Skip to main content

รักษ์แม่น้ำจัน กตัญญูในหลวง

คอลัมน์/ชุมชน

ภาพที่ในหลวงทรงประทับยืนหน้าสีหบัญชร ทรงโบกพระหัตถ์ให้พสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าถวายพระพร ด้วยพระพักตร์และสายพระเนตรที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา เป็นภาพที่ตราตรึงในใจของประชาชนไทยทุกหมู่เหล่า ผู้เป็น "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" ทุกครั้งที่ระลึกถึง ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพ ความตื้นตัน ปีติ และความกตัญญูก็เปี่ยมล้น พร้อมที่จะอุทิศตน อุทิศชีวิต กตัญญูต่อ "พ่อของแผ่นดิน" อย่างสุดจิต สุดใจ


 


ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นับว่ามีบุญเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวง พ่อของแผ่นดินถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ เสด็จฯ พร้อมกัน ๔ พระองค์ คือ ในหลวง พระราชินี พระเทพรัตนฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ครั้งที่ ๒ เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๒๓ เสด็จฯ ๓ พระองค์ คือในหลวง พระเทพรัตนฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และครั้งทีสาม ต้นปี ๒๕๒๔  ในหลวง กับพระเทพรัตนฯ


 


 



ในหลวงเสด็จเยือนลุ่มน้ำแม่จัน


 


หมู่บ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย คือสถานที่รับเสด็จในปีแรก พ.ศ. ๒๕๒๓ ประชาชนพากันมารอรับเสด็จเต็มสนามโรงเรียน ตั้งแต่ก่อนแปดโมงเช้า ด้วยความจงรักภักดี ทั้งที่รู้ว่าหมายกำหนดการจะเสด็จมาถึง ๕ โมงเย็น


 


เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจอดที่ทุ่งนาหน้าหมู่บ้าน ในหลวง พระราชินี พระเทพรัตนฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงพระราชดำเนินผ่านสะพานข้ามแม่น้ำจัน มายังหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปางสา ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำจากหมู่บ้านในลุ่มน้ำแม่จันรอเฝ้ารับเสด็จ เพื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอพระราชทานที่ดินทำกินและฝายกั้นน้ำที่บริเวณบ้านโป่งป่าแขม  ตามที่นายธนูชัย ดีเทศน์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปางสา ได้กราบทูลหารือต่อองค์อำนวยการโครงการหลวง (หม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี)  ไว้ล่วงหน้าแล้ว


 


ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ทำให้ผู้นำหมู่บ้านที่เคยมีความขัดแย้งกันเรื่องการแย่งที่ทำกิน พากันยินยอมตามพระราชดำริ ที่จะพระราชทานฝายกั้นน้ำในห้วยโป่งขม เพื่อให้ชาวบ้านได้ดึงน้ำมาเข้าพื้นที่ สามารถปรับเป็นที่นาได้ ๒๐๐–๓๐๐ ไร่ โดยนายอำเภอแม่จันกับหัวหน้าหน่วยฯ บ้านปางสา จะดำเนินการร่วมกับผู้นำชุมชน ในการจัดสรรพื้นที่ให้ราษฎรบ้านโป่งป่าแขม โป่งขม เล่าฝู่ ปางสา และจะหยี อย่างเป็นธรรม รวมประมาณ ๔๐ ครอบครัว โดยกรมชลประทานรับสนองพระราชดำริเรื่องการก่อสร้างฝาย


 


เมื่อในหลวงเสด็จมาถึงโรงเรียน ผู้นำอาวุโสชาวลีซู ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติทำพิธีผูกสายสิญจน์ข้อพระกร ถวายพระพรตามประเพณี เป็นการแสดงถึงความเคารพอย่างสูงสุด


 


พระราชินี พระเทพรัตนฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ที่สนามโรงเรียน แม่หญิงชาวลีซู ลาหู่ เย้า อาข่า และจีนฮ่อ ทูลเกล้าถวายงานฝีมือ คือ ผ้าปัก เสื้อปัก และถุงย่าม โดยที่ทรงพระราชทานเงินก้นถุงตอบแทนทุกราย


