Skip to main content

10 คำถาม เรื่อง " แผนไฟฟ้า 4 แสนล้านบาท " ( แผนพีดีพี 2004)

คอลัมน์/ชุมชน






















































































































































































































คำนำ

บทความนี้ได้เขียนขึ้นโดยเน้นเฉพาะประเด็นสำคัญ แต่พยายามให้ท่านที่เพิ่งสนใจเรื่องนี้สามารถทำความเข้าใจได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยแบ่งเป็น 2 หัวข้อต่อไปนี้
1 . คนไทยใช้พลังงานและไฟฟ้าปีละเท่าใด ( เพื่อให้เห็นขนาดของปัญหาและผลกระทบ )
2 . ขั้นตอนและหลักการจัดทำแผนฯ ปัญหาที่สงสัยรวมทั้งความผิดปกติในแผนของภาคใต้

 

1 . คนไทยใช้พลังงานและไฟฟ้าปีละเท่าใด

 

ในปี 2545 คนไทยทั้งประเทศใช้พลังงานขั้นสุดท้ายคิดเป็นเงินถึง 7.77 แสนล้านบาท คิดเป็น 14.31% ของรายได้ประชาชาติ ( จีดีพีเท่ากับ 5.43 ล้านล้านบาท ) ซึ่งหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วรายได้ทุก ๆ 100 บาทของแต่ละคนถูกใช้ไปกับพลังงานถึง 14.31 บาท

 

ในจำนวนรายจ่ายด้านพลังงานทั้งหมดนี้ 56% เป็นค่าน้ำมัน และ 32% เป็นค่าไฟฟ้าซึ่งคิดเป็นราคาปีละ 2.45 แสนล้านบาท โดยเฉลี่ยเกือบ 3,900 บาทต่อคน

 

ด้วยขนาดของรายจ่ายที่สูงขนาดถึงนี้ การกำหนดนโยบายด้านพลังงานตลอดจนการจัดทำแผนไฟฟ้าจึงมีผลกระทบที่สูงมากต่อคนไทยทุกคน

 

ในปี 2545 ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ยอมรับต่อสาธารณชนว่า ในช่วงที่ผ่านมา ( ซึ่งหมายถึงรัฐบาลก่อน ) ได้มีการคำนวณที่ผิดพลาด ส่งผลให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็นคิดเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท ส่งผลให้คนไทยต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น

 

คำถามที่ 1 ในการจัดทำแผนปัจจุบันนี้ หรือที่เรียกว่า " แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ . PDP 2004 ( . .2547-2558)" รัฐบาลนี้ได้ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนอย่างไรหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ " ความผิดพลาด " ต้องเกิดซ้ำขึ้นมาอีกเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา และการยอมรับว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นนั้นเป็นการยอมรับอย่างจริงใจหรือเพราะว่าเหตุผลทางการเมือง

 

2 . ขั้นตอนและหลักการจัดทำแผนฯ และปัญหาที่สงสัย

 

จากการศึกษาในแผนพีดีพี 2004 ดังกล่าว พบว่าขั้นตอนและหลักการในการจัดทำแผนชุดนี้ยังคงเหมือนกับในอดีตที่ผ่าน ๆ มา แม้ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ 2540 ที่มีเจตนารมณ์ที่สำคัญ 2 ประการคือ เน้น (1) การมีส่วนร่วมของประชาชน และ (2) มีกระบวนการตรวจสอบ

 
ขั้นตอนดังกล่าวมีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นแรก คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อที่จะบอกว่าในปีใดความต้องการไฟฟ้าจะเป็นเท่าใด

ขั้นที่สอง ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ .) จัดทำแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ใด จำนวนเท่าใด ด้วยเชื้อเพลิงชนิดใด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าขั้นต้อนนี้ต้องผ่านคณะกรรมการ กฟผ .


ขั้นที่สาม ผ่านกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา จากนั้น ขั้นที่สี่ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช .) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สุดท้าย ขั้นที่ห้า ก็เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

 

คำถามที่ 2 แผนนี้ใช้งบประมาณการก่อสร้างสูงถึง 4 แสนล้านบาท แต่ทำไมไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สถาบันวิชาการ หรือองค์กรผู้บริโภค สื่อมวลชนรวมทั้งสาธารณะอื่น ๆ เลย นี่เป็นการจงใจที่จะหลีกเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

 
หลักการ

แผนนี้มีหลักการ 4 ข้อ แต่หลักการที่สำคัญ คือ การใช้ค่าพยากรณ์ของคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งพยากรณ์บนกรณีที่การเติบโตทางเศรษฐกิจปานกลาง คือ จีดีพีเฉลี่ย 6.5% ต่อปี และนำนโยบายลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (peak cut) ประมาณ 500 เมกะวัตต์มาใช้ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป

