์นั้น  จิตแพทย์จะสอบถามรายละเอียดทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องบนเตียง  สำหรับเอเรน  บางครั้งเขารู้สึกเหมือนจิตแพทย์ได้รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา  แต่จะไม่ตอบก็ไม่ได้  เพราะการแปลงเพศขึ้นอยู่ในมือของจิตแพทย์  ต่อเมื่อจิตแพทย์รับรองแล้วจึงจะส่งไปให้ศัลยแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดแปลงเพศ 


 


แต่ความยุ่งยากของกระบวนการไม่ได้จบลงที่การได้รับการยินยอมจากแพทย์  การผ่าตัดแปลงเพศนั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก  ตัวอย่างเช่น  การผ่าตัดเอาหน้าอกออก  อย่างน้อยก็ต้อง 200,000 บาท ขึ้นไป  ถ้าเป็นการเปลี่ยนอวัยวะเพศจากหญิงเป็นชาย  ราคาก็จะสูงขึ้นไปถึง 800,000 บาท  คนที่มีรายได้น้อย  คงไม่ต้องหวังที่จะได้แปลงเพศ  หรือไม่ก็ต้องทำงานเก็บเงินกันหลายปี


 


ฉันถามเอเรนว่า  แล้วประเทศคุณยอมรับการแปลงเพศแล้วหรือ  เอเรนตอบว่า  กฎหมายเรื่องการแปลงเพศนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ  บางรัฐก็ยอมรับแล้ว  และหลังจากการแปลงเพศ "โดยสมบูรณ์" ซึ่งหมายถึง  ทำการผ่าตัดทั้งหน้าอกและอวัยวะเพศแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนเพศและคำนำหน้านามในเอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น ใบเกิด  ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ตได้  ถ้ามาแปลงเพศที่เมืองไทย  ก็เพียงมีจดหมายจากศัลยแพทย์ไปยืนยันเท่านั้นก็สามารถได้รับการยอมรับจากรัฐแล้ว  นี่เป็นเหตุผลว่า  ทำไมชาวออสเตรเลียจึงเดินทางมาแปลงเพศที่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก  เพราะง่ายและถูกกว่าที่ออสเตรเลียมาก


 


แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการผ่าตัดโดยสมบูรณ์  เช่น อยากทำแต่หน้าอก  หรือใช้ฮอร์โมนเท่านั้น  ก็ไม่สามารถเปลี่ยนเพศและคำนำหน้านามในเอกสารทางการได้  และสำหรับคนที่อยู่ในรัฐที่ยังไม่ยอมรับการแปลงเพศ  คนที่แปลงเพศแล้วบางคนก็จะไม่เดินทางออกนอกประเทศ  หรือไม่ทำใบขับขี่อีกเลย  ชีวิตอีกหลายด้านก็ต้องถูกจำกัดลง  ข้อนี้ทำให้เห็นได้ว่า  ชีวิตของคนที่แปลงเพศนั้นถูกจำกัดโดยอำนาจรัฐอีกด้วย


 


กรณีของเอเรน  ตอนแรกเขาก็ใช้ชีวิตเป็นเลสเบี้ยน  จนในที่สุด  ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่เลสเบี้ยนแต่เป็นทรานสเจนเดอร์ (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า ทรานส์) และต้องการแปลงเพศ  เอเรนจึงต้องเข้าสู่ขบวนการที่ขึ้นอยู่กับแพทย์นี้  แต่จิตแพทย์ที่เขาไปพบ  เป็นคนหัวอนุรักษ์นิยม  คำว่าผู้ชายของเธอถูกจำกัดด้วยกรอบแบบเดิม ๆ  เช่นว่า  ผู้ชายต้องแข็งแกร่ง  แข็งกร้าว  แมน ๆ   แต่เอเรนไม่ใช่คนแบบนั้นเลย  จากการได้พูดคุยกับเขา  ฉันรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่อ่อนโยน  และมีหัวใจที่พร้อมจะเข้าใจผู้อื่น  ฉันเข้าใจได้ว่าทำไมเอเรนจึงไม่เข้ากรอบความเป็นชายในสายตาของจิตแพทย์นั้น  เอเรนต้องต่อสู้กับจิตแพทย์คนนี้มาก  หลาย ๆ ครั้งจิตแพทย์สั่งระงับการแปลงเพศของเขา  แต่ในที่สุด ผ่านไป 3 ปี  จิตแพทย์จึงตกลงให้เอเรนสอบ  "ผ่าน" ความเป็นชาย 


 


ฉันถามเขาว่า  ตอนที่ได้รับการอนุมัติให้แปลงเพศได้นั้น  รู้สึกอย่างไรบ้าง   


"ดีมากเลย  โล่งอก  ผ่อนคลาย  แล้วก็หยุดความกังวลได้เสียที"  เอเรนตอบ


 


ตัวเอเรนเองเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย  เริ่มจากตั้งแต่ศึกษางานของมาร์กซิสต์  แล้วมาอยู่ในขบวนการต่อต้าน World Economic Forum ที่จัดขึ้นที่ออสเตรเลีย ในปี 2001 ซึ่งทำให้เอเรนมีความเข้าใจในโครงสร้างอันอยุติธรรมของระบอบทุนนิยม และตระหนักดีว่า  ในฐานะคนขาว  เขามีอภิสิทธิ์เช่นไรบ้างในโลกใบนี้   ปี 2002  เอเรนร่วมในการประท้วงการจับกุมผู้อพยพทางเรือ ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย  ในการประท้วงนั้น  มีผู้อพยพหนีการคุมขังออกมา  และกลุ่มผู้ประท้วงได้ร่วมกันซ่อนผู้อพยพไว้  เอเรนคิดว่านี่เป็นจุดสำคัญในชีวิตของเขา  เพราะเขามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนจริง ๆ  ไม่ใช่เป็นเพียงแค่แนวความคิดอีกต่อไป


 


เอเรนยังมีส่วนร่วมอยู่ในขบวนการทรานสเจนเดอร์ของออสเตรเลียด้วย  กลุ่มของเอเรนมีชื่อว่า Trans Melbourne Gender Project  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องทรานสเจนเดอร์ต่อคนในสังคม  และต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมของคนที่มีเพศและเพศสภาวะอันแตกต่างไปจากที่กฎหมายรับรอง  คนที่เป็นทรานส์รุ่นใหม่ ๆ นั้นได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดจากสหรัฐอเมริกา  ในตัวขบวนการเองก็มีแนวคิดที่หลากหลายกันไป  มีคำใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมายเพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ  เช่น trannyboys,  trannygirls, sistergirls, brotherboys  สองคำหลังนั้นใช้อยู่ในกลุ่มทรานส์ที่เป็นคนพื้นเมืองหรืออะบอริจิน  ซึ่งในกลุ่มคนพื้นเมืองเองก็มีหลากหลายเผ่า  หลากหลายภาษา  แต่ทรานส์อะบอริจินที่มารวมกลุ่มกัน  ส่วนใหญ่จะเป็นชนพื้นเมืองที่เติบโตในเมือง


 


ฉันคุยกับเอเรนอยู่หลายชั่วโมง  แม้ว่าเราจะพูดถึงกรอบความเป็นผู้ชายที่สังคมมี  ฉันก็ยังคงไม่ได้คิดถึงกรอบของตัวเอง  จนกระทั่งฉันพูดเรื่องตลกขึ้นมาเรื่องหนึ่ง  โดยมีคำพูดว่า  "โอ๊ย  พวกเราน่ะไม่ใช่พวก baby dykes แล้วนะ"  คำว่า baby dykes หมายถึง เลสเบี้ยนรุ่นใหม่ ๆ  ท่าทางเบบี้ ๆ  และคำว่า พวกเรา ในที่นี้ฉันหมายรวมไปถึงเอเรนด้วย  หลังจากพูดไปแล้วฉันจึงคิดขึ้นมาได้และถามเขาว่า  "เหมาะรึเปล่าที่จะใช้คำว่า dyke กับคุณ"  "คงไม่เหมาะนัก"  เอเรนตอบ  แล้วก็ต้องมานั่งอธิบายตัวเองให้ฉันฟังอีกครั้ง 


 


คราวนี้ฉันถึงมองออกว่า  ฉันก็มีกรอบความเป็นชายอยู่ในหัวเหมือนกัน  ฉันใส่กรอบให้เอเรนไปว่า  เอเรนเป็น "เธอ" ไม่ใช่ "เขา"  เอเรนเป็น "ผู้หญิง"  ไม่ใช่ "ผู้ชาย"  เพียงเพราะเอเรนไม่มีความแข็งกร้าว  ไม่มีความแมนให้เห็น  หัวฉันเลยไม่ยอมให้เขาเป็นผู้ชายอย่างที่เขาอยากเป็น    


 


มีกรณีหนึ่งที่เอเรนเล่าให้ฟัง  เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นกรอบความเป็นชายนี้ได้ชัดเจน  มีผู้หญิงที่แปลงเพศเป็นชายแล้วคนหนึ่ง  ไปจดทะเบียนแต่งงานกับผู้หญิง  ในขณะนั้น  แม้ว่ารัฐวิคตอเรีย  จะอนุญาตให้ผู้ที่ผ่านการแปลงเพศแล้วเปลี่ยนเพศและคำนำหน้านามในเอกสารทางการได้  แต่ยังไม่อนุญาตให้แต่งงาน  รัฐจึงฟ้องคู่นี้ในข้อหาว่า  คนที่แปลงเพศแล้วนั้นไม่ใช่ผู้ชายแท้  ดังนั้นการแต่งงานจึงไม่ถูกกฎหมาย


 


ฉันถามเอเรนว่า  แล้วทำไมตอนแรกถึงยอมให้จดทะเบียนเล่า  เอเรนบอกว่า  เพราะคน ๆ นั้น เขาเหมือนผู้ชายมากจริง ๆ จนดูไม่ออก  อีกทั้งในเอกสารที่เอาไปแสดงก็เปลี่ยนเพศเป็นชายแล้ว 


 


