Skip to main content

อยู่อย่าง "อาแปะ"

คอลัมน์/ชุมชน

กรกฎาคม 2548…


 


บ่ายวันหนึ่งที่ตลาดวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง


ผมพบร้านชำเก่าแก่แห่งหนึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ใจกลางตลาดโบราณอายุร้อยกว่าปีอย่างเงียบเชียบ


ตะวันสาดแสงร้อนแรงขึ้นตามเวลา เกือบเที่ยงแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องอันหิวโหยของคนเดินทาง


ผมตัดสินใจแยกออกจากกลุ่มคนที่มาด้วยกัน ย่ำเข้าไปใจกลางตลาด หวังจะหาอะไรมาใส่ท้องที่ร้องประท้วงอยู่ตลอดเวลา


 


และนั่นก็คือที่มาของการพบอาแปะ


 



 


เรียกผู้อาวุโสว่า "อาแปะ" เพราะท่าทางแกเป็นคนจีน และที่แน่ๆ แกเล่าให้ฟังว่าอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่าแล้ว


 



บรรยากาศหน้าร้านของอาแปะที่เต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด


ภายในร้านของแปะ สรรพสินค้ามากมายตั้งเรียงรายบนชั้น มีตั้งแต่นาฬิกาเก่า กรงนก กรอบรูป ฯลฯ  และของจิปาถะอื่นๆ อีกมากมายเท่าที่ร้านขายของชำควรจะมีแขวนระโยงระยางไปมา


แต่ที่แกบอกว่าถนัดที่สุดคือซ่อมนาฬิกา โดยเฉพาะนาฬิกาโบราณ


 



นาฬิกาในร้าน


 


"จะดูอะไรล่ะไอ้หนุ่ม"


"ผมดูเรื่อยๆ ครับ ชอบร้านอาแปะ แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะซื้ออะไรดี"


ด้วยความเผลอ ผมหลุดความรู้สึกไปโดยไม่ตั้งใจ ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเอาแล้วปาก ถ้าเป็นร้านในกรุงมีหวังโดนตะเพิดออกมาแทบไม่ทัน เพราะชอบร้านแต่ดันไม่ซื้อของ


แต่พอสิ้นคำ แทนที่แกจะว่า กลับชวนดูโน่นดูนี่ จนคนตอบลืมซะสนิทว่าท้องกำลังประท้วง


 


ขณะที่คุย มองกลับออกมาหน้าร้าน เห็นบรรยากาศวิถีชีวิตของผู้คนที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า ไม่เร่งรีบ ไม่แข่งขันกันมากมายเหมือนกับเมืองที่ผมทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง


 


เลยร้านอาแปะไป ๓ ห้อง คือที่ตั้งของร้านเช่าหนังสือโบราณและขายขนมครกร้อนๆ 


ตรงกันข้าม เป็นร้านขายข้าวสารและของแห้งนานาชนิด


ผมยืนอยู่หน้าร้านอาแปะ จังงังกับอดีตของเมืองไทยซึ่งมาปรากฎและเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าอย่างที่ไม่เคยนึกเคยฝันมาก่อน


"อยู่อย่างนี้อาแปะว่าเงียบไปไหม"


"ไม่หรอกไอ้หนุ่มเอ๊ย สบายใจดี ตื่นมาก็เปิดร้าน เย็นก็ปิดร้าน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว"


 


แดดร่มลมตก ผมร่ำลาอาแปะ แล้วเดินลัดเลาะออกมาขึ้นรถกลับสู่เมือง


 


* * * *


 


กรกฎาคม 2549 , เวลาผ่านไปร่วมปี…


 


ผมพบภาพนี้ในคืนวันที่จมอยู่กับกองหนังสือและกระดาษหลายร้อยแผ่น ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับอภิมหาโครงการแห่งหนึ่งของรัฐบาลซึ่งกำลังจะเปิดใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า


เท่าที่สื่อมวลชนรวบรวมตัวเลขได้ตอนนี้ มันพุ่งเกิน 15 หลักเข้าไปแล้ว


 


