Skip to main content

ใต้ร่มเงายากูซ่า

คอลัมน์/ชุมชน

ได้ยินคำว่า ยากูซ่า คุณนึกถึงอะไรกันบ้างนะ กลุ่มมาเฟียญี่ปุ่น กลุ่มที่ทำมาหากินกับการเรียกค่าคุ้มครอง พวกใจโหด พวกตัดนิ้วก้อย หรือ อะไรอื่น ๆ ที่น่ากลัว ๆ ตามข่าวที่ปรากฏอยู่บ่อย ๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนในนี้คงเคยได้ยินกิตติศัพท์ของยากูซ่ากันดีแล้วถึงความโหดของคนพวกนี้ แต่ว่าก็ยังมีคนอีกด้านหนึ่งซึ่งทำมาหากินสุจริตที่ยอมรับการมีอยู่ของยากูซ่า และยืนยันว่ายากูซ่าทำให้การทำมาหากินสะดวกขึ้น


พี่แนน ( ชื่อสมมติ) เป็นชาวยโสธร บ้านเดียวกับหม่ำ จ๊กม๊ก แต่ไม่ได้เล่นตลก อดีตเคยมาเผชิญชีวิตในกรุงเทพฯ รับจ้างทำงานบ้าน ดูแลคนแก่ หรือเป็นพี่เลี้ยงเด็กไปตามประสา เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนไม่น้อยที่หนีแล้งอีสานมาหางานที่กรุงเทพฯ แต่มาวันหนึ่งชีวิตผกผันได้มีโอกาสไปทำงานที่ญี่ปุ่น จนปัจจุบันถึงขั้นมีร้านมีรวงเป็นของตัวเอง


พี่แนนเล่าว่า เดิมเพื่อนในหมู่บ้านเดียวกันก็ไปทำงานที่ญี่ปุ่นก่อน ไปทำงานโรงงาน ได้เงินเดือนก็ดี สามารถมีเงินส่งกลับบ้านให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดได้ใช้กัน ตอนกลับมาเยี่ยมบ้าน เธอบอกพี่แนนว่า มาได้ไม่อันตราย พี่แนนเริ่มต้นจากการไปทำงานโรงงานเช่นกัน โชคดี เธอเจอผู้ชายคนหนึ่งมาหลงรัก และได้อยู่ร่วมกัน ทางบ้านฝ่ายสามีก็มิได้รังเกียจรังงอน เขามีกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม แรกทีเดียวก็ขายแค่อาหารญี่ปุ่น แต่เมื่อพี่แนนเข้าไปก็เพิ่มอาหารไทยเข้าไปด้วย และเพิ่มบริการแบบครบวงจรคือมีห้องคาราโอเกะ ห้องนวด และห้องพักแบบแคปซูลสำหรับลูกค้าที่เมาหนักจนกลับบ้านไม่ไหว


ต่อมา ชีวิตรักก็ไม่ค่อยแฮปปี้เอ็นดิ้งนัก ในที่สุดก็เลิกกับแฟนคนแรกไป แต่พี่แนนก็ยังคงมีกิจการร้านอาหารนั้นอยู่ ตอนนี้เธอแต่งงานใหม่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับชายญี่ปุ่นที่เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วเขาไม่ค่อยอยากให้ผู้หญิงทำงาน อยากให้เป็นแม่บ้านอย่างเดียว แต่พี่แนนบอกเขาว่า " ผู้หญิงไทยแม้จะแต่งงานแล้วก็ต้องทำงาน" พี่แนนก็เลยดูแลกิจการร้านอาหารของเธอต่อไปในโยโกฮาม่า


เนื่องจากการดูแลกิจการร้านอาหารนี่เองที่ทำให้ชีวิตของพี่แนนต้องมาเกี่ยวข้องกับยากูซ่า เธอเล่าให้ฟังว่า ร้านอาหารทั้งหลายทั้งปวงล้วนต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้ยากูซ่าทั้งนั้น โดยพวกยากูซ่านี้ เขาจะคุมกันเป็นเขต ๆ ก็อาจคล้าย ๆ มาเฟียบ้านเรา เช่น เขตพระโขนงของใคร ลาดพร้าวของใคร แต่วิธีการทำงานนั้นเป็นระบบกว่ามาก และไม่มีการข้ามเขตกัน และจะไม่มีการไปทำร้ายคนจากเขตอื่น


ประสบการณ์ระทึกใจครั้งหนึ่งของพี่แนนคือ มีอยู่วันหนึ่ง มีหญิงไทยที่อาจจะถูกหลอกไปขายให้กับยากูซ่าแต่เธอหนีออกมาได้ และมาบอกให้พี่แนนช่วยพาหนี เพราะเธอไม่สามารถอยู่กับคนนี้ได้แล้ว พี่แนนให้เงินจำนวนหนึ่งไป แล้วเธอก็หนีไป โดยที่พี่แนนเองก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน ยากูซ่าคนนั้นมาตามตัวเธอที่บ้านพี่แนน และขอให้พี่แนนช่วยไปพบเธอหน่อย เพราะว่าเธอกำลังจะหนีไป โดยบอกว่าเธอจะเอาลูกไปด้วย ช่วยไปคุยกับเธอด้วยว่า เธออยากจะไปก็ได้แต่ขอลูกให้เขาเถอะ


