Skip to main content

ความสะดวก กับ ความสบาย ใน "กรุงเทพฯ"

คอลัมน์/ชุมชน

ผมจากบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อ เมื่อประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว กรุงเทพฯ ตอนนั้นก็ไม่ต่างจากตอนนี้เท่าไรหรอกครับ รถติดเป็นแพ ผู้คนมากมายแย่งกันกินแย่งกันใช้ ขยะเต็มเมือง ควันรถเต็มถนน ฯลฯ ผมเองก็ซาบซึ้งในความเป็นกรุงเทพฯ พอสมควร  เพราะทั้งเรียนทั้งทำงานก็วนเวียนอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ร่วมๆ สิบปี


 


ในขณะที่เพิ่งจะเรียนจบใหม่ๆ ก็คิดตามประสาว่า คงจะอยู่กรุงเทพฯ ต่อไปเรื่อยๆ เพราะงานการ และเพื่อนฝูงก็ล้วนแต่อยู่กรุงเทพฯ  ไอ้เรื่องจะกลับไปหางานทำที่บ้านนั้น เป็น "ตัวเลือกสุดท้าย"  คิดไปถึงขนาดว่า ถ้ามีครอบครัวก็คงจะต้องอยู่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับญาติมิตรหลายๆ คน


           


ความคิดของผมเริ่มมาเปลี่ยนเอาเมื่อประมาณ 2-3 ปี ที่ผ่านมา เพราะผมเริ่มประจักษ์แจ้งว่า สภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ มัน "ย่ำแย่" เอามากๆ 


 


ที่คิดอย่างนั้น อาจเป็นเพราะสภาพร่างกายและจิตใจที่โหมใช้มากไปหน่อย เลยรู้สึกว่ามันแย่กว่าที่ควรจะเป็น (เพราะคนอีกตั้งหลายล้านเขายังทนอยู่กันได้เลย) แต่ผมก็ตัดสินใจพาตัวเองย้ายออกจากเมืองกรุง ทั้งตั้งใจว่า ถ้าให้เข้ามาทำธุระหรือมาเที่ยว 2-3 วันละก็ได้ แต่ถ้าจะต้องมาอยู่เป็นเดือนเป็นปี นั้นขอลาขาด


 


ผมเพิ่งจะบังเกิดความเชื่อส่วนตัวที่ว่า "กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าเที่ยว แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่" เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง พูดให้เพื่อนซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดฟัง มันก็ว่า "เอ็งน่ะคิดมาก คนเขาอยู่กันมาตั้งนานแล้ว"


 


ความต่างของคนที่มีบ้านอยู่กรุงเทพฯ  กับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดประการหนึ่ง เห็นจะได้แก่ คนกรุงเทพฯ นั้น เขาไม่ค่อยอยากจะไปทำงาน หรือเรียนต่อต่างจังหวัดกันสักเท่าไร บางคนอาจจะว่า ก็แน่ละสิ ก็บ้านอยู่กรุงเทพฯ จะให้ไปไหนล่ะ  ก็แล้วเด็กต่างจังหวัดละครับ ทำไมถึงออกจากบ้านมาเรียนไกลๆ ได้


 


ไม่จำเพาะว่าต้องมาเรียนในกรุงเทพฯ นะครับ ไปเรียนเชียงใหม่ สงขลา ปัตตานี พิษณุโลก ฯลฯ ลองไปดูเถอะ มีคนกรุงเทพฯ กล้าออกไปอยู่ต่างจังหวัดกันสักเท่าไร บางคนออกไปได้ไม่นาน ก็ต้องหาทางย้ายตัวเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อีกจนได้


 


ผมคิดเล่นๆ ว่า คนกรุงไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วเขาคงรู้สึกว่าตัวเองดู "โลโซ" กระมัง


 


