Skip to main content

การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย (๒)

คอลัมน์/ชุมชน

ความล้มเหลวของสถาบันทางศีลธรรม


 


สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตทางศีลธรรม ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วยังเป็นรากเหง้าของวิกฤตต่าง ๆ อีกมากมายในปัจจุบัน อาทิ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม  วิกฤตทางการเมือง  และวิกฤตทางเศรษฐกิจ (ซึ่งสามารถหวนกลับมาได้ทุกเวลา)  รวมไปถึงช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน  และความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นภายในชาติ   นอกจากนั้นวิกฤตศีลธรรมดังที่กล่าวมายังเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวสถาบันต่าง ๆ  ซึ่งมีหน้าที่ในการเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทย    อาทิ    อาทิ ครอบครัว  ชุมชน  โรงเรียน และสถาบันศาสนา


 


ครอบครัว  


 


ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่มีหน้าที่ให้การกล่อมเกลาทางศีลธรรมแก่ผู้คนโดยเฉพาะในช่วงต้น ๆ ของชีวิต   ในอดีตครอบครัวได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการจรรโลงศีลธรรมในสังคม แต่ปัจจุบันครอบครัวมีบทบาทลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด  หรือไม่มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้  ส่วนหนึ่งเพราะต้องใช้เวลาไม่น้อยกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ  ยิ่งในกรุงเทพ ฯ ด้วยแล้ว จำนวนมากต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำแล้ว จึงมีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก    พ่อแม่ถึงร้อยละ ๔๓ ในกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่ารู้สึกห่างเหินกับลูก เนื่องจากในแต่ละวันมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกเพียง ๑-๓ ชั่วโมงเท่านั้น [1]  สภาพดังกล่าวอาจไม่ส่งผลเสียหายมากนักหากครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวขยาย  มีปู่ย่าตายายหรือลุงป้าน้าอาช่วยดูแล   แต่ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว  ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกก็เท่ากับว่าบ้านมิใช่สถานที่ที่จะให้การกล่อมเกลาลูกได้ดีดังแต่ก่อน


 


อย่างไรก็ตาม บ้านที่มีพ่อและแม่อยู่ด้วยกันกับลูกนั้นยังนับว่าดี  เพราะปัจจุบันมีบ้านจำนวนมากที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น  ประมาณว่าครอบครัวพ่อแม่เดี่ยวในปัจจุบันมีถึง ๑.๓ ล้านครอบครัว   ที่ร้ายกว่านั้นก็คือมีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่ลูกไม่ได้พบหน้าพ่อแม่เลยเป็นเวลานาน ๆ   จำเพาะในชนบท พบว่ามีเด็กถึงร้อยละ ๓๐ ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่แยกทางกัน  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวมีสูงถึง  ๑ ใน ๔ ของผู้ที่จดทะเบียนแต่งงานกัน[2]


 


ตัวเลขดังกล่าวย่อมชี้ให้เห็นว่าครอบครัวในปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคม  ทำให้แม้แต่การที่จะรักษาสภาพความเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่และลูกอยู่กันอย่างพร้อมหน้าก็เป็นไปได้ยากเสียแล้ว      ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอิทธิพลของพ่อแม่ที่มีต่อลูก  ในหลายครอบครัวการทะเลาะเบาะแว้งของพ่อแม่มีผลต่อพฤติกรรมของลูกมาก  ดังมีตัวเลขชี้ว่าร้อยละ ๕๕ ของเด็กในสถานพินิจมาจากครอบครัวที่แตกแยก [3]   แต่นอกจากพฤติกรรมในทางรุนแรงและผิดศีลธรรมของเด็กแล้ว   พฤติกรรมในทางลบด้านอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมในทางบริโภคนิยมหรือความหลงใหลในวัตถุและอบายมุข เด็กจำนวนไม่น้อยก็ได้รับอิทธิพลมาจากพฤติกรรมของพ่อแม่   ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่นิยมปรนเปรอลูกด้วยวัตถุเพื่อทดแทนเวลาที่ไม่มีให้แก่ลูก หรือการใช้เวลาว่างกับลูกไปในสถานที่ที่ส่งเสริมบริโภคนิยม เช่น พาลูกไปเที่ยวห้างเป็นประจำ


 


ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวมีอิทธิพลน้อยลงในการสร้างสำนึกทางศีลธรรมของอนุชน  ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวถึงความเข้าใจของพ่อแม่จำนวนมากที่เห็นว่าการกล่อมเกลาทางศีลธรรมนั้นเป็นหน้าที่หลักของโรงเรียนต่างหาก  หาใช่หน้าที่ของพ่อแม่ไม่


 


ชุมชน


 


