Skip to main content

ดูดาย

คอลัมน์/ชุมชน

กลับมาแล้วจากพิษณุโลกเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ไปลงพื้นที่ตรงนั้นเป็นเวลาสองวันเต็มๆ ต้องขอขอบคุณบุคลากรทุกท่านที่ศูนย์สุขภาพเมือง แห่งโรงพยาบาลพุทธชินราชที่กรุณาให้ความสะดวกและช่วยเหลือในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการที่ผู้เขียนดำเนินการอยู่ แต่ต้องขออนุญาตที่ยังสามารถเปิดเผยได้ ณ ที่นี้


 


ผู้เขียนชอบอัธยาศัยหลายๆ อย่างของชาวพิษณุโลก ไม่ว่าไปที่ไหน ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส แม้ว่าหลายครั้งจะรู้สึกว่าความคล่องตัวนั้นยังไม่เท่าใน กทม. แต่เห็นความพยายามของชาวพิษณุโลกว่าจะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ อันเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก โดยเฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมบริการ ที่หลายคนมาด้วยใจ มีความพยายามสูงส่ง แม้ไม่เชี่ยวชาญในการบริการ เช่นภาษาอังกฤษ หรือความรู้เรื่องการจัดการอาหาร แต่เมื่อผู้เขียนแนะนำก็ยินดีรับฟัง (เสียดายที่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เพราะอยู่สั้นไป) หรือเมื่อผู้เขียนต้องการความช่วยเหลือ ก็พยายามเต็มที่ หน้าไม่หงิกงอ  อันนี้เกิดทั้งในโรงแรมและนอกโรงแรมที่พัก ทำให้รู้สึกไม่เหมือนอยู่ไกลบ้านแม้แต่น้อย ผู้เขียนมองเห็นว่าพิษณุโลกมีศักยภาพสูงในการพัฒนา แต่ยังมีงานต้องทำอีกมาก


 


สิ่งที่ผู้เขียนเห็นแล้วหวาดเสียวมีไม่กี่เรื่อง อันแรกคือ การใช้รถใช้ถนนของคนพิษณุโลกนั้น เค้าเรียกกันว่า "วัดใจ" ไม่ใช่ "วัดฝีมือ" ผู้เขียนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ตอนข้ามทางม้าลาย คือ คนพิษณุโลกเค้าไม่รู้จักจอดรถให้คนข้าม แม้ว่าจะทางม้าลายก็เถอะ อันนี้คนท้องที่บอกเอง ผู้เขียนไม่ได้กล่าวหา แต่บังเอิญได้เกือบเอาชีวิตไม่รอดจึงบอกแก่เจ้าถิ่นที่นั่น เค้าบอกมาว่า "อาจารย์คะ เรื่องปกติ แถวๆ นี้ คนพิดโลกไม่แพ้ใครเรื่องไม่เชื่อหรือทำตามกฎจราจร" แต่ผู้เขียนว่าคนไทยไม่ว่าที่ไหนก็เป็นแบบนี้ แต่ต่างจังหวัดอาจมากหน่อยเพราะโครงสร้างอื่นๆ ทางสังคมที่เอื้อให้คนไม่ทำตามกฎจราจร เช่น ความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ และลักษณะการดำเนินชีวิตแบบสบายๆ ประจำวันของท้องถิ่น


 


เรื่องที่สองคือ การกินอยู่ที่ไม่คำนึงถึงสุขอนามัยเท่าไรนัก อันนี้ เป็นแทบทุกจังหวัดเลยกระมัง แม้ กทม.เองก็เถอะ  ที่เห็นง่ายคือการไม่ปัดฝุ่น เช็ดกวาดถู เพราะออกพื้นที่จึงเห็นได้ชัดเจน หลายบ้านเพิ่งสร้างเสร็จไม่นานแต่หยากไย่เต็มไปหมด ผู้คนแต่งตัวสะอาดสะอ้าน ไม่มีกลิ่นโคลนสาบควาย หรือ กลิ่นที่หลายคนเรียกว่า "กลิ่นบ้านนอก" เพราะไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึง ความเจริญแบบเปลือกๆ เข้าถึง ซึ่งเป็นสิ่งดีในระดับหนึ่ง แต่สำนึกหลายเรื่องยังไม่เกิด ซึ่งอันนี้จะเป็น "ไฮไลท์" ของบทความนี้


 


ในวันที่สองของการลงพื้นที่ ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ในตำบลหนึ่ง อยู่ในเขตอำเภอเมือง แต่ว่ามีจำนวนคนที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมีจำนวนสูงมากจนเรียกว่าเป็น "พื้นที่สีแดง" บรรดาผู้เกี่ยวข้องเช่นสาธารณสุขอำเภอ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ ในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงไปดูว่าเกิดอะไรในพื้นที่นั้น ทั้งที่ก็คุ้นเคยกันอยู่ แต่ทำให้เห็นว่าบรรดาผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้มีความสนใจและต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆ ผู้เขียนนึกอิจฉาชาว "พิดโลก" ที่โชคดีที่มีหน่วยงานทางสาธารณสุขที่ทำงานจริงจังขนาดนี้ นอกเหนือจากที่เห็นในศูนย์สุขภาพเมืองเองแล้ว 


 


