Skip to main content

" พลังงานหมุนเวียน" : พลังงานเพื่ออนาคตที่ใครก็ผูกขาดได้ยาก ตอนที่ 1

คอลัมน์/ชุมชน




































































































1 . คำนำ
 

บทความนี้จะนำเสนอเรื่องพลังงานให้เห็นสองด้านและหนึ่งความหวังที่เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว

 

ด้านหนึ่ง ให้เห็นว่า พลังงานที่ชาวโลกกำลังใช้กันอยู่เป็นส่วนใหญ่ คือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะขอเรียกรวม ๆ ว่า " พลังงานฟอสซิล" กำลังประสบปัญหาสำคัญ 4 ประการคือ (1) ขาดแคลน (2) ราคาแพงขึ้น (3) ก่อมลพิษจนทำให้เกิดภัยพิบัติไปทั่วโลกหรือเรียกรวม ๆ ว่าก่อปัญหาโลกร้อน และ (4) สามารถผูกขาดโดยกลุ่มบริษัทข้ามชาติไม่กี่ตระกูล

 

ด้านที่สอง ให้เห็นว่า พลังงานหมุนเวียนซึ่งหมายถึง พลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานจากคลื่นน้ำ กำลังเป็นพลังงานเพื่ออนาคต เพราะเหตุผล 4 ข้อที่เกือบจะตรงกันข้ามกับพลังงานฟอสซิล คือ (1) มีจำนวนมหาศาลประมาณ 15,000 เท่าของพลังงานฟอสซิลที่ชาวโลกใช้ได้ทั้งปี ใช้ไปแล้วก็กลับมาเกิดใหม่ได้อีก (2) ราคาถูกลงเรื่อย ๆ (3) ก่อมลพิษน้อยมาก (4) ผูกขาดได้ยาก เพราะไม่มีใครสามารถป้องแสงอาทิตย์ หรือกักเก็บลมไว้ได้ ฯลฯ และ (5 ) ไม่ต้องวางแผนล่วงหน้านานหลายปีเหมือนโรงไฟฟ้าฟอสซิลซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาด

 

สำหรับความหวังก็คือเรื่องจริงที่หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำลังพัฒนาอย่างมุ่งมั่น และได้ผลในเชิงพาณิชย์ชัดเจนแล้ว ในประเทศไทยก็สามารถทำได้ ขอเพียงให้ฝ่ายการเมืองเปิดใจและลดจากผลประโยชน์ที่ทับซ้อนลงบ้างเท่านั้น

 

2 . วิกฤติราคาน้ำมัน

 

ในช่วงเวลาประมาณ 150 ปีที่โลกเราได้นำน้ำมันมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ได้มีวิกฤติใหญ่ ๆ เกิดขึ้น 3 ครั้ง* ทุกครั้งต่างมีเหตุผลร่วมกันคือ มีปัญหาการเมือง การเก็งกำไรและสต๊อกมีน้อย

 

คนไทยเราไม่ค่อยจะรู้สึกเดือดร้อนกันมากนักจากการที่น้ำมันขึ้นราคามากเป็นประวัติการณ์ในครานี้ เพราะรัฐบาลใช้นโยบายชดเชยราคาซึ่งเป็นการนำ " เงินของคนในอนาคต" มาให้คนรุ่นนี้ใช้ก่อน

 


รูปที่ 1 ราคาน้ำมันดิบ NYMEX จาก 1 สิงหาคม 2546 ถึง 6 สิงหาคม 2547
 

ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร บอกว่าราคาน้ำมันดิบอาจจะขึ้นไปถึง 80 ดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่นักธุรกิจอีกท่านหนึ่งบอกผมว่า " บริษัทเชลล์ จำกัด คาดหมายว่าจะขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ในปีนี้"

 

เนื่องจากกระแสไฟฟ้าของไทยประมาณร้อยละ 75 ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานฟอสซิลซึ่งราคาก็ผูกติดอยู่กับราคาน้ำมัน ดังนั้นจึงเป็นที่คาดหมายได้ว่ากระแสไฟฟ้าของไทยจะมีราคาเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าใด

 

สิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถามก็คือว่า ทำไม " แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ( พีดีพี2004)" จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก ( ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกำหนดนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่กับกลุ่มพลังงานฟอสซิล ซึ่งมีลักษณะผูกขาด

 

ย้อนไปดูกรณีวิกฤติระดับโลกเมื่อปี 1973 ในขณะนั้นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้ออกมาเตือนรัฐบาลสหรัฐว่า ให้หันไปพิจารณาพลังงานหมุนเวียน แต่รัฐบาลก็ไม่สนใจ

 

สำหรับธนาคารโลกซึ่งสนับสนุนงบประมาณวิจัยจำนวนมหาศาล ปรากฏว่าในช่วง 1984-1995 งบวิจัยด้านพลังงานร้อยละ 67 มุ่งไปที่พลังงานนิวเคลียร์ 16% ไปที่พลังงานฟอสซิล เพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ไปวิจัยพลังงานหมุนเวียน

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างธนาคารโลกและกลุ่มผู้ค้าพลังงานฟอสซิลนั่นเอง สำหรับประเทศไทยเราก็มีแนวให้คิดเช่นนี้ได้เช่นกัน

 

3 . ปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติ

 

 

นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ (Dr. David King) ได้เตือนว่า สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับ ภัยจากโลกร้อน มากกว่าภัยจากการก่อการร้ายเสียอีก** คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้โลกร้อนได้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในช่วง 10 ปีหลังสุดนี้ได้เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 7 เท่าของเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว ( โปรดดูกราฟ)

 

สำหรับภัยพิบัติจากธรรมชาติ พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมีมากถึง 4 เท่าของผู้เสียชีวิตจากการจราจรและสงครามรวมกัน ปัจจุบันค่าชดเชยของบริษัทประกันได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าของเมื่อปี 1960*** นี่คือหลักฐานเพิ่มเติมที่ชาวโลกประสบในปัจจุบันนี้

 
...............................................................................................................................
* ครั้งแรกปี 2516 ราคาน้ำมันดิบขึ้นจาก 2.90 เป็น 11.65 ดอลลาร์ต่อบาเรล ครั้งที่สอง ปี 1979-1981 ขึ้นจาก13.00 เป็น 34.00 ดอลลาร์ต่อบาเรล ครั้งที่ 3 น่าจะเป็นครั้งนี้ คือขึ้นจากประมาณ 26 ในเดือนตุลาคม 2546 เป็น 46.58 ในต้นเดือนสิงกาคม 2547 ( ดูกราฟประกอบ- ที่มา http://www.wtrg.com/daily/crudeoilprice.html)
** ข่าว BBC 9 มกราคม 2547
*** บริษัท มิวนิครี บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ที่มาหนังสือ "เงินตราแห่งอนาคต" สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เปิดตัวเมื่อ 10 ก.ค. 47)