Skip to main content

สภาเด็กและเยาวชน : เด็กนำผู้ใหญ่หนุน?

คอลัมน์/ชุมชน


 


ยุคนี้ "เยาวชนเนื้อหอม" เป็นพิเศษ เพราะมีสารพัดโครงการ กิจกรรมที่กับเด็กและเยาวชนในต่างพื้นที่ ทั่วภูมิภาคของประเทศ และยังมีสารพัดงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนออกมานำเสนอย่างต่อเนื่อง (บางคนบอกว่าสนุกปาก ซะงั้น)


 


เร็วๆ นี้ได้มีการดำเนินการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนขึ้น ซึ่งเดิมทีนั้นเริ่มนำร่องทำในจังหวัดเชียงราย สุรินทร์ ปราจีนบุรี และสตูล แต่พอทำไปทำมาแล้วมีทีท่าว่าจะดีขึ้น จึงมีนโยบายให้มีการดำเนินการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดขึ้นทุกจังหวัด


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ หรือ กยช. จึงได้มีมติให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดขึ้น ภายใต้หลักการ "เด็กนำผู้ใหญ่หนุน" เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 โดยมีการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และกลุ่มเยาวชน ร่วมมือกันจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติขึ้น


 


ซึ่งการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดนั้น ทำขึ้นเพื่อให้เป็นองค์กรกลางในการประสานงานกลุ่มต่างๆ ในจังหวัด และรวบรวม สังเคราะห์ปัญหาความต้องการในการพัฒนาและข้อเสนอของเยาวชนในการแก้ไขปัญหาที่เผชิญ รวมทั้ง การให้สภาเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีการดำเนินงานด้านต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อทำงานร่วมกันในการหาแนวทางการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมต่อไป


 


จากวันนั้นถึงวันนี้ แต่ละจังหวัดมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) เป็นแม่งานหลักในการประสานความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ในจังหวัดเพื่อร่วมกันสร้างกระบวนการให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดขึ้น จนถึงปัจจุบันทุกวันนี้ถือว่าทุกจังหวัดมีสภาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นแล้ว (เย้)


 


แต่กว่าจะเกิดขึ้นครบทุกจังหวัด ก็นับว่าต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของเยาวชนกลุ่มต่างๆ เรื่องความหลากหลายของสมาชิกสภาในกระบวนการจัดตั้ง หรือแม้แต่ความพร้อมในการดำเนินการ


 


ในเรื่องแรก การมีส่วนร่วมของเยาวชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งในกรณีนี้พบว่าทุกจังหวัด ได้รับหนังสือด่วนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีใจความว่าให้แต่ละจังหวัดส่งรายชื่อสมาชิกและคณะกรรมการสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดให้กับรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้งให้ครบทุกจังหวัดภายในเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งหนังสือด่วนนี้ส่งให้แต่ละจังหวัดไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ก่อนจะสิ้นปี


 


ด้วยความรีบเร่งในการสนองนโยบายส่วนกลาง และหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับจังหวัดก็รู้ดีว่ากระบวนการเตรียมความพร้อมคงไม่ทันอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องทำตามนโยบาย ดังนั้น บางจังหวัดจึงส่งรายชื่อให้กับกระทรวงโดยบางจังหวัด เด็กบางคนถูกเอาชื่อไปใส่โดยไม่แจ้งให้ทราบ บางจังหวัดจัดประชุมเพียงวันเดียวโดยที่เด็กไม่รู้จักกันด้วยซ้ำแต่ก็คัดเลือกเป็นกรรมการสภา หรือบางจังหวัดก็มีแต่เด็กในโรงเรียนเท่านั้นที่เป็นกรรมการสภา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งสภานั้นไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของเด็กอย่างแท้จริง แต่เกิดจากความเร่งรีบของผู้ใหญ่บางคนเท่านั้น


 


เรื่องที่สอง ความหลากหลายของสมาชิก เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากเรื่องแรก คือ พอต้องรีบเร่งทำให้เสร็จ ส่งชื่อโดยเร็ว ความหลากหลายของเด็กและเยาวชนก็มีไม่มาก เท่าที่เพื่อนบางจังหวัดเล่าให้ฟังพบว่า บางแห่งมีแต่เด็กที่เรียนหนังสือ บางแห่งมีแค่เด็กที่ทำงานใกล้ชิดกับราชการจังหวัด แต่ไม่มีกลุ่มเด็กอื่นๆ เข้ามาทำให้การนำเสนอเรื่องราว สถานการณ์ปัญหาของเด็กกลุ่มต่างๆ นั้นไม่ได้รับการเอ่ยถึงนั้น จึงไม่ต่างจากสภาจัดตั้งที่ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มเด็กส่วนต่างๆ ในจังหวัดเลย


 


เรื่องที่สาม ความพร้อม ในเรื่องนี้แม้ว่าหลักการของการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนคือ "เด็กนำผู้ใหญ่หนุน" แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วดูเหมือนว่าทุกครั้งที่จะใกล้วันสำคัญของเยาวชน เช่น วันเด็กแห่งชาติ หรือวันเยาวชนแห่งชาติก็มักจะมีคำสั่งราชการจากส่วนกลางมายังจังหวัดต่างๆ ให้รีบเร่งจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนเร็วๆ และต้องส่งตัวแทนเด็กเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่วนกลาง แต่แน่นอนว่าที่ได้พูดถึงก่อนหน้านี้ว่า เด็กหลายคนไม่เคยสัมผัสการทำกิจกรรม ไม่รู้ว่าปัญหาจริงๆ ของเพื่อนเยาวชนคนอื่นเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้ไม่สามารถชี้ช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ จนนำไปสู่ภาพที่เรามักจะเคยเห็นว่า บางทีเด็กก็ออกมาด่าเด็กด้วยกันเอง หรือ พูดเอาใจผู้ใหญ่ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ผลประโยชน์อย่างเต็มๆ