ส่วนเด็กต่างจังหวัดที่ไปเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อย ก็คิดไม่ต่างจากผมเมื่อตอนเรียนจบใหม่ๆ คือยังไงๆ ก็ต้องหางานทำในกรุงเทพฯ เรื่องกลับไปอยู่บ้านค่อยว่ากันทีหลัง และในเวลาต่อมา ก็มีครอบครัวและตั้งรกรากอยู่กรุงเทพฯ กันเป็นจำนวนมาก


 


ก็อย่างที่รู้ๆ กัน โครงสร้างการพัฒนาบ้านเรา ทำให้ "กรุงเทพฯ คือประเทศไทย" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เมื่อศูนย์กลางของทุกอย่างมากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะสถานศึกษา สถานที่ราชการ หรือ บริษัทเอกชนชั้นนำ ผู้คนจึงต้องหลั่งไหลมารวมกันอยู่ที่นี่ และเมื่อเรียนจบแล้วหรือได้งานทำแล้ว คนที่เลือกจะ "อยู่ต่อไป" น่าจะเป็นคนส่วนใหญ่  กระนั้น ก็มีอีกไม่น้อยที่เลือกจะกลับมาอยู่บ้าน


 


อย่างเพื่อนร่วมรุ่นมัธยมปลายของผม เท่าที่ทราบ ก็หลายสิบคน ที่เรียนจบแล้วก็กลับมาเลย บางคนทำงานในกรุงเทพฯ ไปสักพักเกิดอาการเบื่อก็กลับมาหางานทำที่บ้าน


 


อุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่ก็จริง แต่ก็เหมือนต่างจังหวัดอื่นๆ นั่นละครับ คือไม่ได้มีงานให้เลือกมากนัก อยากได้งานดีก็ต้องอาศัย "เส้น" กันเป็นเรื่องปกติ  เพื่อนผมคนหนึ่ง เรียนจบกลับมาอยู่บ้าน ได้งานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ทำงานจริงๆ แค่ครึ่งวัน อีกครึ่งวันนั่งอ่านหนังสือ กับทำอาหารกินกับเพื่อนร่วมงาน  ไม่ใช่ว่าขี้เกียจทำงานกันนะครับ แต่งานมันมีแค่นั้นจริงๆ อาจจะวุ่นหน่อยช่วงปิดงบประมาณ หรือเจ้านายระดับสูงจากส่วนกลางมาเยี่ยม แต่นอกนั้นก็ "สบายๆ" อย่างน่าอิจฉาเงินเดือนก็อัตราลูกจ้าง เดือนละไม่กี่พันบาท แต่กินอยู่กับบ้าน เขาก็อยู่ของเขามาเกือบๆ จะสิบปีแล้ว  ขณะที่ผม ซึ่งตั้งแต่เรียนจบ ก็เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น กลับบ้าน เจอเพื่อนฝูงที ก็ต้องบอกกันทีว่า เปลี่ยนงานอีกแล้ว


 


 


ความ "สบายๆ" ของคนที่กลับไปอยู่ต่างจังหวัด เป็นเรื่องที่ต่างจากชีวิตในเมืองกรุงลิบเลยครับ  เพราะจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ที่ผมยังต้องเข้าๆ ออกๆ กรุงเทพฯ อยู่อย่างน้อยก็เดือนละครั้ง ผมรู้สึกว่า อัตราการเสื่อมถอยของความรู้สึก "สบาย" ของเมืองกรุงฯ (ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว) มันเร็วขึ้นอย่างน่าตกใจ


 


คนที่อยู่ทุกวันๆ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ แต่ผมเข้าไปเห็นเดือนละครั้ง มันเลยมีการเปรียบเทียบ  ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ยิ่ง "ตึงเครียด" มากขึ้นทุกวัน คือเรื่องของ "ราคาน้ำมัน" ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะนี่คือ ตัวการที่ฉุดค่าครองชีพให้พุ่งสูงขึ้นตามกัน


 


