Skip to main content

พอลล่า กันน์ อัลเลน : เฟมินิสต์ เลสเบี้ยน และอินเดียนแดง

คอลัมน์/ชุมชน

ในวันที่อิสราเอลเปิดฉากสงครามครั้งใหม่กับเลบานอน  ฉันคิดอยากจะเขียนถึง พอลล่า  กันน์  อัลเลน  เพราะ นอกจากเธอจะเป็นนักเขียน  นักวิชาการ เฟมินิสต์  เลสเบี้ยน  และชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน (อินเดียนแดง) แล้ว  เธอยังเป็นนักกิจกรรมต่อต้านสงครามและอาวุธนิวเคลียร์  ที่วิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงในสังคมชายเป็นใหญ่  พร้อม ๆ กับนำเสนอวิถีแห่งสันติที่มีพื้นฐานจากสังคมชนเผ่า  


 


อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันคิดถึงเธอก็คือ เชื้อสายฝั่งพ่อของเธอ มาจากเลบานอน


 


ฉันยังนึกถึงเพื่อนนักเรียนอีกคนในซานฟรานซิสโก  เธอชื่อ เมย์  อัลเลวาร์  เมย์มาจากเลบานอน  แต่งงานกับคนอเมริกัน  มีลูกชายวัยกำลังซนสองคน  เธอเป็นเฟมินิสต์จากโลกอาหรับ  ที่ย้ำกับเพื่อน ๆ เสมอว่า  เราไม่สามารถทำเพียงแค่วิจารณ์สังคมชายเป็นใหญ่ว่าคับแคบสำหรับผู้หญิงเพียงไร  แต่เราต้องชี้ให้ผู้คนเห็นด้วยว่า "ทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่นั้นเป็นอย่างไร" 


 


ฉันคิดว่า พอลลา กันน์  อัลเลน  ทำทั้งสองด้านนี้ได้อย่างดีเยี่ยม    


 


พอลลา กันน์  อัลเลน  เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1939  ในเมืองเล็ก ๆ ในรัฐนิวเม็กซิโก  เธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางคนหลากหลายเชื้อชาติ  ทั้งเม็กซิกัน   อินเดียนแดง  และคนขาว  ตัวอัลเลนเองมีเชื้อสายเลบานอนมาทางฝ่ายพ่อ  ฝ่ายแม่เป็นลูกผสมอินเดียนแดงเผ่าลากูนา  เผ่าซู  และสก็อต  เอเลนอธิบายถึงแผ่นดินเกิดที่หล่อหลอมความเป็นเฟมินิสต์ของเธอว่า


 


"ถ้าใครสักคนคิดว่าผืนแผ่นดินเป็นผู้หญิงแล้ว  ภาพของผู้หญิงที่เป็นถิ่นกำเนิดของฉันคือ  ผู้หญิงร่างใหญ่  แข็งแกร่งดุจหินผา  มหัศจรรย์  ทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า  ท้าทาย งดงาม  และลึกซึ้ง  ในขณะเดียวกัน  มีบางช่วง  บางเวลาเปลี่ยนผ่านเพียงสั้น ๆ เท่านั้น  ที่เธอบอบบาง  อ่อนโยน  และอ่อนไหว"


 


แม้อัลเลนจะเป็นลูกผสม  แต่เธอเติบโตและได้รับการเลี้ยงดูตามวิถีของอินเดียนแดงลากูน่า   ซึ่งเป็นหนึ่งในเผ่าเคเรส  พูเอโบล่  แม่ของเธอสอนเธอเสมอ ๆ ว่า  อย่าลืมว่าเธอคืออินเดียน  แม่ไม่เคยให้อัลเลนคิดว่าตัวเองเป็นลูกผสม  ความเป็นอินเดียนของเธอจึงเข้มข้นทั้งในสายเลือดและในวัฒนธรรม 


 


อัลเลนเรียกระบบวัฒนธรรม ที่เธอเติบโตขึ้นมานี้ว่า  Gynocracy  (gyno แปลว่า ผู้หญิง)  ระบบนี้มีลักษณะของความเป็น "สังคมเผ่าที่ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง  มีการสืบสายสกุลทางผู้หญิง ตั้งถิ่นฐานโดยยึดทางฝ่ายหญิงเป็นหลัก  ผู้หญิงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต  แม่เป็นผู้ควบคุมผลผลิตและทรัพยากรของครอบครัว  มีเทพผู้หญิงที่เทียบระดับความสำคัญได้กับพระเจ้าในศาสนาคริสต์  เทพเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในวิถีของเผ่าทั้งในอดีตและปัจจุบัน"  ระบบเช่นนี้เองที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่องานเขียนของเธอ


