Skip to main content

จิตรกรรมแห่งการเรียนรู้

คอลัมน์/ชุมชน


 


หากเราจะมองว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในโรงเรียน โดยที่ใครๆ ก็ทำให้เกิดขึ้นได้ อาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไปนัก  การตีความอย่างผิวเผินเช่นนั้น ไม่ต่างอะไรจากการมองความรู้เป็นวัตถุที่หยิบยื่นหรือยัดใส่มือให้กันได้ ฝ่ายที่ป้อนความรู้ได้แต่วางตนเป็นเจ้าของความรู้ที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกต่อไป ฝ่ายรับสารก็เป็นดั่งกล่องว่างๆ เปล่าๆ ที่ไม่มีอะไรอยู่ภายใน รอรับจับยัดใส่ความรู้เอาท่าเดียว  วิธีการมองเช่นนี้ช่างแห้งแล้งนัก และที่น่าเศร้าก็คือว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษากระแสหลักในบ้านเรา        


 


หากเรามองการศึกษาเสียใหม่ด้วยคุณค่าและจินตนาการ การศึกษาก็จะกลายเป็นกระบวนการการเรียนรู้ของชีวิต คือเส้นทาง คือการเดินทาง คือศิลปะ ที่แต่ละปัจเจกบุคคลมีอิสระที่จะเปิดใจรับความเป็นไปได้มากมายที่จะเข้ามาก่อกำเนิดคุณค่า แต่งเติมสีสันที่สวยงามให้กับชีวิต คนส่วนมากได้มองข้ามความจริงที่ว่า การเรียนรู้ที่แท้นั้นมีพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนๆหนึ่งได้ในทุกวินาทีเลยทีเดียว


 


ความศักดิ์สิทธิ์ของการเรียนรู้เป็นภาวะของการก้าวข้ามพ้นความกลัว ไปสู่โลกของการเผชิญความจริง เป็นภาวะของการกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวของสมองและหัวใจ การเรียนรู้ที่สมบูรณ์นอกจากจะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ภายนอกแล้ว ควรจะต้องมีกระบวนการย้อนกลับมาเรียนรู้ดูตัวเอง  การเรียนรู้ที่ดีจะเปิดจิตใจของเราให้กว้าง เป็นภาวะที่จิตใจได้เข้าใกล้ความจริงอันกว้างใหญ่ไพศาล ในความจริงนั้นจะเป็นที่ที่ทุกคนจะได้พบความงามและความดีไปพร้อมๆกัน


 


ความเข้าใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ความรู้ได้ฝังรากลึกอยู่ในหัวใจของผู้เรียน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราได้เข้าถึงความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตกับผู้คนรอบข้างและสิ่งต่างๆรอบตัว ความเชื่อมโยงนั้นนั่นเองที่ทำให้สิ่งที่การเรียนรู้เกิดความหมายและแสดงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ให้เราสัมผัสได้ ความเข้าใจและการเรียนรู้จึงไม่สามารถจะวัดถูกผิดเป็นมาตรฐาน แต่ละคนย่อมมีมุมมองที่ต่างกันไป บ่งบอกถึงการให้คุณค่าและการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งๆนั้นในลักษณะที่ต่างกัน 


 


การเรียนรู้จะทำให้เกิดภาพจินตนาการที่เป็นของผู้เรียนเอง เป็นความเข้าใจที่ตั้งอยู่บนฐานของประสบการณ์และพื้นฐานของชีวิตของคนๆนั้น ภาพแต่ละภาพต่างก็มีความชัดเจน มีสีสันที่งดงามของตัวมันเอง ความแตกต่างหลากหลายจึงไม่ใช่เป็นเรื่องผิด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องมาเปรียบเทียบว่าภาพใดดีกว่าหรือสวยกว่า  สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นเรื่องของกระบวนการการเข้าถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง อันจะนำไปสู่การเข้าใจความหมายและคุณค่าของชีวิตที่สัมพันธ์ไปกับเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้


 


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงถือเป็นงานสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ เสมือนการแลกเปลี่ยนชุดสีของจิตรกรเอก การเรียนรู้ที่แท้นั้นถือเป็นงานศิลปะอันทรงค่า ความงดงามนอกจากจะเกิดขึ้นในภาพวาดแล้ว ในหัวใจของคนวาดก็สามารถพบกับความงามได้ไม่ต่างกัน การศึกษาในบ้านเรายังขาดการเรียนรู้ในเชิงกระบวนการอยู่มาก การเรียนรู้ด้วยการเข้ากระบวนการกลุ่ม จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมุมมองที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนก้าวพ้นจากการมองโลกแบบแบ่งเป็นสองสู่การมองโลกแบบเชื่อมโยงในทุกๆด้าน การเรียนรู้แบบกระบวนการยังเพิ่มโอกาสให้กับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การรับรู้ด้วยใจ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แนะนำตักเตือนเสมือนเพื่อนร่วมการเส้นทางของการแสวงหาคุณค่าของชีวิต


 


ในภาวะที่สมองและหัวใจทำงานไปพร้อมๆกัน ผู้เรียนจะได้พบกับความมหัศจรรย์ของการเรียนรู้ได้ในทุกขณะ ครูอาจารย์ในความหมายนี้เปรียบเสมือนกวีเอก  ผู้เรียบเรียงประสบการณ์ความรู้ด้วยการใช้ศิลปะของการสอนเรียงร้อยออกมาเป็นเรื่องราว  ที่จะก่อให้เกิดจินตนาการอันงดงามในจิตใจของนักเรียน มิติของความศักดิ์สิทธิ์ในการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสมองได้รับข้อมูล และหัวใจได้รู้ความหมายไปพร้อมๆกัน และเมื่อชั่วขณะที่ราวกับเวลาหยุดหมุน "ปิ๊ง"... เมื่อนั้นที่ผู้เรียนจะได้เข้าถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่   อันจะเป็นประตูสู่การเข้าถึงความดี ความงาม และความจริง ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต ตลอดเส้นทางการเรียนรู้ของบุคคลผู้นั้น


 


...เป็นความงดงามตามคำนิยามของกระบวนการการศึกษาที่ว่า


 "the unfolding path of discovery an individual walks through life"