Skip to main content

‘งานประจำ’ ของชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

ผมเป็นคนมีโชคแบบ "ประหลาดๆ" อยู่ประการหนึ่ง


           


นั่นคือ ตั้งแต่เรียนจบมา ผมมักจะได้งานจากการแนะนำของคนรู้จักเสียเป็นส่วนใหญ่ เท่าที่จำได้  มีอยู่สองที่เท่านั้น ที่ผมเดินไปสมัครเองแล้วได้งานทำ แต่นอกเหนือจากนั้น ล้วนเป็นงานที่ได้จากการชักชวนของคนรู้จักทั้งสิ้น


 


คิดย้อนดูทีไร ก็รู้สึกแปลก เพราะใครต่อใครรวมทั้งตัวผมเอง ได้จัดให้ผมเป็นคนประเภท  "ทำงานไม่ทน" อยู่ที่ไหนได้ไม่นาน


 


ไม่ใช่แค่ไม่กี่ "เดือน"นะครับ แค่ไม่กี่ "วัน"ก็มี


 


คนประเภททำงานไม่ทน แต่ดันมีคนชวนไปทำงานอยู่ตลอด มันก็น่าภูมิใจอยู่ไม่หยอก (แต่คนอื่นคงจะหมั่นไส้ไม่น้อย)  แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เขาก็คงจะว่าคนประเภทนี้เป็นคน "จับจด" หรือ "เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ"  คือทำอะไรไม่จริงจัง ทำๆ เดี๋ยวก็เลิก


 


จะว่าแก้ตัวก็ได้นะครับ แต่ผมก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะสงสัยว่า ทัศนคติในเรื่องการทำงานของคนรุ่นก่อนนั้น ยังสามารถใช้ได้กับยุคสมัยปัจจุบันอีกหรือ?


 


ในรุ่นผม ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมี "อินเตอร์เน็ต" ซึ่งเปลี่ยนแปลงการสื่อสารและการรับรู้ของผู้คนนั้น "ความรู้ในเรื่องอาชีพและการเรียนต่อ" สำหรับเด็กมัธยมต่างจังหวัด มันช่างน้อยเหลือเกิน  ก่อนเรียนจบ ม.6 นั้น จำได้ว่า เพื่อนผมจำนวนมาก ไม่รู้ว่าตัวเองจะเรียนอะไรดี? ไม่รู้ว่าอนาคตอยากจะทำงานอะไร? และอีกหลายคนไม่รู้จะเรียนจะไปทำไม?


 


อย่างผมชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนบันทึก ยังไม่รู้เลยว่า ควรจะไปเรียนอะไร? หลายคน (รวมทั้งผม) ประเมินตัวเองไม่ถูก ไม่รู้ความสามารถของตัวเอง เปิดคู่มือเอนทรานซ์ดูแล้วก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เรียนคณะนี้แล้วจะจบไปทำงานอะไร?


 


แน่นอนครับ คณะประเภท แพทย์,วิศวะ,เทคนิคการแพทย์,ทันตแพทยฯ,เกษตรฯ,เภสัช ฯลฯ ที่มีชื่อคณะบ่งบอกถึง "วิชาชีพ" ของผู้ที่เรียนจบจะต้องเป็น มีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว   แต่คณะอย่าง สังคมศาสตร์,อักษรศาสตร์,วิทยาศาสตร์,ศึกษาศาสตร์ ฯลฯ ที่ไม่ได้มีความชัดเจนว่า เรียนจบ แล้วจะไปทำงานอะไร  ก็เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึง


 


หรือจะเป็นนักสังคมศาสตร์? นักอักษรศาสตร์? นักวิทยาศาสตร์? หรือ ครู? ตามชื่อเรียกของคณะและตามความเข้าใจ (อันน้อยนิด) ที่เรามี  ถามเพื่อนเพื่อนก็ไม่รู้ ถามครูแนะแนว ก็ได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนนัก(เข้าใจว่า เพราะครูแนะแนวท่านก็คงไม่เคยไปเรียนคณะที่ถาม) ถามพ่อ แม่ ท่านก็โตมาในยุคสมัยที่ "งานราชการ" คืออันดับแรกที่ควรเลือก