ในอดีตครอบครัวถูกแวดล้อมด้วยชุมชน   ชุมชนจึงมีความสำคัญรองลงมาจากครอบครัวในการกล่อมเกลาศีลธรรมแก่บุคคลตั้งแต่เล็กจนโต   การกล่อมเกลานั้นอาจเกิดจากปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ซึ่งมักเอาใจใส่ดูแลกันในฐานที่เป็นเครือญาติกันหรือเพราะนับญาติกันทั้งหมู่บ้าน  นอกจากนั้นการกล่อมเกลาส่วนหนึ่งยังเกิดจากประเพณีที่มีส่วนร่วมกันทั้งชุมชน ซึ่งช่วยเสริมสร้างสำนึกทางศาสนา ท่าทีต่อธรรมชาติแวดล้อม และความรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นกับชุมชน  นอกจากนั้นวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันในชุมชน ยังทำให้ทุกคนไม่อาจทำใจตนหรือละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมของชุมชนได้   การละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมของชุมชนอาจมีผลให้ถูกลงโทษจากชุมชนได้  ดังนั้นนอกจากการกล่อมเกลาแล้วชุมชนยังมีบทบาทในการกำกับศีลธรรมของบุคคลด้วย


 


อย่างไรก็ตาม สภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง ความผูกพันแน่นแฟ้นภายในชุมชนได้จางคลายไปมาก เพราะผู้คนมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันน้อยลง  เศรษฐกิจสมัยใหม่ทำให้ผู้คนพึ่งพาตลาดและปัจจัยภายนอกมากขึ้น  รวมถึงการไปทำงานนอกชุมชน นอกจากนั้นการขยายตัวของอำนาจรัฐ ทำให้ระบบราชการเข้ามามีบทบาทมากขึ้น  ผู้คนจึงหันไปพึ่งพาหน่วยงานรัฐมากกว่าชุมชน  ผู้คนจึงเป็นอิสระจากชุมชนเป็นลำดับ และใช้ชีวิตในลักษณะต่างคนต่างอยู่มากขึ้น  ขณะที่ประเพณีต่าง ๆ ก็มีผู้คนเข้าร่วมน้อยลง เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่  จึงมีอิทธิพลต่อสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนน้อยลง


 


กล่าวอีกนัยหนึ่งกระแสการพัฒนาให้ทันสมัย ได้ทำให้ชุมชนอ่อนแอเป็นลำดับ ขณะเดียวกันก็ทำให้บุคคลมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น  มีอิสระที่จะทำตามใจตัวมากขึ้น โดยชุมชนไม่สามารถควบคุมได้ดังแต่ก่อน   ยิ่งในเมืองด้วยแล้ว  ความเป็นชุมชนแทบไม่เหลือ คงมีแต่ละแวกบ้าน ซึ่งผู้คนก็แทบจะไม่รู้จักชื่อหรือเห็นหน้าค่าตากันเลย  พ้นไปจากละแวกบ้านก็คือ "พื้นที่แวดล้อม"  ซึ่งในปัจจุบันมีอิทธิพลในทางลบยิ่งกว่าทางบวก  เนื่องจากเต็มไปด้วย "พื้นที่เสี่ยง" มากมาย  อาทิ ร้านเหล้า ผับ บาร์ คาราโอเกะ  โรงแรมม่านรูด อาบอบนวด ซ่องโสเภณี  ขณะที่ "พื้นที่ดี" (เช่น ลานกีฬา ลานกิจกรรม ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์)มีน้อยมาก  จากการสำรวจทั้งประเทศพบว่า ในเขตเมืองนั้นมีพื้นที่เสียงมากกว่าพื้นที่ดีประมาณ ๓ เท่า [4]


 


วัด


 


วัดมีบทบาทโดยตรงในการสร้างสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนในสังคม    ในอดีตวัดมีบทบาทดังกล่าวได้ก็เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน  กิจกรรมต่าง ๆ  ของชุมชนล้วนจัดในพื้นที่ของวัด ไม่ว่ากิจกรรมทางศาสนา หรืองานรื่นเริง (เช่น งานวัด) ประเพณีต่าง ๆ ก็อาศัยวัดเป็นศูนย์กลาง  ยิ่งไปกว่านั้นพระสงฆ์ยังมีบทบาททางสังคมมากมาย นอกเหนือจากบทบาททางศาสนาและพิธีกรรม เช่น การให้การศึกษากุลบุตร การเยียวยารักษาโรค การสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยาก การอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรม การระงับความขัดแย้งในชุมชน เป็นต้น  อีกทั้งท่านยังเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมที่ประชาชนศรัทธาและนับถือ  ดังนั้นวัดจึงมีบทบาทอย่างมากในการให้การศึกษาและกล่อมเกลาทางศีลธรรมแก่ประชาชนควบคู่ไปกับกิจกรรมด้านอื่น ๆ


 


