Skip to main content

หลักสูตรการทำนาบน Web ตามรอยความพอเพียง

คอลัมน์/ชุมชน


 


ธารรพี ชมพูพร   เรื่อง


วัชระ สุขปาน   ภาพ


 


หลังจากได้พักผ่อนในช่วงปิดฤดูกาลทำนา บรรดาควายก็ฟิตเปรี๊ยะ เรียกความสมบูรณ์กลับคืนมา


แต่ก็มีควายขี้เกียจบางตัว ทำท่าหาวและบิดไปมาเมื่อได้กลิ่นสาบเทือกของโคลน ที่ลมฝนพัดผ่านจมูกของมันไป


 


จะว่าไป  ควายตัวเดียวกันที่ว่านี้แหละ คือตัวเก็งในการลงไถตัวแรก มันวางตัวเป็นจิ๊กโก๋ เมื่อสามเดือนแล้ว ถือว่ามันเป็นผู้มีอิทธิพลภายในคอกของหมู่บ้านห้วยขนุน แห่งอำเภอจอมทอง เชียงใหม่ มันรีรอการที่จะได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คดีความต่างๆในวงการของควาย


 


เพราะที่ผ่านมา เพื่อนควายว่างงานกันเกินไป แถมไปทำอะไรหลุดๆ หลายครั้ง เช่นไล่ขวิดไร่บอนไร่เผือก จนราบเป็นหน้ากลอง บางตัว รื้อทำลายรั้วที่กั้นระหว่างสวนผลไม้กับนา


 


แต่จะให้ทำอย่างไรได้ล่ะ  บางตัวนี่ยังมันสำมะเลเทเมาอยู่เลย เพราะมันเป็นฤดูการแห่งอาหารบนพื้นที่ปลายนา ช่วงนี้ผลไม้ไม่ว่า จะเป็นสาลี่  พลับ และมะม่วงนา แก้มแดง  ต่างสุกเป็นงวดสุดท้าย ...หอมได้ที่ทีเดียว


 


"พอฝนลงก็หว่านข้าวกล้า"


 


"ได้เวลาทำนาแล้ว" สมอ้วน พ่อหลวง ผู้ใหญ่บ้าน ตะคอกใส่ใบหูของมัน


 


"ตอนเย็นๆ ได้ยินเสียงเหมือนผู้หญิงกำลังร้องให้ ตรงกลุ่มใบบอน เสียงก้องไปทั้งคุ้งน้ำ บางช่วงได้ยินไปถึงหมู่บ้าน สองสามทุ่ม เรานอนฟังๆดู แล้วหลับไป"


 


ตื่นขึ้นมา หมอผี อีโข่ และตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ควบทั้งสามตำแหน่ง ให้นายก อบต.อิจฉาเล่น ชวนลูกบ้านไปทำพิธีเลี้ยงผีบริเวณปลายนา….


 


หลังจากนั้น ก็ช่วยกันเบิกทางน้ำบริเวณเหนือฝาย น้ำค่อยๆไหลตามรางเหมือง จากนั้นก็แวะแจกจ่ายแก่แปลงนาของบ้านห้วยขนุนจนครบ  ก่อนปล่อยคืนสู่ลำธาร...นักวิจัยบางคน เคยเรียกมันว่าระบบ ฝาก – ยืม ของธนาคารน้ำ...แถม...บนพื้นที่สูง (เฮ้าว่ากันไป)


 


ขังน้ำหรือแช่ไว้ในแปลงนาจนดินนุ่ม  แต่ไม่นุ่มจนเกินไป เรียกว่าพอกรอบๆ เหมาะสำหรับการไถ เสียงหน้าดินพลิกตามรอยไถทำให้ควายไม่ติดขัด และงานเสร็จเร็ว... มันน่าจะรู้สึกเป็นอย่างนั้น


 


รอเวลาประมาณสามสี่วัน  แล้วไถแปร  บางที่อาจจะต้องรอนานกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินนุ่มหรือแข็ง...สำหรับบนดอยสามสี่วันก็อิ่มตัว


 


ช่วงที่พักรอให้รอยไถเปื่อย พ่อหลวงสมอ้วนกับชาวบ้าน  ต่างก็ช่วยกันเช็คทางระบายน้ำที่บางแปลง น้ำอาจแห้งขอด หรือน้ำล้น ซึ่งทำให้ดินเสื่อมได้ ผู้หญิงก็ลงมือสำรวจแปลงข้าวกล้า บางคนก็นัดวันถอนกล้ากันไป


ข้าวกล้าแตกใบเขียวเกินกว่าจะใช้เป็นสนามแข่งฟุตบอลโลก (ว่าแต่...ไม่มีใครเขาทำแบบนั้นกันนี่...ขอโทษครับ)


 


พักเหนื่อยวันสองวันแล้วไถคราด ส่วนชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ทยอยดำนา ระบำกันทั้งวัน ช่วงนี้บรรยากาศของความสามัคคีเป็นภาพชัด และเสียงเพลงจากวิทยุก็ดังเคลียคลอขึ้นมา บ้างร้องฮัม ทำเพลง หยอกล้อหนุ่มสาว พ่อบ้านแม่เรือน มื้อเที่ยง กับข้าว ปลา น้ำพริก ผักหญ้าอร่อยที่สุด


 


ยามเย็นกลับเข้าบ้าน พ่อหลวงอ้วนกับแม่เรือนขับรถเครื่องคันเก่าจะไปดูวัวตรงชายป่าชุมชนด้านใต้ พบเจออ้ายบุญเป็ง ถามไถ่ "ไปมาอย่างไร?"


 


อ้ายบุญเป็งบอก " ไม่ไปไหนเท่าไหร่ มาดูน้ำนา"


 


ก่อนลา


นัดเจอกันดำนา ในวันใหม่


 


พบกันใหม่ฉบับต่อไป.