จากหลักการดังกล่าว ทำให้ได้ว่า

2.1 เมื่อปี 2546 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด เท่ากับ 18,121 เมกะวัตต์ ถูกคาดหมายว่าเพิ่มขึ้นเป็น 40,978 เมกะวัตต์ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 126% ในเวลา 12 ปี
2.2 เมื่อปี 2546 ความต้องการพลังงานไฟฟ้า ที่เท่ากับ 1.167 แสนล้านหน่วยถูกคาดหมายว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.658 แสนล้านหน่วยในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 128 % ในเวลา 12 ปี

 

คำถามที่ 3 มีการพยากรณ์ของประเทศใดบ้างในโลกนี้ที่เพิ่มขึ้นสูงมากเท่ากับของกรณีประเทศไทย แม้องค์กรของรัฐบาลอเมริกันเองที่ได้ศึกษาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในช่วงปี พ . ศ . 2544 ถึง 2568 พบว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยเพียงปีละ 3.7% เท่านั้น หรือเพิ่มขึ้น 137% ในเวลา 24 ปี ( ข้อมูลจาก http://www.eia.doe.go) ในขณะที่ประเทศจีน ( ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่ากำลังจะเกิดฟองสบู่ ) มีการเติบโตทางความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 4.3% ต่อปีเท่านั้น ( ซึ่งสูงที่สุดในโลกแล้ว )

 

แต่ทำไมกรณีของประเทศไทย จึงได้แตกต่างจากของชาวโลกเขามากมายถึงเพียงนี้ ประเทศไทยมีอะไรวิเศษกว่าประเทศอื่นมากมายถึงขนาดนี้

 

ถ้าจำแนกตามประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า พบว่าในปี 2546 ประเภทบ้านอยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าเพียง 22% ของไฟฟ้าทั้งหมด ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม 48% และภาคธุรกิจ 15%

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ บอกว่า คนไทยประมาณร้อยละ 98 มีไฟฟ้าใช้แล้วหรือเกือบจะอิ่มตัวแล้ว ดังนั้นถ้าความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 128% ในเวลา 12 ปีจริงแล้ว เกือบทั้งหมดต้องมาเพิ่มที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ

 

คำถามที่ 4 ถ้าภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเพิ่มขนาดนี้จริงแล้ว ต้องถามต่ออีกว่า แล้วจะเอาน้ำจืดที่ไหนมาทำอุตสาหกรรม จะกำจัดของเสียและมลพิษทางอากาศกันอย่างไร น้ำเสียเหล่านี้จะไปทำลายแหล่งเพาะฟักพันธุ์สัตว์น้ำ นอกจากนี้จะเอาแรงงานฝีมือมาจากไหนในเมื่อนักเรียนส่วนใหญ่ของไทยไม่สนใจศึกษาสายอาชีวะ ฯลฯ หรือจะใช้แรงงานต่างด้าวตามที่โฆษณากัน

 

คำถามที่ 5 คำถามนี้เป็นเชิงทฤษฎีเล็กน้อย โดยปกติคนต้องอาศัยที่ดิน อากาศ แหล่งน้ำ แหล่งอาหารเป็นปัจจัยทางธรรมชาติในการดำรงชีวิต ถามว่าความสามารถของธรรมชาติ (carrying capacity) เหล่านี้จะไม่ถึงจุดอิ่มตัวบ้างเลยหรือ

 

หลักการในการทำแผนไฟฟ้า คณะผู้จัดทำได้ยึดเอาแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องของรายได้เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่มนุษย์ยังต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งย่อมหมายถึงคุณภาพอากาศ น้ำ แหล่งอาหารด้วย

 

คำถามที่ 6 เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายว่า จะทำให้การใช้พลังงานของประเทศมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

 

ในขณะนี้โดยเฉลี่ย ถ้าคนทั้งโลกต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นสัก 10% เขาจะต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 9 % แต่คนไทยต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 14% นั่นคือหมายความว่าต้นทุนด้านพลังงานของไทยเราสูงกว่าของต่างประเทศ

 

ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพบว่าในปี 2542 ประเทศไทยบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก แต่มีรายได้ประชาชาติอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก* เท่านั้น ประสาท มีแต้ม ภาระที่ไม่จำเป็นด้านพลังงาน สำนักพิมพ์เมฆขาว หน้า 50 พ. ศ. 2547

 

