Skip to main content

เก่อตอเก (2)

คอลัมน์/ชุมชน

เก่อ ตอ เก เป่อ เต หน่า กู               ดอ ปี้ อู หว่า ปอ


เก่อ ตอ ธ่อ เก เป่อ โกละ               เก่อ ตอ ธ่อ เก เป่อ โม


เก่อ ตอ เก แกว เปอ หน่า เนอ


 


เป่อ บะ เก่อ ตอ เก ออ                   เป่อ บะ อิ กว่า เก ออ


เป่อ เหม่ เต่อ กว่า เก ออ                เก่อ ญอ อะ ลา เก่อ ปอ


เก่อ ลอ หม่า กุย แว เหน่ ลอ


 


รักษ์และเล่นพิณเตหน่ากู                เป่าขลุ่ยผิวไม้ไผ่


ฆ้องกบ มรดกล้ำค่าของชนเผ่า         ตีร่วมกับฉาบ ฆ้อง กลอง


ประสานเสียงปี่เขาควาย


 


เราต้องสืบสร้างสานต่อ                   เราต้องร่วมรักษ์ร่วมใช้


หากเราหมางเมินคุณค่า                  ศักดิ์ศรีของบรรพชน


และศักดิ์ศรีคนปวาเก่อญอจะหมดสิ้นไป


 


(ท่อนที่ 2 เพลงเก่อตอเก : คำร้อง/ทำนอง : พนา  พัฒนาไพรวัลย์  ขับร้อง : ชิ  สุวิชาน  อัลบั้ม : เพลงนกเขาป่า)


 


จากชุมชนที่ไม่เคยมีโรงเรียนที่เป็นอาคาร  ทุกหนทุกแห่งคือแหล่งเรียนรู้  ในบ้าน ทุ่งนา หลังควาย ไร่ข้าว ขุนเขา ลำห้วย  บทเรียนที่ไม่มีในแผ่นกระดาษที่เรียกว่าหนังสือหรือห้องทดลอง หาความรู้เอาจากพื้นที่ปฏิบัติจริง 


 


ไม่เคยใช้ปากกาในการจดบันทึกหรือเขียนความรู้  ใช้การลงมือทำจริงบนแผ่นดิน ในสายน้ำ  ไม่เคยสอบแข่งขันเพื่อเอาชนะหรือความเป็นเลิศ  แต่เรียนรู้เพื่อยังชีพและเกื้อกุลแบ่งปันแลกเปลี่ยนผลการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ทุกคนอยู่ในสถานะที่เป็นทั้งครูและผู้เรียน


 


บัดนี้ในหมู่บ้านมีอาคารเรียน  มีคนที่มีอาชีพครูมาสอนโดยเฉพาะ ต้องสอบเพื่อเลื่อนชั้น สอบได้เป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมดา  เพราะเรียนเรื่องที่ไม่ได้ใช้ในชุมชน  พูดภาษาที่ไม่ใช่ภาษาในชุมชน อ่านเรื่องที่อยู่ไกลตัวไม่เคยเห็น 


 


ชั้น ป.1 ถึง ป.4 บางคนใช้เวลา 4 ปีจบ  บางคน 6 ปี  บ้างก็ 7 ปี สนุกสนานกับการสอบตกและซ้ำชั้น แต่บางคนใช้เวลาแค่ 2 ปี ก็ออกไป ไปเรียนรู้กับควาย ให้ควายเป็นครูบ้าง เป็นครูให้ควายบ้าง  บางครั้งเลี้ยงควาย บางครั้งควายก็เลี้ยงเขา


 


ถึงแม้จะมีโรงเรียนและกฎหมายของทางการบังคับให้ต้องจบชั้นประถมสี่ทุกคน  มิฉะนั้นจะเป็นความผิดของพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กที่ไม่ส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน 


 


