Skip to main content

เรื่อง(ไม่)ขำๆ กับภาษาอังกฤษ

คอลัมน์/ชุมชน

เพิ่งสอนเสร็จเมื่อบ่ายวันนี้ (30 ก.ค.2549) เป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ต้องสอน ในขณะที่ตามหลักสากลนั้นถือเป็นวันแรกเริ่มของสัปดาห์ เนื่องจากผู้เขียนเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ จึงได้รับงานสอนในช่วงวันธรรมดาเพียงหนึ่งวิชาในเทอมแรกนี้ (ในเทอมต่อไปสอนถึงสามวิชาในระดับปริญญาโท—ซึ่งนับว่ามาก แต่ผู้เขียนไม่รังเกียจแต่อย่างใด) แต่มีสอนให้กับบุคคลภายนอกสัปดาห์ละสองวัน วันละห้าชั่วโมง อันนี้ถือเป็นการบริการชุมชม/สังคม วิชาที่สอนคือ "การแปลภาษาอังกฤษสู่ภาษาไทย เชิงปฏิบัติ" เฉพาะเสาร์และอาทิตย์ เวลา 9.00-15.00 น. ผู้เรียนสามารถเลือกเรียน วันใดวันหนึ่งได้ เนื้อหาหลักๆ คือ ให้รู้จัก "ถอด แปล และ ปรับ"


 


การถอด นั้นหมายถึงว่า ให้ผู้เรียนสามารถ ถอดประโยคโครงสร้างพื้นผิวที่เป็นภาษาอังกฤษ มาเป็นประโยคโครงสร้างลึกของภาษาอังกฤษได้เสียก่อน เช่น


I love the car he just bought yesterday. (โครงสร้างผิว)


I love the car. He just bought the car yesterday. (โครงสร้างลึก)


 


สาเหตุที่ต้องถอดออกมาแบบนี้ ในแต่ละประโยคก็เพราะว่า ในภาษาอังกฤษนั้น เนื้อหาในแต่ละประโยดจะจบได้สมบูรณ์ในระดับหนึ่ง ถือเป็นหน่วยความหมายได้ แต่ว่าในแต่ละประโยคพื้นผิวนั้น มีที่มาจากโครงสร้างลึก ถ้าหากไม่เข้าใจโครงสร้างลึก เราก็จะไม่สามารถเข้าถึงความหมายได้อย่างถูกต้อง ในบางกรณีที่โครงสร้างผิวหนึ่งชุด อาจมีโครงสร้างลึกได้หลายแบบ ผู้แปลต้องพิจารณาเองว่าจะใช้โครงสร้างลึกชุดไหน ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางบริบทมาประกอบ อันนี้ไม่มีกฎตายตัว แต่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของผู้แปลเอง


 


เมื่อแปลได้แล้วจากพื้นฐานของโครงสร้างลึก ผู้แปลจึงค่อยมาปรับบทแปลให้เข้ากับบริบทไทยๆ ไม่ให้มีกลิ่นนมกลิ่นเนย เราเรียกว่าการแปลที่เก็บความ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิบัติในปัจจุบัน สมัยที่ผู้เขียนเรียนตอนปริญญาตรีนั้น มีการแปลที่เน้นการเก็บโครงสร้างภาษาเดิมหรือต้นฉบับด้วย ซึ่งมาจากแนวคิดเดิมๆ เพราะต้องการช่วยให้เกิดการทดสอบคุณภาพงานแปลที่ง่ายขึ้น เรียกว่า การแปลย้อนกลับ หรือ Back Translation ปัจจุบันไม่ใช้แล้วที่จะเน้นการคงไว้ซึ่งโครงสร้างภาษาเดิมอย่างเคร่งครัด แต่ยังคงมองว่า ถ้าแปลกลับแล้วมีความหมายเท่ากับหรือใกล้เคียงกับของเดิม โดยไม่เพี้ยนมากนัก ก็นับว่าใช้ได้


 


ผู้เขียนไม่ได้เรียนแปลหลังจากจบปริญญาตรี แต่เพราะว่าต้องใช้ภาษาอังกฤษกับภาษาไทยเท่าๆ กันตลอดเวลา และหลายครั้งใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยสันดานเดิมและต้นทุนทางวัฒนธรรมที่บังเอิญไม่ได้เอื้อให้เก่งภาษาอังกฤษนัก จึงทำให้ต้องแปลอังกฤษเป็นไทยก่อนเรื่อยๆ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ  จึงถือเป็นการฝึกเรื่องนี้ไปในตัว อีกทั้งตอนสอนภาษาอังกฤษให้คนไทย ก็ต้องใช้มากเพราะสังคมไทยนั้นยังขาดบริบทที่จะสอนแบบอื่นๆ  การสอนแบบโบราณหรือการแปลเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วก็ได้ผลในระดับหนึ่ง การสอนแบบใหม่ๆ นั้นอาจใช้ได้ดี แต่ไม่ใช่ในทุกสถานการณ์ในเมืองไทย อันนี้พูดตามการทำงานด้านนี้ที่มีมาตั้งแต่ 1988


