Skip to main content

มุมปากโลก : ผู้ชายตอแหลกับบาดแผลของการถูกข่มขืน

คอลัมน์/ชุมชน

นวนิยายเรื่องนี้เคยได้รับการวิจารณ์ไว้บ้างแล้ว อาทิ  "คำ  ผกา" จากคอลัมน์ "กระทู้ดอกทอง" อันโด่งดัง การวิจารณ์ในที่นี้เป็นการ "เติมความเข้มข้น" ให้กับหนังสือเล่มนี้และให้กับแวดวงวิจารณ์อันแสนจะกะปลกกะเปลี้ย


นวนิยายเรื่อง "มุมปากโลก" (จริงๆ ชื่อเรื่องก็น่าสนใจมากว่ามันหมายถึงอะไร) นำเสนอชีวิตทางเพศที่โลดโผนของผู้หญิงที่ชื่อ "เอิง" ที่คบค้าหาสู่กับผู้ชายหลากหลายชนิดจำนวนนับไม่ถ้วน โดยไม่ต้องยี่หระต่อสายตาของใครต่อใครที่พร้อมจะตำหนิเธอในเรื่องศีลธรรม หนึ่งในจำนวนผู้ชายทั้งหมดก็คือ "จ้อน" ตัวเอกของเรื่องซึ่งเคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาก่อนจะกลายเป็น "คู่นอน" ของเธอ


อ่านไปแรก ๆ อาจรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้ "แรด" ไม่เบาทีเดียว ค่าที่นวนิยายเรื่องนี้อุดมไปด้วยเรื่องของเซ็กส์ของเอิง (แต่ผมอาจจะ "ตายด้าน" ก็ได้ที่รู้สึกว่าฉากเซ็กส์ไม่ได้ทำให้รู้สึกวูบวาบหวามไหวอะไรเลยแม้แต่น้อย)


ปมเงื่อนต่างๆ ที่วนเวียนอยู่แต่เซ็กส์ในนิยายเรื่องนี้นั้นชวนให้ตั้งคำถามได้ว่า "ชีวิตมีแต่เรื่องเซ็กส์เท่านั้นละหรือที่เป็นสารัตถะสำคัญ"? 


แต่พออ่านไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าความ "แรด" และอาการติดเซ็กส์ของเอิง มาจากปมปัญหาซึ่งฝังลึกมาตั้งแต่วัยเด็กและเป็นปมปัญหาที่ผู้ชายเป็นต้นตอสาเหตุ (คือการถูกข่มขืน)  ดังนั้นความผิดพลาดในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของคนชั้นกลางของเธอก็พอจะทำความเข้าใจได้


เอิงพยายามไล่คว้าหา "ความหมาย"  ของการมีชีวิตอยู่จากเซ็กส์  เธอขาดเซ็กส์ไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วเรื่องอื่นๆ ต่างก็เป็น  "เรื่องรอง"   เราแทบไม่ได้เห็นมิติอื่นของเธอเลย นอกจากความปรารถนาทางเพศ เธอไม่พูดถึงปัญหาสังคม เธอไม่ต้องทำมาหากิน เธอไม่ต้องรับผิดชอบอะไร สิ่งเดียวเท่านั้นที่นำชีวิตเธอไปคือเซ็กส์ แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น โรคติดเซ็กส์เป็นผลมาจากการที่เธอถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก


สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือทั้งหมดทั้งปวงที่ผู้อ่านได้รับรู้เกี่ยวกับเอิงและเกี่ยวกับจ้อน ก็คือเรื่องเล่าของ "จ้อน"  เท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าที่ออกมาจากปากของจ้อน ดังนั้น เอิงที่ผู้อ่านได้รู้จักก็เป็นเอิงในเรื่องเล่าของจ้อนเท่านั้น  


ตัวละคร "จ้อน" ปรากฏขึ้นในตอนแรกเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเอิง (และเกี่ยวกับตัวเอง) แรกๆ เราจะพบว่าจ้อนเป็นผู้ชายแสนดีที่ควรจะหามาไว้ในครอบครอง แต่ถ้าอ่านอย่างจับผิด เราก็จะพบว่าจ้อนเป็นผู้ชายที่ตอแหลมากคนหนึ่ง เขาเล่าให้ผู้อ่านรู้ว่าเพศสัมพันธ์ที่เขามีกับเอิงนั้นเกิดขึ้นเพราะความอยากและการยั่วของเอิงโดยที่เขาไม่ตั้งใจและเต็มใจเลย เขาอุทานเหมือนเด็กๆ ที่ช่วยตัวเองไม่ได้เมื่อเอิงยั่วสวาทเขาว่า "พ่อแก้วแม่แก้ว เอิง อย่า เอิง" (หน้า 44)


แต่หลังจากผ่านยกแรกไปแล้ว เขาก็บอกว่า "ผมปิดปากขอร้องของเอิง ด้วยการประสมสองกับเอิงเป็นหนที่สอง ครั้งนี้ผมทำด้วยความตะกรุมตะกรามไม่หย่อนไปกว่าหนแรก แต่อึดนานกว่ามาก คราวนี้ผมทำให้เอิงครางเบา ๆ" (หน้า 50)


อีกทั้งจ้อนยังเป็นฝ่ายถามเอิง (แทนที่เอิงจะเป็นฝ่ายถาม) หลังจากเสร็จกิจในหนที่สองว่า "ชอบไหมเอิง" (หน้า 51)


ภาพลักษณ์พื้นผิวที่เป็นผู้ชายแสนดี หากเราเจาะวิเคราะห์ลงไปข้างใน เราก็จะพบความกะล่อนของจ้อนโดยไม่ยากได้ตลอดทั้งเรื่อง (นักวิจารณ์ที่เป็น "ผู้ชาย" มักจะไม่สนใจประเด็นนี้-การกะล่อนของ "ไอ้จ้อน" หากแต่ไปเน้นเรื่องกามตัณหาของเอิงแทน)