แต่ปัจจุบันวัดได้ถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไป   บทบาททางสังคมที่วัดเคยมี ได้ถูกหน่วยงานอื่นดึงเอาไปทำ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล กรมประชาสงเคราะห์  กรมการปกครอง  ผู้คนมีความจำเป็นต้องเข้าวัดน้อยลง  อีกทั้งวิถีชีวิตที่เร่งรัด ก็ทำให้มีเวลาน้อยลงที่จะมาวัด แม้แต่ในวันสำคัญทางศาสนา ในอีกด้านหนึ่งฆราวาสก็มีการศึกษามากขึ้น  ในขณะที่พระซึ่งเคยเป็นผู้นำทางสติปัญญา กลับมีความรู้น้อยลงโดยเฉพาะในทางโลก จึงตามฆราวาสไม่ทัน   ยิ่งไปกว่านั้นพระสงฆ์จำนวนมากนับวันจะมีความรู้ทางธรรมน้อยลง  อาศัยการท่องจำเป็นหลัก จึงไม่สามารถสื่อธรรมให้ฆราวาส เข้าใจได้อย่างถ่องแท้  หรือสอนธรรมอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่   ที่ร้ายก็คือศรัทธาในปฏิปทาของฆราวาสที่มีต่อพระสงฆ์ก็ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ เพราะพระสงฆ์จำนวนมากไม่สามารถเป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมแก่ประชาชนได้ โดยเฉพาะในด้านการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เสียสละ  ในขณะที่จำนวนไม่น้อยละเมิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรงจนเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ


 


สภาพความเหินห่างจากวัดของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนนั้นเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว   แต่หากพระภิกษุสงฆ์ยังเป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชน  อย่างน้อยปฏิปทาของท่านก็สามารถเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจทางศีลธรรมแก่ผู้คนได้  แม้จะไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าวัดฟังธรรมจากท่านเท่าใดนัก  แต่อุปสรรคสำคัญในเวลานี้ก็คือแม้แต่เยาวชนก็มีศรัทธาน้อยลงต่อพระสงฆ์   ในการสำรวจความเห็นของนักศึกษาเมื่อปี ๒๕๓๙    ว่าเหตุใดจึงไม่ไปฟังเทศน์  ร้อยละ ๔๑ ตอบว่า "เพราะพระสงฆ์ไม่น่านับถือหรือรู้ธรรมะไม่ดีพอ" [5]  มาถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี ทัศนคติของนักศึกษาต่อพระสงฆ์ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น กลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ


 


โรงเรียน


 


โรงเรียนเป็นสถาบันอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยตรงแก่ประชาชน ในขณะที่ครอบครัว ชุมชน และวัดถูกลดทอนบทบาทลงไป   ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ผู้คนใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษามากขึ้นเป็นลำดับ  โดยปัจจุบันเริ่มตั้งแต่อายุเพียง ๒-๓ ขวบเท่านั้น   แต่เวลาที่เพิ่มมากขึ้นในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ไม่ได้ช่วยให้ระดับศีลธรรมของผู้คนเพิ่มขึ้นเลย กลับลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด


 


ปัจจุบันนี้พูดกันมากขึ้นว่าครูและอาจารย์ไม่มีเวลาให้แก่ลูกศิษย์เท่าที่ควร   เพราะนอกจากจะถูกงานเอกสารแย่งชิงเวลาไปจากงานสอนแล้ว  ครูจำนวนมากยังต้องทำอาชีพพิเศษ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย  ที่สำคัญก็คือครูที่เป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมมีน้อยลงเป็นลำดับ  ในทางตรงกันข้ามครูที่เอาเปรียบหรือทำร้ายลูกศิษย์กลับเพิ่มมากขึ้น ศรัทธาในครูและอาจารย์จึงลดลงอย่างมาก


 


ใช่แต่เท่านั้นนับวันโรงเรียนได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะค่านิยมที่ผิดแก่เยาวชน  อาทิ ค่านิยมบริโภค (ซึ่งเกิดจากการเห็นแบบอย่างจากครูและการประชันขันแข่งในหมู่นักเรียน) และการนิยมความรุนแรง   โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ไม่เฉพาะความรุนแรงจากครูเท่านั้น  หากยังรวมถึงความรุนแรงระหว่างนักเรียนด้วยกัน   ปัจจุบันเยาวชนที่ถูกทำร้ายในโรงเรียนระดมประถมศึกษามีถึงร้อยละ ๓๐  ส่วนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษามีร้อยละ ๑๐[6]  คลิปวีดีโอที่นักเรียนตบตีกันจนเป็นข่าวนั้นถือได้ว่าเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง  นอกจากนั้นโรงเรียนยังเป็นสถานที่ที่นักเรียนจำนวนหนึ่งใช้ในการล่อลวงเพื่อนนักเรียนด้วยกันเพื่อประโยชน์ในทางเพศ มิพักต้องพูดถึงการรวมกลุ่มเพื่อการมั่วสุมทางเพศ  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกวันนี้พื้นที่เสี่ยงได้รุกเข้าไปในโรงเรียนแล้ว  ทำให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเหยื่อ  โดยที่ครูแทบจะไม่สามารถปกป้องได้ ในทางตรงข้ามอาจมีส่วนร่วมด้วยซ้ำ


 


 


 








[1] มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๒๕๔๖ อ้างในเด็กไทยในมิติวัฒนธรรม น.๒๔



[2] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘



[3] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘



[4] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘



[5] สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๙



[6] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