โครงการนี้ได้ชื่อว่าแม้กระทั่งจะตั้งศาลพระภูมิ ยังต้องมีการจ่ายใต้โต๊ะ ซึ่งแม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังมีข่าวทุจริตออกมาเรื่อยๆ แบบไม่เว้นวันจนกลายเป็นเรื่อง "ปรกติ" ของคนส่วนหนึ่งในสังคม


 


นักการเมืองอู้ฟู่กันเป็นทิวแถว


 


เพราะโกงกันเป็นหลักหมื่นล้าน โกงกันแบบที่ชาวบ้านร้านตลาดนึกไม่ออกว่าเงินจำนวนนั้นมันมากมายขนาดไหน และเวลาได้มันมาจะรู้สึกอย่างไร


 


ตอนนี้ ถ้ากลับไปที่ตลาดโบราณแห่งนี้ได้ ผมอยากถามอาแปะว่าถ้ามีเงินเป็นหมื่นล้าน อาแปะจะเอาไปทำอะไร


คุณครูท่านหนึ่งที่ชายแดนตะวันตก ตอบคำถามนี้กับผมว่าจะเอาไป "สร้างโรงเรียน" ให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาสทั้งประเทศ


นักฝันคนหนึ่งแถบภาคเหนือตอบผมว่า เขาจะเอาไปซื้อหนังสือดีๆ ใส่ห้องสมุดทั่วประเทศ


แต่ถ้าเหลือ--พวกเขาตอบตรงกัน ว่าไม่รู้จะไปทำอะไร ขอไว้ใช้ให้ตัวเองพอกินพออยู่ก็พอ


 


บัดนี้ คนที่ควรตอบคำถามนั้นที่สุดกับสังคมไทย กลับไม่ตอบ ทั้งยังลอยหน้าลอยตาในตำแหน่งผู้นำประเทศ โดยที่สังคมไทยส่วนหนึ่งยกย่องให้เขาเป็น "รัฐบุรุษ"


 


นี่เข้าสู่กลียุคแล้วหรือไร!


 


คนส่วนหนึ่งยอมรับว่า "การโกง" เป็นเรื่องธรรมดาของนักการเมือง และการที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสามารถมีพฤติกรรมเหมือนพ่อค้าในตลาดหุ้นได้


โกงนิดโกงหน่อยจะเป็นอะไรไป เขาเก่ง ไม่เอาเขา เราจะเอาใคร เลือกตั้งจบเรื่องก็จบ เพราะเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้กลับมาอีก จะต่อต้านไปทำไม


แต่ก็หลงลืมไปว่า เขายังไม่จ่ายภาษี รัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลของเขายังไม่เคลียร์ตัวเองจากประเด็นการทุจริตต่างๆ นาๆ และที่สำคัญ การเลือกตั้งไม่สามารถฟอกคนชั่วให้กลายเป็นคนดีได้


ไม่เช่นนั้นอีกหน่อยอาชญากรคงสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าได้รับเลือกตั้ง


 


นี่คือจุดที่อ่อนด้อยที่สุดของสังคมไทยในโลกทุนนิยมสามานย์ที่มองทุกสิ่งทุกอย่างแบบฉาบฉวย ขอให้มันสงบๆ และผ่านๆ ไปเสียทีโดยมิยอมแก้ที่ต้นเหตุ


 


ถึงตรงนี้ใครหลงมาอ่าน ก็อาจต่อว่าผมว่าเอาเรื่องการเมืองมาใส่ในข้อเขียนเกี่ยวกับการเดินทางได้อย่างไร เกี่ยวกันตรงไหน ซึ่งผมเชื่อว่าสื่อหลายสำนัก นักข่าวและนักเขียนหลายคนซึ่งโจมตีท่านนายกรัฐมนตรี ก็โดนข้อหานี้เช่นเดียวกันในรายละเอียดที่ต่างกัน เพราะที่สื่อที่ผมทำงานอยู่  ก็โดนค่อนข้างหนักเช่นกันในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายเมื่อต้นปี