ในท้ายเรื่อง หลังจากเอิงเล่าเรื่องราวการถูกข่มขืนในวัยเด็กให้จ้อนฟังแล้ว จ้อนก็ทอดทิ้งเอิงไป (ทำให้เอิงหายไปจากเรื่องเล่าของเขา)


จุดที่ผมไม่ค่อยชอบในนิยายเรื่องนี้คือ การให้เอิงออกมาสารภาพ  "ความในใจ" ถึงที่มาที่ไปของความประพฤติที่เรียกได้ว่า "แรด" ของตัวเองให้คนรักอย่าง "จ้อน" รับรู้  มันเป็นวิธีการที่ออกจะไร้ชั้นเชิง และจะว่าไปผู้ชายอย่างจ้อนก็ไม่มีคุณสมบัติมากพอที่ช่วยปลดทุกข์ รับฟังบาปของใครได้ (แต่การสารภาพของเอิงอาจเป็นความพยายามที่จะสร้างเรื่องเล่าของตนเอง) 


แรกทีเดียว จ้อนรับความสำส่อนของเอิงได้ แต่พอเอิงสารภาพชนิดหมดเปลือกถึงเรื่องราวอันรันทดในอดีตของเอิงที่โดนพ่อเลี้ยงต่างชาติข่มขืนตั้งแต่อายุ 13 และโดนคนขับรถทารุณกรรมทางเพศ  โดนทอมรุ่นใหญ่จับเชิดฉิ่ง (ช่างโลกาภิวัตน์เสียนี่กระไรที่เธอ "โดน" ทั้งคนต่างชาติและชายขับรถคนชั้นล่างและเพศเดียวกัน) จ้อนก็ตีตัวออกห่างและหันไปสร้างรักใหม่กับผู้หญิงแสนดีคนหนึ่งจนกระทั่งแต่งงานและมีลูกด้วยกัน


จ้อนกล่าวรำพึงถึงเอิงว่า "แทบทุกคืนในทันทีที่หัวถึงหมอน ผมก็นึกถึงเอิงขึ้นมาจนทำอะไรไม่ได้ ผมไม่ได้เป็นห่วงอีรากษสตัวเหี้ยม มีแต่ความหื่นหิวจนไม่เลือกตัวนั้นหรอก ผมรู้ว่าอีนังอสูรไม่มีวันอดตายจากเนื้อสด ๆ คาว ๆ ของผู้ที่ออกันเข้ามาให้มันจับฉีกขาสวาปามทีละคนบ้างหรือไม่ก็จับยัดปากสองสามคนรวดเดียวไปเลย" หน้า 151


อย่างไรก็ตาม แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะ "ประจาน" ความกะล่อนของผู้ชายได้ดีพอใช้ (แต่ไม่ระคายหรอก) แต่นิยายเรื่องนี้ไม่ได้ไปไกลกว่าที่ควรจะไป บางคนบอกว่านิยายเรื่องนี้ของ "อัญชัน" "แรงไป" อันเป็นเหตุให้ไม่ได้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์


แต่ในความเห็นของผม นิยายของอัญชันในเรื่องนี้ถือว่าเป็นนิยายที่ออกจะอนุรักษ์นิยมด้วยซ้ำไปคือยอมรับและจำนนต่อโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ (ฟังดูเหมือนกับว่าผม-ผู้เขียนเป็นเฟมินิสต์ที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี ซึ่งที่จริงไม่ใช่)  เอิงเพียงแต่ต้องการหลบหลีกไปอยู่ใน "โลกที่ลูกโป่งลอยไปถึง"เท่านั้น


การที่ผู้แต่งปล่อยให้ "เอิง" ตายในตอนท้าย เป็นการยอมรับกลาย ๆ ต่อสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ลองคิดดูสิว่าหากเอิงมีชีวิตอันโลดโผนตื่นเต้นต่อไป ชีวิตของเอิง (หรืออาจรวมถึงโลกของตัวละครหญิงอื่น ๆ) จะสำราญบานเบอะ และเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ (เยาะ) มากสักเพียงใด


การเลือกให้จ้อนดำเนินเรื่องอาจเป็นความตั้งใจของผู้แต่งที่อยากจะตอกย้ำให้เห็นว่า "สังคม" นี้เป็นเรื่องเล่าของผู้ชาย และความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมก็มาจากบริบทที่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่จะว่าไปเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่ (หรือเปล่า) ไม่ใช่หรือ    


จ้อนได้ตั้งชื่อลูกสาวของเขาที่เกิดกับผู้หญิงดี ๆ ซึ่งเขาแต่งงานด้วยในตอนท้ายเรื่องว่า "เอิง" เหมือนกับคู่นอนของเขา  ดังนั้น เอิงจึงไม่ตายจากไปไหน  หากแต่กลายเป็น "ส่วนขยาย"  ของความรักของผู้ชายอย่างจ้อน (และคนอื่น ๆ) และดังนั้นผู้หญิงก็เป็นเพียงส่วนขยายของผู้ชายต่อไป


แน่นอนว่าจะแตกต่างออกไปมากหากว่าเอิงจะเป็นคนดำเนินเรื่องเสียเอง หรือทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าจากปากเอิง เพราะเธอจะสามารถเล่าในสิ่งที่เธออยากเล่า และก็ไม่ต้องเล่าในสิ่งที่เธอไม่อยากเล่าได้ เนื้อหาของเรื่องก็อาจเปลี่ยนไปเป็นการเฉลิมฉลองความสุขสนุกสนานกับการผจญภัยทางเพศอันไม่รู้จบของเธอ.