Skip to main content

หมู่บ้านของความเปลี่ยน (3)

คอลัมน์/ชุมชน


 


"ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว..." เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึง


 


บทเพลงชาวนาที่เคยขับร้อง


จึงไม่เพราะเหมือนแต่ก่อน...       


           


มองลงไปในท้องทุ่ง จากแต่ก่อนเคยใช้วัวควายไถนา ตอนนี้เปลี่ยนเป็นการจ้างรถไถควายเหล็กแทน จากแต่ก่อนมีการลงแขก เอามื้อเอาวัน หรือไม่ก็แลกกับข้าวหนึ่งถังสองถังต่อวัน ก็เปลี่ยนมารับจ้างเอาเงิน เขาบอกว่าชาวนาเริ่มเหลือน้อยลง และชีวิตตอนนี้ เงินคือปัจจัยสำคัญมากกว่า


           


ส่วนเรื่องอาหารการกินจากเดิมไปช่วยนาเจ้าไหน เจ้าของนั้นจัดต้อนเลี้ยงดู ก็กลับกลายเป็นว่า ต่างคนต่างห่อข้าวมากินกันเอง หนำซ้ำเรื่องเหล้ายาปาปิ้งที่นำมาเลี้ยงกัน  ก่อนนั้นเป็นเหล้าน้ำขาวที่ต้มกลั่นเองกลับหายไป แน่นอน พวกผู้ชายเริ่มเรียกร้องหาเหล้าโรงหรือเหล้าแดง แสงทิพย์ ส่วนพวกผู้หญิงก็เรียกร้องหาเบียร์ช้างกันอึงมี่... 


           


นั่นหมายถึงว่า วันใดที่มีการทำนา ปลูกข้าว หรือเกี่ยวข้าว เจ้าของนาต้องใช้มือดำกร้านปาดเหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆ กัน ดูสีหน้าของพวกเขาสิ เต็มไปด้วยทุกข์ อึดอัด แต่ต้องจำยอม


           


"ถ้าข้าวปีนี้ไม่ดี หรือถ้าถูกน้ำท่วมเหมือนปีที่แล้วอีก ก็จบกัน..." เป็นเสียงบ่นและหวาดหวั่น


           


"มันบ่ค่อยคุ้มแล้ว ปลูกข้าวเวลานี้ มันต้องใช้เงินทั้งนั้น คิดๆ ดูแล้ว มันก็เท่ากับเราซื้อข้าวกินเองนั่นแหละ..." เสียงของเจ้าของที่นาพ้อด้วยความเหน็ดหน่าย


           


ที่สำคัญ...น้ำใจที่เคยมีให้กันนั้นเริ่มเหือดหาย เมฆหมอกของความขัดแย้งและความเห็นแก่ตัวเริ่มแผ่คลุมไปทั่วคุ้งคลองท้องนา


           


"เมื่อวันก่อน ลุงตามายืนชี้หน้าด่าลุงก๋องที่หน้าบ้าน...ทะเลาะกันเรื่องไม่ให้เดินผ่านทุ่งของแก" พี่สาวเคยเล่าให้ผมฟัง


 



 


ทำให้ผมนึกไปถึงเมื่อหลายสิบปีก่อน...เวลาเกี่ยวข้าว นวดข้าวกันเสร็จ เจ้าของนาแต่ละเจ้าจะช่วยกันขุดถนนทำทาง มีการขุดคันนาให้เป็นร่องทางเกวียน เลาะเลี้ยวเข้าไปขนข้าวเปลือกจากทุ่งได้ จำได้ว่า ตอนเป็นเด็กผมชอบกระโดดขึ้นนั่งบนเกวียนต่างข้าว ในความโยกเยกนั้นมีความสุขผมหันไปจ้องมองพวกพี่ชายนั่งอยู่บนล้อเกวียนหลายสิบเล่ม ไต่ตามกันไปเป็นแถว ลัดเลาะไปตามลำเหมือง ก่อนไปสู่ยุ้งฉางของตัวเอง   


           


จากเย็นจนมืดค่ำ เสียงเพลงลูกทุ่งร้องดังก้องไปท้องนา...


 


มาถึงตอนนี้ กลับกลายเป็นว่าชาวนาหลายคน ถึงขั้นไม่พูดไม่จากัน  มีการกั้นรั้วไม่ให้คนอื่นเดินผ่านนาของตัวเอง บางคนถึงต้องยอมแบกกระสอบข้าวอ้อมไปทางสันดอยอีกฟากหนึ่งก่อนจะวกกลับมายังหมู่บ้าน


           


ทำไมถึงเป็นแบบนี้กัน!? หรือว่าความจนทำให้คนเรานั้นเครียด หรือว่าการเป็นหนี้สินทำให้คนเราต้องดิ้นรนและเห็นแก่ตัว  ผมไม่รู้และไม่เข้าใจเหมือนกัน...


           


แต่ผมว่ามันต้องมีอะไรที่มีส่วนชักพาชีวิตและหัวใจผู้คนนั้นเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้...


           


..เมื่อบางสิ่งเริ่มเลือนลาง เมื่อบางอย่างเริ่มเข้ามา  ถนนดินกลายเป็นถนนคอนกรีต  สายไฟฟ้าพาดผ่านเข้ามาถึงตีนดอย วัวควายเริ่มลดหาย รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และทีวี ตู้เย็น คาราโอเกะ ต่างเดินทางมาพร้อมสายไฟฟ้า เกือบทุกหลังคาพยายามแข่งขันกันซื้ออย่างต่อเนื่อง 


           


"มันน่าตลกและสังเวชนะ ที่บางคนยอมขายบ้านมาซื้อรถยนต์มือสอง ขับเพื่อความโก้เก๋ พอเริ่มเบื่อก็เอาจอดนิ่งไว้ที่บ้าน แล้วนั่งมองดูอย่างนั้น"


           


"มีไม่ต่ำกว่าสิบราย ที่ถูกเขายึดไป..." นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ก็เป็นได้...