 


หลังจากที่ถอดความออกมาได้ ต้องใช้ความสามารถของนักแปลแต่ละคนเองที่จะนำเสนอออกมาในภาษาไทย ก็ต้องมีความสามารถในภาษาไทยมาประกอบอย่างมาก ส่วนมากแล้วตรงนี้กระมังที่ยากที่สุดในสายตาผู้เขียน เพราะภาษาไทยเองมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าในเรื่องโครงสร้าง และวงศัพท์  ยิ่งถ้าคนไม่อ่านมากหรือไม่รู้ภาษาไทยมากพอ  ก็จะยิ่งโชคร้าย แปลออกมามีข้อบกพร่องมากมาย (หากอ่อนทั้งไทยทั้งอังกฤษนี่ จบเลย) นอกจากนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่พูดคล่องทั้งสองภาษาจะเป็นนักแปลหรือทำงานแปลได้ดี ดังนั้น คนที่เป็นนักแปลได้ต้อง "แม่นจริง" ทั้งสองภาษา


 


ที่เขียนมานั้น ก็เพราะว่า บทความนี้จะพูดถึงเรื่องภาษาอังกฤษอีกครั้ง แต่อาจไม่ "ขำ" นัก และอยากเชิญชวนให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้อีกสักหน เพราะผู้เขียนมองว่า นี่แหละคือเครื่องมือสำคัญในการหาความรู้ ที่หาได้ง่ายขึ้น เช่น ผ่านอินเตอร์เน็ท หรือแม้กระทั่งการที่จะทำให้เราเข้าใจในสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในภาษาอังกฤษ อย่ามาเถียงเลยว่าเราไม่ต้องพึ่งภาษาอังกฤษ มันเห็นกันชัดๆ อยู่แล้ว ว่าใครคือ "เจ้าโลก" (อย่าคิดถึงอีกความหมายหนึ่งของคำนี้) และเค้าใช้อะไรในการสื่อสาร วิทยาการต่างๆ อยู่ในภาษาที่เค้าใช้นี้ทั้งนั้น


 


ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้สอนหลักสูตรนี้ และได้พยายามเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ค่อนข้างโชคดีที่ผู้เรียนนั้นให้ความสนใจและขยัน ส่วนมากก็ทำงานกันแล้ว และมาเรียนเพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ใบๆ หนึ่ง เพราะเอาไปปรับเงินเดือนไม่ได้ มาเรียนนี่อาจเป็นการเสียเวลาส่วนตัวซึ่งอาจใช้กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงหรืองานบ้านทั่วไป นอกจากนี้ปกติแล้วการเรียนนั้นเป็นเรื่องทรมานของหลายๆ คน  ดังนั้น การมาเรียนวันละห้าชั่วโมงนี้ จึงเป็น "ปรากฏการณ์" หรือเรื่องพิเศษของคนธรรมดา


 


ผู้เขียนนั้นได้ยินผู้มาเรียนหลายท่านบอกว่า เคยไปเรียนที่อื่นๆ มาก่อน แต่ไม่ได้ดังหวัง โดยเฉพาะพวกโรงเรียนสอนภาษาเอกชนหลายๆ แห่ง (ไม่ได้บอกว่าทุกแห่ง) ที่เอาฝรั่งบ้าง หรือต่างชาติอื่นบ้าง หรือบางทีก็คนไทยเองนี่มาสอน แต่เมื่อเรียนแล้วก็เหลว ผู้เขียนตอบไปว่า อันแรกน่าจะเป็นเรื่องของการเรียนและการสอนที่ลงล็อคมั้ยกับผู้เรียนแต่ละคน เพราะผู้เรียนแต่ละคนนั้นมีจริตต่างกัน อันที่สองคือความสามารถของผู้สอน ผู้สอนที่เก่งอาจหายาก  อันที่สามคือ องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ห้องเรียนที่มีการนั่งสบาย อุณหภูมิพอเหมาะ เดินทางได้สะดวก ไม่มีสิ่งที่ต้องกังวลใจ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคงบอกไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรเป็นสูตรสำเร็จในการเลือกเรียนภาษาอังกฤษ


 