 


รุ่นพี่ที่กลับมาแนะแนวส่วนใหญ่ก็จะมาจากคณะอันดับ 1 อย่างแพทย์ หรือวิศวะ พวกที่เรียนคณะอื่นๆ ก็ไม่ค่อยจะได้พบเห็น หรือ ถ้ามาแนะแนวด้วย ก็จะได้รับความสนใจน้อยกว่าพวกแรก   ความรู้ในเรื่อง "ทางเลือกอื่น" นอกจากคณะอันดับ 1 ทั้งหลาย จึงมีน้อยจริงๆ


 


จะบอกว่า เด็กรุ่นผม ถูกปลูกฝังให้มุ่งมั่นสอบเข้าแต่คณะอันดับ 1 ก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่ก็รู้กันอยู่ว่า จำนวนคนที่จะได้เข้าไปเรียนคณะพวกนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเภท "หัวกะทิ" ทั้งสิ้น  เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อครั้งสอบโควต้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น คนเรียนปานกลาง(ค่อนไปทางต่ำ)อย่างผมและเพื่อนอีกหลายๆ คน เลือกวิศวะฯ,ทันตแพทย์,เภสัชฯ เป็นอันดับแรก แถมยังมั่นใจว่าตัวเองจะมีโอกาสอีกต่างหาก!


 


เมื่อผลออกมา ก็แน่นอนว่า ต้องสอบไม่ติด ร้องห่มร้องไห้กันไปตามระเบียบ แต่นั่นเป็นบทเรียนของการสอบเรียนต่อครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้การสอบเอนทรานซ์ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น


 


ผมเอนทรานซ์ครั้งแรก ได้คณะที่เลือกไว้ลำดับแรกสุด ไม่ใช่ว่าเก่งนะครับ เพียงแต่คะแนนไม่สูงและผมประเมินตัวเองแล้วว่า น่าจะ "พอไหว"  แต่นั่นก็เป็นแค่ "การสอบ" เพราะพอไปเรียนจริงๆ ปรากฎว่า "ไม่ไหว"


 


การเรียนในระดับปริญญาตรี ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็คงจะ "เข้มข้น" ไม่ต่างกัน บังเอิญหัวสมองของผมมันไม่รับความเข้มข้นเหล่านั้นเอาเสียเลย และนั่นก็ทำให้ผมรู้ว่าตัวเอง ไม่เหมาะกับการเรียนสายวิทย์อีกแล้ว


 


ผมเอนทรานซ์ครั้งที่สองในปีต่อมา ด้วยความเข้าใจตัวเองมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาเลือกสายวิทย์-คำนวณ และสอบติดคณะลำดับที่เลือกไว้ลำดับที่สองคือ สังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์


 


จำได้ว่า ตอนนั้น ทั้งครอบครัวและญาติๆ ต่างก็ไม่เห็นด้วยที่ผมจะย้ายไปเรียนที่ใหม่ เหตุผลคือ "โอกาสในการหางานทำ" ของมันมีน้อยกว่าเดิม   ก็นั่นนะสิครับ จบสังคมศาสตร์จะทำงานอะไรได้บ้าง? ผมเองก็ไม่ทราบ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้แล้ว ผมคิดแต่เพียงว่า ผมต้องเรียนจบปริญญาตรี คณะอะไรก็ได้ เพราะผมไม่เชื่อว่า คนเราจะต้องทำงานตามที่ร่ำเรียนมาเสมอไป


 


อันที่จริง เรื่องทำนองนี้มันก็มีมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่มันอาจจะมาชัดเจนเอามากๆ ในช่วงที่ข่าวสารมันถึงกันหมด  คนเรียนจบหมอมาเป็นผู้ประกาศข่าว,คนเรียนจบหมอมาเป็นพิธีกร,คนเรียนจบวิศวะฯ มาทำการค้า,คนเรียนจบเภสัชฯ มาเป็นนางแบบ ฯลฯ ซึ่งถ้าคิดกันแบบที่ใครก็คิดได้ ก็คือ "เรียนมายากจะตาย ดันมาทำงานอีกแบบ อย่างนี้แล้วจะเรียนไปทำไม?"


