Skip to main content

เจ้าสาวต่างชาติ

คอลัมน์/ชุมชน

ในตอนอวสานของภาพยนตร์ไทยมักจบลงที่พระเอกและนางเอกได้แต่งงานกัน มีการสวมแหวนแต่งงานให้กันและกัน และผู้คนก็เข้ามาร่วมยินดีกันอย่างพร้อมหน้า ทุก ๆ คนมีสีหน้าที่เต็มไปด้วยความสุขสดชื่น คู่บ่าวสาวนั้นควรจะเป็นคู่ที่มีความสุขที่สุดในโลก แน่นอน นั่นคือเรื่องสมมติที่คนอยากให้เป็น แต่ในชีวิตจริง การแต่งงานนั้นเป็นเพียงปฐมบทแห่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะตามมาเท่านั้น


แน่นอนว่า คนหนุ่มสาวล้วนแล้วแต่ฝันถึงบรรยากาศโรแมนติกของการแต่งงาน คนจำนวนไม่น้อยได้แต่งงานกับคนที่รัก และก็มีความสุขที่สุดในวันแต่งงาน แต่หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคู่ ทว่า ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่การแต่งงานไม่ใช่เรื่องของความโรแมนติกเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเรื่องการต้องการมีชีวิตอยู่ จะด้วยทุกข์หรือสุขก็ล้วนแล้วแต่ ‘ โชคชะตา’ กำหนด ที่จะต้องเสี่ยงกันเอาเอง เชื่อหรือไม่ว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่หวังเพียงการมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยที่ไม่รู้จักความสุขเลยแม้แต่น้อย



1


หญา (นามสมมติ) หญิงสาวที่ดูจากหน้าตาแล้วไม่น่าจะมีอายุเกิน 25 ปี เธอดูจะมีความไม่มั่นใจเลยแม้แต่น้อยในขณะพูดคุยกัน แม้ว่าจะมีเพื่อน ๆ ที่เป็นชาวเวียดนามเหมือนกันและหญิงต่างชาติอื่น ๆ ที่แต่งงานกับชายไต้หวันเหมือน ๆ กับเธอมานั่งอยู่ด้วย


เธอจากเวียดนามโดยแต่งงานกับสามีชาวไต้หวัน ผ่านการแนะนำจากคนข้างบ้าน (หรือจริง ๆ แล้วคือนายหน้า) มาได้ 10 ปีแล้ว เธอบอกว่าขณะนี้เธอเป็นแม่ของลูก 3 คน โดยที่ 10 ปีที่ไต้หวันของเธอนั้น เธอไม่ได้รู้จักอะไรเกี่ยวกับไต้หวันหรือแม้กระทั่งไทเปเมืองที่เธออยู่เลย ก็เธอมีชีวิตอยู่เฉพาะในบ้านเท่านั้น โดยมีหน้าที่ดูแลลูก ๆ 3 คนที่บ้านและช่วยแม่สามีที่ร้านขายของชำที่บ้าน เรื่องเงินทองนั้นเธอไม่เคยได้จับต้อง เพราะข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัวของเธอก็จัดการโดยสามีของเธอ


เธอบอกว่าสามีของเธอเป็นคนดี เพราะไม่เคยทุบตีเธอเลย และทุก ๆ 3 ปีก็อนุญาตให้เธอไปเยี่ยมพ่อแม่ได้ 1 ครั้ง โดยสามีจะให้เงินติดตัวไปให้พ่อแม่ที่โฮจิมินห์ ซิตี้ ประมาณ 1,400 เหรียญสหรัฐฯ (5.6 หมื่นบาท) แต่รอบหน้าจะต้องรออีก 4 ปี โดยรวมแล้วเธอคิดว่าชีวิตของเธอก็ไม่เลวร้ายนัก เพราะเธอก็มีอาหารกินทุกมื้อ มีเสื้อผ้าใส่ และไม่ถูกทุบตี แม้ว่าเธอจะไม่ค่อยได้ออกไปไหนก็ตาม เพราะตอนที่อยู่ที่เวียดนามนั้นเธอก็ไม่ได้ไปไหนเช่นกัน เพราะเธอเคยไปช่วยงานที่ร้านเสริมสวย ชีวิตเธอจึงมีเพียงบ้านและร้านเสริมสวยเท่านั้น


อย่างน้อย อยู่ที่นี่เธอก็โชคดีที่ไม่ได้ถูกเอาไปขายซ่องเหมือนที่คนอื่น ๆ เคยโดน ที่สำคัญเธอได้ทำหน้าที่ลูกที่ดีแล้วด้วย เพราะก็ได้เอาเงินไปให้พ่อแม่ทุก ๆ 3 ปี แม่ก็ดีใจที่รู้ว่าเธอจะไม่โดน " ขายซ่อง" และยังมีโอกาสได้เห็นหน้าเธออีก แม้บ่อยนักก็ตาม