คู่นี้สู้คดีโดยใช้พิสูจน์ให้เห็นว่า  คนที่แปลงเพศแล้วนั้นมี  "ความเป็นผู้ชายออสซี่แท้ ๆ"  หรือที่เรียกว่า  Aussie bloke   คือ  ต้องแมน ๆ  ตัวใหญ่  ชอบกินเบียร์  ลงพุง  ใส่รองเท้าหนังแบบพระเอกเรื่อง Crocodile Dundee  ชอบดูกีฬาที่แมน ๆ อย่างฟุตบอลออสเตรเลียน  หรือ คริกเกต  และที่สำคัญต้องชอบกินบาร์บีคิว 


 


ในที่สุดทั้งคู่ชนะคดี  และรัฐจึงอนุญาตให้คนที่แปลงเพศแล้วแต่งงานได้ตั้งแต่นั้นมา  แต่กลุ่มทรานสเจนเดอร์ฝ่ายเอเรนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้เช่นนี้  เพราะนี่เป็นการสู้ภายใต้กรอบความเป็นหญิงเป็นชายแบบเดิม ๆ  และไม่เปิดพื้นที่ให้กับคนที่แตกต่าง 


 


ใช่แล้ว  คนที่แตกต่างอย่างเอเรน  คงไม่มีทางต่อสู้ยืนยันกับรัฐได้ว่า  เขาเป็นชายออสซี่ขนานแท้  ผู้ชายอย่างเอเรนคงไม่ชอบความรุนแรงของฟุตบอลออสเตรเลียน  ไม่ได้ตัวใหญ่ลงพุง  ที่สำคัญคือเอเรนไม่ชอบกินบาร์บีคิวเสียด้วย 


 


แต่เท่าที่ฉันเห็น  ฉันพอจะมองได้ว่า  ผู้ชายอย่างเอเรนเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน  เข้าอกเข้าใจผู้อื่น  ใส่ใจและต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม  ปฏิบัติต่อคนเอเชียอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบ  แหม...ช่างน่าอิจฉาแฟนเอเรนเสียจริง !


 


อ๊ะ ๆ อย่า...  อย่าเพิ่งจินตนาการไปว่าแฟนของเอเรนจะเป็นหญิงสาวสวยผมยาว  ตามกรอบความเป็นหญิง  อย่างที่ฉันเผลอคิดไปแล้ว  เอเรนเล่าว่า  แฟนของเขาน่ะดูแมนกว่าเขาหลายเท่ายิ่งนัก  คนส่วนใหญ่เวลาเห็นเอเรนกับแฟนจะนึกว่า  เอเรนเป็นดี้และแฟนเอเรนเป็นทอม !!!


 


เรื่องนี้ฉันฟังแล้วก็อึ้งไปพักหนึ่ง  จากนั้นจึงได้ยินเสียงดัง  "เปรี้ยง" จากภายใน 


กรอบความเป็นหญิง – ชายของฉันถูกทำลายลงอย่างยับเยินนั่นเอง


 


ก่อนจากกัน  เอเรนบอกว่า  ปีหน้าจะกลับมาเก็บข้อมูลอีกครั้ง  และจะพาแฟนมาด้วย


 


ฉันคิดในใจว่า  ยังมีเวลาอีกหนึ่งปี  ในการเตรียมตัวรับมือ  ไม่รู้ว่าสองคนนี้จะมาทำลายกรอบต่าง ๆ ที่ฉันยึดถือมานมนานอีกเพียงใด


 


อย่างไรก็ดี ฉันก็นึกขอบคุณเอเรน  ที่ทำให้ฉันได้เห็นความหลากหลายทางเพศมากขึ้น  และได้เรียนรู้มากขึ้นว่า  คนที่ต้องการแปลงเพศนั้นต้องต่อสู้มากแค่ไหน  ทั้งกับอำนาจทางการแพทย์และอำนาจของรัฐ  เพื่อให้ได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น  ทั้งอำนาจทางการแพทย์และอำนาจของรัฐนี้ก็ได้รับผลอย่างมากจากอคติของคนในสังคม  จนทำให้จำกัดคำว่า  หญิง-ชาย อยู่เพียงในกรอบแคบๆ  คนที่แตกต่าง และไม่สามารถอยู่ในกรอบอันน่าอึดอัดนั้นได้  จึงต้องลงมือลงแรง  ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมเช่นคนอื่น ๆ  


 


กว่าที่ทรานส์สักคนจะรู้สึกว่า  "ดีมากเลย  โล่งอก  ผ่อนคลาย  แล้วก็หยุดความกังวลได้เสียที"  อย่างที่เอเรนรู้สึก  คงต้องผ่านการต่อสู้มานักต่อนัก  และตราบใดที่อคติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงอยู่  คงจะต้องมีอีกหลายคนที่ในชีวิตไม่มีโอกาสได้รู้สึกเช่นนี้


 


------------------------------------------------------------------------------------


 


* เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของกลุ่ม Trans Melbourne Gender Project ได้ที่ www.genderproject.net.au   เว็บยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง  เอเรนบอกว่า  จะทำให้สมบูรณ์ในเร็ววันนี้