 


นอกจากนั้น ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการรักษาโรคให้ชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบแพทย์ เป็นความปลื้มปิติของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เดินทางมาจากหมู่บ้านห่างไกล ต้องเดินเท้าหลายชั่วโมงเพื่อที่จะได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด  ในวันนั้นกว่าจะทุกพระองค์จะเสด็จกลับก็เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินลับขอบฟ้าไปไม่นาน ก็เกิดพายุลูกเห็บตกหนักขาวโพลนทั่วพื้นดินหนาหลายนิ้ว นั่นนับเป็นพายุลูกเห็บที่มีปริมาณมากที่สุดในช่วงเวลา ๓๒ ปี ที่ดิฉันได้มาอยู่เชียงราย


 


ต้นปี ๒๕๒๓ เป็นปีที่สองของการเสด็จเยือนลุ่มน้ำแม่จันที่บ้านปางสา  ในหลวง พระเทพรัตนฯ และเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงมีเวลาอยู่ที่หมู่บ้านปางสามากกว่าครั้งแรก โดยทรงเสวยพระกระยาหารกลางวันใต้ร่มไม้ใหญ่ริมน้ำแม่จัน ชาวบ้านปางสาร่วมใจกันสร้างสะพานไม้ไผ่ใหม่เอี่ยมให้ทรงดำเนินข้ามน้ำแม่จัน จากฝั่งทุ่งนามายังฝั่งหมู่บ้าน พร้อมทั้งทำโต๊ะ เก้าอี้ ด้วยไม้ไผ่ ถวายเป็นที่ประทับเสวยพระกระยาอาหาร กลิ่นไม้ไผ่หอมกรุ่น เป็นความปลาบปลื้มที่ได้ถวายสิ่งที่ดีที่สุดของหมู่บ้านแด่พระองค์ท่าน


 


เมื่อทรงเสวยแล้ว ผู้เฒ่าชาวลีซู คือนายอาเหล เบียะผะ พร้อมครอบครัว ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จประทับเสวยน้ำชาในกระท่อมดิน ชาดังกล่าวเป็นใบชาที่ปลูกเองจากสวนหลังบ้าน เป็นชาบริสุทธิ์ปลอดสารพิษ ชงด้วยน้ำร้อนที่ต้มจากกาน้ำบนเตาฟืน


 


บรรยากาศในบ้านพ่อเฒ่าอบอวลด้วยความสุข ในหลวง พระเทพรัตนฯ และเจ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงประทับบนเก้าอี้ไม้ บนโต๊ะมีกาน้ำชาและถ้วยกระเบื้อง สัปปะรดจากไร่ปอกใส่จานให้เสวย มีแจกันไม้ไผ่ประดับด้วยดอกชบาริมรั้วสีชมพู แม่เฒ่าถวายถุงย่ามที่ทอเอง แด่พระเทพรัตนฯ  และเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ  ซึ่งทรงรับมาสะพายไว้ทันที ทำให้แม่เฒ่ายิ้มแก้มปริด้วยความภาคภูมิใจ


 


พระเทพรัตนฯ ตรัสถามว่าแม่เฒ่าอายุเท่าไหร่ แม่เฒ่าตอบเป็นภาษาลีซูว่า อายุ ๔๗ ปี  ทั้งสามพระองค์ทรงพระสรวล พระเทพรัตนฯ ตรัสว่า สมเด็จแม่ทรงพระชนม์ ๔๘ พรรษาแล้ว แต่ยังทรงพระสิริโฉม


 


ยุ้งฉางสหกรณ์บ้านปางสา คืองานที่ทรงชื่นชม กรณีชาวบ้านรวมตัวกันซื้อขายผลผลิตโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง จากนั้นเสด็จเยี่ยมโรงเรียนที่เป็นหลังคามุงหญ้าคา ฝาเป็นไม้ไผ่สับทุบเป็นแผ่น ทรงพระราชทานเงินก้นถุง ๕,๐๐๐ บาท เพื่อปรับปรุงอาคารเรียนให้แข็งแรงขึ้น และพระราชทานถุงของขวัญให้แก่ผู้นำหมู่บ้าน ครู และเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปางสา


 


สวนผักแปลงรวมที่ชาวบ้านกว่า ๒๐ ครอบครัว มาปลูกผักร่วมกันบริเวณใกล้ที่ทำการหน่วยฯ บ้านปางสา ริมน้ำแม่จัน คืออีกงานหนึ่งของชาวบ้านที่ในหลวงทรงรับสั่งชมเชย ทรงพระดำเนินเร็ว ด้วยพระพลานามัยสมบูรณ์ ทรงแย้มพระสรวล เมื่อทอดพระเนตรเห็นแปลงผักฤดูหนาว คือ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ  คะน้า  ผักกาดขาว  ผักกาดหอม  ผักชี ฯลฯ เจริญงอกงามด้วยดิน  น้ำ  และปุ๋ยธรรมชาติอันอุดม


 


น้ำแม่จันที่ไหลมาเลี้ยงแปลงผัก ใสแจ๋ว บริสุทธิ์ เพราะป่าไม้ยังสมบูรณ์ น้ำค้างยามเช้าก็ช่วยพร่างพรมให้พืชพันธุ์ ได้รับความชุ่มชื่นอย่างพอเพียง


 


ปีที่สาม ของการเสด็จเยือนลุ่มแม่น้ำจัน ในหลวงเสด็จพร้อมพระเทพรัตน ฯ โดยเสด็จตรงไปที่ฝายโป่งขม เพื่อติดตามงานของกรมชลประทาน เมื่อทรงทราบจากการถวายรายงานว่า ชาวว้าจำนวนหลายร้อยคน เพิ่งอพยพเข้ามาตั้งเพิงพัก ในพื้นที่ที่จะทรงพระราชทานเป็นที่นา ก็ทรงห่วงใย ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินดูสถานการณ์ แล้วทรงแนะนำให้ทางการจัดพื้นที่ให้กลุ่มว้าอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม


 


สามปีแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อพสกนิกรชาติพันธุ์ต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำจัน ยังคงตราตรึงอยู่ในใจของทุกคน ที่จะนำแนวพระราชดำริใส่เกล้าใส่กระหม่อม ปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของทุกคนในแผ่นดินพ่อ    


 


ปี ๒๕๕๒ จะครบ ๓๐ ปี ที่ในหลวงทรงเสด็จลุ่มน้ำแม่จัน นับจากปีแรกที่ทรงเสด็จเยี่ยมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในลุ่มน้ำแม่จัน ประชากรหนาแน่นขึ้น ชุมชนขยายเพิ่มขึ้น พื้นที่ทั้งลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำที่ป่าชายแดนไทยพม่าตลอดถึงท้ายน้ำที่ตำบลจันจว้า รวม ๕๕๑ ตารางกิโลเมตร (๓๓๔,๓๗๕ ไร่) ความยาวของแม่น้ำตลอดสาย ๗๐ กิโลเมตร ครอบคลุม ๑๑ ตำบล ๒ เทศบาล มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ  ๕,๔๙๔ คน ส่วนใหญ่เป็นชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งมีวิถีชีวิตพึ่งพาป่า


 


พื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำ เป็นที่ราบลุ่มส่วนใหญ่ มีชาวไทยพื้นราบอาศัยอยู่ในตัวอำเภอแม่จันเป็นศูนย์กลางของส่วนราชการ ธุรกิจ การค้า และการเกษตร มีประชากร ๕๗,๘๙๓ คน


 


พื้นที่ท้ายน้ำ เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำแม่จันมีระบบจัดการน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกร เรียกพื้นที่นี้ว่า "จันจว้า" ซึ่งน้ำแม่จันถูกใช้ไปเกือบหมดแล้วบรรจบกับน้ำแม่คำที่ตำบลจันจว้า ประชากรท้ายน้ำจำนวน ๕๐,๑๔๕  คน