แต่เมื่อจบประถมสี่แล้ว เด็กๆ สามารถมีทางเลือกที่จะเลือก  ระหว่างจะไปเรียนต่อที่โรงเรียนในชั้นที่สูงขึ้นหรือจะไปเรียนที่ทุ่งไร่ท้องนาและป่าเขาลำเนาห้วย  จะจับดินสอ ปากกา หรือจะจับคันไถ คันจอบ  จะเขียนชีวิตโดยใช้เมล็ดพันธ์ เป็นตัวอักษรลงในผืนนาผืนไร่ หรือจะใช้น้ำหมึก เขียนลงบนกระดาษ


 


แต่เด็กมักเลือกที่จะเดินออกจากโรงเรียนมากกว่า  เหมือนมั่นใจในความมั่นคงของการดำเนินวิถีความเป็นอยู่ของตนเอง  อาจด้วยทรัพยากรธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ ระบบความสัมพันธ์ยังอยู่แบบช่วยเหลือเกื้อกุล ผลิตเพื่อยังชีพ บริโภคแบบพอเพียง รู้จักความเพียงพอ  ทำเท่าที่กิน  กินเท่าที่มี


 


และเขาเป็นอีกหนึ่งคนที่มุ่งเดินหน้าเข้าสู่ระบบโรงเรียนอย่างเต็มตัว และแบกความคาดหวังของของครอบครัวเต็มบ่า เขาเป็นคนโตสุดจากพี่น้องทั้งหมดสิบเอ็ดคน  เขาเป็นโรคโปลิโอ ตอนอายุห้าขวบ เกือบเอาชีวิตไม่รอดจนขาซ้ายของลีบไปข้างหนึ่ง   พ่อของเขารู้ดีว่าจะให้คนขาลีบทำไร่ทำนานั้นคงลำบาก  จึงอยากให้เขาเรียนหนังสือเผื่อจะหาอาชีพที่ใช้พละกำลังทางร่างกายน้อยกว่า


 


นอกจากเขาไปเรียนหนังสือจากโรงเรียนแล้ว เขาไม่ทิ้งที่กลับมาแสวงหาความรู้ในชุมชน จักสานไม่ว่าจะเป็นเสื่อ กระด้ง ก๋วย กือ ตะกร้า  วิธีการจับสัตว์ป่าด้วยการวางกับดักต่างๆ  การใช้หน้าไม้ ลูกดอก หรือแม้กระทั่งปืน การตีเหล็ก  ดนตรีชนเผ่า การเป่าปี่เขาควาย การตีฆ้อง ฉาบ การอื่อธา การเลี้ยงสัตว์ แม้เขาไม่ชำนาญเป็นพิเศษแต่ เขาได้เรียนรู้และทำได้เกือบทุกอย่าง


 


เมื่อเขาไปเรียนในเชียงใหม่  เขาได้อาศัยอยู่ในหอพักคริสเตียน เขาได้รู้จักกับเครื่องดนตรีกีตาร์ของฝรั่ง เขาใช้มันระบายความในออกมาเป็นเพลง เขาแต่งทิ้งแต่งขว้าง จนบางเพลงแต่งแล้วตัวเองจำไม่ได้แล้ว แต่คนอื่นไปร้องต่ออีกเป็นสิบปี  และหลายเพลงถือว่าเป็นเพลงปวาเก่อญอที่อมตะ  จนถึงทุกวันนี้ เช่นเพลงธันวารื่นรมย์


 


หลังจากเขาเรียนจบ มศ.5 เขาหวนกลับคืนสู่ภูเขาแล้วมาเป็นครูสอนหนังสือ  ที่แห่งแรกที่เขาไปสอนหนังสือคือหมู่บ้านปวาเก่อญอแม่ชา ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่


 


การที่เขาชอบเรียนรู้ เห็นอะไรแปลกใหม่ชอบถามชอบดู ชอบแตะ และการที่เขาเป็นคนชอบเล่นดนตรีชอบร้องเพลง ทำให้เขาเข้ากับคนไดง่ายและเร็ว โดยเฉพาะสาวๆ  อาการขาลีบข้างหนึ่งของเขานั้นไม่เป็นปมด้อยสำหรับเขาเลย


 


                  


 


