Skip to main content

การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย (๑)

คอลัมน์/ชุมชน

เมืองไทยในอดีตนั้นได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมาตรฐานทางศีลธรรมค่อนข้างสูง   เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของชาวต่างชาติ     เมื่อสังฆราชปัลเลอกัวซ์มาเยือนเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ท่านได้บันทึกถึงชาวสยามว่า


 


"ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง  ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง  ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย....ไม่เพียงแต่ต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้นที่คนไทยมีมนุษยธรรม  ยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เดียรัจฉานอีกด้วย"


 


ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับของลาลูแบร์ ซึ่งพูดถึงชาวสยามสมัยพระนารายณ์หรือ ๒๐๐ ปีก่อนหน้านั้นว่า เป็นชนชาติที่สมถะอย่างยิ่ง    อีกทั้งยังไม่ชอบการฆ่าและกักขังสัตว์  


 


จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๗   เมื่อคาร์ล ซิมเมอร์แมน  มาสำรวจสภาพเศรษฐกิจไทย  เขาอดไม่ได้ที่จะชื่นชมว่า "พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดี  และไม่มีความโลภในการสะสมโภคทรัพย์ไว้เป็นมาตรฐานแห่งการครองชีวิต  การละทิ้งเด็ก การขายเด็ก การสมรสในวัยเยาว์ และความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกัน ไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย"


 


คำบรรยายดังกล่าวเกือบจะเรียกได้ว่าตรงข้ามกับสภาพในปัจจุบัน    ทุกวันนี้ประเทศไทยมีอาชญากรรมในอัตราที่สูงมาก   มีคนถูกฆ่าตายวันละเกือบ ๒๐ คนหรือตายเกือบทุกชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับ คดีอุกฉกรรจ์อื่น ๆ เช่น คดีข่มขืน  (ซึ่งเพิ่มถึงร้อยละ ๓๐ ในชั่ว ๗ ปี คือจาก ๓,๗๔๑ รายในปี ๒๕๔๐ เป็น ๕,๐๕๒ รายในปี ๒๕๔๗)[๑] ปัจจุบันจึงมีผู้หญิงถูกกระทำชำเราไม่ต่ำกว่า ๑๔ คนต่อวัน  ในขณะที่เด็กถูกละเมิดทางเพศทุก ๒ ชั่วโมง[๒]


 


นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีปัญหาความรุนแรงในลักษณะอื่นอีกมาก เช่น ความรุนแรงในครอบครัว  มีเด็กและผู้หญิงถูกบิดาและสามีทำร้ายเป็นจำนวนมาก ในปี ๒๕๔๕ ตัวเลขสูงถึง๔,๔๓๕ ราย[๓]  เฉพาะในกรุงเทพมหานคร  มีผู้หญิงถึงร้อยละ ๒๓ ที่ถูกกระทำรุนแรงจากสามีหรือคู่ครอง [๔] ขณะที่ในโรงเรียนนั้นมีการรุมตบตีและทำร้ายร่างกายกันอย่างแพร่หลาย  ที่น่าวิตกก็คือ การกระทำดังกล่าวได้รับการชื่นชมจากนักเรียนจำนวนมาก โดยที่ผู้ที่ลงมือทำร้ายก็หาได้รู้สึกผิดหรืออับอายไม่  กลับพอใจที่มีการถ่ายวีดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวและเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง   ราวกับว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นวีรกรรม


 


ความรุนแรงในลักษณะรุมทำร้ายยังมีให้เห็นอีกมากมาย เช่น การรุมทำร้ายหรือการตีกันระหว่างนักเรียนต่างสถาบันจนบางครั้งถึงแก่ชีวิต     เพียงแค่เวลา ๘ เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ถึง สิงหาคม ๒๕๔๗  มีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างนักเรียนนักศึกษากว่า ๓,๐๐๐ ครั้ง[๕]  นอกจากนั้นยังมีการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาหรือผู้ที่กระทำความผิดซึ่งหน้ากระทั่งถึงแก่ความตายด้วยความสะใจ  มิพักต้องพูดถึงความรุนแรงโดยรัฐ ซึ่งได้รับการแซ่ซ้องจากประชาชน อาทิ การฆ่าตัดตอนหรือทำวิสามัญฆาตกรรมในสงครามปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีคนตายถึง ๒,๕๐๐ คนภายในเวลา ๒ เดือน   การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม (ดังกรณี ตากใบ) หรือใช้วิธีการนอกกฎหมายกับผู้ต้องหาในการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