นอกจากนี้  ยังมีคำถามเรื่อง "ความคาดหวัง" เอง เพราะผู้เรียนมักคาดหวังว่า จะเก่งภาษาในทันใด เหมือนฉีดยาแล้วหายไข้เลย อันนี้บอกว่าเป็นไปได้ยาก ยิ่งอยากพูดอ่านเขียนฟังได้คล่องนั้น อาจขอบอกว่าให้ลืมไปก่อนจะดีมั้ย และควรเริ่มมีพื้นฐานให้แน่นก่อน แล้วค่อยๆ เริ่มฝึกความคล่อง เพราะว่าในบริบทไทยๆ นั้น ความคล่องเกิดขึ้นได้ยาก แต่ความถูกต้องนั้นสร้างได้ก่อน จากความถูกต้องนั้นจะนำไปสู่ความคล่องได้ แต่ต้องอยู่ในบริบทที่เอื้อด้วย เช่น ต้องเรียนทุกวัน ต้องพูดกับฝรั่งตลอด หรือพูดง่ายๆ ว่า บริบทที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษจริงๆ ในเมืองไทยนั้นไม่ได้มีลักษณะแบบนี้ แต่ไม่แน่ว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า คนไทยจะพูดอังกฤษมากขึ้นเป็นภาษาราชการหรือทางการหรือการค้าอย่างแท้จริง วันนั้นความคล่องคงสร้างได้ไม่ยาก


 


วันนี้ ผู้เรียนภาษาอังกฤษทั่วไปในบริบทไทย ควรมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการใช้งาน เช่น การอ่าน การฟัง การพูด และการเขียนในระดับที่ใช้งานได้ ผู้เขียนอยากให้คนไทยอ่านภาษาอังกฤษให้ได้ก่อน อ่านมากๆ อ่านเสมอ เลิกดูหนังฟังเพลงหรือความบันเทิงอื่นๆ ไปเสียก่อน ขอเน้นการอ่าน  ยังไม่ต้องหวังว่าจะพูดให้เหมือนฝรั่ง ไม่ต้องกลัวผิดที่ออกเสียงไม่เหมือน  แล้วหัดเขียนแบบง่ายๆ รู้หลักไวยากรณ์ที่ถูกต้อง อย่ามาอ้างว่าฝรั่งยังไม่ถูกเลย ขอบอกว่าไอ้ฝรั่งที่เป็นผู้ดีนี่เค้าแคร์มากเรื่องนี้ มีแต่ฝรั่งเฮงซวยที่ปากหวานบอกว่า  "พูดได้แค่นี้ดีแล้ว ไม่ต้องถูกแกรมม่าก็ได้"


 


ผู้เขียนขอฟันธงว่า "พวกนี้ตลกรับประทาน ตอแหล"  อย่าเชื่อฝรั่งพวกนี้เป็นอันขาด นอกจากว่าในชีวิตนี้จะคิดพอใจกับการคบหาเศษฝรั่งหรือ White trash พวกนี้ และอยากบอกต่ออีกนิดว่าพวกที่เห็นเดินๆ กันในบ้านเรา  "ส่วนมาก" คือพวกที่ไม่ได้เรื่อง และไม่เป็นที่ยอมรับในบ้านเค้าเอง ไม่เช่นนั้นก็คือคนแก่ที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองไทยเพราะราคาถูก ส่วนฝรั่งที่ดีๆ เก่งๆ นั้นไม่ค่อยมาอยู่หรือเมืองไทย เพราะทำงานบ้านเค้ามีอนาคตดีกว่า นานๆ ทีจึงพอมีฝรั่งใช้ได้และเก่งจริงหลงมาอยู่ในบ้านเรา ซึ่งก็พอมีบ้างแต่หายากจริงๆ


 


ก่อนจบ ขอบอกก่อนอีกครั้งว่า หากท่านใดต้องการเรียนภาษาอังกฤษจริงๆ แล้ว ควรติดตามหาหลักสูตรพวกนี้ ตามคณะวิชาของมหาวิทยาลัยของรัฐบาลที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากว่าหน่วยงานเหล่านี้มักไม่ยอมขายขี้หน้าเอาอาจารย์เฮงซวยมาสอน ซึ่งทำให้เชื่อใจได้ในระดับหนึ่ง หน่วยงานนี้มีการเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษสั้นๆ ตลอดปี ราคาก็ไม่แพงนักเพราะอาคารเรียน และอุปกรณ์อื่นๆ ก็มาจากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้นจึงต้องไม่แพงเพราะถือเป็นการบริการสังคม และมีคุณภาพที่เชื่อถือได้มากกว่า