ทุกเย็นวันศุกร์และวันเสาร์ หากเขาไม่กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้าน  เขาจะตระเวนพูดคุยกับผู้คนในหมู่บ้านที่เขาสอน คนเฒ่าคนแก่  พ่อแม่ของลูกศิษย์ เพื่อนคนหนุ่มและสาวๆ  เขาไม่เหมือนครู เขาเหมือนเป็นลูกเป็นหลานของคนในชุมชนมากว่า  คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเรียกเขาว่า "โพโดะควา (หลานชาย) มากกว่าครู  เพื่อนคนหนุ่มและสาวๆ ในชุมชนเรียกเขาว่า "โดะควา" (สหาย) มากกว่าครู เด็กๆ นักเรียนเรียกเขาว่า "พาตี่" (ลุง) มากกว่าครู


 


คืนวันนั้น..ในขณะที่เขาตระเวนพูดคุยกับผู้คน ณ บ้านหลังหนึ่ง เขาเหลือบไปเห็นเครื่องดนตรีโบราณชิ้นหนึ่ง เพียงเท่านั้น  เหมือนเขาถูกสะกดด้วยมนต์อะไรบางอย่าง เขาค่อยๆ เคลื่อนตัวเขาหามัน หยิบมันขึ้นมาและขอฝึกเรียนในคืนวันนั้น


 


หลังจากนั้น 5 คืน เขาดีดเตหน่ากูได้ แต่ยังไม่เป็นเพลงแต่เพียงพอสำหรับการไปเรียนรู้ฝึกฝนด้วยตนเอง เขาให้ค่าครู 20 บาทแก่ครูโซโลโม เจ้าของบ้านหลังนั้น


 


ปีนั้น…ในเดือนมีนาคม หมู่บ้านของเขาได้เป็นเจ้าภาพในงานประชุมสมัชชาคริสตจักรภาคมูเจ่คี เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แต่งและร้องเพลงต้อนรับอาคันตุกะจากชุมชนอื่น ซึ่งมาร่วมกว่า 30 ชุมชน


"ถึงเวลาดนตรีปวาเก่อญอแล้ว" เขานึกในใจ


 


เขาจึงชวน พาตื่พาแฮ คนเป่าแกวมือด้วนแห่งบ้านโขล่โกล๊ะ  พาตี่บูหน่า คนตีกลองแห่งบ้านมอเด


และเพื่อนอีกหลายคนมาช่วยเล่นดนตรีเช่นเป่าขลุ่ยผิวไม้ไผ่ ตีเกราะ เล่นเบสกล่อง ฆ้องและฉาบ เขารับหน้าที่เล่นเตหน่ากูและร้องนำ โดยที่เขาไม่เคยคิดเลยว่ามันคือการนำตัวเองไปสู่ความขัดแย้งของวัฒนธรรมและศาสนา ความเชื่อใหม่กับระบบคิดเดิม


 


หลังจากเขาบรรเลงดนตรีออเคสต้าปวาเก่อญอจบและลงเวที  ทันใดนั้นศาสนจารย์คนหนึ่งเดินมาหาเขา


"เป็นไงครับอาจารย์  สรรเสริญพระเจ้าด้วยดนตรีชนเผ่าของเราเองใช้ได้มั้ยครับ?" เขาทักศาสนจารย์


 


"มันเป็นดนตรีของซาตาน!! วันหลังอย่านำดนตรีแบบนี้มาเล่นอีก!" คำตอบที่เขาได้รับ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาเลิกแต่งและร้องเพลงพระเจ้า!