 


ผมเองก็ตอบแทน(แบบที่ใครก็ตอบได้) ก็คือ "ก็ใครจะไปรู้ละครับ ว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร?"  อย่างภาควิชาที่ผมสังกัดคือ ภาควิชาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา นั้น ไม่ต้องพูดถีงความชัดเจนเรื่องวิชาชีพหรอกครับ แค่ความชัดเจนเรื่อง "เรียนเกี่ยวกับอะไร?" ก็ตอบลำบากซะแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ในตอนที่เรียนนั้น ผมก็ได้พบว่า ความคิดของผมก็ถูกส่วนหนึ่ง เพราะเห็นจากรุ่นพี่ที่เรียนจบภาควิชานี้ไป ล้วนแต่ทำงานกันชนิด "ไม่ซ้ำ" จริงๆ  ไม่ว่าจะทำงานออฟฟิศ เช่น ฝ่ายการตลาด,ฝ่ายประชาสัมพันธ์,เรียนต่อปริญญาโทและกลับมาเป็นอาจารย์ หรือ งานที่ไม่ค่อยมีใครทำ เช่น เป็นผู้ประกาศข่าว,เป็นผู้จัดการปั๊มน้ำมัน,เป็นโฟร์แมนคุมงานก่อสร้าง(ไม่รู้ไปเป็นได้ไง) ฯลฯ ซึ่งถ้าวัดจากสิ่งที่เรียนมากับเรื่องงานที่ทำแล้วเรียกได้ว่า "คนละเรื่องกันเลย"


 


รุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่ง เคยบอกกับผมว่า "เรียนจบทางด้านนี้ จะทำงานอะไรมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง สิ่งที่เราเรียนไม่ใช่วิชาชีพ แต่เป็นสิ่งที่สอนให้เรารู้จักและเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และสังคม"  ตอนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ และเปลี่ยนงานมาแล้ว 2-3 ที่ มีญาติผู้ใหญ่บางท่านคิดว่า คนประเภททำงานประจำไม่ทนอย่างผม คงยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะไม่ได้ "ตั้งหลัก" สักที


 


ฟังแล้ว ก็ชวนคิดว่า "ความสำเร็จ" ในความคิดของคนรุ่นก่อน (และสืบทอดมาถึงคนรุ่นนี้บางส่วน) นั้นคืออะไรกัน?  ทำงานที่ใดที่หนึ่งนานๆ จนมีตำแหน่งสูง? มีบ้านหลังโต? มีรถคันโก้? มีรายได้เยอะๆ ? มีหน้ามีตาในสังคม?


 


ถ้าใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ผมก็คงจะอยู่ห่างมันมากเหลือเกิน เพราะผมไม่มีคุณสมบัติข้างต้นสักอย่าง นอกจากนั้น ชีวิตที่ผ่านมายิ่งทำให้ผมชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า คนอย่างผมนั้นไม่เหมาะกับการ "ทำงานประจำ" เอาเสียเลย


 


เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะออกจากงานประจำ (อีกครั้ง) ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ซึ่งรวมความแล้ว คืออยากเขียนหนังสืออยู่กับบ้านมากกว่า


 


ถ้าเป็นสมัยจบใหม่ๆ ผมทำอย่างนี้ก็คงจะ "สิ้นคิด" สิ้นดี ทว่าด้วยวัยเลขสามนำหน้าแล้ว มันมีอะไรหลายอย่างที่ต่างออกไป


 


