Skip to main content

ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย: ผลึกความคิดของมาโนช พุฒตาล

คอลัมน์/ชุมชน

"บ้านบรรทัดห้าเส้น" คราวนี้ ผมขออนุญาตบอกกับท่านผู้อ่านว่างานชิ้นนี้เป็นงาน "บูชาครู" ของผมครับ


 


สาเหตุที่ผมพูดแบบนี้ คงต้องย้อนกลับไปเมื่อสัก ๑๐-๑๑ ปีก่อนหน้านี้ สมัยที่ผมเพิ่งใส่กางเกงนักเรียนขาสั้นสีกากีอยู่ที่โรงเรียนมัธยมชายล้วนแถวๆ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ที่เขาว่ากันว่าเด็กโรงเรียนนี้หน้าตาดีเป็นอย่างยิ่ง (เรื่องนี้บก. ชูวัสแห่ง "ประชาไท" สามารถยืนยันความจริงได้ครับJ)


 


ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มจะฟังเพลงอย่างจริงๆ จังๆ เริ่มสนใจข้อมูลเบื้องลึกของศิลปินต่างๆ ซึ่งในสมัยนั้นอินเตอร์เน็ตยังเป็นเรื่องที่มีคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ได้สัมผัส แถมเคเบิลทีวีที่เป็นรายการเพลงตลอด ๒๔ ชั่วโมงนั้นก็มีแค่ Smile TV ที่ออกอากาศทาง Thai Sky TV แค่เจ้าเดียวเท่านั้น


 


รายการเพลงทางฟรีทีวี และนิตยสารดนตรีจึงเป็นสื่อสำคัญในการติดตามข่าวสารวงการดนตรีในตอนนั้น และผมก็ได้รู้จักกับนิตยสารและรายการดนตรีทางโทรทัศน์ที่มีชื่อเดียวกัน


 


รายการโทรทัศน์ที่ว่านั่นทำให้ผมต้องถ่างตาหน้าจอทีวีช่อง 11 ทุกห้าทุ่มของคืนวันพุธ เพื่อดูรายการมิวสิควีดิโอเพลงฝรั่ง ที่มีพิธีกรผู้ชายหน้าตาไม่ดีนัก แต่เสียงน่าฟัง และมีข้อมูลระดับแน่นปึ๊ก (ซึ่งสวนทางกับสเป็คของนักจัดรายการวิทยุบางคลื่นในปัจจุบัน ที่ต้องหน้าตาดี ที่เหลือช่างมันเถอะ J) ในขณะที่ทุกเดือนผมต้องควักตังค์ 35 บาทเพื่อซื้อนิตยสารหนึ่งฉบับ ที่สามารถนับได้ว่าเป็นหนึ่งในนิตยสารดนตรีที่ดีที่สุดในวงการดนตรีของไทย


 


นิตยสารและรายการโทรทัศน์ที่ว่านั้นชื่อ "บันเทิงคดี" ซึ่งกุมบังเหียนโดยคุณมาโนช พุฒตาลนั่นเอง ซึ่งผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า "บันเทิงคดี" เป็นบันไดขั้นแรกๆ ที่ทำให้ผมสนใจงานด้านวิจารณ์มาจนถึงตอนนี้


 


นอกจากงานในฐานะเจ้าของนิตยสาร-รายการโทรทัศน์แล้ว คุณมาโนชยังมีบทบาทในฐานะเจ้าของค่ายเพลง Milestone Records ที่เคยเป็นแหล่งพักพิงของศิลปินฝีมือดีหลายรายทั้ง The Olarn Project, มาลีฮวนน่า, พจนารถ พจนาพิทักษ์, The Wanderers ฯลฯ รวมทั้งตัวคุณมาโนชเองก็เคยมีงานเพลงเป็นของตัวเอง ทั้งในส่วนที่เป็นครึ่งหนึ่งของอัลบั้ม "ไตรภาค" และงานอัลบั้ม "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" ที่จนบัดนี้ก็ยังสามารถพูดได้ว่านี่คือหนึ่งในอัลบั้มร็อกที่ดีที่สุดของวงการดนตรีไทยก็ว่าได้