 


"หากการจะร้องร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าแล้วต้องทิ้งเครื่องดนตรีชนเผ่าตนเอง  ขอเลือกเล่นดนตรีชนเผ่า" เขาอธิบายให้ผู้เขียนฟัง


 


"เมื่อคุณทิ้งผืนนาผืนหนึ่งเป็นมรดกให้ลูกคนหนึ่ง  แต่เขากลับทิ้งที่นาไม่ยอมทำนาที่เป็นสิ่งที่คุณให้เขา หรือไม่ก็ขายนาผืนนั้นเสีย คุณว่าลูกคุณรักคุณไหม?  ดนตรีก็เช่นกัน มันก็เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้เรา ไม่ใช่ซาตานมาให้เรา เราจึงอยากให้ดนตรีชนเผ่ามีส่วนในการถวายเกียรติพระเจ้า" เขาอธิบายต่อ


 


เขายังเล่นเตหน่ากู ตามพื้นที่ทางสังคมของเขา กระทั่งลูกชายเขาอายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ เขาแปลกใจที่ลูกชายเขามาขอเรียนเตหน่ากูที่เขา  เขาสอนได้ 3 คืน ลูกชายเขาขอไปฝึกเอง  และเขาก็ได้เห็นผลงานของลูกชายของเขา  เขามีส่วนร่วมในงานดนตรีของลูกชายเขาเกือบทุกชิ้น  เพลงเก่อตอเก เป็นหนึ่งในผลงานของเขาในงานของลูกชาย


 


 ครั้งหนึ่ง ทองดี ตุ๊โพ ศิลปินรุ่นบุกเบิกของปวาเก่อญอต้องไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่น ทองดี ตุ๊โพจึงมาขอเป็นลูกศิษย์เรียนเตหน่ากูจากเขา  จากจุดนี้เองทำให้ทองดีได้พบลูกชายเขาและชักนำเขาสู่งานดนตรี


 


เขายังตระเวนเล่นดนตรีทุกขุนดอย ตามที่พี่น้องชนเผ่าเรียกร้อง  เขาเคยถูกร้องเรียนในข้อหา หนีราชการเพื่อไปเล่นดนตรี  จนผู้บังคับบัญชาระดับอำเภอต้องขึ้นมาสอบสวนถึงบนดอย 


 


"ผมไปเล่นดนตรีให้พี่น้องชนเผ่าผมฟัง" คำสารภาพของเขา


"คุณเล่นดนตรีอะไร แนวไหน" ผู้บังคับบัญชาซักเขาต่อ


"ผมเล่นดนตรีชนเผ่าให้พี่น้องผมรู้รักษ์วัฒนธรรมของตนเองและดูแลสิ่งแวดล้อม" เขาตอบ


"ถ้างั้นดีเลย เดือนหน้าผมมีงานผ้าตีนจกที่แม่แจ่ม ผมอยากให้อาจารย์เป็นตัวแทนของ สปอ. ของเราขึ้นเวทีแสดงหน่อยนะ" ผู้บังคับบัญชาบอกเขา


"ยินดีครับ ถ้าไม่ผิดข้อบังคับระเบียบของราชการ"  เขาตอบรับ


"โอ้ย ! ดนตรีแบบนี้คุณต้องเล่นเยอะ ๆ สอนลูก สอนหลาน สอบเด็กนักเรียนในโรงเรียนด้วย" ผู้บังคับบัญชาแนะนำ


 


เขายังคงเล่นดนตรีที่มีโอกาส สอนดนตรีให้กับเด็กในหมู่บ้าน   ที่โรงเรียนเขาเป็นครูเอกภาษาอังกฤษแต่เขาสอนวิชางานประดิษฐ์พื้นบ้านให้กับเด็กด้วย


 


ปัจจุบันเขาออกตระเวนเล่นดนตรีน้อยลง  เขายกหน้าที่ให้ลูกชาย


" ใครอยากเรียนรู้ให้มาหาผมที่บ้าน ผมยินดีตอนรับเสมอ  ผมแก่แล้ว เดินทางไม่ค่อยไหว แต่ถ้ามาที่บ้านผม ถึงไหนถึงกัน โต้รุ่งก็ยังไหว" เขาบอกกับผู้มาเยือน


 


เรื่องราวของเขามีอีกมากมาย  นี่คือมุมหนึ่งของชีวิตเขา ถ้าอยากรู้เพิ่มขึ้นไปหาเขาที่บ้านโหน่เดะลอ แห่ง มูเจ่คี เขารอคุณอยู่ที่นั่นพร้อมเรื่องราว โลกคีตการปวาเก่อญอ