 


อัลเลนจบปริญญาตรีด้านภาษาอังกฤษ  ปริญญาโทด้านการเขียน  ในเวลานั้นเธอยังไม่ได้สนใจการเป็นนักวิชาการด้านอินเดียนแดง  จนเมื่อปลายทศวรรษที่ 70  เธอได้รับเชิญให้ไปสอนในโครงการอเมริกันอินเดียนศึกษาที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก  นี่เป็นการหวนกลับสู่รากเหง้า  ที่เธอบอกว่าเป็นการนำเธอ "กลับมาสู่แม่  มาสู่ข่ายใยศักดิ์สิทธิ์  อันเป็นหนทางของยาย" 


 


ปี 1976  เธอจบปริญญาเอกด้านชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน  หลังจากนั้นอัลเลนสอนตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  รวมทั้งศึกษาต่อในระดับหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย  ที่เบิร์กลีย์  ในด้านวรรณกรรมชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน  เธอเกษียณอายุจากตำแหน่งอาจารย์ด้านภาษาอังกฤษ  การเขียน และอเมริกันอินเดียนศึกษา  จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย  ที่ลอสแองเจลิส  เมื่อปี 1999


 


อัลเลนเป็นหนึ่งในเฟมินิสต์รุ่นแรก ๆ  ที่นำเสนองานผ่านมุมมองของชนเผ่า  หนังสือของเธอเรื่อง The Sacred Hoop: Rediscovering the Feminine in American Indian Traditions.  อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับเฟมินิสต์ชนเผ่าเล่มแรก  ที่เขียนโดยตัวชนเผ่าเอง  เธอให้แง่คิดหลายมุมไว้ในหนังสือเล่มนี้ที่ต่างไปจากงานวิชาการกระแสหลัก  เธอพูดไว้ชัดเจนว่ามุมมองของเธอไม่ใช่มุมมองของนักมานุษยวิทยาหรือมิชชันนารี  และไม่ได้สะท้อนถึงการคิดแบบคนขาว 


 


ตั้งแต่โคลัมบัสเป็นต้นมา  ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันต้องประสบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  การถูกจำกัดและเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นเหมือนคนขาว  มิชชันนารีชาวคริสต์พยายามเข้าไปเผยแพร่ศาสนาเพราะเห็นว่าศาสนาดั้งเดิมของชนเผ่านั้น  ไม่ใช่ทางรอดที่แท้จริง  พร้อม ๆ กันนั้นนักมานุษยวิทยาก็เดินทางเข้าไปศึกษาชีวิตชนเผ่า  แต่ทั้งศาสนาและการศึกษาก็เต็มไปด้วยอคติของสังคมชายเป็นใหญ่  ศาสนาชายเป็นใหญ่  และความเชื่อที่ว่าสังคมคนขาวเป็นสังคมที่ "อารยะ" กว่าสังคมอื่น ๆ  ด้วยเหตุนี้ภาพของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันที่ปรากฎออกมาก็คือ  คนป่า  ไร้อารยธรรม  ไร้ศาสนา  ลึกลับ  และน่าหวาดกลัว 


 


แม้อัลเลนจะได้รับการศึกษาตามวิถีตะวันตก  แต่เธอได้หลอมรวมวิธีการหาความรู้ตามแบบของตะวันตกเข้ากับความเป็นชนเผ่า  ในหนังสือเล่มนี้  เธอใช้ "ตัวตนภายใน"  ตรวจสอบงานเขียนเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันต่าง ๆ ว่าเป็นจริงหรือไม่  วิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีวิชาการตามแบบฉบับตะวันตก  แต่เธอบอกว่า  ตัวตนภายในของเธอสามารถรับรู้ได้ว่าอะไรจริงไม่จริงสำหรับอินเดียน  เพราะเธอเองก็เป็นอินเดียนคนหนึ่ง