กระทรวงพลังงานเคยมีนโยบายว่าจะปรับลดลงมาที่ 10% แต่ทำไมในแผนนี้ไม่มีการนำนโยบายนี้มาใช้ในการวางแผน นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ นโยบายที่ดูดีแต่ไม่มีการปฏิบัติใด ๆ เลย

 

คำถามที่ 7 นโยบายลดความต้องการสูงสุดจำนวน 500 เมกะวัตต์ ในปี 2549 โดยให้ผู้ที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองอยู่แล้วได้เดินเครื่องปั่นไฟฟ้าของตนเองในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม (500 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท )

 

แต่เมื่อพิจารณาจากการคำนวณในภาคผนวก 5 หน้า 63 ก็ไม่พบว่าได้มีการพิจารณาส่วนนี้เข้าไปในแผนเลย ยังคงคิดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเช่นเดิม ไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด

 

นี่เป็นการฟ้องว่าการจัดทำแผนดังกล่าวนี้มีความ " ประณีต " หรือ " เนียน " ( ในภาษาปักษ์ใต้ ) ขนาดไหน ?

 
นอกจากนี้ยังมีการโอดครวญว่า " อาจจะมีเอกชนเข้าร่วมโครงการไม่ได้ตามเป้าหมาย "
 

ตายจริง ! นี่หรือคือแผนระดับชาติ ยังไม่ทันที่จะได้ลงมือปฏิบัติก็ขลาดกลัวเสียแล้ว ลองใช้มาตรการสนับสนุนด้านราคาซิครับ ปกติค่าไฟฟ้าหน่วยละ 2.50 บาท ถ้าในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด กฟผ . อาจจะจ่ายให้เอกชนที่ผลิตไฟฟ้ามาเสริมในราคานั้นหน่วยละ 20 บาท หรือเท่าใดก็ได้ แต่ให้คุ้มกับการไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม 500 เมกะวัตต์หรือ ไม่ต้องจ่าย 2 หมื่นล้านบาท

 

ถ้าใน 1 ปี มีช่วงความต้องการสูงสุดอยู่ 100 ชั่วโมง ( ในความเป็นจริงประมาณ 70 ชั่วโมง ) รายจ่ายที่ทาง กฟผ . ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าหน่วยละ 20 บาทรวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท (500,000 กิโลวัตต์ x 100 ชั่วโมง x 20 บาทต่อชั่วโมง ) ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณเท่ากับค่าดอกเบี้ยร้อยละ 5 ของเงินต้น 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้นเอง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมค่าเสื่อมราคาและค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าของ กฟผ . ในกรณีที่ไม่ทำการลดความต้องการสูงสุดลง

 

คำถามที่ 8 แผนพีดีพี 2004 ได้เริ่มจัดทำในขั้นตอนที่หนึ่ง เมื่อมกราคม 2547 โดยพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2547 จะเท่ากับ 19,600 เมกะวัตต์ แต่ในเดือนมีนาคมพบว่า ความต้องการสูงสุดจริงซึ่งเป็นความต้องการสูงสุดของปีมีค่าเท่ากับ 19,326 เมกะวัตต์

 

นั่นคือคำพยากรณ์สูงกว่าความเป็นจริงถึง 274 เมกะวัตต์ ซึ่งหลายคนคิดว่าไม่มากนัก หรือผิดพลาดไปเพียง 1.42% ของความต้องการจริงเท่านั้น แต่อย่าลืมว่า ตัวเลขนี้จะต้องถูกนำไปคิดต่ออีก 12 ครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มต่าง ๆ กันในแต่ละปี รวม 12 ปีจะกลายเป็น 585 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 .3 หมื่นล้านบาท สิ่งที่สงสัยก็คือเมื่อพบว่าผิดพลาดตั้งแต่ปีแรกแล้ว ทำไมไม่ปรับปรุง?

 
ข้อสงสัยเกี่ยวกับ " โรงไฟฟ้านินจา " ในภาคใต้
 

ด้วยเหตุที่ผมได้ติดตามเรื่องท่อก๊าซไทย - มาเลเซียมานาน แต่พบว่าในแผนพีดีพี 2002 ทาง กฟผ . ไม่เคยคิดว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดสงขลาเพื่อมารองรับก๊าซจากโครงการนี้แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่โครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซียได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 ( ค . ศ .1997)

 

แต่อยู่ ๆ โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ก็โผล่ออกมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ราวกับนินจา ในแผนนี้มีข้อน่าสงสัยหลายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