 


ถามว่าเรื่องนี้เด็กผิดไหม ผมคิดว่าไม่ผิด แต่เนื่องจากการเข้าสู่สภาเด็กและเยาวชนของเด็กแต่ละคนนั้น ต่างก็รู้กันดีว่าเป็นระบบอำนาจอย่างหนึ่งที่จะสร้างพื้นที่ให้กับตัวเอง ด้วยเหตุนี้บางจังหวัด ประธานสภาฯ จึงเป็นลูกหลานของนักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วสภาเด็กและเยาวชนก็คงจะไม่ต่างอะไรกับสภาของผู้ใหญ่ที่เราเห็นถึงความแก่งแย่งชิงดีของกันและกัน


 


เมื่อเด็กเข้าสู่อำนาจ การพูดการจาจึงมีอิทธิพลต่อการชี้นำสังคมอย่างมาก เด็กหลายคนที่ยังต้องพัฒนาทักษะและศักยภาพอยู่อีกมาก แต่ก็ถูกละเลย และไม่สนใจ จนเด็กๆ หลายคนคิดว่าการมาสู่สภาเด็กจะทำได้แค่เพียงการเข้าร่วมประชุม นำเสนอผลงานเท่านั้น ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้เด็กที่ทำกิจกรรมก็เคยเสนอไปแต่ละจังหวัดด้วยว่าควรมีการส่งเสริมทักษะและศักยภาพของเด็กด้วยแต่ดูเหมือนว่าจะถูกปฏิเสธ


 


ขณะเดียวกัน แม้ว่าตัวเด็กและเยาวชนจะพบว่าไม่มีความพร้อมในการจัดตั้งสภาฯ แต่ภาพที่ได้รับรายงานจากบางจังหวัดในแถบภาคเหนือและอีสานพบว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องสภาเด็กและเยาวชนในระดับจังหวัด ทำงานกับเด็กไม่เป็น บางจังหวัดเป็นการสั่งการเด็ก บางจังหวัดผู้ใหญ่เป็นคนตัดสินใจในเรื่องกิจกรรม ระเบียบข้อบังคับ และมากกว่านั้นคือกีดกันไม่ให้เด็กที่สังคมมองว่าเป็นปัญหาเข้ามาร่วม เช่น เด็กที่ใช้ความรุนแรง เด็กที่ใช้ยาเสพติด


 


จากข้อมูลที่พบยังระบุถึง ทัศนคติในการทำงานกับเด็กและเยาวชนของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้อำนาจและไม่รับฟังความคิดเห็นของเด็กเลย หนำซ้ำยังแบ่งพรรคแบ่งพวกเด็กออกจากกันและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเด็กที่รักเพศเดียวกัน


 


จากปัญหาต่างๆ ข้างต้นที่เกิดขึ้นนี้ นำไปสู่ชนวนที่ทำให้เด็กจากภาคใต้ ได้นำเสนอปัญหาในที่ประชุมร่วมของสภาเด็กและเยาวชน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า ยังไม่อยากให้จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับชาติ เพราะบางจังหวัดยังไม่มีความพร้อม ยังไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของเด็กจริงๆ บางจังหวัดเป็นสภาจัดตั้ง จึงไม่อยากให้มีการจัดตั้งสภาระดับชาติ


 


จนในที่สุดที่ประชุมร่วมของสภาเด็กและเยาวชนแต่ละจังหวัดมีมติระงับการจัดตั้งสภาระดับชาติไว้ชั่วคราวก่อน แต่ยังคงชุดคณะกรรมการรักษาการไว้เพียงเท่านั้น


 


ทั้งนี้ การเดินหน้าในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนบางจังหวัด ยังคงมีการนำกลับมาทบทวนและรื้อโครงสร้างกันใหม่ บางจังหวัดมีการจัดค่ายเพื่อประสานงานทุกกลุ่มให้มามีส่วนร่วมมากที่สุด บางจังหวัดที่มีปัญหามากก็ให้จังหวัดอื่นที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยเหลือ แต่บางจังหวัดก็ยังดูไม่กระดิกตัวแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด


 


เรื่องราวของการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนยังมีอีกมากที่ต้องศึกษา ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์การผลักดันของเยาวชนที่ทำกิจกรรมเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา, เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง, เรื่องกฎหมายตัวใหม่ที่ชื่อว่า "ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาเด็กและเยาวชน พ.……" และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน


 


สิ่งที่น่าจะจับตามองต่อไปก็คือ หากเด็กและเยาวชนแต่ละจังหวัดประกาศออกมาว่ายังไม่พร้อมในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด แต่อยากจะสร้างฐานการทำงานในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็งเสียก่อน ท่าทีของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ติดตามอย่างใกล้ชิดว่า "จะให้เด็กนำแล้วผู้ใหญ่หนุน" หรือ "จะให้เด็กนำตามที่ผู้ใหญ่สั่ง" โปรดติดตามๆ