 


เธอใช้ตัวตนภายในนี้เองวิพากษ์วิจารณ์สังคมอเมริกันที่เข้าใจชนเผ่าอย่างผิด ๆ มาตลอด  เธอย้ำว่า  สังคมชนเผ่าในอเมริกาไม่เคยเป็นสังคมชายเป็นใหญ่  แต่เป็น Gynocracy การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่คนขาวกระทำต่อชนเผ่ามาเป็นเวลา 500 กว่าปีนั้น  ส่วนใหญ่แล้วมีเหตุผลมาจากความหวาดกลัวระบบ Gynocracy นี้เอง  แม้ในปัจจุบันการศึกษาตามแบบฉบับตะวันตก  ก็ยังไม่เข้าใจชนเผ่าดี  เพราะยังมีอคติจากสังคมชายเป็นใหญ่อยู่มาก  ทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าความสำคัญของผู้หญิงในระบบชนเผ่าลง  เพื่อให้ดูเหมือนว่าสังคมชนเผ่าก็เป็นสังคมชายเป็นใหญ่เช่นกัน


 


อัลเลนสะท้อนภาพให้เราเห็นว่า  "ทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่"  นั้นเป็นอย่างไร  เธอเล่าว่า  ที่ ๆ เธอเติบโตขึ้นมา  ผู้หญิงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ  ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  หรือถูกกดขี่  แต่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่เข้มแข็ง  มีเหตุผล  ฉลาดเฉลียว  มีไหวพริบ  มองโลกอย่างเป็นจริง  และเปี่ยมไปด้วยความสามารถ 


 


จิตวิญญาณนั้นเป็นส่วนสำคัญที่แยกออกจากอินเดียนแดงไม่ได้  และจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่  ผู้สร้างโลก  ผู้สอนมนุษย์ให้รู้จักการเกษตร ทำเครื่องปั้นดินเผา ทอผ้า สอนให้มีระบบสังคม ภาษา  ศาสนาและพิธีกรรม  บทเพลงและการเต้นรำต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเพศหญิง เทพผู้หญิงนี้เป็นทั้งแม่และพ่อของผู้คนและทุกสรรพชีวิต  นี่ไม่ใช่เฉพาะเผ่าของเธอเท่านั้น  แต่ในเผ่าอื่น ๆ เทพผู้หญิงก็มีความสำคัญต่อวิถีของเผ่าเป็นอย่างยิ่ง 


 


อัลเลนกล่าวว่า  พลังของผู้หญิงนี้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  และเป็นทั้งหัวใจ (ครรภ์)  และความคิด (ความสร้างสรรค์)  ผู้หญิงทุกคนเกิดมากับพลังนี้  ในเผ่าของเธอ  ครรภ์มารดา  เลือดประจำเดือน และเลือดจากการคลอดบุตรถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เพราะมันเต็มไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต  พลังแห่งการเสียสละ  และพลังที่จะปลุกเร้าพลังต่าง ๆ   นี่ไม่ใช่พลังแห่งการทำลายล้าง  หากแต่เป็นพลังที่ก่อให้เกิดสันติและความสอดคล้องสมดุล


 


ในเรื่องเลสเบี้ยนนั้น  อัลเลนกล่าวว่า  สังคมชนเผ่านั้นผู้หญิงกับผู้ชายจะมีการทำงานและทำพิธีกรรมที่แบ่งแยกกันชัดเจน ผู้หญิงจะมีเวลาอยู่ด้วยกันมาก  และแน่นอนว่า  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคนจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมาก  แต่ความซับซ้อนมีมากกว่านั้น  เพราะในขณะที่เธอมีความรักกับผู้หญิงอีกคน  เธอก็อาจมีสามีและลูกไปด้วยในเวลาเดียวกัน  อัลเลนอธิบายว่า การที่เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้  เราต้องรู้ว่า  ชีวิตอินเดียนนั้นขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณ  บางทีจิตวิญญาณอาจต้องการให้ผู้หญิงมีลูกและเลี้ยงลูก  เพราะการเป็นแม่นั้น  คือการได้มาซึ่งพลังทางจิตวิญญาณและอำนาจในการแบ่งปันทรัพยากรต่าง ๆ     


 