ยากูซ่าจับตัวพี่แนนไปขัง ซึ่งความจริงคือต้องการจะให้พี่แนนบอกที่ซ่อนของผู้หญิงคนนั้น แต่พี่แนนไม่รู้ว่าเธอยู่ที่ไหน ยากูซ่าจับตัวพี่แนนไปขังไว้ 2 วัน โชคดีที่เธอมีโทรศัพท์มือถือไปด้วย เธอแอบโทรไปหาอดีตสามีว่าถูกจับตัวมา แต่เธอไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน พ่อของอดีตสามีของเธอซึ่งมีบทบาทอยู่พอสมควรในวงการยากูซ่า โทรไปบอกว่า " ให้ปล่อยตัวผู้หญิงคนนั้นออกมานะ เพราะเธอคือลูกสะใภ้ และถ้าทำอะไรเธอ ก็จะได้เห็นดีกัน "


อย่างที่บอก ยากูซ่าจะไม่พยายามมีเรื่องข้ามเขตกัน พวกนั้นก็นำตัวเธอมาส่งคืนถึงร้านแบบไม่บุบสลายใด ๆ แต่ชะตากรรมหญิงไทยคนนั้น ป่านนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร


คราวนี้มาถึงเรื่องการเก็บเงินค่าคุ้มครอง ที่ไม่ได้เป็นแบบผู้ร้ายหนังไทย ที่เข้าไปขอเงินกันดื้อๆ ถ้าไม่ให้ก็จะล้มโต๊ะ พังร้านอะไรทำนองนั้น แต่เขาจะไปประเมินก่อนว่าร้านนี้น่าจะมีรายได้สักเท่าไร และควรจ่ายค่าคุ้มครองเท่าไร และหากจ่ายค่าคุ้มครองให้กับกลุ่มนี้แล้วก็จะไม่มีใครมายุ่งอีก แล้วเขาก็จะช่วยดูแลความเรียบร้อยของทางร้านให้เป็นอย่างดี


" บางทีก็มีลูกค้าป่วน หรือ เมาโวยวาย ถึงเวลากลับไม่ยอมกลับ เราก็ไม่ต้องทำอะไร โทรศัพท์กริ๊งเดียว ไม่ได้เรียกตำรวจนะคะ เรียกยากูซ่า เพราะตำรวจเขาไม่จัดการอะไรหรอก ตำรวจที่นั่นเขากลัวประชาชน ยากูซ่าจะมาถึงและจัดการทุกอย่างเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว บางทีเขาก็พาคนเมาเหล่านั้นไปส่งบ้านนะ" พี่แนนเล่า


พี่แนนยืนยันว่า ถ้าเรามีกิจการพวกนี้ หากเราต้องการที่จะอยู่ให้ได้นั้น ต้องพึ่งพิงยากูซ่า ถ้าไปมีเรื่องกับใครแล้วบอกว่าเราอยู่ในการดูแลของยากูซ่าคนไหน ก็จะถูกปล่อยตัว แม้กระทั่งตำรวจเองก็ไม่มายุ่ง เพราะไม่อยากมีเรื่องกับยากูซ่า


" มีอยู่วันหนึ่งพี่เมาหนัก เพราะเวลาขายเหล้านี่ก็ต้องไปดื่มเพื่อให้เกียรติกับแขกโต๊ะต่าง ๆ จนดึกพอปิดร้านแล้วแขกบางคนก็ไม่มีรถกลับบ้านก็ต้องขับไปส่งแขก แต่ขากลับมันไม่ไหวก็เลยจอดรถหลับอยู่ข้างถนนนั่นแหละ ตำรวจมาเจอ ก็คุย ๆ ด้วยรู้ว่า เราอยู่ร้านไหน อยู่เขตใคร เขาก็พามาส่งที่ร้าน แต่ก็มีบางครั้งที่เขาก็พาไปโรงพัก ให้นอนที่นั่น 1 คืน ตื่นเช้าก็กลับ ก็ไม่ต้องเสียค่าปรับใด ๆ"


วิธีการจ่ายค่าคุ้มครองนั้นเมื่อยากูซ่า ได้ประเมินแล้ว และทางร้านยอมรับแล้วว่าจะต้องอยู่ภายใต้ยากูซ่ากลุ่มนี้ ยากูซ่าก็จะเข้ามาประชุมกันที่ร้านสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งทางร้านก็ต้องให้บริการกันเต็มที่ และทุกวันที่ 10 ของเดือน ก็จะส่งดอกไม้มาให้ 1 ช่องาม ๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของความสวีทหวานแหววใดๆ เพราะว่าดอกไม้ช่อนั้นแต่เปรียบเสมือนโนติสที่บอกว่าที่วันที่ 10 แล้วนะ อีก 5 วันต้องเองเงินมาจ่ายให้ฉันนะ เพราะทุก ๆ วันที่ 15 ของเดือนจะเป็นวันที่เขามาเก็บเงิน และห้ามเบี้ยวเด็ดขาด เหตุร้าย ๆ ก็จะเกิดตอนที่ไปเบี้ยวไม่จ่ายค่าคุ้มครองนี่เอง