ทุกวันนี้ผมสามารถนั่งเขียนหนังสือวันละ 4-5 ชั่วโมงได้เป็นเรื่องปกติ (หรืออาจจะทั้งวันถ้าจำเป็น) ทั้งรายได้จากงานไม่ประจำซึ่งแม้จะไม่มากนักแต่ก็ยังเพียงพอต่อการดำรงชีพ


 


ที่สำคัญคือ "เป้าหมายในการทำงาน" มันชัดเจนครับ ชัดเจนกว่าตอนอายุยี่สิบกว่าๆ มากมาย


 


หากคิดย้อนไป คนอายุยี่สิบกว่าๆ ในตอนนี้ หลายคนก็คงจะมีความฝันเหมือนผมในช่วงอายุเดียวกัน คืออยากทำงานเขียนหนังสือ เพียงแต่ยังไม่มี "ความชัดเจน" ในหลายๆ ปัจจัย


 


หลายปีมาแล้ว ผมได้อ่านพบคำพูดของนักเขียนฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ว่า "ผมไม่แนะนำให้ใครเริ่มต้นผลิตงานเขียนขณะที่อายุยังไม่ถึงสามสิบปี"


 


ในขณะนั้น ผมไม่ชอบคำพูดนี้เอาเสียเลย และยังไม่เชื่อด้วย ทว่า เมื่ออายุมาถึงเลขสาม ผมก็ต้องยอมรับว่า คำพูดนี้มีส่วนถูก อาจด้วยวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้น และประสบการณ์ที่ผ่านมา มันบอกว่า "งานเขียน" จำเป็นต้องใช้ "ต้นทุนชีวิต" ไม่น้อยเลย


 


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พบกับนักเขียน "หนุ่ม" คนหนึ่ง ที่ว่า "หนุ่ม" นี้คือหนุ่มจริงๆ นะครับ อายุแค่ 24-25 แต่เขาเขียนเรื่องสั้นมา 50-60 ชิ้น และนิยายอีกกว่า 10 ชิ้น ได้รับการตีพิมพ์หลายชิ้น และเขาก็มีชื่อเสียงในแวดวงของนักอ่าน "เด็กแนว" พอควรเหมือนกัน


 


ทว่า เมื่อพูดถึงงานเขียนของเขา เขาบอกว่า "พอกลับไปอ่านงานที่เคยเขียนแล้ว ผมรู้สึกว่า ไม่พอใจเลย คงเพราะเขียนตอนอายุยังน้อยด้วยมั้ง"  เขาบอกว่า เขายังมุ่งมั่นที่จะทำงานเขียน แต่คงจะให้เวลากับมันมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น


 


เรียกว่า "ลดปริมาณ" แต่ "เพิ่มคุณภาพ" ก็ว่าได้


 


เมื่ออายุมากขึ้น ผมจึงได้เห็นว่ามีคนอีกมากมายที่เลือกจะทำงาน "ไม่ประจำ" แต่เขาก็มีชีวิตที่ปกติสุขดี ถึงแม้ว่า จำนวนไม่น้อย จะยังต้องปากกัดตีนถีบ เช่นเดียวกับคนทำงาน "ประจำ"


แต่อีกหลายๆ คนก็ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงมีรายได้มากกว่าคนที่ทำงาน "ประจำ" ด้วยซ้ำไป


 


บางที คงหมดยุคที่จะบอกว่า คนทำงาน "ประจำ"เท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ


ผมคิดว่า ชีวิตมันมีทางเลือกมากกว่านั้นมาก เพียงแต่เรารุ้จักตัวเองดีแค่ไหน และ "กล้า" ที่จะเลือกหรือไม่เท่านั้น


 


ถ้าเป็นตอนอายุยี่สิบกว่าๆ คิดอย่างนี้ ก็คงถูกหาว่า "อวดดี" เหลือเกิน


แต่ตอนนี้ ไม่ใช่แค่คิดแล้วครับ ผม "เชื่อ" ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