ข้าวแกงและอาหารตามสั่ง จานละ 25-30 บาท


กาแฟเย็น,ชาดำเย็น,โอเลี้ยง (หวานแสบคอและดูดสองทีหมด) แก้วละ 10 บาท


ก๋วยเตี๋ยว แห้ง-น้ำ ชามละ   25-30 บาท


ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง จานละ 25-30 บาท


ฯลฯ


 


นี่คือราคาอาหาร ซึ่งไม่ว่าจะมีปริมาณและคุณภาพย่ำแย่แค่ไหน ก็ต้องกระเดือกลงไปให้หมด ยังไม่รวมค่ารถเมล์ ที่คนเข้ากรุงเทพฯ เดือนละครั้งอย่างผมจำไม่ได้แล้วว่า รถแบบไหนราคาเท่าไร (และทำท่าว่าจะขึ้นราคากันอีกรอบแล้ว)


 


เท่าที่ผมเคยทราบมา คนกรุงเทพฯ แท้ๆ ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน และคนต่างจังหวัดที่เข้าไปเรียนและไปทำงานในกรุงเทพฯ มีอยู่อีกประมาณ 10 ล้านคน (ซึ่งตัวเลขจริงน่าจะมากกว่านี้) ก็ย่อมหมายความว่า กรุงเทพฯ มีคนอยู่อย่างน้อย 20 ล้านคน


 


ถ้าประเทศไทยมีประชากรจำนวน 60 ล้านคน ก็เท่ากับว่า คน 1 ใน 3 ของประเทศไทย ไปรวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ หมด  มีประเทศไหนในโลกเป็นแบบนี้บ้าง?


 


ลองสังเกตดู เวลาที่เราอยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำไว้ เมื่อมีคนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ความเย็นในห้องจะลดลงไป ยิ่งคนอยู่มากเท่าไร แอร์ก็จะเย็นน้อยลงไปเท่านั้น เพราะ "อุณหภูมิ"ในตัวคนทำให้ห้องร้อนขึ้นนั่นเอง


 


กรุงเทพฯ เองก็ไม่ต่างจากเรื่องนี้เท่าไร คนยิ่งหลั่งไหลเข้าไปอยู่กันมาก "ความร้อน" ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมาก "ความเย็น" ก็หาได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนชั้นกลาง ที่ทำงานประจำหรือค้าขายทั่วไป จะให้มีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน มีชีวิตที่ "สบายๆ" กลับไม่ใช่เรื่องสบายๆ


 


หลังจากผมย้ายไปอยู่เมืองลำพูนได้ประมาณหนึ่งปี ก็มีรุ่นพี่ผมท่านหนึ่ง บอกว่า เขาคงไม่สามารถทำอย่างผมได้ เพราะการย้ายออกจากกรุงเทพฯ ต้องอาศัย "ความกล้า" มากทีเดียว  ตอนนั้นผมก็ได้แต่ยิ้มๆ ไม่ได้ตอบอะไรไป แต่มาคิดๆ ดูแล้ว การหาที่อยู่ที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง จะว่าใช้ความกล้า ก็อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพียงแต่ ผมรู้ตัวว่า เป็นมนุษย์ที่ไม่เหมาะกับเมืองใหญ่เท่านั้นเอง


 


ผมยอมรับว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ "สะดวก" ครับ ต้องการอะไร ก็หาได้ทั้งนั้น นับวันก็จะยิ่งสะดวกมากยิ่งขึ้น ทุกๆ ที่เต็มไปด้วยความเจริญ ความทันสมัยต่างๆ และดูเหมือนว่า อัตราความเจริญนี้จะเร่งขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร  แต่น่าแปลกที่ผมรู้สึกว่า "ความสบาย" (ที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ) มันหายากขึ้นทุกที


 


บางที ผมอาจจะรู้สึกไปเองคนเดียวอย่างที่เพื่อนผมว่าก็ได้


ก็คนส่วนใหญ่ "เขาอยู่ของเขากันมาตั้งนานแล้ว" นี่ครับ