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ผมได้เห็นอัลบั้ม "ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย" ของคุณมาโนชอยู่ที่แผงซีดีแถวๆ บ้าน จึงดึงดูดให้ผมควักเงินในกระเป๋าเพื่อแลกกับซีดีแผ่นนั้นมาโดยที่แทบไม่คิดหน้าคิดหลังเอาเลย


 




(รูปจาก http://www.mono2u.com/main_pages/viewpage.jsp?file=Home&childpage=home_audio_detail&pid=CD-M-117# ครับ)


 


เมื่อเอามาเปิดฟังดู ในทีแรกก็ผิดหวังเล็กน้อย ที่ทั้งอัลบั้มนี้มีเพียง 2 Track เท่านั้นคือ "ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย" ในแบบปกติและ Backing Track เท่านั้น (ดังนั้นต่อจากนี้ไป ผมขอเรียกงานชิ้นนี้เป็น "ซิงเกิ้ล" มากกว่าจะเป็น "อัลบั้ม" นะครับ) พร้อมกับหนังสือขนาดความยาว 112 หน้าชื่อ "เด็กชอบดนตรี มาเป็นโฆษกทีวี แล้วก็... มีโอกาสได้ทำเพลงบ้างนิดๆ หน่อยๆ"...จนทำให้ชักจะงงๆ ว่าเป็นนี่ซีดีที่แถมหนังสือ หรือเป็นหนังสือที่แถมซีดีกันแน่ (แต่อย่างที่ผมบอกไปแล้วแหละ...ผมซื้ออัลบั้มนี้จากร้านขายซีดี ผมจึงถือว่ามันเป็นซีดีที่แถมหนังสือก็แล้วกันครับJ)


 


ในส่วนของหนังสือนั้น เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวคุณมาโนชที่เกี่ยวพันกับดนตรี ตั้งแต่เริ่มหยิบจับกีตาร์ ประสบการณ์ในต่างแดนหลังจากรับทุน AFS ไปจนถึงการเริ่มเล่นดนตรีแบบกึ่งอาชีพ การทำรายการโทรทัศน์ มาจนถึงจุดที่เขายืนอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเรื่องราวชีวิตของคุณมาโนชแล้ว ยังแวดล้อมไปด้วยรายละเอียดของศิลปะ แฟชั่น และดนตรีของยุคนั้น ซึ่งน่าจะเป็นของหวานสำหรับคนที่สนใจเรื่องราวของวงการดนตรีไทยสากลพอสมควร


 


เอาเป็นว่าแค่หนังสือหนึ่งเล่มก็ทำให้คุณรู้สึกคุ้มกับเงินที่จ่ายไปแล้วแหละครับ


 


ในส่วนของเพลงนั้น สำหรับคนที่ชอบเพลงในโทนร็อกอาจจะผิดหวังเล็กน้อย เพราะเพลง "ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย" เป็นเพลงอะคูสติกเรียบง่ายที่ใช้แค่กีตาร์โปร่งกับฮาโมนิก้าเท่านั้น (ในปกซีดีมีชื่อของคุณสมพงศ์ ศิวิโรจน์ อดีตสมาชิกยุคแรกของมาลีฮวนน่าอยู่ในฐานะ Project Producer ด้วย เลยไม่แน่ใจว่าจะทำให้เพลงแอบมีกลิ่นมาลีฮวนน่าติดมาด้วยหรือเปล่า)


 



 


(เนื่องจากซิงเกิ้ลนี้มีเพลงแค่เพลงเดียว เด็กใหม่ฯ จึงขออนุญาตท่านผู้อ่านให้ฟังเพลงนี้แค่นาทีกว่าๆ นะครับ...ถ้าอยากฟังมากกว่านี้ก็เชิญไปหาซื้อซีดีแผ่นนี้ได้ตามสะดวกครับJ)


 


ส่วนเนื้อเพลงนั้นก็ยังคงความเป็นปรัชญาเหมือนเช่นกับที่เราได้ยินในอัลบั้ม "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" โดยเพลงนี้เป็นการตั้งคำถามกับชีวิตของมนุษย์ที่กำลังค่อยๆ ร่วงโรงโรยลงไป


 


"ต่างจากคนอื่นตรงไหน?