 


ปัจจุบันความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ในอำเภอแม่จัน ประมาณ ๒๒๒ คน ต่อ ๑ ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านรวม ๑๓๒ หมู่บ้าน หน่วยงานพัฒนาภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และ องค์กรศาสนาต่างๆ เข้ามาสู่ลุ่มน้ำแม่จันมากมาย โดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) ซึ่ง ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง เป็นประธาน เป็นองค์กรแรกที่เข้าดำเนินงานโครงการการศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ในพื้นที่ต้นน้ำชายแดนไทย–พม่า ๑๐ หมู่บ้าน ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย ตลอดจนหน่วยงานราชการอื่นๆ ในพื้นที่ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการชาวเขาจังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๒๙ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ลาหู่ ลีซู ได้ใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ในการอนุรักษ์น้ำต้นน้ำ มีระบบการจัดการป่าไม้ ที่ดิน และทำการเกษตรอย่างสมดุลย์ยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ของมูลนิธิฯ ที่ว่า "เพื่อความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ"


 


กระแสการพัฒนาที่มุ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจ และโลกาภิวัตน์ถาโถมเข้าสู่ชุมชนแม่จันอย่างตั้งตัวเกือบไม่ทัน ขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังเคารพผีป่า ผีดอย ผีน้ำ ผีฟ้า และผีบรรพบุรุษ เมื่อจะใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เพื่อเป็นที่ทำกินแค่พอยังชีพ ก็จะทำพิธีขอขมา ขออนุญาตใช้อย่างพอเพียงด้วยความเคารพ ผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีตลอดปี


 


พืชเชิงเดี่ยวทั้งชนิดอายุสั้น เช่น ข้าวโพด กะหล่ำปลี พืชยืนต้น เช่น ส้ม รุกเข้ามาทำให้เกษตรกรบนดอยสูญเสียการพึ่งตนเอง เกษตรกรต้องพึ่งพาบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยการซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกทุกปี ต้องซื้อสารเคมีมาฆ่าหญ้า และศัตรูพืชทุกชนิด รวมทั้งใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเติบโต ทำให้ป่าต้นน้ำกลายเป็นภูเขาหัวโล้น หน้าดินถูกชะล้าง อันเนื่องมาจากการเปิดป่าในพื้นที่ลาดชัน  ดินเสื่อม  ดินตาย ฤดูฝนน้ำในแม่น้ำลำธารก็ขุ่นข้น เชี่ยวกราก


 


โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่จัน จึงเกิดขึ้นโดยมูลนิพัฒนาชุนชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เป็นเวลา ๓ ปี เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ กับหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และทุกโรงเรียนในลุ่มน้ำแม่จัน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางเเผน แก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ร่วมกัน ด้วยความกตัญญูต่อในหลวง และด้วยความกตัญญูต่อธรรมชาติ


 


๓ ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้ร้อยใจลูกแม่จัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ เข้าด้วยกัน ด้วยความเข้าใจ ผ่านวัฒนธรรม พิธีกรรม และการศึกษาวิเคราะห์ร่วมกัน ทำให้แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมใน ๑๑ อบต. แห่งลุ่มน้ำแม่จันเพิ่มจาก ๕ % (ก่อนเริ่มโครงการ) มาเป็น ๒๐% ในช่วงท้ายโครงการ นับเป็นความสำเร็จอันเกิดจากการรวมพลังของทุกฝ่าย


 


ลูกน้ำแม่จันได้กิจกรรมอะไรไปแล้วบ้าง และมีแผนปฏิบัติการที่จะอนุรักษ์น้ำ อนุรักษ์ดิน และอนุรักษ์ป่า เพื่อแสดงความกตัญญูต่อในหลวง ผู้ทรงเป็นที่สุดของความเคารพเทิดทูนของคนไทยทั้งแผ่นดิน ดิฉันจะเล่าในโอกาสต่อไปค่ะ


 


 


หมายเหตุ ภาพประกอบโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.เชียงราย