สิ่งที่ยากูซ่าเกลียดที่สุดคือการไม่ซื่อสัตย์ หรือ การทรยศ เพราะเขาถือว่าได้ตกลงกันไว้แล้ว และหากไม่ให้เงินตรงตามกำหนดก็ถือว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน บทลงโทษจึงรุนแรง


เธอเชื่อว่า การที่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ถูกทรมานหรือถูกยากูซ่าฆ่าตายนั้นก็เพราะยากูซ่าเชื่อว่าผู้หญิงเหล่านี้ทรยศ แน่นอนผู้หญิงเหล่านี้ย่อมไม่เคยรู้ว่าทางสถานบริการได้มีข้อตกลงกับยากูซ่าไว้อย่างไรบ้าง และเมื่อผู้หญิงเหล่านั้นไม่ได้ทำงานอย่างที่เจ้าของสถานบริการบอก ยากูซ่าจึงเข้ามาจัดการ


ผู้หญิงไทยหลายคนอาจถูกบอกว่าไปทำงานในร้านอาหารจึงตกลงใจไป ในขณะที่ร้านอาหารเหล่านั้นอาจมีบริการพิเศษและเจ้าของสถานบริการก็ได้ให้ค่าคุ้มครองกับยากูซ่าไปแล้วว่าจะต้องดูแลความเรียบร้อย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเมื่อหญิงสาวเข้าไปถึงที่นั่นแล้วเพิ่งจะรู้ความจริงว่าต้องทำอะไรบ้างจึงปฎิเสธที่จะทำงานบางอย่าง หรือบางคนถึงขั้นทนไม่ไหวจนต้องหนีไปซึ่งยากูซ่าก็คิดว่าเป็นการทรยศอย่างแรง ซึ่งเท่ากับมีความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น ยากูซ่าจึงเข้ามาจัดการตามที่ได้มีพันธสัญญาเอาไว้กับเจ้าของสถานบริการ ผู้หญิงเหล่านี้จึงตกเป็นเหยื่อไป


สำหรับร้านของพี่แนนนั้น ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายให้ยากูซ่าเดือนละ ประมาณ 40,000 บาทไทย แต่เธอบอกว่า โอเคกับค่าใช้จ่ายนั้น เพราะว่าอย่างน้อยเรื่องการจัดการในร้านก็สะดวกขึ้น เรื่องที่ ลูกค้า เบี้ยว โวยวาย หรือ ตำรวจจะมาวุ่นวายนั้นไม่มีทุกอย่างจะเรียบร้อยหมด


ถึงแม้เธอจะเคยรู้เห็นว่า ยากูซ่านั้นโหดขนาดไหน แต่เธอก็รู้สึกว่า ยากูซ่าก็ไม่เคยบิดพลิ้วที่จะรักษากฎตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจจะต่างกับเจ้าหน้าที่ของทางการที่แม้ทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎแล้วแต่ความสะดวกก็ยังไม่มี


พี่แนนไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นนานถึง 13 ปี จดทะเบียนสมรสกับชาวญี่ปุ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายญี่ปุ่น และ เมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อนต้องกลับมาเมืองไทย โดยมีหมอญี่ปุ่นทำหนังสือส่งตัวคนไข้มา เพราะเธออยากจะรักษาตัวที่เมืองไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า และเมื่อดีขึ้นแล้ว หมอเจ้าของไข้ที่ญี่ปุ่นก็รับรองว่าจะเป็นผู้ติดตามผล


ทว่า การออกมาครั้งนี้ ทำให้วีซ่านั้นหมดอายุไปด้วย เมื่อกลับไปที่สถานทูตญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยที่ทั้งเอกสารหลักฐานจากแพทย์ทะเบียนสมรส และจดหมายรับรองจากสามี แต่สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยกลับลังเลที่จะออกวีซ่าให้เธอ ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้ทำผิดกฎใด ๆ ของการเข้าประเทศญี่ปุ่น หรือการอยู่ในญี่ปุ่น เธอก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายใด ๆ เธอต้องเสียเวลาหลายครั้งในการสัมภาษณ์จนชักกังวลว่าจะได้กลับไปอีกหรือไม่


" จะทำยังไงล่ะ ตอนนี้ก็มีเด็กช่วยงานในร้านอยู่หลายคน ( คนไทย 4 คน) เงินเดือนเด็กยังไม่ได้จ่าย สามีก็กำลังจะเริ่มมากรุ้มกริ่มกับเด็กในร้านบางคนเข้าให้แล้ว และมีภารกิจหลาย ๆอย่างก็ค้างอยู่ที่โน่น นี่ถ้าอยู่ที่ญี่ปุ่นบอกยากูซ่าคำเดียวเรื่องก็คงเรียบร้อยหมดแล้ว" พี่แนนกล่าวแบบเซ็งๆ