ชีวิตที่ฉันใช้ เป็นไปตามสัญญา


โปรดเถิดช่วยตอบคำถาม ชีวิตต้องบอบช้ำ


ด้วยเวรกรรม ทวงสัญญา คำสาป...


 


เมื่อร่างกายเกิดเปลี่ยนแปลง ตัวตนก็เปลี่ยนไป


เนื้อร้ายในร่างกาย ทำใจเราเปลี่ยนแปร


ร่างกายยิ่งอ่อนแอ อารมณ์ยิ่งอ่อนไหว


ตัวฉันมีโรคร้าย...


 


ผิดบาปมาแต่หนไหน ทำเลวกับใครไว้


ต้องชดใช้ ใช่หรือเปล่า?


เชื่อว่าเป็นเหตุเป็นผล แต่ผลของเหตุผล


ทนได้หรือเปล่า ความเป็นจริง"


 


ผมฟังเพลงนี้ด้วยความรู้สึกคิดถึงเพลงในอัลบั้ม "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" ที่มีน้ำเสียงของการตั้งคำถามต่อศาสนา ความเชื่อ และพระเจ้า ว่าจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มีตัวตนจริงหรือไม่


 


แต่ในเพลงนี้ ดูเหมือนว่าคุณมาโนชพบคำตอบของคำถามเหล่านั้นแล้ว...จากเนื้อเพลงท่อนต่อไปครับ


 


"ฉันจำเป็นต้องยอม ยอมรับความจริง


ร่างกายไม่ใช่ทุกสิ่ง ความจริงคือเข้าใจ


(แต่) ฉันจะไม่ยินยอม ยอมแพ้ความตาย


ฉันจะไม่ยินยอม...ชีวิตเรานั้นยิ่งใหญ่"


 


ซึ่งจะเรียกได้ว่าเป็น "ความคลี่คลายทางความคิด" ของคุณมาโนชก็คงไม่ผิดนักครับ


 


ซีดีอาจจะมีเพลงน้อยไปเสียหน่อย แต่ถ้าเทียบกับอัลบั้มของศิลปินหน้าหล่อบางคนแล้ว...เพลงดีๆ เพลงเดียวนั้นเจ๋งกว่าเพลงสั่วๆ ทั้งอัลบั้มตั้งเยอะ J


 


 


 



ของฝากจากเด็กใหม่ฯ


 


"บ้านบรรทัดห้าเส้น" คราวนี้ผมพูดถึงเพลงของคุณมาโนช ก็ชวนให้คิดถึงอัลบั้ม "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" ขึ้นมาในทันทีทันใด


 


ผมเลยเลือกเพลง "ลำธาร" จากอัลบั้มชุดนั้นมาให้ฟัง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ครับ...ผมเชื่อว่าเพลงความยาวเจ็ดนาทีกว่าๆ เพลงนี้คงไม่ค่อยจะมีคลื่นวิทยุหยิบมันมาเปิดสักเท่าไหร่ ผมจึงรู้สึกอยากให้เพลงดีๆ แบบนี้มีคนฟังเยอะๆ ครับ (ถ้าฟังแล้วชอบ...ผมยังเห็นซีดีอัลบั้มนี้วางจำหน่ายอยู่บ้างตามแผงใหญ่ๆ หรือไม่ก็ร้านค้าส่งแถวๆ คลองถม ยังไงก็ลองไปหาซื้อกันได้ครับ ของเขาดีจริงๆ)


 


ฟังกันได้เลยครับ