ขณะที่เลสเบี้ยนในสังคมอเมริกันมักจะรู้สึกแปลกแยกจากสังคม  แต่ในสังคมชนเผ่าของอัลเลน  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงจะมีความมั่นคงและปลอดภัยมากกว่า  เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดและดูแลโดยบรรดาเทพทั้งหลาย  ดังนั้น  จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ได้รับการยอมรับและเคารพในเผ่า


 


อัลเลนฝากเอาไว้ว่า ในยุคสังคมชายเป็นใหญ่นั้น  พลังของเลสเบี้ยนกำลังถูกปิดทับด้วยความเงียบ ที่มีแต่จะกัดกร่อนทำลาย  เราต้องไม่ปล่อยให้ความเงียบนี้เป็นอุปสรรคต่อการค้นพบตัวเองของเรา  เราต้องไม่ลืมจุดกำเนิดและพลังอันแท้จริงของเรา


 


งานในยุคหลังของอัลเลนยังคงการวิพากษ์วิจารณ์สังคม  พร้อม ๆ กับนำเสนอทางเลือกที่นำไปสู่พลังอันสันติ  ใน Off the Reservation:  Reflections on Boundary-Busting, Border-Crossing, Loose Canons.   อัลเลนเสนอว่าความโดดเดี่ยวแปลกแยกในสังคมอเมริกันนั้น เกิดเพราะคนอเมริกันหลงลืม "แม่"  อันหมายถึง  อินเดียนแดง  โลก  และธรรมชาติ  วัฒนธรรมอเมริกันทำลายทั้งสามสิ่งนี้และยกย่องความเปล่าเปลี่ยวให้อยู่เหนือ "แม่"  อเมริกาควรกลับมาเรียนรู้จากอินเดียนแดง และสิ่งที่จะนำสังคมกลับสู่ความสมดุลได้ก็คือ  ความเป็นชุมชน  และพลังแห่งความเป็นหญิง 


 


ในขณะที่เฟมินิสต์สายหลังสมัยใหม่บางกลุ่ม  เสนอทางออกจากสังคมชายเป็นใหญ่ว่า  เราไม่ควรยึดติดกับสารัตถะแห่งความเป็นหญิง  เพราะมันเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างจากสังคม  แต่อัลเลนกลับนำเสนอหนทางออกที่ต่างออกไป  ในหนังสือเล่มนี้เธอบอกว่า  "การสร้างพลังให้ผู้หญิงนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมชายเป็นใหญ่  หากแต่ขึ้นอยู่กับการตระหนักว่ามันเป็นส่วนเกินของชีวิตเรา"  


 


และ  "สังคมชายเป็นใหญ่นั้น  จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสำคัญ  สิ่งสำคัญคือ  พันธะสัญญาและการอุทิศตัวให้กับความเป็นผู้หญิงของเรา  พร้อม ๆ กับเห็นว่า  ความเป็นผู้หญิงนั้นเป็นทั้งสิ่งที่เรามีร่วมกันและหลากหลายไปตามชนชั้น  วัฒนธรรม  ประวัติศาสตร์  และการเมือง"


 


อัลเลนยังคงวิพากษ์อคติและความรุนแรงที่มีต่อชนเผ่าในหนังสือเล่มนี้  รวมทั้งแตะประเด็นเลสเบี้ยน, ความรุนแรงต่อโลกและผู้หญิง  เธอยังได้กลับไปหารากเหง้าฝ่ายพ่อ  และค้นคว้าเรื่องพลังของผู้หญิงในเลบานอน 


 


งานอื่น ๆ ของเธอก็เช่น  Grandmothers of the Light: A Medicine Woman’s Sourcebook    ซึ่งเป็นการรวบรวมตำนานของเทพผู้หญิงจากหลากหลายเผ่า  เป็นการเน้นย้ำของอัลเลนอีกครั้งว่า  ผู้หญิงทุกคนมีพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้  


 


Spider Woman’s Granddaughters: Traditional Tales and Contemporary Writing by Native American Women  เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล Native Prize for Literature เรื่องนี้อัลเลนแสดงให้เห็นว่า  ตลอดระยะเวลา 500 ปีของสงครามที่คนขาวกระทำต่ออินเดียนแดงนั้น  ผู้หญิงได้รับผลกระทบและความสูญเสียอย่างไร  ขณะเดียวกันเธอก็ทำให้เราได้เห็นภาพอีกด้านว่า  ในภาวะเช่นนั้น  ผู้หญิงยังคงศักดิ์ศรีและความกล้าหาญได้อย่างไรบ้าง