กล่าวอีกนัยหนึ่งทุกวันนี้ความรุนแรงมิได้ผูกขาดโดยอาชญากรหรือคนร้าย (ซึ่งมักถูกมองว่ามีจิตใจหยาบช้า)เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นพฤติกรรมของคนปกติธรรมดาในสังคมไทยไปแล้ว ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก  ชายหรือหญิง เจ้าหน้าที่หรือพลเมืองดี   ความรุนแรงดังกล่าวยังสะท้อนจากความเห็นของคนไทยร้อยละ ๖๗ ที่เห็นด้วยให้มีการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง คือ ประหารชีวิตและวิสามัญฆาตกรรม สำหรับกรณีนักเรียนยกพวกตีกัน ฆ่าข่มขืน ก่อความไม่สงบในภาคใต้ และผู้ค้ายาบ้า  (อีกร้อยละ ๑๖.๗๔ เห็นควรให้ติดคุกตลอดชีวิต)[๖] ในขณะที่เยาวชนร้อยละ ๕๙.๕  เปิดเผยว่ามีความคิดที่จะใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความขัดแย้ง  โดยร้อยละ ๓๙.๕ คิดใช้อาวุธคือมีดหรือปืนแก้ปัญหา[๗]


 


ในด้านการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน   ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นอกจากการปล้น จี้ ลักขโมยซึ่งเกิดขึ้นอย่างดกดื่น รวมทั้งการยึดเอาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้อื่นทำตกไว้มาเป็นของตน (ซึ่งจัดเป็นอทินนาทานอย่างหนึ่ง)  การคดโกงหรือคอรัปชั่น นับเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นที่สุด เนื่องจากแพร่หลายไปทุกวงการและทุกระดับ   เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยถูกจัดว่ามีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ ๓๓ ซึ่งต่ำกว่า ฟิลิปปินส์ จีน และเม็กซิโก  ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดรับกับความเห็นของเยาวชนร้อยละ ๘๓  ที่เห็นว่า การซื่อมากไปนั้นไม่ดีเพราะจะถูกคนเอาเปรียบ   ขณะที่ร้อยละ ๕๑ เห็นว่า ถึงแม้จะโกงบ้าง ก็ไม่เป็นไร หากมีผลงานหรือทำประโยชน์แก่สังคม[๘]   ทุกวันนี้พูดกันมากขึ้นว่าการคอรัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว   ใครที่ไม่คอรัปชั่น ไม่ใช่เพราะไม่อยาก แต่เป็นเพราะไม่มีโอกาสเสียมากกว่า  เพราะแม้แต่เศรษฐีที่มีเงินนับหมื่นล้านก็ยังคอรัปชั่น เป็นแต่ไม่มีใบเสร็จเป็นหลักฐานเท่านั้น


 


ควรกล่าวด้วยว่านอกจากการคดโกงที่เกี่ยวข้องกับเงินทองแล้ว  ยังมีการคดโกงอีกประเภทหนึ่งซึ่งนิยมกระทำอย่างดาษดื่นมาก ได้แก่ การทุจริตในการสอบทุกระดับ ทั้งในแวดวงของคฤหัสถ์และภิกษุสามเณร รวมไปถึงการวิ่งเต้นใช้เส้นสายซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มีความสามารถเหมาะสมกว่า


 


ในเรื่องความไม่ซื่อตรงต่อคู่ครองหรือความสัมพันธ์ทางเพศที่ขาดความรับผิดชอบนั้น  เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย  ในการสำรวจพฤติกรรมของคนไทยในกรุงเทพมหานคร  พบว่า  ผู้ชายร้อยละ ๔๑ ตอบว่าเคยนอกใจ  (อีกร้อยละ ๒๒ ตอบว่าอาจจะเคย)  ส่วนผู้หญิงร้อยละ  ๒๒ เคยนอกใจคู่ครอง (อีกร้อยละ ๒๔ จำไม่ได้)  นอกจากนั้น ผู้ชายถึงร้อยละ ๔๕  ตอบว่าตนมีคู่ครองปีละ ๓ คน   อีกร้อยละ ๒๕ ตอบว่ามี ๒ คนต่อปี  ร้อยละ ๓๐ เท่านั้นที่ตอบว่ามีเพียงคนเดียว[๙]


 


พฤติกรรมดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น  หากยังแพร่หลายในหมู่เยาวชน จนเกิดค่านิยมเปลี่ยนคู่ แลกคู่ หรือไล่ล่าหาคู่นอนให้ได้มากที่สุด ดังมีการสำรวจพบว่าร้อยละ ๒๙.๔ ของวัยรุ่นในกรุงเทพ ฯ เคยมีเพศสัมพันธ์โดยมีคู่นอนเฉลี่ย ๒ คน  ในกลุ่มนี้ร้อยละ ๒๓.๘ นิยมมีคู่นอนประจำตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป  ที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ ๒๒.๗ ของกลุ่มวัยรุ่นที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ใช้เวลาสานความสัมพันธ์ไม่เกิน ๑ วันก็ตกลงปลงใจมีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน[๑๐]   ความสำส่อนทางเพศหรือเพศสัมพันธ์ที่ขาดความรับผิดชอบดังกล่าว นับเป็นสาเหตุสำคัญของการทำแท้งปีละ ๓ แสนคน หรือวันละ ๑,๐๐๐ คน[๑๑]   ขณะที่มีเด็กวัยรุ่นมาทำคลอดทุก ๆ ๑๐ นาที[๑๒]ผลที่สืบเนื่องตามมาก็คือมีการทิ้งทารกตามที่ต่าง ๆ เฉลี่ยวันละ ๓ คน[๑๓] และถ้ารวมเด็กที่มิใช่ทารก จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละเกือบ ๒๐ คน หรือปีละกว่า ๖,๐๐๐  แสนคน[๑๔]   ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงจำนวนเด็กที่มาเป็นโสเภณีมากขึ้นเพื่อตอบสนองความสำส่อนทางเพศของผู้ใหญ่ ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีเด็กขายบริการทางเพศถึงร้อยละ ๔๐ ของโสเภณีที่เป็นผู้ใหญ่[๑๕]