นี่เป็นเพียงความต้องการแบบง่าย ๆ สำหรับคน ๆ หนึ่งที่ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น เธอพอใจกับชีวิตแบบนี้ แต่ไม่รู้เลยว่าความพอใจกับความสุขนั้นจะเป็นคำ ๆ เดียวกันหรือไม่ หรือนี่คือความสุขของเธอแล้ว หรือว่าจริง ๆ แล้วเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความสุขคืออะไร แต่เธอก็พอใจ เพราะที่นี่อาจจะดีกว่าที่ที่เธอจากมา


อย่างไรก็ตาม แม้เธอจะอยู่ไต้หวันมาจนถึงขณะนี้ 10 ปีแล้ว แต่เธอก็ยังไม่ได้รับสถานะพลเมืองไต้หวัน ซึ่งการไม่ได้เป็นพลเมืองนั้น หมายถึงเธอจะไม่สามารถเข้าโรงเรียน ( ภาษาจีน) ไม่สามารถออกไปข้างนอกพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้การเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ยากไปด้วย ไม่สามารถมีใบขับขี่ และหากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างเธอกับสามี เธอก็ไม่มีสถานะใด ๆ ที่จะไปฟ้องร้องหรือจัดการทางกฎหมายได้ ถึงแม้จะมีทะเบียนสมรสแต่เธอก็ไม่ใช่พลเมือง เธออาจถูกเนรเทศออกนอกประเทศ และการกลับเข้าประเทศอีกครั้งก็อาจจะทำให้เธอไม่สามารถเดินทางไปที่ไหนได้อีก


แต่แม้จะได้สัญชาติไต้หวันแล้ว เธอก็ยังไม่รู้เลยว่าหากหย่าขาดจากสามีไป เธอจะกลายเป็นคนที่ไร้สัญชาติไปโดยปริยาย เนื่องจากกฎหมายไต้หวันยกเลิกสัญชาติของเธอเมื่อหย่าขาดกับสามี ในขณะเดียวกัน ตามกฎหมายของเวียดนามเอง หากใครก็ตามไปขอสัญชาติอื่นแล้วก็จะถูกยกเลิกสัญชาติเวียดนามไปโดยอัตโนมัติ เท่ากับว่า หากเธอไม่มีความสุข เธอก็จำเป็นที่จะต้องทนเพราะการหย่าจะทำให้เธอไร้สัญชาติ


 


2


 


ผู้หญิงจากเวียดนามไม่ได้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของปรากฏการณ์เช่นนี้ ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควรที่ได้ตัดสินใจทั้งด้วยความเต็มใจ หรือโดยล่อลวง หรือด้วยความจำเป็นบังคับให้ต้องกลายเป็น ‘ เจ้าสาวของชายต่างชาติ’ โดยที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบของนิยายรักโรแมนติกใด ๆ


ในอดีต สมัยจีไอครองเมือง เราก็คงจะได้เห็นผู้หญิงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควงคู่ทหารอเมริกัน หลายคนพบเรื่องราวแห่งความสำเร็จ ได้ดิบได้ดี ฐานะดีขึ้น และอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องพบความล้มเหลวและจมอยู่กับความทุกข์ทรมาน


ปัจจุบัน ผู้หญิงจากประเทศในเอเชียอาคเนย์กำลังเป็นตำนานใหม่ของเจ้าสาวต่างชาติของชาวไต้หวัน ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจของไต้หวันที่ดีขึ้น ผู้หญิงไต้หวันมีการศึกษาสูงขึ้น ผู้ชายที่อยู่ในชนชั้นแรงงานหรือมีการศึกษาต่ำ นับวันจะหาคู่ที่เป็นชาวไต้หวันด้วยกันยากขึ้นทุกที ประกอบกับการลงทุนของไต้หวันในต่างประเทศก็มีมากขึ้น ภาพรวมฐานะทางเศรษฐกิจของชาวไต้หวันจึงดูดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ


ปัจจุบัน มีผู้หญิงจากหลายประเทศ ตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยผ่านทั้งทางนายหน้าจัดหา และตามสั่งทางจดหมายหรืออินเตอร์เน็ต ผู้หญิงเหล่านี้ก็ได้เดินทางไปอยู่ที่ไต้หวันโดยที่บางคนได้มีโอกาสเห็นเจ้าบ่าวของตัวเองก่อนหน้าที่จะแต่งงานกันเพียง 1 อาทิตย์เท่านั้น หรือบางคนถึงกับไม่เคยเห็นตัวจริง เห็นผ่านทางรูปภาพเท่านั้น ผู้ชายเหล่านี้จะให้เงินแก่พ่อแม่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งแล้วรับตัวผู้หญิงไป