คำถามที่ 9 แผนฉบับนี้ ( หน้า 15) กล่าวว่า " ในปี 2546 ภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 1,454 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายในภาคใต้เพียง 1,281 เมกะวัตต์ ดังนั้นความต้องการไฟฟ้าส่วนที่เหลือจึงจำเป็นต้องรับไฟฟ้าจากภาคกลาง … ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้เพียง 350-400 เมกะวัตต์เท่านั้น … ในขณะเดียวกันก็มีสายส่งเชื่อมโยงไทย - มาเลเซียเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอีก 300 เมกะวัตต์ …"

 

ในข้อเท็จก็คือว่า


1. เรื่องสายส่งเชื่อมไทย - มาเลเซีย ก่อนหน้านี้ ไทยกับมาเลเซียมีการปรับปรุงสายส่งเพื่อแลกกระแสไฟฟ้ากัน ทั้งนี้เพื่อการประหยัดไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าโดยฝ่ายไทยได้ลงทุนปรับปรุงสายส่งคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ในอดีตโดยรวมแล้วประเทศไทยเป็นฝ่ายส่งไฟฟ้าให้มาเลเซียมากกว่าที่มาเลเซียส่งให้ไทย คิดเป็นมูลค่าปีละ 20 ล้านบาท

 

แต่ในวันที่ 6 พ . ค . 2547 ฝ่ายไทยตกลงจะรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียฝ่ายเดียวในช่วง 2547-2550 ในราคาที่ค่อนข้างถูกคือหน่วยละ 1.44 บาท ( ข่าวจากไทยโพสต์ 7 พ . ค . 47)

 

2. ในแผนนี้ ( หน้า 55) ระบุว่าภาคใต้มีกำลังผลิต ( ในเดือนมีนาคม 2547) ถึง 2,020 เมกะวัตต์ คือ พลังน้ำ 2 แห่งรวม 312 เมกะวัตต์ กระบี่ 340 เมกะวัตต์ สุราษฎร์ธานี 244 เมกะวัตต์ ขนอมรวม 824 เมกะวัตต์ และสายส่งมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์

 

3. ส่งมาจากภาคกลาง 350 ถึง 400 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องของภาคใดพึ่งพิงภาคใด เพราะอยู่ในแผนการมานานแล้ว อาจจะมีการสูญเสียในสายไฟฟ้าบ้างเนื่องจากระยะทางไกล แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญนัก

 

ดังนั้นเมื่อรวมรายการ (2) และ (3) เข้าด้วยกัน ภาคใต้มีความสามารถจะผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 2,370 ถึง 2,420 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการสูงสุดของปี 2547 อยู่ที่ 1,500 เมกะวัตต์

 

นั่นคือ ในปี 2547 ภาคใต้จะมีไฟฟ้าสำรองอยู่ระหว่าง 870 ถึง 920 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ถึง 61 ซึ่งสูงกว่าค่าที่ควรจะเป็นคือ 15% อยู่หลายเท่าตัว

 

4. ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงสายเชื่อมโยง บางสะพานสุราษฎร์ธานี (230/500 เควี ) ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปี 2549 ซึ่งจะให้ได้กำลังผลิตอีก 850 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีระยะที่ 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2555 อีก 2,000 เมกะวัตต์

 

คำถามเพิ่มเติม คือ แล้ว กฟผ . จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 700 เมกะวัตต์ที่สงขลาไปเพื่ออะไรอีก

 

ในรายงานของคณะกรรมการ กฟผ . (1 เมษายน 2546) ได้ให้เหตุผลว่า " เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย " เท่านั้น

 

ข่าวล่าสุดจากรักษาการณ์ผู้ว่า กฟผ . ว่า โรงไฟฟ้าใหม่จะใช้ก๊าซจากแหล่งก๊าซในทะเลโดยตรง โดยไม่รับก๊าซจากโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย **

 

นี่เป็นการยืนยันว่า โครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซียเป็นการนำก๊าซในอ่าวไทยไปให้มาเลเซียใช้ตามลำพังเท่านั้น เพราะก๊าซที่ทางมาเลเซียต้องการก็เต็มท่ออยู่แล้ว

 
สรุป
 

เมื่อภาครัฐได้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อมูลเท็จจริงของหน่วยงานตนเองเช่นนี้แล้ว คำถามสุดท้ายคือ
คำถามที่ 10 ว่าแล้วประชาชนผู้บริโภคจะทำอย่างไรดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารถึงกันภายใต้กระแสการปิดล้อมด้านสื่อมวลชน

 
* ประสาท มีแต้ม ภาระที่ไม่จำเป็นด้านพลังงาน สำนักพิมพ์เมฆขาว หน้า 50 พ . ศ . 2547
** โฟกัสภาคใต้ 10-16 กรกฎาคม 2547