 


คงต้องขออนุญาตตอบด้วยความเคารพและหนักแน่น ผ่านประโยคของนักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งซึ่งเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในงานของตนเองเมื่อ ๖๕ ปีที่แล้วว่า


 


"การเสาะแสวงหาความเป็นจริงมาเสนอแก่ประชาชนนี่แหละเป็นหน้าที่สำคัญของหนังสือพิมพ์ เพื่อที่จะได้ให้ประชาชนแสดงความเห็นอันประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผล หนังสือพิมพ์จะต้องซื่อตรงกับการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญนี้ เหตุการณ์ตามความจริงที่หนังสือพิมพ์นำเสนอนั้น อาจไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้นั้นผู้นี้ หรือแก่คณะนั้นคณะนี้ แต่ไม่ใช่กิจกังวลของหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีขึ้น เพื่อที่จะทำความพอใจให้แก่ผู้นั้นผู้นี้ หรือแก่คณะนั้นคณะนี้…หนังสือพิมพ์จึงไม่ต้องไปพะวงถึงใครผู้ใดทั้งนั้น…จะพะวงอยู่แต่หน้าที่ของตนเท่านั้น"


                                                                                     กุหลาบ สายประดิษฐ์


                                         ประชามิตร-สุภาพบุรุส ฉบับวันชาติ , 24 มิถุนายน 2484


 


นี่คือเข็มทิศการทำงานของนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนอย่างศรีบูรพาซึ่งได้รับการยอมรับจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี 2549  ทิ้งไว้เป็นมรดกให้บรรดาคนเขียนหนังสือทั้งหลาย


 


แน่นอน มันควรจะเป็นแนวทางของผู้ที่ยึดอาชีพเขียนหนังสืออย่างพวกเราๆ ด้วยมิใช่หรือ!


ที่จะเขียนทุกสิ่งทุกอย่างตามความจริงที่เราเห็นและเราเชื่อ--นี่คือหน้าที่


 


เชื่อไม่เชื่อ ท่านผู้อ่านตัดสินด้วยวิจารณญาณและข้อมูลที่รอบด้าน ด้วยตัวท่านเอง เราไม่มีสิทธิอะไรจะไปบังคับให้ท่านเชื่อ


 


ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ผมจึงเชื่อ--เชื่อว่าตอนนี้สื่อและนักข่าวที่มี "จิตสำนึก" ทุกสำนักและทุกคน รู้ดีว่าตัวเองกำลังทำอะไร สู้อยู่กับใคร และแน่นอน ผมเชื่อว่างานเขียนไม่ว่าชนิดใด ต้องมีมิติทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคนเขียนไม่ได้ตัดตัวเองขาดออกจากสังคม


 


บรรณาธิการท่านหนึ่งบอกผมว่า


"ถึงวันหนึ่ง ประวัติศาสตร์จะตอบเอง ว่าสิ่งที่คุณนำเสนอนั้นถูกต้องหรือไม่"


 


* * * *


 


กรกฎาคม 2549…


 


ผมหวนคิดถึงอาแปะกับชีวิตที่สงบงามในตลาดโบราณแห่งนั้น แล้วหันมามองคุณทักษิณและพวกพ้อง


มันช่างเป็นภาพที่ตัดกันชัดเจนสิ้นดี


ระหว่างความ "พอเพียง" กับความ "โลภ"


 


ท่านนายกฯ รักษาการณ์…กรุณาอย่าเอาตนเองไปเทียบกับ รัฐบุรุษอาวุโส--ปรีดี พนมยงค์


เพราะคุณงามความดีของคุณ ศีลธรรมและมโนธรรมของคุณ เทียบกับท่านผู้นี้ไม่ได้สักกระผีก


เทียบไม่ได้กับขี้เล็บของ "อาแปะ" ที่มีความพอเพียงในตัวเองท่านนี้ด้วยซ้ำ


 


คุณทักษิณ ชินวัตร คุณเป็นได้แค่ "โมฆะบุรุษ" เท่านั้น