อย่างเช่น เลิฟลี หญิงสาวจากฟิลิปปินส์ ที่มีผู้ชายชาวไต้หวันติดต่อผ่านทางพ่อสื่อที่เป็นเพื่อนบ้านโดยบอกว่า มีชาวไต้หวันที่ร่ำรวยสนใจจะแต่งงานด้วย การแต่งงานครั้งนี้จะทำให้ครอบครัวของเธอสบายขึ้น ในที่สุด เธอก็ได้ไปสัมภาษณ์ 1 อาทิตย์จากนั้นเธอตอบตกลงและแต่งงานกันในวันนั้นเอง โดยพ่อแม่เธอได้เงิน 1 ก้อนประมาณ 4 หมื่นเปโซ ( เกือบ ๆ 3 หมื่นบาท) อีก 1 เดือนต่อมา เธอก็ต้องหลบหนีออกมาจากบ้านหลังนั้นเพราะทนการทารุณกรรมจากสามีไม่ไหว รวมทั้งการเหยียดหยามและกดขี่จากจากคนในครอบครัวของสาม


ขณะนี้ ยังมีผู้หญิงฟิลิปปินส์อีกจำนวนไม่น้อยที่มาเป็นเจ้าสาวตามสั่งทางจดหมายหรืออีเมล์โดยเจ้าบ่าวไต้หวัน ซึ่งบรรดาชายไต้หวันที่หาคู่ผ่านทางบริษัทจัดหาคู่ส่วนใหญ่นั้น อย่างที่ได้ว่าไปแล้วว่า เป็นผู้คนในระดับชนชั้นแรงงานซึ่งไม่ได้มีฐานะร่ำรวยหรือไม่ได้มีการศึกษามากมาย และมักต้องการผู้หญิงมาเพื่อให้มีลูกกับตน หรือ มาใช้งานด้วยในตัว มีผู้หญิงบางคนถูกจับคู่ให้กับผู้ชายโดยผ่านแคตตาล็อก ฝ่ายชายก็จะดูรูปและเช็คประวัติโดยย่อและเลือกคนที่เขาสนใจจะแต่งงานด้วย หากผู้หญิงยินยอมก็จัดการออกตั๋วเครื่องบินและทำวีซ่าให้ไปที่ไต้หวัน แล้วเรื่องราวต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น


ดานูซ หญิงสาวชาวฟิลิปปินส์ในข้อมูลของนายหน้าหาคู่นั้นกรอกเอาไว้ว่า เธอเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ แต่คืนแรกหลังจากการแต่งงานเจ้าบ่าวพบว่าเธอไม่บริสุทธิ์ จากนั้นเธอก็ไม่ได้รับการใยดีจากสามีเธอเลย เธอต้องทนอยู่กับความทุกข์ระทมนานาจนกระทั่งต้องหนีออกจากบ้านมา โชคดีที่ได้เจอองค์กรเพื่อช่วยเหลือหญิงฟิลิปปินส์ย้ายถิ่นช่วยเธอเอาไว้ได้



3


บรรดาหญิงต่างชาติชาวเอเชียที่ไปแต่งงานกับคนไต้หวันโดยผ่านนายหน้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่เป็นชนชั้นแรงงานหรือมีการศึกษาต่ำหรือไร้การศึกษา หรือกลุ่มคนที่ไปทำงานในไต้หวันก็มักจะทำงานเป็นแรงงาน หรือเป็นคนรับใช้ในบ้าน ดังนั้น ชาวไต้หวันเองจึงมีความคิดค่อนข้างดูถูกกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ ผู้หญิงที่ไปแต่งงานจึงถูกปฏิบัติจากครอบครัวไต้หวันเยี่ยงคนรับใช้เท่านั้น เมื่อมีลูกและส่งลูกไปโรงเรียน พวกเธอก็พบกับทัศนคติที่แบ่งแยกและเหยียดหยามจนหลายคนรับไม่ได้ มีแม่คนหนึ่งน้ำตาตก เมื่อเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งได้ยินชาวไต้หวันพูดถึงลูกของตัวเองที่ว่า เด็กลูกครึ่งพวกนั้นโง่