           


"แล้วตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำยังไงกันบ้างละ..."


"คนที่ทำนาปลูกข้าวก็ยังพอมีหลงเหลือกันอยู่ แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ ปลูกข้าวก็เหมือนซื้อข้าวตัวเองกิน"


 


"หลายคนเปลี่ยนมาทำสวนผัก ปลูกผักไปขายกาดเมืองใหม่ แต่ก็มีคนเริ่มบ่นกันว่า มันไม่คุ้มทุน หนำซ้ำยังเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก"


           


จริงสิ, ผมกลับไปบ้านครั้งล่าสุด จะพบว่า มีชาวบ้านไม่ต่ำกว่ายี่สิบรายที่หันมาปลูกผักกาด กะหล่ำ มะเขือ ส้มเขียวหวานกันมากขึ้น


 


ทุกวันๆ จะมองเห็นพวกเขาทำงานกันอย่างไม่รู้เหนื่อย กลุ่มหนึ่งกำลังนั่งยองๆ ปลูกผัก อีกกลุ่มหนึ่งกำลังแบกเครื่องพ่นยา พ่นยาฆ่าแมลง อีกกลุ่มหนึ่งกำลังก้มตัดผักกาด กะหล่ำ มะเขือ บางคนกำลังจัดเรียงวางในเข่งไม้ไผ่ ก่อนลำเลียงขึ้นรถกระบะ ขนส่งมาขายยังกาดเมืองใหม่


           


ใช่  ตอนแรกก็ดูเหมือนว่าชีวิตทุกคนกำลังไปได้ดี...แต่หาไม่เลย


 


เมื่อนั่งลงสอบถาม หลายคนเริ่มส่ายหัวไปมาอยู่อย่างนั้น ในขณะบางคนเนื้อตัวเปียกโซกด้วยเหงื่อไคล บางคนเสื้อผ้าแผ่นหลังเปียกซึมด้วยยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงที่เพิ่งพ่นเสร็จใหม่หมาด


           


"มันไม่แน่ไม่นอน ราคาผักในแต่ละวัน เมื่อไปถึงกาดเมืองใหม่ เราต้องซื้อคิว รอคิวก่อนกว่าจะเข้าไปขายได้"


           


"บางคนมากันผัวทั้งเมีย ปล่อยลูกเอาไว้ที่บ้านคนเดียว"


           


"บางรายต้องรอขายให้ได้ กว่าจะได้กลับบ้าน ต้องอยู่ข้ามวันข้ามคืน"


           


"ราคามันขึ้นอยู่กับว่า วันนั้นมีคนขนผักมาขายมากหรือเปล่า อย่างเช่นมะเขือ ถ้าวันไหนคนเอามาขายน้อย ก็ได้ราคาดี แต่ถ้ามันล้น และมีคนมาขายตัดราคา มันก็เริ่มลดลงๆ จนเหลือกิโลไม่กี่บาทก็มี"


           


"คนที่มีรถยนต์ส่วนตัวขนมาขายเอง ก็พอได้ทุนกลับไปได้บ้าง แต่พวกที่ต้องจ้างรถเขามานี่สิ เจ็บหนักเลย เพราะนอกจากจะขายได้ราคาไม่ดีแล้ว และไหนจะต้องจ่ายค่าขนผักอีก ไม่คุ้มเลย"


           


"ปลูกผักมาขายที่กาดเมืองใหม่ มันก็เหมือนซื้อหวย นั่งรอลุ้นว่าจะขายได้ราคาดีมั้ย ขายได้มั้ย เพราะเราไม่สามารถตั้งราคาได้..."


           


คงเป็นเช่นนั้น, หากใครสังเกต จะมองเห็นว่า พืชผักที่มาเข้าคิวรอขายนั้น ล้วนมาจากทั่วสารทิศในเขตภาคเหนือ รถสี่ล้อบรรทุกผักใส่เข่งอัดแน่นจนเต็มล้นคันรถ มาจากบนดอยสูง ฝาง ไชยปราการ เชียงดาว ฮอด แม่แจ่ม อมก๋อย ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมาจากต่างจังหวัด ไม่ว่าเชียงราย ตาก ลำปาง ลำพูน ฯลฯ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราขับรถผ่านสายซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง เราจะเห็นรถบรรทุกผักขับขึ้นเหนือ มาทางเชียงใหม่ เพื่อที่จะง้อรอขายให้พ่อค้าคนกลาง ก่อนจะขนส่งลงไปยังตลาดสี่มุมเมือง ที่กรุงเทพฯ อีกทอดหนึ่ง


 


"บางคนนั่งรอขาย จนผักเน่า ต้องขนเอาไปทิ้งข้างทาง"


           


"แล้วทำไงต่อละทีนี้..."ผมซัก


           


"ก็กลับไปเริ่มต้นใหม่ กลับไปกู้เงินมาลงทุนใหม่...ทำไงได้" เป็นน้ำเสียงขมขื่นและเสียดเย้ย  


           


ผมฟังแล้วรู้สึกเศร้า.