 


พฤติกรรมที่สมควรกล่าวถึงเพราะมีผลกระทบต่อศีลธรรม หรือการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม  ได้แก่ การหมกมุ่นในอบายมุข  อาทิ  สุราเมรัย     ปัจจุบันคนไทยกินเหล้าสูงสุดเป็นอันดับ ๑ ในเอเชีย และติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของโลก  และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ประเทศอื่นมีแนวโน้มลดลง   กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากปรากฏการณ์ดังกล่าวคือเยาวชน  ทุกวันนี้มีเด็กระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปร้อยละ ๓๘ กินเหล้า  และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง กินเหล้าเพิ่มเป็น ๕.๖ เท่าในชั่วเวลาเพียง ๗ ปี (ปี ๒๕๓๙-๒๕๔๖) [๑๖] สำหรับยาบ้านั้น แม้ว่าปริมาณการขายจะลดลงไปมาก แต่จำนวนผู้เสพก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก


 


นอกจากนั้นยังพบว่าคนไทยนิยมเล่นการพนันและซื้อหวยอย่างแพร่หลาย  ประมาณว่า ๑ ใน ๓ ของครัวเรือนทั้งประเทศซื้อหวยทั้งใต้ดินและบนดินถึงเดือนละ ๑,๘๕๐ บาทโดยเฉลี่ย จำเพาะหวยใต้ดินมูลค่าการเล่นทั้งประเทศมีจำนวนสูงถึงปีละ ๔ แสนล้านบาท[๑๗]     ยังไม่นับการพนันบอล ซึ่งพบว่าร้อยละ ๒๕ ของผู้ที่อยู่ในวงจรการพนันฟุตบอลเป็นเยาวชน  และคาดว่าจำนวนเงินที่ประชาชนต้องสูญเสียให้กับการพนันฟุตบอลสูงถึง ๑๒,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี[๑๘]


 


พฤติกรรมดังกล่าว เมื่อผนวกกับเมื่อผนวกกับความฟุ้งเฟ้อและค่านิยมบริโภค ซึ่งแพร่หลายไปยังทุกระดับ ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก  เมืองหรือชนบท จึงนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปัญหาหนี้สิน (ซึ่งมีสูงถึง ๑๑๕,๓๕๕ ต่อครอบครัวโดยเฉลี่ย)  ปัญหาความแตกแยกในครอบครัว และปัญหาอาชญากรรม ไม่ว่าการทำร้ายถึงแก่ชีวิต  การปล้น จี้ ลักขโมย   รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งทุกวันนี้มีถึงวันละ ๑๓ คน หรือ ๒ คนทุก ๓ ชั่วโมง  [๑๙]


 


 


(โปรดติดตามตอนต่อไป)






[๑] โครงการสุขภาพคนไทย ๒๕๔๘



[๒] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด  สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘



[๓] นสพ.ผู้จัดการ ๒๕๔๖ อ้างใน เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม (กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ๒๕๔๘) น.๒๗



[๔] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อ้างใน การสาธารณสุขไทย ๒๕๔๔-๒๕๔๗ (กระทรวงสาธารณสุข ๒๕๔๙)น(๗๔



[๕] นสพ.มติชน วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๗ อ้างใน เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม น.๑๕๙



[๖] งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต  ปี ๒๕๔๘



[๗] มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปี ๒๕๔๖



[๘] องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ปี๒๕๔๗



[๙] การสำรวจของดร.แมนดริลลอ ซิริลลอ อ้างใน พุทธิกา สิงหาคม ๒๕๔๘



[๑๐] การสำรวจความเห็นของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปี ๒๕๔๘



[๑๑] ประมาณการของพญ.สุวรรณ เรีองกาญจนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสริมสุขภาพวัยรุ่น ร.พ.รามาธิบดี



[๑๒] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด  สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘



[๑๓] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ  ๒๕๔๘



[๑๔] กองกลาง กรมพัฒนสังคมและบริการ  อ้างในการสาธารณสุขไทย ๒๕๔๔-๒๕๔๗ น.๗๖



[๑๕] รายงานสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทย ๒๕๔๐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ



[๑๖] มูลนิธิเมาไม่ขับ อ้างใน เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม น.๙๔



[๑๗] คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ๒๕๔๙



[๑๘] คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘ ๒๕๔๘



[๑๙] กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ๒๕๔๘