แต่ถ้าถามว่าเมื่อมีปัญหาขนาดนี้แล้ว ทำไมผู้หญิงเหล่านี้ถึงยังต้องออกไปแต่งงานกับคนที่ไม่เคยรู้จักอย่างนั้น และทำไมถึงมีคนที่ยอมเสี่ยงแล้วเสี่ยงอีก คำตอบก็คงจะเป็นแบบเดียวกับเวลาที่คนชอบตั้งคำถามกับผู้หญิงไทย บางคนที่แม้ว่าจะยังสาวยังแส้ อายุแค่ 20 ต้น ๆ แต่ทำไมถึงยอมไปแต่งงานกับฝรั่งคราวลุง คราวปู่ หน้าเหี่ยว ๆพุงโต ๆ หัวล้าน ๆ ผิวตกกระได้ลงคอ คำตอบเดียวก็คือ " เพื่อชีวิตที่ดีกว่า"


คงมีหลายคนคิดเถียงว่าดีกว่าอะไร ก็ดีกว่าจะต้องจน ไม่มีจะกิน หรือดีกว่าที่จะเห็นพ่อแม่ลำบาก กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุจะเกิดมาจากความยากจนทั้งหมดทีเดียวแต่การต้องการชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องจนมากก็ได้ เพียงแต่อาจจะยังมีความเป็นอยู่ไม่ดีเท่าที่พึงจะเป็น หลาย ๆ คนต้องจากมาเพราะความกดดันจากชุมชน เพราะอย่างเช่นกรณีผู้หญิงเวียดนามในชนบทที่อายุมากแล้ว หากยังไม่แต่งงานก็กลายเป็น ‘ ขี้ปาก’ ของ ‘ ขาเม้าท์’ ประจำหมู่บ้านอีก จึงต้องรีบแต่งงานเสียทันทีที่แต่งได้ แม้จะไม่มีความรักก็ตาม เพราะว่า ความโรแมนติกกินไม่ได้


รื่องราวของการย้ายถิ่นนั้นไม่ว่าจะของใครก็น่าจะเพื่อชีวิตที่ดีกว่าทั้งสิ้น ดังได้เห็นมิสยูนิเวิร์สของปีนี้ เธอก็ย้ายถิ่นมาจากรัสเซียมาอยู่ที่แคนาดา และโชคดีที่เธอได้ชีวิตที่ดีกว่าจริง ๆ แต่ยังมีคนอีกมากมายที่ยังไม่พบจุดนั้นหรือพบสิ่งที่เลวร้ายกว่าที่ ๆ เดินจากมาเสียอีก เพราะภายใต้ขบวนการนายหน้าหาคู่นี้เอง หลาย ๆ ครั้งก็คือขบวนการการค้ามนุษย์ ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาพอันเลวร้าย


หลาย ๆ ครั้ง เรื่องราวของผู้ประสบความสำเร็จนั่นเองที่ถูกนำเสนอออกไปที่ไปกระตุ้นให้คนอื่นทดลองดูด้วย แต่จะว่าไปก็ ใช่ว่าเรื่องราวของผู้ที่ล้มเหลวนั้นจะไม่เคยมีใครมาพูดถึง แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่คิดว่านั่นเป็น " โชคร้าย" ซึ่งคงจะ " ไม่ใช่เรา" หรอก อย่างพ่อแม่ของหญา ชาวเวียดนาม ก็กังวลอยู่ว่าลูกอาจจะถูกนำไปขายซ่องและอาจจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว แต่อีกใจก็คงหวังว่าจะไม่โชคร้าย เพราะไม่เช่นนั้นก็คงจะไม่ยอมให้ลูกออกมาตั้งแต่ต้น


ส่วนที่ว่าเป็น " ชะตากรรม " ของผู้คนเหล่านี้ รัฐบาลหรือคนแต่ละประเทศเองก็ไม่ควรคิดว่านี่เป็นเรื่องของ โชคชะตา ของพลเมืองของประเทศตัวเอง เพราะรากของเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นจากทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี และการทำงานของรัฐบาลเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน การที่ประชาชนคิดออกไปเสี่ยงนอกประเทศมากเท่าไรก็สะท้อนถึงความล้มเหลวที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีได้เท่านั้น


รัฐบาลเองจึงควรมีส่วนรับผิดชอบในการป้องกันและช่วยเหลือ ทำให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองตัวเองดีขึ้น เพื่อคนที่จะตัดสินใจเสี่ยงตายเอาดาบหน้าจะได้น้อยลง และปัญหาอื่น ๆ ก็จะน้อยลงไปด้วย ในระดับประชาชนเองนั้นคงจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการให้ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีเชื้อชาติเดียวกับเราหรือไม่ก็ตาม