 


สังคมชายเป็นใหญ่นั้นเป็นสังคมที่ขาดความสมดุล  ตามแนวคิดของอินเดียนแดงนั้น  เมื่อใดที่สังคมเสียสมดุล  ความหายนะและการทำลายล้างก็จะตามมา  เสียงของอัลเลนเป็นดั่งเข็มทิศชี้ทางให้โลกอันรุนแรงของเรา  หันกลับมาหาทางออกสู่ทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่   ในทุ่งหญ้านี้  เธอบอกว่ามีแหล่งพลังสำคัญรอเราอยู่   นั่นคือพลังแห่งเพศหญิงที่เหือดหายไปจากโลกมานาน  และนี่เองเป็นพลังอันสามารถนำให้โลกกลับสู่ความสันติและสมดุล 


 


แล้วก็ทำให้ฉันคิดถึงเมย์อีกครั้ง 


 


ช่วงที่ผ่านมา  เมย์พาลูกชายทั้งสองไปเยี่ยมบ้านที่เลบานอน  ทั้งสามคนติดอยู่ที่นั่นในช่วงแรกของการโจมตีทางอากาศ  เมย์ส่งข่าวถึงเพื่อน ๆ ผ่านทางสามีที่อยู่ในซานฟรานซิสโกว่า  หลายวันแล้วที่เธอและลูกต้องหลบอยู่แต่ในบ้าน  เพราะมีการโจมตีอย่างหนักในเขตที่เธออยู่  เมย์พยายามหาทุกวิถีทางที่จะพาลูกออกจากเลบานอน  เธอคิดว่าจะขับรถพาลูกหนีออกทางชายแดนซีเรีย  แต่ทางรัฐบาลเตือนว่า  การเดินทางทางถนนนั้นยิ่งอันตราย  พวกเราใจคอไม่ดีอยู่หลายวัน  จนวันนี้เองที่สามีของเมย์ส่งข่าวมาว่า  เมย์และลูกได้ลงเรือหนีออกมาที่ไซปรัสแล้ว


 


ฉันจินตนาการภาพของเมย์  ที่กอดลูกชายทั้งสองยามมีเสียงระเบิดลงใกล้ ๆ ตัว  นึกถึงภาพเมย์เวลาพยายามหาทางออกทุกวิถีทางให้ลูกปลอดภัย  ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเสี่ยงระเบิดไปที่ชายแดนก็ตาม   ฉันเห็นภาพของเธอยังคงกอดลูกทั้งสองอยู่ไม่ห่างตัวเวลาขึ้นเรือหนีไปไซปรัส 


 


ฉันนึกแล้วก็เข้าใจได้ว่า  พลังแห่งความเป็นผู้หญิง  ที่พอลล่า  กันน์  อัลเลนพูดถึงนั้นคืออะไร 


 


ฉันไม่รู้ว่าเมื่อใดสงครามจะหยุด  ไม่รู้ว่าทั้งเมย์และลูกชายทั้งสองคนจะต้องใช้เวลาเยียวยาอีกเพียงใด  จึงจะหายหวาดกลัว  ไม่รู้ว่าเมื่อใดที่ผู้มีอำนาจ  ผู้ที่ถืออาวุธ  จะเรียนรู้เสียทีว่า  พลังที่โลกต้องการนั้น  ไม่ใช่พลังแห่งการทำลายล้าง  แต่เป็นพลังแห่งความสันติและความสอดคล้องสมดุล 


 


 


หนังสือประกอบการเขียน


 


Allen, Paula Gunn.  Grandmothers of the Light: A Medicine Woman’s Sourcebook.  Boston: Beacon Press, 1991.


---.  Off the Reservation: Reflections on Boundary-Busting, Border-Crossing, Loose Canons.  Boston: Beacon Press, 1998.


 ---.  The Sacred Hoop: Recovering the Feminine in American Indian Traditions.  Boston: Beacon Press, 1992.


---.  Spider Woman’s Granddaughters: Traditional Tales and Contemporary Writing by Native American Women. Boston: Beacon Press, 1989.