Skip to main content

ข่าวเด็ก (แก๊ง) แทงกัน!

คอลัมน์/ชุมชน

"เฮ้ย รู้เรื่องไอ้นั้นหรือยัง" เพื่อนคนหนึ่งตะโกนถามผม ขึ้นมากลางวงอาหารเย็น


"เรื่องอะไรหว่า" ผมถามด้วยความฉงน


"อ้าว ก็ข่าวที่เด็กในกลุ่มแก๊ง ที่แกรู้จักไง มันเอามีดฟันคอคนเค้าตายหน่ะ" เพื่อนตอบด้วยเสียงตื่นเต้น พร้อมกับเล่าต่อว่า ได้ดูข่าวทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ถึงกรณีวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีการทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเสียชีวิต ถึง ๒ คน เมื่อหลายวันที่ผ่านมา


 


พอทราบข่าวผมก็รีบโทรศัพท์ไปหาเพื่อน ที่พอจะรู้จักกับวัยรุ่นที่ก่อเหตุว่า จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร ซึ่งก็พอจะได้ความว่า คนที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้อื่นนั้น เป็นวัยรุ่นชายคนคนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มแก๊งกลุ่มหนึ่งในจังหวัด โดยคืนที่เกิดเหตุ เขาได้นำมีดไปแทงวัยรุ่น ๒ คน จนเสียชีวิต


 


เพื่อนคนดังกล่าวเล่าต่อว่า ต่อมาวัยรุ่นที่ก่อเหตุก็รับสารภาพว่าได้กระทำการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจริงและได้ดำเนินการทำแผนประกอบคดีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วบ้านทั่วเมือง ส่วนหนึ่งเพราะสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์พากันลงข่าวการทำแผนประกอบคดี ซึ่งทำให้ผู้รับสารได้ติดตามข่าวสารทัน และยังได้เห็นถึงความโหดร้าย ทารุณของวัยรุ่นชายคนที่ก่อเหตุนี้จากการทำแผนประกอบคดีด้วย


 


หลังจากที่ฟังเพื่อนเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้ฟัง ตัวผมเองก็รู้สึกเสียใจกับผู้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งทราบภายหลังว่าคนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่เรียนหนังสือค่อนข้างจะเก่ง ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นไม่ทราบครับ แต่ยังไงก็ต้องขอแสดงความเสียใจต่อญาติ พี่น้อง เพื่อนมิตรสหาย กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้


 


ถามว่าทำไมผมต้องเสียใจ แม้ว่าผมจะไม่ได้สนิทสนมต่อวัยรุ่นที่ก่อเหตุ แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว เราทุกคนในสังคมนี้ต้องร่วมกันแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการที่วัยรุ่นคนหนึ่งเอามีดไปไล่แทงวัยรุ่นอีกคนหนึ่ง แน่นอนว่าหากเรามองแค่ปรากฏการณ์เราก็จะต้องโทษที่ตัวของผู้กระทำ หรือไม่แล้วก็ต้องด่าพาลไปถึงครอบครัว ญาติโกโหติกาของเขา


 


หลายครั้งที่เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น พวกเรา – ผู้รับสารจากสื่อมักจะไม่มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่หารู้ไม่ว่า ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ หรือแม้แต่กระทั่งมุมมองของคนในสังคมต่อเด็กที่ใช้ความรุนแรงหรือเด็กแก๊ง อยู่ในด้านลบๆ มาตลอด และเราแต่ละคนก็สืบทอดความเชื่อลบๆ เหล่านี้มาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน


 


หรือการที่เราเองก็ไม่ได้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสังคม การนำเสนอหนัง ละครที่มีเนื้อหารุนแรง หรือแม้แต่บรรยากาศของสังคมที่มองว่า กลุ่มเด็กแก๊ง เป็นปัญหาสังคม เพราะฉะนั้นด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นต้นตอ สาเหตุ ที่ทำให้เกิด "ปรากฏการณ์" วัยรุ่นแทงกันอย่างที่เป็นข่าวอยู่


 


ปรากฏการณ์วัยรุ่นแทงกันเป็นเสมือนปลายของต้นไม้ แต่เราทุกคนในสังคมเปรียบเหมือนคนที่ดูแลต้นไม้ หากต้นไม้ไม่สมบูรณ์แข็งแรงก็ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน หากใบไม้เหี่ยวเฉาก็ต้องบำรุงราก บำรุงโคนต้น ให้ช่วยให้ปลายต้นไม้อยู่ได้อย่างปลอดภัยจากวัชพืชและแสงแดดที่แผดเผา


 


ดังนั้นในฐานะที่ผมเอง ก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นคนตัวเล็กๆ ที่รดน้ำพรวนดินต้นไม้ และได้มีโอกาสเกิดมาในสังคมไทย – บ้านเมืองที่เรียกว่าเป็นเมืองน่าอยู่แห่งหนึ่ง ต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย


 


อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องของความเสียใจที่มีต่อเหตุการณ์ ผมรู้สึกเศร้าใจยิ่งนัก ที่สื่อมวลชนได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ในส่วนของการทำแผนประกอบการสารภาพของวัยรุ่นชายคนที่ก่อเหตุ ซึ่งทราบว่ามีภาพของเขาปรากฏออกทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์โดยที่ไม่มีการเซ็นเซอร์ใบหน้า ทั้งๆ ที่เขามีอายุยังไม่ถึง ๑๘ ปี


 


ที่กล่าวอย่างนี้เพราะใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ในการนำเสนอภาพข่าวทางสื่อในแขนงต่างๆ ที่สื่อต้องคำนึงถึงสิทธิ สวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก แต่ทำไมในกรณีเด็กวัยรุ่นคนนี้เป็นคนทำร้ายผู้อื่นถึงขั้นเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิในการเผยแพร่ภาพต่อสาธารณชน


 


เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจจะเกิดจากการไม่ทันระวังของสื่อ หรือเป็นเพราะว่าเขาคือเด็กที่คนมองว่าเป็นเด็กแก๊ง หรือเป็นเพราะว่าเขาเป็นฆาตกรที่สมควรได้รับการตรีตราจากสังคมหรือเป็นเพราะเขาทำร้ายผู้อื่นอย่างรุนแรง เขาจึงต้องไปรับการเผยโฉมต่อสังคม – ซึ่งหากเหตุผลนี้ ที่สื่อมีต่อเด็กที่ใช้ความรุนแรง แล้วนำมาเสนอแบบไม่คำนึงต่อสวัสดิภาพของเขา เราจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่? เรื่องนี้องค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิน่าจะให้คำตอบต่อสังคมได้ดีนะครับ


 


และไม่เพียงแต่กรณีของวัยรุ่นคนนี้เท่านั้นนะครับ หากเราติดตามข่าวเกี่ยวกับกลุ่มเด็กแก๊ง เด็กซิ่ง หรือเด็กประเภทต่างๆ ที่สังคมตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่ดีหน่ะ ก็มักจะถูกสื่อนำเสนอภาพ เสียง อย่างไม่ได้คำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในตัวเขาเหล่านั้นเลย


 


ยิ่งไปกว่านั้นหากสื่อนำเสนอภาพปรากฏการณ์ของเด็กแก๊งในด้านที่รุนแรง ใช้กำลังทะเลาะวิวาทต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งไปตอกย้ำความคิดของคนในสังคมว่า เด็กแก๊งต้องคู่กับความรุนแรง – ทำให้สังคมมีความเชื่อด้านลบๆ ต่อเด็กแก๊งอยู่ต่อไป


 


ท้ายนี้ แม้ว่าจะมีภาพของความรุนแรงของเด็กแก๊งเกิดขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง จากที่ตัวผมเองได้ร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนที่คนเรียกว่าเด็กแก๊ง ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ หลายอย่างที่กลุ่มต่างๆ ได้ทำกัน เช่น การจัดค่ายเรื่องเอดส์เพศศึกษา การให้คำปรึกษาด้านต่างๆ การช่วยทำความสะอาดตัวเมือง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น – แต่ก็ไม่มีภาพการนำเสนอกิจกรรมด้านดีๆ ของกลุ่มปรากฏต่อสาธารณชนเลย หรือหากจะมี ก็เป็นเพียงแค่ข่าวเล็กๆ สั้นๆ เท่านั้นเอง


 


ด้วยความสูญเสียที่เกิดขึ้นบวกกับการนำเสนอข่าวที่ตอกย้ำความเชื่อลบๆ ของสังคมที่มีต่อเด็กแก๊ง เพียงแค่นี้ก็พอจะทำให้รู้แล้วว่า เรื่องกรณีวัยรุ่นแทงกันที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนสองคนเท่านั้นแล้ว หากแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนในสังคม ในฐานะสมาชิกของสังคม ที่รู้สึกสูญเสียต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ และต้องสนใจต่อ ปรากฏการณ์การความรุนแรงของเด็กอย่างจริงๆ จัง .... ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ หลุดๆ วัวหายล้อมคอกเหมือนเคย...


 


************


 


บทสนทนาแถมท้าย


 


"เฮ้ย! รู้เรื่องคนนั้นหรือยัง" เพื่อนคนเดิมตะโกนเรียกผมอีกครั้งในสองวันถัดมาจากการได้ทราบข่าววัยรุ่นแทงกัน


ผมถามด้วยความฉงนอีกครั้ง "เรื่องอะไรอีกหละ"


"เขาบอกว่าที่หมอนั่น มันทำแบบนั้นน่ะ เพราะมันอยากสะสมบารมีในกลุ่ม มันเลยทำไปด้วยความไม่คิด"


"แล้วตอนนี้มันเป็นยังไงบ้าง"


"มันก็เที่ยวเบี่ยงประเด็นไปทั่ว หลอกให้คนงงไปกับมัน บอกให้คนสมานฉันท์ แต่มันยังไม่เคยตอบเรื่องหุ้น เรื่องวินมาร์ค เรื่องจริยธรรมเล้ย คนก็เริ่มจะลืมเรื่องที่มันก่อแล้ว"


"เฮ้ยๆ อันนี้หมายถึงใครหว่า"
"อ๋อ ก็คนที่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งไง หน้าด้านจริงว่ะ"
 "....."