เมื่อถึงพื้นที่ ก็มีรายงานจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเล่าว่า ได้พยายามกันแล้วที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก แต่มีปัญหาที่ว่าไม่สามารถทำลายแหล่งกำเนิดของยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะขาดความร่วมมือของคนในชุมชนนั้นเอง ตัวแทนจากหน่วยงานกลางจึงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการดำเนินการ อีกทั้งสัญญาว่าจะเข้ามาช่วยในพื้นที่อย่างจริงจังด้วยหลังจากนี้  จากนั้นก็มีการไปดูกรณีตัวอย่างที่บ้านหลังหนึ่ง ที่มีคนป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว และกำลังอยู่ในโรงพยาบาล บ้านหลังนี้มีหลายจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดของยุงลายได้ บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมวันนั้น ได้ไปตรวจพื้นที่บ้านหลังนั้น ได้บอกกับเจ้าของบ้านว่าจะขอตรวจ เจ้าของบ้านไม่ได้ให้ความสนใจแต่อย่างใด ไม่ตื่นตัว ไม่ให้ความร่วมมือ แต่ไม่ขัดขืน เจ้าหน้าที่ต้องทำการทำลายแหล่งกำเนิดยุงเหล่านั้นให้ ในขณะที่เจ้าของบ้านนอนดูทีวีอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว เรียกได้ว่า "ดูดาย" เอาเสียจริงๆ ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าตนเองก็อาจจะเป็นไข้เลือดออกได้เช่นกัน


 


ผู้เขียนยังได้ยินเรื่องการไม่ให้ความร่วมมือในการฉีดหมอกควันของชาวบ้านบางคน มีการฟ้องว่าหนึ่งในผู้ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ให้เข้าไปฉีดหมอกควันในเขตบ้านนั้นเป็น "คนในเครื่องแบบ" และอีกบางบ้านที่อ้างเหตุผลต่างๆ ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งอันนี้ไม่สามารถสรุปอะไรได้อย่างชัดเจน แต่ก็บอกไว้อย่างหนึ่งว่า เรื่องของ "อำนาจ" ยังแฝงไว้อยู่ อย่างไรก็ตาม สจ. หรือสมาชิกสภาจังหวัดที่ประจำท้องที่นี้บอกว่าตนเองจะพยายามที่จะให้เกิดความร่วมมือให้ได้ จึงทำให้เรื่องนี้ยุติไปได้ในตอนนั้น


 


ผู้เขียนยอมรับว่าไม่แปลกใจนักที่เห็นอาการ "ดูดาย" แบบนี้ แต่ตื่นเต้นที่ได้เห็นของจริง ว่าที่เค้าเรียกว่า "ดูดาย" นั้นเป็นอย่างไร หลายหนนึกเสียดายที่ว่าเงินภาษีที่ต้องมาเสียให้กับสาธารณสุขระดับท้องถิ่นนั้นต้องสูญเปล่าไปเพราะคนในท้องถิ่นเองหลายคน (ไม่ใช่ทุกคน--ขอเน้น) นั่นแหละไม่กระตือรือร้น แถมคิดว่าดีแล้วที่มีคนมาทำให้ ยิ่งคิดยิ่งละเหี่ยใจ แต่ไม่โกรธ


 


ผู้เขียนนึกถึงนักศึกษาที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้ในสหรัฐฯ คนหนึ่ง ที่เป็นคน "ดูดาย" แบบนี้ตามที่เคยเล่ามาแล้วในหลายเดือนก่อน นักศึกษาคนนี้ชอบอ้างเสมอว่าตนเองนั้นเป็นชนกลุ่มน้อย ด้อยโอกาส ดังนั้นจึงแพ้เปรียบคนอื่นๆ ผู้เขียนได้ให้โอกาสคนๆ นี้มาหลายหน แต่ไม่มีทางดีขึ้นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การที่คนที่อยู่ห่างไกลซึ่งก็มักจะด้อยโอกาสแบบนี้ "ดูดาย" ก็คือการที่เค้าเองไม่ได้ให้เกียรติตนเอง ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ปล่อยให้สังคมต้องแบกภาระ อย่างนี้ขอใช้คำว่าน่าอดสูเป็นยิ่งนัก


 


อนิจจา พรรคการเมืองบางพรรคใช้ลักษณะกล่าวให้เป็นประโยชน์ และพยายามสร้างความนิยมในหมู่คนพวกนี้ โดยใช้การแลกผลประโยชน์แบบง่ายๆหรือให้ความหวังต่างๆกับคนพวกนี้ แต่ไม่ได้สอนว่า "ความเพียร" นั่นแหละคือกุญแจ อีกทั้งเรื่องของความพอเพียงที่ชัดเจน คือให้รู้จักทำกินตามสติปัญญา และไม่จำเป็นต้องมี "วัตถุ" มากมายนัก และพยายามให้มีการพัฒนาตนเองให้มีทักษะและความรู้ที่จะแข่งกับโลกภายนอก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าวเป็นของยากและไม่สามารถเรียกคะแนนนิยมได้ เพราะคนในสังคมยังคง "ขี้เกียจ" และ "ดูดาย"


 


ดังนั้น หน้าที่ที่แท้จริงของนักการเมืองคือสร้างระบบการปกครองที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน ส่วนชาวบ้านก็มีหน้าที่คือ ต้องไม่ดูดายและไม่ขี้เกียจ 


 


ครั้งนี้ ผู้เขียนจะฟันธงมากเกินไปรึเปล่านะ?