Skip to main content

นศ.สวมเสื้อติ้ว...ช่องว่างระหว่าง "ใคร"…

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อผลงานวิจัยเรื่อง "เด็กวัยรุ่นนิยมใส่เสื้อผ้ารัดรูป" ของโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ออกมา ทั้งผู้ใหญ่และสื่อมวลชนต่างมีท่าทีต่อเรื่องนี้ประมาณว่า  


 


"การที่วัยรุ่นนิยมใส่ชุดนักศึกษารัดรูป เป็นการสร้างภาพเพื่อให้ตัวเองดูเซ็กซี่ สวยเป็นที่ดึงดูดของเพศตรงข้าม เพื่อให้ตัวเองเป็นที่สนใจมากขึ้น อาจจะนำไปสู่การได้โอกาสความก้าวหน้าของชีวิต"...


 


เห็นข่าวแล้ว "งง" ว่า "ทำไม...จะต้องเสียเวลา... เสียเงินในการทำงานวิจัย?" เพียงเพื่อจะหาคำตอบที่โสเครตีส นักปรัชญาเมธีกรีก กล่าวไว้เมื่อ ๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาลว่า "เยาวชนของเราทุกวันนี้ ชอบทำตัวหรูหรา ฟุ่มเฟือย ไม่มีมารยาท ชอบขัดคำสั่ง ไม่นับถือผู้ใหญ่ เอาแต่สรวลเสเฮฮา พวกเขาไม่ชอบแสดงความเคารพเมื่อผู้ใหญ่เข้าห้องมา ชอบเถียงพ่อแม่ พูดจาไม่รู้กาละเทศะ มูมมามเห็นแก่กินและกบฏต่อครู"


 


เลยทำให้รู้สึกว่า อ่านโสเครตีสแล้วยังได้ประโยชน์มากกว่าอ่านงานวิจัยซะอีก เพราะทำให้เราได้เข้าใจความเป็น "ธรรมชาติวัยรุ่น" ที่เหมือนกันทุกยุคทุกสมัย นั่นคือ วัยรุ่นไม่ได้มีแบบเดียว บางคนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องการเป็นที่สนใจและยอมรับและมีความรู้สึกท้าทายต่อกฏระเบียบบังคับของผู้ใหญ่


 


หากสังเกตถ้อยคำของโสเครตีส จะพบว่า "ผู้ใหญ่" เอง มักจะมองวัยรุ่นในด้านลบ ในลักษณะของการ "เหมารวม" ว่า เด็กวัยรุ่นทุกคนก็เป็นแบบนี้แหละ "นิสิต นักศึกษาจำนวนไม่น้อยก็ตั้งใจสวมใส่เสื้อลักษณะนี้ เพราะต้องการโชว์เรือนร่าง มีการประกวดประชันรูปร่างกัน" ?...


 


การที่ผู้ใหญ่ซึ่งผ่านประสบการณ์การเป็นวัยรุ่นมาแล้ว แต่อาจจะ "ลืม" อารมณ์ความรู้สึกตอนตัวเองเป็นวัยรุ่น จึงไม่เข้าใจว่า วัยรุ่นเขามีความรู้สึกและทัศนคติที่แตกต่างจากเรา การ "ตัดสิน" หรือ "ให้คุณค่า" ในการแสดงออกของวัยรุ่น เช่น เรื่องการแต่งกาย การมีแฟน การพกถุงยางอนามัย ฯลฯ จึงอาจจะส่งผลต่อการแสดงออกในการดำเนินชีวิตและเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพทางเพศของวัยรุ่น


 


หากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยรุ่น เท่าทันสถานการณ์ที่วัยรุ่นต้องเผชิญและเทียบเคียงกับชีวิตของตนเองในสมัยที่ "เคยเป็น" วัยรุ่น จะทำให้เท่าทันมากขึ้นว่า สิ่งที่เปลี่ยน คือสภาพแวดล้อมและสังคมที่อยู่รอบตัววัยรุ่น ในยุคนี้สมัยนี้กระแสตลาด เขาทำเสื้อตัวเล็กออกขายกันเยอะ จึงหาซื้อได้ง่ายและมีแบบให้เลือกหลากหลายกว่าเสื้อตัวใหญ่ เด็กวัยรุ่นจึงจำเป็นต้อง "ปรับตัว" ซึ่งเดาว่าอีกไม่นานกระแสเสื้อตัวเล็กจะตกไป


 


ผู้ใหญ่อาจจะคาดหวังต่อวัยรุ่นเหมือนเดิมได้ แต่การสอนและการเตรียมเด็กวัยรุ่นแบบเดิมและเท่าเดิมเพียงว่า "นักศึกษาไม่ควรจะสวมเสื้อตัวเล็ก เพราะจะทำให้หายใจไม่สะดวก จะเกิดผลร้ายต่อร่างกายได้" จะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนไปหรือไม่?...


 


ทำอย่างไร การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กวัยรุ่น จึงจะมิใช่เป็นเพียงการ "ห้าม" "สอน" หรือ "สั่ง"แต่เน้นการจัดกระบวนการให้เด็กได้ "ลงมือทำ" และทำให้เกิด "การสื่อสารสองทาง" ได้ไหม?...


 


เช่น สถานการณ์ที่วัยรุ่นกำลังชอบใส่เสื้อตัวเล็ก ผู้ใหญ่จะชวนเด็กวัยรุ่นมานั่งคุยกันไหมว่า เขาชอบใส่เพราะอะไร การใส่เสื้อตัวเล็กทำให้รู้สึกอย่างไร เขาคิดว่ามันจะทำให้ผู้สวมใส่หายใจสั้นและตื้นถึงตายได้จริงหรือ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขามีเทคนิคอย่างไรที่ทำให้รอดตายจากการใส่เสื้อรัดรูป...(หุหุ)


 


การที่ผู้ใหญ่ชวนเด็กวัยรุ่นคุย เพื่อจะช่วยให้วัยรุ่นสามารถค้นพบคำตอบได้ด้วยตนเอง บนพื้นฐานที่ผู้ใหญ่เคารพและเชื่อมั่นว่า "วัยรุ่น" สามารถเลือกตัดสินใจในสิ่งที่จะส่งผลด้านบวก และเขาสามารถสร้างทัศนคติ ค่านิยมและการตระหนักในคุณค่าชีวิตด้วยตนเองได้ บทบาทของผู้ใหญ่จึงอยู่ที่การ "ตั้งคำถาม" เพื่อเอื้อให้วัยรุ่นได้คิด วิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเองและได้รับข้อมูลที่รอบด้าน... มิใช่เพียงแค่การ "ห้าม" และ "ขู่" ให้เด็กวัยรุ่นกลัวว่า "การใส่ชุดนักศึกษาที่รัดมากๆ จะทำให้หมดลมหายใจ" (ซะงั้น)